ครม.รับทราบแผนโครงการลงทุน ปี 60 (Action Plan) รวม 36 โครงการ วงเงินกว่า 8.95 แสนล้าน “อาคม” เร่งขับเคลื่อนวางโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มขีดความสามารถประเทศ คาดปี 60 จะเบิกจ่ายงบลงทุนได้กว่า 1.49 แสนล้าน ช่วยกระตุ้น ศก. ส่วนปี 61 มั่นใจเบิกงบลงทุนได้เพิ่มอีกเท่าตัวเนื่องจากทุกโครงการในแผนเริ่มต้นได้หมด เผยผลงานปี 59-60 จัดแผน 56 โครงการใหญ่ อัดเม็ดเงินลงทุนรวม 2.29 ล้านล้าน
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 13 ธ.ค.ได้รับทราบแผนงานโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง ตามแผนปฏิบัติการ (Action Plan) ด้านคมนาคมขนส่ง พ.ศ. 2560 ซึ่งมีทั้งสิ้น 36 โครงการ วงเงินลงทุน 895,757.55 ล้านบาท โดยเป็นการลงทุนด้านระบบรางมูลค่าประมาณ 73.28% ระบบทางด่วนและมอเตอร์เวย์ 18.67 % ที่เหลือเป็นการพัฒนาสนามบิน ท่าเรือและศูนย์ขนส่งสินค้า โดยปี 2559 กระทรวงคมนาคมได้ขับเคลื่อนการลงทุนในแผนปฏิบัติการ ปี 2559 จำนวน 20 โครงการ วงเงิน 1.4 ล้านล้านบาท ทำให้ภาพรวมแผนลงทุนด้านคมนาคมปี 2559 ต่อเนื่องปี 2560 จะมีถึง 56 โครงการ วงเงินลงทุนรวม 2,295,724.42 ล้านบาท
ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมเร่งผลักดันการลงทุนโครงขนาดใหญ่ เนื่องจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเป็นสิ่งสำคัญต่อการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยประเมินว่า ในปี 2560 จะสามารถเบิกจ่ายงบลงทุนได้ประมาณ 149,752 ล้านบาท หรือคือเป็นสัดส่วนประมาณ 1% ของ GDP เนื่องจากเป็นปีที่หลายโครงการได้เริ่มต้นก่อสร้าง และในปี 2561 จะสามารถเบิกจ่ายงบลงทุนได้เพิ่มอีก 1 เท่าตัว เพราะทุกโครงการจะเข้าสู่การก่อสร้างหมด นอกจากจะกระตุ้นการเบิกจ่ายงบได้โดยตรงแล้ว ยังมีประโยชน์ต่อเศรษฐกิจทางอ้อมด้วย เช่น เกิดการลงทุนภาคอสังหาริมทรัพย์ตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้า เป็นต้น ซึ่งในภาพรวมน่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากกว่า 1% ของ GDP แน่นอน
โดยในแผนปฏิบัติการปี 2560 จำนวน 36 โครงการนั้นจะมีรถไฟทางคู่ 10 เส้นทางวงเงิน 408,616.28 ล้านบาท โดยเป็นการเติมเต็มโครงข่ายให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ได้แก่ ภาคใต้ ช่วงหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ วงเงิน 10,239.58 ล้านบาท, ช่วงชุมพร-สุราษฎร์ธานี วงเงิน 23,384.91 ล้านบาท, ช่วงสุราษฎร์ธานี-สงขลา วงเงิน 51,823.83 ล้านบาท, ช่วงหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ วงเงิน 7,941.80 ล้านบาท ภาคเหนือ ช่วงปากน้ำโพ-เด่นชัย วงเงิน 56,066.25 ล้านบาท, ช่วงเด่นชัย-เชียงใหม่ วงเงิน 59,924.24 ล้านบาท, ช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ วงเงิน 76,978.82 ล้านบาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ช่วงขอนแก่น-หนองคาย วงเงิน 26,065.75 ล้านบาท, ช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี วงเงิน 35,839.74 ล้านบาท และช่วงบ้านไผ่-นครพนม วงเงิน 60,351.91 ล้านบาท
รถไฟชานเมือง 2 เส้นทาง วงเงิน 26,639.07 ล้านบาท ได้แก่ สายสีแดงเข้ม ช่วงรังสิต-มธ.รังสิต วงเงิน 7,596.94 ล้านบาท, สายสีแดงอ่อน ส่วนต่อขยาย ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช และตลิ่งชัน-ศาลายา วงเงิน 19,042.13 ล้านบาท
รถไฟฟ้าขนส่งมวลชน 6 เส้นทาง วงเงิน 221,148.35 ล้านบาท ได้แก่ สายสีน้ำเงิน ช่วงบางแค-พุทธมณฑลสาย 4 วงเงิน 21,197 ล้านบาท, สายสีส้ม ช่วงตลิ่งชัน-ศูนย์วัฒนธรรมฯ วงเงิน 123,354 ล้านบาท, สายสีเขียวเข้ม ช่วงสมุทรปราการ-บางปู วงเงิน12,146 ล้านบาท ,สายสีเขียวเข้ม ช่วงคูคต-ลำลูกกา วงเงิน 9,803 ล้านบาท, รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรลลิงก์ ส่วนต่อขยาย ช่วงดอนเมือง-บางซื่อ-พญาไท วงเงิน 31,149.35 ล้านบาท, ระบบขนส่งมวลชน จังหวัดภูเก็ต วงเงิน 23,499 ล้านบาท
ทางหลวงพิเศษ (มอเตอร์เวย์) 2 เส้นทาง วงเงินรวม 111,100 ล้านบาท ได้แก่ มอเตอร์เวย์สายนครปฐม-ชะอำ วงเงิน 80,600 ล้านบาท, สายหาดใหญ่-ชายแดนไทย/มาเลเซีย วงเงิน 30,500 ล้านบาท
ทางพิเศษ 3 เส้นทาง วงเงินรวม 56,122.65 ล้านบาท ได้แก่ ทางด่วนสายพระราม3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกทม.ด้านตะวันตก วงเงิน 31,244 ล้านบาท, ทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือตอน N 2 และ E-W Corridor วงเงิน 14,382 ล้านบาท, ทางด่วนสายกะทู้-ป่าตอง วงเงิน 10,496.65 ล้านบาท
สิ่งอำนวยความสะดวกทางถนน 5 โครงการวงเงิน 21,473.29 ล้านบาท ได้แก่ การพัฒนาจัดพักรถบรรทุกตามเส้นทาง วงเงิน 550 ล้านบาท, ศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ วงเงิน 2,365.81 ล้านบาท, ศูนย์การขนส่งชายแดน จ.นครพนม วงเงิน 1,053.62 ล้านบาท,การพัฒนาสถานีขนส่งสินค้าภูมิภาค (ชายแดน 9 จังหวัด) วงเงิน 8,065.84 ล้านบาท, การพัฒนาสถานีขนส่งสินค้าภูมิภาค (เมืองหลัก 8 จังหวัด) วงเงิน 9,438.02 ล้านบาท
โครงการจัดหารถเมล์ไฟฟ้า 200 คันพร้อมก่อสร้างสถานีประจุไฟฟ้า วงเงิน 2,272.22 ล้านบาท, การบริหารระบบตั๋วร่วม วงเงิน 1,355.34 ล้านบาท
ทางน้ำ 3 โครงการวงเงิน 36,081.24 ล้านบาท ได้แก่ การเดินรถเฟอร์รี เชื่อมอ่าวไทยตอนบน กรมเจ้าท่าเปิดให้เอกชนร่วมลงทุน ซึ่งอยู่ระหว่างตรวจสอบมาตรฐานด้านความปลอดภัยและจะเริ่มเปิดเดินเรือให้บริการได้ในต้นเดือน ม.ค. 2560, การพัฒนาท่าเรือเฟอร์รี เชื่อมอ่าวไทยตอนบน วงเงิน 981.70 ล้านบาท, การพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ขั้นที่ 3 วงเงิน 35,099.54 ล้านบาท
ทางอากาศ 3 โครงการ วงเงินรวม 10,949.11 ล้านบาท ได้แก่ การพัฒนาสนามบินภูมิภาควงเงิน 7,685.50 ล้านบาท, การปรับปรุงระบบลำเลียงกระเป๋าสัมภาระ สนามบินสุวรรณภูมิ วงเงิน 3,263.61 ล้านบาท และโครงการพัฒนากิจกรรมการซ่อมบำรุงอากาศยาน (Maintenance Repair and Overhaul หรือ MRO) ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษายังไม่สรุปวงเงินเช่นกัน