xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ไม่"เซตซีโร"...แต่มี "หลุดกลางอากาศ"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ขณะนี้อยู่ในช่วงเวลาของการ ร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ 10 ฉบับ แต่มี 4 ฉบับ ที่ต้องดำเนินการก่อนเพื่อรองรับการเลือกตั้งทั่วไปที่จะมีขึ้นในปี 2560 ตามโรดแมปของคสช. คือ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว. และ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)
 
ประเด็นที่มีการพูดถึงและวิพากษ์วิจารณ์กันมากคือ เรื่อง"รีเซต" หรือ "เซตซีโร" ซึ่งองค์กรที่อยู่ในข่าย คือ พรรคการเมือง และองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ เนื่องจากคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน ได้ตั้งกรอบ กติกา คุณสมบัติ ในการคัดสรรบุคคลเข้าสู่การเมือง และองค์กรอิสระไว้ชนิดที่เรียกว่า "มาตรฐานสูง"

เพราะกรธ.ต้องตอบโจทย์ที่ว่า ทำอย่างไรถึงจะได้คนดีเข้ามาสู่ระบบการเมือง ทำอย่างไรให้นักการเมือง พรรคการเมือง หลุดพ้นจากการถูกครอบงำโดยกลุ่มทุน การใช้เงินในการหาเสียง ปัญหาซื้อสิทธิ ขายเสียง รวมทั้งบทลงโทษนักการเมืองที่ทุจริต คอร์รัปชัน เพื่อป้องกัน และปราบปรามนักการเมือง และพรรคการเมือง ที่เข้ามาโกงชาติ โกงแผ่นดิน

ซึ่งขณะนี้ก็มีความชัดเจนจาก กรธ. ออกมาแล้วในระดับหนึ่ง คือ จะไม่มีการเซตซีโรพรรคการเมือง แต่อาจมีส่วนที่ต้องปรับปรุงให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่กำหนด อาทิ การกำหนดให้พรรคการเมือง ต้องทำทะเบียนสมาชิกพรรค เรื่องของของทุนประเดิมพรรคการเมือง เรื่องที่ต้องจัดทำบัญชีทรัพย์สิน และหนี้สิน ซึ่งจะต้องมีการกำหนดระยะเวลาเอาไว้ หากไม่ดำเนินการตามกำหนด ก็จะมีโทษถึงขั้นไม่สามารถส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งได้ หรือถึงขั้นยุบพรรคไป

สำหรับในส่วนขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญนั้น แม้จะไม่มีการเซตซีโร แต่จะต้องมีกรรมการองค์กรอิสระบางคนต้องพ้นจากตำแหน่งไป เนื่องจากมีคุณสมบัติไม่ตรงตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ 
                  
    เรื่องนี้มีก็มีความชัดเจนจาก นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรธ. ออกมาแล้วว่า คณะกรรมการสรรหา จะเป็นผู้ชี้ขาดเกี่ยวกับคุณสมบัติของบุคคลที่ดำรงตำแหน่งองค์กรอิสระ ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงเนื้อหาได้ เพราะจะขัดกับรัฐธรรมนูญ และจะไม่มีการคุ้มครองผู้ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในขณะนี้ให้อยู่ต่อไปจนครบวาระ เพราะรัฐธรรมนูญจะมีผลทันทีเมื่อมีการบังคับใช้ จะไปเขียนกฎหมายลูกให้คนที่ดำรงตำแหน่งในปัจจุบันอยู่ต่อไปจนครบวาระ ก็ทำไม่ได้ จึงขอให้ทำใจไว้ได้เลย

จากการตรวจสอบในประเด็นคุณสมบัติที่ว่านี้ องค์กรอิสระที่จะมีปัญหาคือ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และ ศาลรัฐธรรมนูญ

ในส่วนของ กกต.นั้น ผู้ที่อยู่ในข่ายมีปัญหาที่จะต้องหลุดกลางอากาศก็คือ นายประวิช รัตนเพียร กกต.ด้านการมีส่วนร่วม เนื่องจากเคยดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการแผ่นดิน เมื่อวันที่ 26 ต.ค. 54 - 24 ก.ย. 56 ซึ่งเข้าลักษณะต้องห้ามเคยดำรงตำแหน่งกรรมการในองค์กรอิสระตาม มาตรา 216 (3) ประกอบ มาตรา 202 (1) ตามร่างรัฐธรรมนูญใหม่ นอกจากนี้ยังเคยดำรงตำแหน่ง รมว.วิทยาศาสตร์ เมื่อปี 2548-2549 เมื่อนับถึงวันเข้ารับการสรรหาเป็น กกต. เมื่อเดือน ก.ย. 56 ถือว่าพ้นจากเป็นข้าราชการการเมืองมาเพียง 7 ปี ซึ่งเข้าลักษณะต้องห้ามการดำรงตำแหน่งกรรมการองค์กรอิสระตาม มาตรา 216 (3) ประกอบมาตรา 202 (4) ตามร่างรัฐธรรมนูญใหม่เช่นกัน

ส่วน นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านบริหารกลาง ที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ในทางที่ไม่เห็นด้วยกับการเซตซีโร อย่างเผ็ดร้อน รุนแรง จนเหมือนเป็นคู่กัดกับกรธ. และยังยืนยันว่าไม่ได้ออกมาพูดเพื่อตัวเอง เพราะมั่นใจว่ามีคุณสมบัติไม่ขัดรัฐธรรมนูญ เนื่องจากก่อนที่จะมาดำรงตำแหน่ง กกต. เคยทำงานในองค์กรกลาง ซึ่งเป็นองค์กรเอกชนตรวจสอบการเลือกตั้ง มากว่า 24 ปี จึงมีคุณสมบัติตาม มาตรา 222 วรรคท้าย ของร่างรธน.ใหม่ ที่ระบุว่า ต้องเป็นผู้ทำงาน หรือเคยทำงานในภาคประชาสังคมมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 20 ปี  

แต่ก็ยังไม่มีใครรับประกันได้ว่า นายสมชัย จะอยู่ หรือจะไป เพราะต้องรอดูประกาศของคณะกรรมการสรรหา ว่าจะกำหนดว่างานภาคประชาสังคมใด หรือตำแหน่งใด ในองค์กรภาคประชาสังคม ที่จะถือว่าเข้าข่ายใช้เป็นเกณฑ์การมีคุณสมบัติได้รับคัดเลือกเป็น กกต.ได้

ส่วนคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) บุคคลที่อยู่ในข่ายอาจมีปัญหาเรื่องคุณสมบัติ ก็มี พล.ต.อ.วัชรพล ประสานราชกิจ ประธาน ป.ป.ช. เนื่องจาก เคยดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ) ในปี 2557 จึงเข้าลักษณะต้องห้ามดำรงตำแหน่ง กรณีเคยเป็นข้าราชการการเมืองในระยะ 10 ปี ก่อนเข้ารับการสรรหาตาม มาตรา 216 (3) ประกอบมาตรา 202 (4)

นายวิทยา อาคมพิทักษ์ เคยดำรงตำแหน่งคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ในปี 2557 เข้าลักษณะต้องห้ามเคยดำรงตำแหน่งกรรมการในองค์กรอิสระตาม มาตรา 216 (3) ประกอบมาตรา 202 (1)

ขณะที่ นายณรงค์ รัฐอมฤต เคยดำรงตำแหน่งรองเลขา ป.ป.ช. ซึ่งถือว่าเป็นระดับ 10 ในปี 2552 แต่เมื่อตำแหน่งดังกล่าวไม่ได้เป็นหัวหน้าหน่วยงาน จึงไม่อาจนำมาเทียบเคียงกับตำแหน่งอธิบดีได้ และเมื่อได้มาเป็นเลขา ป.ป.ช. ซึ่งเป็นระดับ 11 เทียบเท่า อธิบดี และหัวหน้าส่วนราชการในปี 2555 แต่เมื่อนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งดังกล่าว จนเข้าสรรหาเป็นกรรมการป.ป.ช. ในปี 2556 ยังไม่ถึง 5 ปี นายณรงค์ จึงขาดคุณสมบัติดำรงตำแหน่งตาม มาตรา 232 ( 2)

เช่นเดียวกันกับ นายปรีชา เลิศกมลมาศ เป็นรองเลขา ป.ป.ช. ตั้งแต่ปี 2547-2552 และเป็นเลขา ป.ป.ช. ปี 52 ซึ่งเทียบเท่าอธิบดี และหัวหน้าส่วนราชการ แต่เมื่อนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งดังกล่าว จนเข้าสรรหาเป็น ป.ป.ช. ปี 53 ก็ยังไม่ถึง 5 ปี จึงขาดคุณสมบัติตาม มาตรา 232 ( 2) เช่นกัน

ในส่วนของศาลรัฐธรรมนูญ มีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่เข้าข่ายอาจมีปัญหาคุณสมบัติ ประกอบด้วย นายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ จากสายผู้ทรงคุณวุฒิด้านนิติศาสตร์ และ นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ จากสายผู้ทรงคุณวุฒิด้านรัฐศาสตร์ ได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นศาสตราจารย์ ไม่ถึง 5 ปี ขณะเข้ารับการสรรหา จึงเข้าลักษณะขาดคุณสสมัติในการดำรงตำแหน่ง ตามมาตรา 200 (3) และ (4)

ขณะที่ นายจรัญ ภักดีธนากุล ซึ่งก็มาจากสายผู้ทรงคุณวุฒิด้านนิติศาสตร์ ได้รับการโปรดเกล้าฯ เป็นศาสตราจารย์พิเศษ ซึ่งร่างรธน.ฉบับใหม่ ไม่ได้ระบุชัดว่า ถือเป็นหนึ่งในคุณสมบัติของตุลาการศาลรธน. หรือกรรมการองค์กรอิสระอื่น จึงขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของคณะกรรมการสรรหา

ส่วนนายปัญญา อุดชาชน จากสายผู้ทรงคุณวุฒิด้านรัฐศาสตร์ ไม่เคยดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ โดยตำแหน่งสุดท้ายก่อนได้รับการสรรหาเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ คือ ที่ปรึกษาสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ คุณสมบัติจึงขัด มาตรา 200 (4)

อย่างไรก็ตาม มาตรา 200 วรรคท้าย ได้บัญญัติการนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ อธิบดี หรือหัวหน้าส่วนราชการ ซึ่งเป็นคุณสมบัติของผู้ที่จะดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนั้น ให้นับถึงวันที่ได้รับคัดเลือก หรือวันสมัครเข้ารับการสรรหา และในกรณีจำเป็นอันไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ คณะกรรมการสรรหา จะประกาศลดระยะเวลาการเคยดำรงตำแหน่งดังกล่าวลงก็ได้ แต่จะลดลงเหลือน้อยกว่า 2 ปีไม่ได้

ถ้าคณะกรรมการสรรหา ประกาศลดระยะเวลาการเคยดำรงตำแหน่งดังกล่าวลงจริง นายนครินทร์ ซึ่งได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ เมื่อ 17 ก.พ. 54 และ นายทวีเกียรติ ได้รับโปรดเกล้าฯ ในปี 54 เช่นกัน ก็อาจจะดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญต่อไปได้

ทั้งนี้ ในตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดปัจจุบัน นายนุรักษ์ มาประณีต ประธานศาลรัฐธรรมนูญ นายจรัญ ภักดีธนากุล นายชัช ชลวร นายบุญส่ง กุลบุปผา และนายอุดมศักดิ์ นิติมนตรี ซึ่งได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง เมื่อ 28 พ.ค. 51 จะครบวาระการดำรงตำแหน่ง 9 ปี ในวันที่ 27 พ.ค. 60 ดังนั้น เมื่อรธน.ใหม่ มีผลบังคับใช้ และ กว่า พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ยกร่างแล้วเสร็จและประกาศใช้ ก็อาจจะพอดีกับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 5 คน หมดวาระ การดำเนินการสรรหาคนใหม่ เกี่ยวกับเรื่องคุณสมบัติ ก็จะเป็นไปตาม รธน.ใหม่
 
รายชื่อคณะกรรมการองค์กรอิสระที่อยู่ในข่ายเหล่านี้ มีส่วนหนึ่งที่ไปแน่ บางคนก็ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการสรรหาจะเป็นผู้ชี้ขาด ว่าใครมีคุณสมบัติขัดกับรัฐธรรมนูญใหม่ ก็ต้อง"หลุดกลางอากาศ" ทันที ไม่มีบทเฉพาะกาล หรือกฎหมายลูกเป็นตัวช่วย



กำลังโหลดความคิดเห็น