ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - นับเป็นวิกฤตครั้งใหญ่สำหรับแดนโสมขาว เมื่อประธานาธิบดี พัค กึน-ฮเย ซึ่งผู้คนต่างยกย่องว่าเป็น “เจ้าหญิง” แห่งแวดวงการเมืองเกาหลีใต้ และเป็นที่นิยมอย่างสูงมาตลอดทั้งชีวิต กำลังจะกลายเป็น “ดาวร่วง” เพราะข้อหาทุจริตที่บั่นทอนชื่อเสียงของเธอจนแทบหมดสิ้น และปลุกชาวเกาหลีใต้ให้ออกมาชุมนุมขับไล่รัฐบาลครั้งใหญ่ที่สุดในรอบหลายสิบปี
กว่า 1 เดือนมาแล้วที่ชาวเกาหลีใต้นับล้านคนใช้เวลาช่วงสุดสัปดาห์ออกมาชุมนุมประท้วงในกรุงโซลและเมืองใหญ่ๆ เพื่อกดดันประธานาธิบดีหญิงให้แสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออก ขณะที่ผลสำรวจพบว่า คะแนนนิยมของ พัค เวลานี้ร่วงดิ่งเหวลงมาเหลือแค่ 4%
กรณีอื้อฉาวที่ทำให้รัฐบาลของ พัค ต้องตกอยู่ในสภาพเป็นอัมพาตมีที่มาจากความสนิทชิดเชื้อระหว่างเธอกับ ชอย ซุน-ซิล บุตรสาวเจ้าลัทธิศาสนา ซึ่งสื่อเกาหลีใต้ยกให้เป็น “รัสปูตินหญิง” ที่สามารถครอบงำความคิดจิตใจของ พัค ไว้ได้อยู่หมัด
ชาวโสมขาวต่างรับไม่ได้เมื่อทราบว่าประธานาธิบดีหญิงคนแรกของประเทศไว้ใจ ชอย ถึงขั้นยอมให้เป็นผู้ตรวจทานสุนทรพจน์ และยังปล่อยให้เธอเข้าถึงเอกสารชั้นความลับ ทั้งที่ไม่มีตำแหน่งใดๆ ในรัฐบาล
ชอย วัย 60 ปี กำลังถูกดำเนินคดีฐานอำนาจโดยมิชอบก้าวก่ายกิจการของรัฐ และยังใช้ความสัมพันธ์กับผู้นำประเทศไปบีบบังคับให้กลุ่มธุรกิจยักษ์ใหญ่บริจาคเงินราว 70 ล้านดอลลาร์สหรัฐเข้ามูลนิธิไม่แสวงผลกำไร 2 แห่งที่เธอเป็นคนก่อตั้งและควบคุมเอง
อัยการเกาหลีใต้ลงความเห็นว่า พัค ก็ตกเป็น “ผู้ต้องสงสัย” สมรู้ร่วมคิดด้วย
พฤติกรรมอื้อฉาวของผู้นำโสมขาวถูกเปิดโปง ในขณะที่เกาหลีใต้ซึ่งมีเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 4 ของเอเชียกำลังเผชิญปัญหาการส่งออกซบเซา อัตราการว่างงานสูง รวมไปถึงความกังวลเรื่องภัยคุกคามนิวเคลียร์จากเกาหลีเหนือ
ความสัมพันธ์ใกล้ชิดระหว่าง พัค กับ ชอย มีจุดเริ่มต้นมาจากบิดาของทั้งคู่ คือ ชอย แต-มิน ผู้นำลัทธิ “โบสถ์แห่งชีวิตหลังความตาย” (Church of the Afterlife) ซึ่งสนิทสนมกับอดีตประธานาธิบดี พัค จุง-ฮี ผู้เป็นบิดาของ พัค
ชอย แต-มิน อ้างว่าสามารถติดต่อวิญญาณมารดาของ พัค ที่ถูกลอบสังหารเมื่อปี 1974 และยังคอยให้คำปรึกษา พัค ในเรื่องต่างๆ จนเขาเสียชีวิตลงในปี 1994 ความสัมพันธ์ใกล้ชิดนั้นจึงถูกสืบทอดต่อมาจนถึงรุ่นลูกคือ ชอย ซุน-ซิล
เรื่องราวระหว่าง พัค และ ชอย ได้บั่นทอนภาพลักษณ์ของรัฐบาลโซลอย่างรุนแรง และแม้ว่า พัค จะออกมาแถลงขออภัยผ่านสื่อโทรทัศน์หลายครั้ง แต่ก็ไม่อาจบรรเทาความเคียดแค้นและกระแสสังคมที่เรียกร้องให้เธอพ้นจากเก้าอี้ผู้นำประเทศไปเสียเร็วๆ
เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. ผู้นำกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่หรือ “แชโบล” ได้เดินทางไปให้ปากคำต่อคณะกรรมการรัฐสภาเกาหลีใต้ โดยพวกเขายืนยันว่า ได้บริจาคเงินเข้ามูลนิธิทั้ง 2 แห่งของ ชอย ซุน-ซิล เพราะไม่อาจปฏิเสธคำขอของรัฐบาล แต่ไม่เคยเรียกร้องสิทธิพิเศษใดๆ เป็นการตอบแทน
ลี แจ-ยอง ประธานกลุ่มบริษัท ซัมซุง กรุ๊ป ยอมรับว่า ประธานาธิบดีเคยขอให้ ซัมซุง ช่วยสนับสนุนโครงการพัฒนาด้านวัฒนธรรมและกีฬา แต่ไม่ได้เรียกร้องขอเงินตรงๆ
แชโบลเหล่านี้มีอิทธิพลครอบงำเศรษฐกิจเกาหลีใต้มานานหลายสิบปี และดำเนินธุรกิจภายใต้ความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับรัฐบาล ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกาหลีใต้สามารถพลิกฟื้นจากความบอบช้ำในสงครามช่วงปี 1950-53 จนกลายมาเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับที่ 4 ของเอเชีย
เมื่อวันที่ 3 ธ.ค. พรรคฝ่ายค้านได้ยื่นญัตติฟ้องถอดถอนประธานาธิบดีต่อรัฐสภา โดยมี ส.ส. จาก 3 พรรคฝ่ายค้าน และ ส.ส. อิสระ ร่วมลงนามทั้งสิ้น 171 คน
นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า การลงมติถอดถอนประธานาธิบดีซึ่งจะมีขึ้นในวันศุกร์ (9 ธ.ค.) น่าจะผ่านฉลุย เนื่องจาก ส.ส. พรรครัฐบาลแซนูรีราว 30 คนประกาศจะช่วยสนับสนุน ซึ่งจะทำให้ญัตตินี้ได้เสียงเกิน 2 ใน 3 ของสภาซึ่งมีอยู่ 300 ที่นั่ง
ก่อนหน้านี้ กระแสกดดัน พัค เริ่มจะแผ่วลงเล็กน้อย หลังจากที่เธอประกาศจะลงจากตำแหน่งเอง และขอให้รัฐสภาช่วยตัดสินอนาคต ขณะที่พรรคแซนูรีก็เสนอให้ประธานาธิบดีลาออกในเดือน เม.ย. ปี 2017 เพื่อให้มีเวลาเตรียมการจัดการเลือกตั้งก่อนกำหนด
อย่างไรก็ดี เมื่อข่าวนี้แพร่ออกไปได้เกิดกระแสต่อต้านอย่างหนักจากชาวโสมขาว ซึ่งมองว่านี่เป็นเพียงเทคนิค “ซื้อเวลา” ให้กับผู้นำหญิง จนในที่สุดพรรคแซนูรีก็ตัดสินใจยกเลิกข้อเสนอ
คำประกาศของพรรคแซนูรีเท่ากับส่งสัญญาณไฟเขียวให้ลูกพรรคสามารถโหวตอย่างไรก็ได้ ตามแต่จะเห็นสมควร
ลี จุง-ฮยุน ประธานพรรคแซนูรีซึ่งได้เข้าพบ พัค เพื่อแจ้งจุดยืนของพรรคให้เธอทราบ ระบุว่า ประธานาธิบดีอยากให้บรรดา ส.ส. รับข้อเสนอลาออกของเธอ โดยไม่จำเป็นต้องใช้วิธีถอดถอน
ทั้งนี้ ต่อให้รัฐสภาเกาหลีใต้มีมติถอดถอนผู้นำหญิง ก็คงจะไม่ใช่จุดจบของความวุ่นวายทางการเมือง เพราะยังต้องรอคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญอีกชั้นหนึ่ง ขณะที่ พัค ก็ได้ประกาศแล้วว่าเธอจะไม่สละตำแหน่งตามแรงกดดันของฝ่ายใด แต่จะรอจนกว่าศาลจะตัดสินว่าเธอมีความผิดจริงหรือไม่ ซึ่งอาจต้องใช้เวลานานถึง 6 เดือน
รัฐธรรมนูญเกาหลีใต้คุ้มกันผู้นำประเทศจากการถูกฟ้องคดีอาญา ยกเว้นเพียงข้อหาขายชาติเท่านั้น ซึ่งหมายความว่า พัค จะยังได้รับความคุ้มกันทางกฎหมายต่อไปจนกว่าจะพ้นตำแหน่ง