เอเอฟพี/รอยเตอร์ - พัค กึน-ฮเย ประธานาธิบดีสตรีคนแรกของเกาหลีใต้ ผู้กำลังย่ำแย่ร่อแร่จากกรณีอื้อฉาวเพื่อนสนิทหญิงของเธอตบทรัพย์กลุ่มธุรกิจยักษ์ใหญ่ในประเทศ แถลงในวันอังคาร (29 พ.ย.) ว่า เธอปรารถนาที่จะออกจากตำแหน่งเร็วกว่ากำหนดวาระ และขอให้รัฐสภาเป็นผู้ตัดสินใจเกี่ยวกับชะตากรรมของเธอ ความเคลื่อนไหวคราวนี้ทำท่าจะกลายเป็นนำวิกฤตการณ์ทางการเมืองของประเทศชาติให้ยิ่งจมลึกลงสู่ความไม่แน่นอน อีกทั้งถูกฝ่ายค้านประณามว่าเป็นเพียงความพยายามที่จะชะลอกระบวนการฟ้องร้องถอดถอนเธอเท่านั้น
พัค ถูกกล่าวหาว่า พัวพันรู้เห็นกับการใช้อิทธิพลทุจริตคอร์รัปชันเช่นนี้ ซึ่งถูกระบุว่ามีการโอนเงินเปลี่ยนมือกันในระดับหลายสิบล้านดอลลาร์สหรัฐฯทีเดียว จนกลายเป็นชนวนทำให้เกิดความโกรธเกรี้ยวกันอย่างกว้างขวางทั่วทั้งแดนโสมขาว และนำเอาผู้คนจำนวนเรือนแสนเรือนล้านออกมาชุมนุมประท้วงเรียกร้องให้เธอออกไป
“ดิฉันจะปล่อยประเด็นเรื่องการออกจากตำแหน่งของดิฉัน รวมทั้งเรื่องการลดระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของดิฉันด้วย ให้เป็นการตัดสินใจของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ” เธอแถลงเช่นนี้ในคำปราศรัย ซึ่งมีการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ โดยที่เกาหลีใต้นั้นเป็นประเทศที่ใช้ระบบสภาเดียว นั่นคือ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ
“ทันทีที่ท่านสมาชิกสภานิติบัญญัติตกลงกันเกี่ยวกับมาตรการต่างๆ เพื่อการถ่ายโอนอำนาจในวิถีทางซึ่งลดทอนสุญญากาศทางอำนาจใดๆ ตลอดจนความปั่นป่วนวุ่นวายในทางการปกครองให้เหลืออยู่น้อยที่สุดแล้ว ดิฉันก็จะลงจากตำแหน่งไป” เธอกล่าว
สมัยแห่งการเป็นประธานาธิบดีของพัค กำลังระส่ำระสายอย่างหนัก จากข้อกล่าวหาที่ว่า ชอย ซุนซิล คนสนิทลับๆ ของเธอที่ได้รับฉายาว่า “รัสปูตินของเกาหลี” รีดไถเงินทองไปรวมแล้วกว่า 60 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากกลุ่มธุรกิจระดับท็อปหลายแห่งของประเทศ เป็นต้นว่า ซัมซุง, ล็อตเต, เอสเค ที่เป็นเจ้าของสายการบินโคเรียนแอร์ไลนส์
พัค ถูกระบุชื่อว่า เป็นผู้ต้องสงสัยคนหนึ่งในการสอบสวน ซึ่งขยายวงบานปลายไปเรื่อยๆ ทำให้เธอกลายเป็นประธานาธิบดีเกาหลีใต้คนแรก ที่ตกเป็นเป้าหมายถูกเรียกสอบสวนในคดีความผิดทางอาญาในขณะที่ยังดำรงตำแหน่งอยู่
ถึงแม้ตามรัฐธรรมนูญโสมขาวแล้ว ขณะที่เธอยังเป็นประธานาธิบดีอยู่ เธอจะไม่ถูกตั้งข้อหาคดีอาญาใดๆ เว้นแต่ความผิดฐานกบฏ หรือทรยศชาติ ทว่า เธอยังอาจถูกฟ้องร้องได้เมื่อพ้นตำแหน่งแล้ว
ทุกๆ วันเสาร์ต่อเนื่องกันมานานกว่า 1 เดือนแล้ว มีผู้คนจำนวนหลายแสนกระทั่งกว่าล้านคน ออกมาชุมนุมประท้วงกันในกรุงโซล เรียกร้องให้นำตัวเธอเข้าสู่กระบวนการถอดถอนออกจากตำแหน่ง และพวกพรรคฝ่ายค้าน ระบุว่า คาดหมายว่า จะสามารถโหวตถอดถอนเธอได้อย่างเร็วที่สุดภายในสัปดาห์นี้
พวกที่วิพากษ์วิจารณ์เธอให้ความเห็นว่า ความเคลื่อนไหวล่าสุดของพัค อาจเป็นความพยายามที่จะทำให้ความพยายามดังกล่าวต้องเป็นหมันไป โดยที่พัคกำลังหวังว่าเธอจะสามารถทำข้อตกลงกับฝ่ายต่างๆ ซึ่งจะหลีกเลี่ยง หรืออย่างน้อยก็ลดทอนความรุนแรงของการฟ้องร้องลงโทษเธอ
อย่างไรก็ดี ปฏิกิริยาของฝ่ายค้านที่ออกมาในวันอังคาร (29) คือ การไม่ยอมรับข้อเสนอของเธอ
“จุดยืนของเราที่แสวงหาหนทางในการถอดถอนพัคออกจากตำแหน่ง ยังคงอยู่เหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง” ชู มีเอ ผู้นำของพรรคเดโมเครติก ปาร์ตี ที่เป็นพรรคฝ่ายค้านใหญ่ที่สุด กล่าว พร้อมกับระบุว่า สิ่งที่พัคเสนอออกมานั้นเป็นเพียง “เล่ห์เพทุบาย” ซึ่งมุ่งหันเหความสนใจของประชาชนเท่านั้น
แรงผลักดันให้ถอดถอนประธานาธิบดีพัค
ภายหลังการเลือกตั้งรัฐสภาเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ทำให้พรรคเซนูรี ที่มีแนวทางอนุรักษนิยมของพัค สูญเสียเสียงข้างมากไป และเวลานี้พรรคฝ่ายค้าน 3 พรรค ซึ่งรวมแล้วคุมที่นั่งในสภานิติบัญญัติแห่งชาติเอาไว้ราว 55% พร้อมด้วยสมาชิกบางคนในพรรคของพัค กำลังหาทางรวบรวมคะแนนเสียงให้ได้ถึงสองในสาม เพื่อให้ร่างญัตติดำเนินการถอดถอนประธานาธิบดีมีผลบังคับใช้ โดยอย่างเร็วที่สุดคาดว่าจะเป็นวันศุกร์ (2 ธ.ค.) นี้
ถ้าญัตตินี้ผ่าน พัคก็จะต้องหยุดการปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นทางการในทันที และให้นายกรัฐมนตรีของเธอเข้าทำหน้าที่เป็นหัวหน้ารัฐบาลชั่วคราว
กระนั้น หลังผ่านกระบวนการที่รัฐสภาแล้ว การถอดถอนก็จะยังไม่มีผลจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสินรับรอง โดยกระบวนการนี้คาดกันว่าอาจจะต้องใช้เวลา 6 เดือน ขณะที่วาระการดำรงตำแหน่งของพัคจะสิ้นสุดลงในเดือนกุมภาพันธ์ 2018 และรัฐธรรมนูญในปัจจุบันให้นั่งอยู่ในเก้าอี้ได้เพียงคนละสมัยเดียว
นับตั้งแต่เกาหลีใต้นำเอาระบบการเลือกตั้งประธานาธิบดี แบบเป็นประชาธิปไตยในปัจจุบันเข้ามาใช้เมื่อปี 1987 ยังไม่เคยมีประธานาธิบดีคนไหนเลยที่ไม่สามารถครองตำแหน่งไปจนครบวาระ 5 ปีของพวกเขา
นักวิเคราะห์การเมืองหลายราย ชี้ว่า ถ้าหากพัคลาออก หรือถูกรัฐสภาลงมติถอดถอนแล้วศาลรัฐธรรมนูญยืนยันตามนั้น ก็จะต้องจัดการเลือกตั้งขึ้นมาใหม่ภายใน 60 วัน เพื่อหาตัวประธานาธิบดีคนใหม่ ซึ่งจะมีวาระอยู่ในตำแหน่ง 5 ปี เนื่องจากระยะเวลาในการคัดเลือกผู้สมัครและรณรงค์หาเสียงจะสั้นมากเช่นนี้ ทำให้พวกพรรคการเมืองใหญ่ๆ ต่างมองหาทางซื้อเวลา ด้วยเหตุนี้จึงมีความเป็นไปได้ที่รัฐสภาจะต้องใช้เวลาหลายๆ เดือนกว่าจะตกลงกันได้เกี่ยวกับแผนการสำหรับให้พัคก้าวลงจากเก้าอี้
ขณะที่พัคเองก็ดูเหมือนพยายามฉกฉวยสถานการณ์เช่นนี้ โดยที่ ชิน ยูล อาจารย์รัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยมยองจี ให้ความเห็นว่า “เธอ (พัค) ไม่ได้ต้องการให้รัฐสภาถอดถอนเธอ และเธอก็ไม่คิดว่ารัฐสภาจะสามารถบรรลุข้อตกลงกันได้ในเร็ววัน ดังนั้นเธอจึงกำลังทำให้เรื่องยิ่งสลับซับซ้อนมากขึ้น และกำลังพยายามที่จะโยนเสียงประณามวิจารณ์ที่เธอได้รับอยู่บางส่วนไปที่รัฐสภา”