xs
xsm
sm
md
lg

สภาโสมขาวเร่งเค้นข้อมูล ปธน.หญิงพัวพัน “ทุจริต” อาจหาญถึงขั้นเรียกพวก “บิ๊กแชโบล” ให้ปากคำเป็นครั้งแรก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<i>ฮัน กวางอ็อค (ขวา) ประธานเจ้าหน้าที่ของประธานาธิบดีเกาหลีใต้  สาบานตัวระหว่างไปให้ปากคำต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติในกรุงโซลเมื่อวันจันทร์ (5 ธ.ค.)  ในเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่นซึ่งพัวพันถึงประธานาธิบดีพัค กึน-ฮเย  ทั้งนี้ในวันอังคาร (6) เหล่าผู้นำกลุ่มธุรกิจยักษ์ใหญ่อันทรงอิทธิพลบารมีของโสมขาวก็จะถูกเรียกตัวมาให้ปากคำด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประเทศนี้ </i>
เอเจนซีส์ - รัฐสภาเกาหลีใต้เริ่มเรียกเหล่าผู้นำธุรกิจยักษ์ใหญ่ทรงอิทธิพลบารมีของประเทศมาให้ปากคำ อันเป็นสิ่งซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อนเลยในแดนโสมขาว เพื่อเค้นสอบเกี่ยวกับกรณีคอร์รัปชั่นตบทรัพย์แลกผลประโยชน์อันฉาวโฉ่ ที่พัวพันถึงประธานาธิบดีพัค กึน-ฮเย ก่อนถึงกำหนดลงมติว่าจะถอดถอนผู้นำหญิงผู้นี้หรือไม่ในวันศุกร์ (9 ธ.ค.) นี้

ประธานาธิบดีพัคถูกกล่าวหาว่า สมรู้ร่วมคิดกับเพื่อนหญิงเก่าแก่ของเธอซึ่งมีชื่อว่า ชอย ซุนซิล ในการบีบคั้นกลุ่มกิจการขนาดใหญ่ของประเทศ หรือที่เรียกกันในภาษาเกาหลีว่า “แชโบล” บริจาคเงินรวมแล้วร่วมๆ 70 ล้านดอลลาร์ ให้แก่มูลนิธิ 2 แห่งของชอย โดยเป็นที่สงสัยกันว่าพัคอาจใช้อำนาจของเธอในการเอื้อประโยชน์ต่างๆ ทางธุรกิจเป็นการตอบแทนแก่แชโบลเหล่านี้

พัคไม่ได้ถูกตั้งข้อกล่าวหาใดๆ เนื่องจากได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ ขณะที่ชอยถูกตั้งข้อหาบีบบังคับและใช้อำนาจโดยมิชอบ รวมทั้งยักยอกเงินบริจาคไปใช้ส่วนตัว

ชอยก็ได้รับหมายเรียกไปให้ปากคำต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่จะมีการถ่ายทอดทางทีวี แต่ทนายความส่วนตัวของเธอออกมาปฏิเสธเมื่อวันจันทร์ (5) โดยอ้างว่าลูกความของตนป่วย ขณะที่สมาชิกรัฐสภาระบุว่า ชอยอาจถูกจำคุกฐานละเมิดอำนาจสภา หากไม่ไปปรากฏตัว

ทั้งนี้ รัฐสภาเกาหลีใต้ซึ่งมีสภาเดียวคือสภานิติบัญญัติแห่งชาติ มีกำหนดเริ่มเปิดการสอบปากคำพวกผู้นำแชโบลในวันอังคาร (6) โดยผู้ที่ถูกเรียกตัวมีทั้ง ลี แจยอง จากซัมซุง กรุ๊ป, ชุง มองกู ประธานกรรมการฮุนได และนายใหญ่กลุ่มกิจการขนาดใหญ่อีก 7 แห่ง อาทิ แอลจี, ล็อตเต้, ฮันจิน และซีเจ ซึ่งคาดว่า จะมีการซักถามคนเหล่านี้ว่า เคยถูกกดดันจากพัคให้บริจาคเงินแลกกับสิ่งตอบแทนบางอย่างหรือไม่

นักธุรกิจนายใหญ่ของแชโบลเหล่านี้เป็นผู้ร่ำรวยและทรงอิทธิพลที่สุดในเกาหลีใต้ ทว่า คดีอื้อฉาว “ชอย-เกต” ได้ตีแผ่ให้เห็นความไม่พอใจของประชาชนที่มีต่ออิทธิพลและสิทธิพิเศษของคนเหล่านี้ในระหว่างที่เศรษฐกิจของประเทศชะลอตัว
<i>ภาพการชุมนุมเดินขบวนขับไล่ประธานาธิบดีพัค กึน-ฮเย ในกรุงโซล เมื่อคืนวันเสาร์ (3 ธ.ค.)  ทั้งนี้การที่มีกระแสประชาชนออกมาเรียกร้องผู้นำหญิงให้ออกจากตำแหน่งอย่างแน่นหนาและต่อเนื่อง มีส่วนกดดันให้พวกผู้นำกลุ่มแชโบลของเกาหลีใต้ ต้องยอมไปให้ปากคำต่อรัฐสภาอย่างที่พวกเขาไม่เคยกระทำมาก่อน </i>
โชซุน อิลโบ หนังสือพิมพ์ที่มียอดตีพิมพ์สูงสุดในแดนโสมขาว รายงานโดยอ้างแหล่งข่าววงในว่า ผู้นำธุรกิจหลายคนในจำนวนนี้ต้องเร่งเตรียมตัวอย่างลนลาน ด้วยการซ้อมถาม-ตอบกับผู้ช่วย และท่องจำคำตอบสำหรับปัญหาที่ละเอียดอ่อน เพื่อไม่ให้ตัวเองเป็นที่อับอายต่อหน้าประชาชี

ขณะที่บางคนลงทุนส่งผู้จัดการไปที่อาคารรัฐสภาเพื่อจับเวลาที่ต้องใช้เดินไปยังห้องที่ใช้ซักถาม และหาทางหนีทีไล่เพื่อหนีนักข่าว

ทั้งนี้ โดยปกติแล้วเหล่าประธานแชโบลหรือกลุ่มกิจการขนาดใหญ่ของเกาหลีใต้ ไม่เคยถูกซักถามหรือถูกกล่าวโทษแม้แต่จากผู้ถือหุ้นบริษัทก็ตาม

ชิม จุงเต็ก ผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับซัมซุงและวัฒนธรรมองค์กรของบริษัท รวมถึงชีวประวัติลี คุนฮี ผู้ก่อตั้งซัมซุง ชี้ว่า เหตุการณ์นี้ถือเป็นการหักมุมวัฒนธรรมองค์กรของเกาหลีใต้ครั้งสำคัญ และว่า หากเป็นช่วงเวลาปกติ บรรดาชนชั้นสูงเหล่านี้จะไม่มีทางไปให้ปากคำต่อสภา แต่จากการที่คนนับล้านๆ ออกไปชุมนุมเรียกร้องให้พัคลาออก ทำให้เหล่าผู้นำแชโบลไม่กล้าขัดขืนกระแสสังคม
<i>ผู้อำนวยการสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติของเกาหลีใต้ คิม ควานจิน (ซ้าย) และพวกผู้ช่วยคนสำคัญอื่นๆ ของประธานาธิบดีพัค กึน-ฮเย พากันสาบานตัวก่อนให้ปากคำต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติในกรุงโซลวันจันทร์ (5 ธ.ค.) </i>
อย่างไรก็ตาม รัฐสภาไม่ได้เรียกพัคไปให้ปากคำ ขณะที่ผู้ที่ถูกเรียกในวันจันทร์ (5) คือบรรดาผู้ช่วยประธานาธิบดี ซึ่งถูกซักไซ้ประเด็นน่าขนลุกต่างๆ ที่ถูกเปิดโปงจากคดีอื้อฉาวนี้ เช่น การสั่งซื้อยาไวอะกรากว่า 300 เม็ด โดยสำนักประธานาธิบดี ซึ่งเจ้าหน้าที่ทำเนียบบลูเฮาส์อ้างว่า เพื่อบำบัดโรคจากการอยู่ที่สูงระหว่างการเยือนหลายประเทศในแอฟริกาเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

ในอีกด้านหนึ่ง พรรคฝ่ายค้านสำคัญ 3 พรรค ได้ยื่นญัตติถอดถอนพัคแล้วตั้งแต่เมื่อวันเสาร์ (3) โดยมีกำหนดให้โหวตในวันศุกร์ (9) ที่จะถึงนี้ แม้ฝ่ายค้านเวลานี้ครองเสียงข้างมากอยู่ แต่มติถอดถอนประธานาธิบดีจะมีผลก็ต่อเมื่อได้เสียงสนับสนุนเกิน 2 ใน 3 ของสภา ดังนั้นจึงยังจำเป็นจะต้องได้สมาชิกรัฐสภาจากพรรคเซนูรีของพัค อย่างน้อย 28 คนยกมือให้ด้วย

ก่อนหน้านี้กลุ่มกบฎในเซนูรีมีท่าทีลังเล แต่หลังจากมีประชาชนถึง 1.7 ล้านคนออกไปชุมนุมประท้วงเมื่อวันเสาร์ (2) ทำให้สมาชิกเหล่านี้ส่งสัญญาณว่า จะสนับสนุนญัตติของฝ่ายค้าน

วู ซังโฮ ผู้นำในรัฐสภาของพรรคเดโมเครติก หนึ่งในพรรคฝ่ายค้านสำคัญ กล่าวในการประชุมพรรคเมื่อวันจันทร์ (5) ว่า มีโอกาส 50:50 ที่สภาจะผ่านญัตติถอดถอน

ขณะเดียวกัน ประชาชนมากมายต่างไม่พอใจข้อเสนอของพรรครัฐบาลให้พัคลาออกโดยสมัครใจในเดือนเมษายนเพื่อหลีกเลี่ยงการถอดถอน และพากันส่งข้อความและอีเมลให้สมาชิกพรรคเซนูรีปลดประธานาธิบดี

กำลังโหลดความคิดเห็น