xs
xsm
sm
md
lg

ท่วมหนัก!รถไฟใต้อัมพาต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน360-รถไฟสายใต้ทุกขบวนสุดปลายทางได้แค่สถานีทุ่งสง นครศรีธรรมราช หลังเส้นทางรถไฟถูกน้ำท่วมหนักในพื้นที่พัทลุงจนไม่สามารถเดินรถได้ ขณะที่สถานการณ์น้ำท่วมยังวิกฤติหนัก ที่เมืองคอนจมแล้ว 23 อำเภอ เตือนระวังน้ำทะลักตัวเมืองรอบใหม่ ด้าน ทบ.ส่งกำลังพลลงพื้นที่ช่วยเหลือเหยื่อน้ำท่วมภาคใต้ 12 จังหวัดแล้ว ขณะที่ มท. สั่งผู้ว่าฯ เตรียมการช่วยเหลือ พร้อมให้รายงานส่วนกลางทุก 3 ชั่วโมง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (5 ธ.ค.) ที่สถานีชุมทางทุ่งสง อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช ผู้โดยสารจำนวนหลายร้อยคนตกค้างอยู่ที่สถานี เนื่องจากขบวนรถไฟจากภาคใต้ตอนล่างไม่สามารถเดินรถผ่าน อ.ควนขนุน จ.พัทลุง และ อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช เนื่องจากน้ำท่วมสันรางสูงจนไม่สามารถเดินรถผ่านได้ ขณะที่เจ้าหน้าที่การรถไฟเร่งประสานงาน เพื่อจัดรถบัสเข้ามาขนย้ายผู้โดยที่รอขบวนรถเดินทางไปที่หมาย ท่ามกลางฝนที่ยังคงตกอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับแจ้งกับผู้โดยสารว่า ขณะนี้รถไฟทุกขบวนขาล่องใต้สามารถเดินรถมาสุดทางได้แค่สถานีชุมทางทุ่งสง ขณะที่สายใต้ขาขึ้นนั้น ไม่สามารถผ่านพัทลุงมาได้

นายชัยยะ คชรัตน์ สารวัตรงานเดินรถแขวงทุ่งสง นครศรีธรรมราช กล่าวว่า การรถไฟได้จัดรถบัสเตรียมรอขนถ่ายผู้โดยสาร 3 จุด คือ 1.สถานีชุมทางทุ่งสง 2.สถานีบ้านช่องเขา และ 3.สถานีชะอวด เพื่อระบายผู้โดยสาร สำหรับขบวนรถสายใต้ทั้งหมดหยุดการเดินรถเพียงแค่ อ.ทุ่งสง เนื่องจากน้ำท่วมในท้องที่อำเภอควนขนุนมีระดับสูง และล่าสุด มีรายงานว่าขบวนรถสายกรุงเทพ-บัตเตอร์เวิร์ต ได้จอดขบวนอยู่ที่สถานีชะอวด นครศรีธรรมราช เนื่องจากไม่สามารถเดินรถต่อไปได้จากภาวะน้ำสูงบนสันราง

ด้านสถานการณ์น้ำท่วมหลายจังหวัดภาคใต้ยังคงวิกฤตหนักโดยเฉพาะ จ.นครศรีธรรมราช โดยรายงานข่าวแจ้งว่า ที่บริเวณคลองกลาย ช่วง ต.นิตำ อ.นบพิตำ น้ำป่าจากเทือกเขาหลวงได้ไหลลงมาในคลองกลายอย่างต่อเนื่องจนระดับน้ำในลำคลองสูงกว่า 5 เมตร และยังหลากอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเกิดจากปริมาณน้ำฝนสะสมบนเทือกเขาหลวงเป็นจำนวนมาก โดยพื้นที่ปลายน้ำของลำคลองสายนี้ คือ อ.ท่าศาลา ซึ่งจะทำให้ระดับน้ำสูงขึ้นจนเข้าสู่ในขั้นวิกฤต เช่นเดียวกับในพื้นที่ลำคลองบ้านท่าทน อ.สิชล น้ำป่ายังคงไหลหลากอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน จนสร้างความเสียหายให้พื้นที่เป็นวงกว้าง

นายวานิช แก้ว ประจุ ผอ.การโครงการชลประทานนครศรีธรรมราช กล่าวว่า จากปริมาณฝนที่ตกหนักต่อเนื่องในพื้นที่ป่าต้นน้ำเขตเทือกเขาหลวงทำให้ประเมินว่าในช่วงเวลา 20.00 น.คืนวันที่ 5 ธ.ค.มวลน้ำระลอกใหม่จะไหลลงไปถึงเขตตัวเมืองนครศรีธรรมราช เพราะที่สถานีวัดน้ำที่หน้าฝายคลองท่าดี อ.ลานสกา มีระดับน้ำสูงขึ้นต่อเนื่อง ดังนั้น จึงขอแจ้งเตือนให้ประชาชนที่อยู่ในเขตเทศบาลนครนครศรีธรรมราชและพื้นที่ใกล้เคียงได้ขนย้ายทรัพย์สิน และเตรียมตัวอพยพไปอยู่ในที่ปลอดภัย

ขณะที่นายจำเริญ ทิพญพงศ์ธาดา ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้ประชุมคณะกรรมการศูนย์บัญชาการเหตุการณ์จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อติดตามสถานการณ์และการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย โดยที่ประชุมได้รับทราบสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ มีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 23 อำเภอ 161 ตำบล 1 เทศบาลนครฯ และ 3 เทศบาลเมือง ราษฎรได้รับผลกระทบ 261,877 คน 105,289 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิตจำนวนหนึ่ง หนักสุดในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง คือ ร่อนพิบูลย์ จุฬาภรณ์ เฉลิมพระเกียรติ เชียรใหญ่ ปากพนัง ส่วนอำเภออื่นๆ เช่น ทุ่งสง สิชล เป็นต้น เฉพาะในเขตเทศบาลนครนครศรีธรรมราช มีน้ำท่วมทั้ง 62 ชุมชน ได้อพยพประชาชนไปพักที่โรงเรียนในสังกัดเทศบาลประมาณ 800 คน

ในส่วนโรงเรียนต่างๆ ได้ประกาศหยุดเรียนเป็นเวลา 2 วัน คือ วันที่ 6-7 ธ.ค.2559 เช่น โรงเรียนอนุบาลนครศรีธรรมราช (ณ นครอุทิศ) โรงเรียนวัดพระมหาธาตุ โรงเรียนวัดหัวอิฐ โรงเรียนบ้านทวดทอง โรงเรียนปากพนัง โรงเรียนสตรีปากพนัง และโรงเรียนเบญจมราชูทิศ เป็นต้น

ด้าน พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบก กล่าวว่า ฝนที่ตกหนักตั้งแต่เมื่อ 4 ธ.ค.ที่ผ่านมาในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง ทำให้เกิดมีน้ำไหลหลากท่วงขังในหลายพื้นที่ ด้วยความห่วงใยต่อสถานการณ์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาร ผบ.ทบ. ได้มอบหมายให้ศูนย์บรรเทาสาธารณภัย ทบ.โดยศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองทัพภาคที่ 4 จัดกำลังพลและยุทโธปกรณ์ เร่งเข้าให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยร่วมกับหน่วยราชการในพื้นที่ทันที มี 12 จังหวัด ได้แก่ จ.ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และ จ.สตูล ด้วยการจัดกำลังพล 12 กองร้อยและรถยนต์บรรทุก 50 คันเข้าให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัย ด้วยการอพยพประชาชน ช่วยขนย้ายสิ่งของจำเป็นไปยังพื้นที่ปลอดภัย ช่วยรับ-ส่งประชาชน และก่อกระสอบทรายทำแนวกั้นน้ำ

วันเดียวกันนี้ นายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้ทำหนังสือด่วนที่สุดถึง 14 ผู้ว่าราชการจังหวัดภาคใต้ มีใจความโดยสรุปว่า ขอให้กำหนดพื้นที่ปฏิบัติงานให้ชัดเจน ทั้งพื้นที่กำลังประสบภัย พื้นที่เสี่ยงที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ โดยให้ระบุเป็นอำเภอ ตำบล หมู่บ้าน ครัวเรือน ต้องเตรียมการช่วยเหลือหรือบรรเทาภัยให้เหมาะสมตามสถานการณ์ โดยประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อป้องกันการซ้ำซ้อน และต้องรายงานสถานการณ์ให้กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลางทุก 3 ชั่วโมง รวมทั้งต้องกำหนดผู้รับผิดชอบในการให้ข้อมูลข่าวสาร และให้ลงพื้นที่ เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจอย่างต่อเนื่อง

ทางด้านกรมอุตุนิยมวิทยา ได้พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้า ภาคใต้มีฝนตกหนักถึงหนักมากหลายพื้นที่บริเวณ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ระนอง พังงา ภูเก็ต และกระบี่ ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระมัดระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งจะทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก

สำหรับประเทศไทยตอนบนมีอากาศเย็นถึงหนาว โดยกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ยังคงมีอากาศเย็นในตอนเช้า ขอให้ประชาชนดูแลสุขภาพเนื่องจากอากาศที่เปลี่ยนแปลงในระยะนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น