xs
xsm
sm
md
lg

เมกะโปรเจ็กต์คสช. "รถไฟฟ้า-ทางคู่"มาครบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน360-คสช.ขับเคลื่อนสารพัดโครงการเมกะโปรเจ็กต์ เดินหน้าลงทุนสร้างระบบเครือข่ายคมนาคมของประเทศ เผยช่วง 2 ปี อนุมัติรถไฟฟ้าสารพัดสี รถไฟทางคู่อีกหลายสาย ชนิดที่ไม่มีรัฐบาลไหนทำได้มาก่อน ส่วนปี 60 จ่ออนุมัติโครงการขนาดใหญ่อีกเพียบ ครอบคลุมทางบก ราง น้ำ อากาศ เผยจะช่วยพลิกโฉมการเดินทางครั้งใหญ่ และช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจไทยได้อย่างยั่งยืน

นับตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา ประเทศไทย ได้เข้าสู่ห้วงเวลาแห่งการก่อสร้าง ทั้งโครงการรถไฟฟ้าสารพัดสี รถไฟทางคู่หลายสายเชื่อมโยงในทุกภูมิภาคแบบปูพรมเต็มที่ เรียกว่าแทบทุกโครงการที่เคยเป็นแผนของหลายรัฐบาลที่ผ่านมา ได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แบบที่ไม่มีรัฐบาลชุดไหนทำมาก่อน

กระทรวงคมนาคม รับหน้าที่สำคัญในการนำนโยบาย คสช. มาขับเคลื่อน โดยกำหนดเป็นแผนปฏิบัติการ (Action Plan) ปี 2559 จำนวน 20โครงการ วงเงินลงทุนกว่า 1.4 ล้านล้านบาท โดยมีทั้งรถไฟฟ้า รถไฟทางคู่ มอเตอร์เวย์ ท่าเทียบเรือ และสนามบินสุวรรณภูมิ เฟส2 ซึ่งล่าสุดเตรียมจะเสนอแผนปฏิบัติการ ปี 2560 ซึ่งจะมีอีกไม่น้อยกว่า 30 โครงการ ครอบคลุมทั้ง "บก-ราง-น้ำ-อากาศ" ประเมินว่าวงเงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 7-8 แสนล้านบาท

สำหรับผลงาน "ครม.พล.อ.ประยุทธ์" ที่ผ่านมา ได้เข้ามาเร่งรัดระบบรางของกระทรวงคมนาคม โดยประเดิมด้วยการอนุมัติโครงการรถไฟทางคู่ ช่วงฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย ระยะทาง 106 กม. วงเงินลงทุน 11,348.35 ล้านบาท เมื่อปี 2558 และเริ่มก่อสร้างในเดือนก.พ.2559 หลังจากนั้น ได้อนุมัติเพิ่มอีก 6 โครงการ ตามแผนงานระยะเร่งด่วน วงเงินรวม 139,103.76 ล้านบาท โดยเริ่มก่อสร้างช่วงชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น แล้ว ส่วนอีก 5เส้นทางอยู่ระหว่างประมูล จะเคาะราคากันในต้นปี 2560

ส่วนระบบรถไฟฟ้าที่อยู่ในแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในกรุงเทพมหานคร (กทม.) และปริมณฑล 10 สายนั้น ปี 2559 มีการอนุมัติโครงการในความรับผิดชอบของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จำนวน 3 โครงการ ได้แก่ สายสีเหลือง ระยะทาง 30.4 กม. วงเงิน 54,644 ล้านบาท ช่วงลาดพร้าว-สำโรง , สายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ระยะทาง 34.5 กม. วงเงิน 56,691.01 ล้านบาท ขณะนี้ รฟม.อยู่ระหว่างการพิจารณาข้อเสนอ โดยจะได้ตัวผู้ชนะในกลางเดือนธ.ค.นี้ ตามนโยบายนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งเร็วกว่าแผนงาน 1 เดือน ส่วนสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี ระยะทาง 21 กม. วงเงิน 109,540.84 ล้านบาท เปิดยื่นซองข้อเสนอเมื่อวันที่ 31 ต.ค. ขณะนี้ได้เปิดซองข้อเสนอด้านคุณสมบัติและข้อเสนอด้านเทคนิคแล้ว โดยจะเปิดซองข้อเสนอด้านราคาในช่วงเดือนก.พ.2560 และคาดว่าจะลงนามได้เดือนเม.ย.2560

ขณะที่สายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ ระยะทาง 23.6กม. วงเงิน 131,004.30 ล้านบาท ขณะนี้ รฟม. ได้ทำข้อมูลรายละเอียดเพิ่มเติมเสนอต่อคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกินและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดว่าจะประชุมในเดือนธ.ค.นี้ จากนั้นจะเสนอครม.ได้ปลายปีหรือต้นเดือนม.ค.2560

ส่วนรถไฟฟ้าในความรับผิดชอบของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ที่ได้รับอนุมัติจาก ครม. คือ รถไฟสายสีแดงอ่อน(Missing Link) ช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก และสีแดงเข้ม ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง ระยะทาง 25.9 กม. วงเงิน 44,157.76 ล้านบาท อยู่ระหว่างปรับแบบรายละเอียดเพื่อให้สามารถดำเนินการได้ และการบริหารจัดการเดินรถเข้าสถานีหัวลำโพง
คาดประมูลได้ประมาณกลางปี 2560

สำหรับแผนในปี 2560 ได้มีการเตรียมเสนอ ครม. อนุมัติรถไฟทางคู่ระยะ 2 อีก 7 โครงการ ระยะทาง 1,493 กม. และสายใหม่ 2 โครงการ รวมวงเงินถึง 433,995.4 ล้านบาท ได้แก่ ช่วง ปากน้ำโพ-เด่นชัย ระยะทาง 285 กม. , ช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี ระยะทาง 309 กม. , ช่วงขอนแก่น-หนองคาย ระยะทาง 174 กม. , ช่วงชุมพร-สุราษฎร์ธานี ระยะทาง 167 กม. , ช่วงสุราษฎร์ธานี-หาดใหญ่-สงขลา ระยะทาง 324 กม. , ช่วงเด่นชัย-เชียงใหม่ ระยะทาง 189 กม.,ช่วงหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ ระยะทาง 45 กม.

นอกจากนี้ ยังมีทางคู่สายใหม่ 2สาย ช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ วงเงิน 76,980 ล้านบาท และสายบ้านไผ่-นครพนม วงเงิน 60,353 ล้านบาท

ส่วนรถไฟฟ้าของ รฟม. เตรียมเสนอครม. ในปี 2560 จำนวน4 โครงการ วงเงินรวม 125,174.15 ล้านบาท ได้แก่ ส่วนต่อขยายสายสีเขียวใต้ ช่วงสมุทรปราการ-บางปู , สายสีเขียวเหนือ ช่วงคูคต-ลำลูกกา , สายสีน้ำเงินช่วงบางแค-พุทธมณฑลสาย 4 และสายสีส้ม (ตะวันตก) ช่วงตลิ่งชัน-ศูนย์วัฒนธรรม และยังมีรถไฟฟ้าของ การรถไฟฯ อีก 3 โครงการ วงเงินรวม 55,123.51 ล้านบาท ได้แก่ สายสีแดง ส่วนต่อขยายจากรังสิต-ม.ธรรมศาสตร์ สายสีแดงช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา/ตลิ่งชัน-ศิริราช และรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ ช่วง พญาไท-บางซื่อ-ดอนเมือง

นายพีระยุทธ สิงห์พัฒนากุล ผู้ว่าฯ รฟม. ระบุว่า หาก ครม.อนุมัติสายสีม่วงใต้ รฟม. จะทำราคากลางเรียบร้อยใน1 เดือน หรือเปิดประมูลได้ในไตรมาสแรกปี 2560 และหากในปี 2560 ครม.อนุมัติรถไฟฟ้าอีก4 สาย รฟม.ก็จะเร่งการประกวดราคา ซึ่งเท่ากับว่าในปี 2560 รถไฟฟ้าในแผนแม่บทในส่วนของ รฟม. จะได้ก่อสร้างครบทั้งหมด

ทั้งนี้ การผลักดันลงทุนระบบรางครั้งใหญ่ ในรอบ 2ปี ของรัฐบาล คสช. ถือเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นในรัฐบาลที่ผ่านๆ มา โดยนายอาคม เติมพิมยาไพสิฐ รมว.คมนาคม ระบุว่า ที่ผ่านมา ระบบราง ระบบขนส่งมวลชน เป็นนโยบายของทุกรัฐบาล แต่การขับเคลื่อนไม่มี ต่างจากรัฐบาลนี้ เขียนนโยบายแล้ว มีการลงสู่ขับเคลื่อนอย่างจริงจัง "ติดตาม-ติดขัดตรงไหน-เร่งรัด" โดยมีกระทรวงคมนาคมเป็นผู้ปฎิบัติ

โดยนอกจากระบบรางแล้ว ที่ผ่านมา รัฐบาลได้ผลักดัน ทั้งโครงข่ายถนน 4 ช่องจราจร มอเตอร์เวย์ 3 สาย และในปี 2560 จะมีมอเตอร์เวย์ สายนครปฐม-ชะอำ ระยะทาง 119 กม. วงเงิน 80,600 ล้านบาท และทางด่วนสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอก ระยะทาง 16.923 กม. มูลค่าโครงการ กว่า 3 หมื่นล้านบาท , ทางด่วนN2 , ทางด่วน กระทู้-ป่าตอง

การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ครั้งประวัติศาสตร์นี้ นายสมคิด ระบุว่า ไม่ใช่มองแค่เรื่องกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศเท่านั้น สิ่งสำคัญยิ่งกว่า คือ เป็นการวางพื้นฐานศักยภาพของประเทศ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เพราะที่ผ่านมา "รางไม่ต่อ .ถนนไม่เพิ่ม" ขณะใครจะเข้ามาลงทุนจะมองที่โครงสร้างพื้นฐานก่อนว่าประเทศไทยพร้อมแค่ไหน จะขนส่งสินค้าไปท่าเรือแหลมฉบัง ถนนเป็นอย่างไร ตรงนี้ มีการเพิ่มโครงข่าย ขยายเป็น4 เลน เพิ่มรถไฟทางคู่ สินค้าจากภาคอีสาน จากชายแดนกัมพูชา มาใช้ท่าเรือแหลมฉบังได้สะดวกมากขึ้น

จึงนับได้ว่าเวลา 2 ปี ภายใต้รัฐบาล คสช. เป็นห้วงเวลาสำคัญ แห่งการสร้างพื้นฐานความแข็งแกร่งของประเทศเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน อย่างแท้จริง
กำลังโหลดความคิดเห็น