xs
xsm
sm
md
lg

“จรัญ” ปัดให้ ส.ว.ร่วมลงชื่อขอยกเว้นนายกฯ จากบัญชีพรรค เปิดทางคนนอก แค่หวังปลดล็อกหากติดหล่ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

จรัญ ภักดีธนากุล
“จรัญ” แจงชัด ศาลฯ วินิจฉัยร่าง รธน.ตามบทบัญญัติฉบับชั่วคราวปี 2557 ไม่ใช่วินิจฉัยตามคำขอของ กรธ. พร้อมปฏิเสธให้ ส.ว.ร่วมเข้าชื่อยกเว้นนายกฯ จากบัญชีรายชื่อ เปิดทางคนนอก แต่ต้องการแก้ปัญหาชาติ หากเกิดติดหล่มเลือกนายกฯ ไม่ได้

นายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อธิบายถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ตีกลับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เพื่อให้สอดคล้องกับคำถามพ่วงว่า เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 ที่กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่าร่างรัฐธรรมนูญของ กรธ.ชอบด้วยกับผลการออกเสียงประชามติแล้วหรือไม่ จึงไม่มีประเด็นว่าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเกินคำขอเพราะศาลรัฐธรรมนูญมิได้วินิจฉัยตามคำขอของใครแต่วินิจฉัยตามกรอบที่รัฐธรรมนูญกำหนด โดยประเด็นที่เห็นแตกต่างไปจาก กรธ. และส่งกลับไปให้แก้ไขให้สอดคล้องกับคำถามพ่วงมีสองประเด็น คือ 1. ในร่างของกรรมการร่างรัฐธรรมนูญระบุว่า กำหนดเรื่องที่ให้สมาชิกรัฐสภาในวาระเริ่มแรกนับตั้งแต่มีสมาชิกภาผู้แทนราษฎรซึ่งไม่ตรงกับวรรคแรกที่เขียนไว้ว่า ในระหว่าง 5 ปีแรกนับจากมีรัฐสภาซึ่งตรงกับในคำถามพ่วงที่ประชาชนออกเสียงเห็นชอบ ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีมติด้วยคะแนนเสียง 8 ต่อ 1 ว่าต้องใช้กรอบเวลาเดียวกัน ไม่เช่นนั้นจะขัดแย้งกันหมด จึงขอให้มีการแก้ไขเรื่องกำหนดเวลาและการเริ่มนับเวลาให้ตรงกับคำถามพ่วง โดยใช้คำว่า “ในระหว่าง 5 ปีแรกนับตั้งแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้” ไม่ใช่วาระเริ่มแรกนับตั้งแต่มี ส.ส. เพราะวาระเริ่มแรกหมายถึงครั้งเดียวหลังเลือกตั้ง ส.ส. จึงทำให้เกิดข้อคิดว่าถ้าตั้งนายกฯ ไปครั้งหนึ่งหลังจากนั้นนายกฯ ลาออก หรือมีเหตุให้เปลี่ยนรัฐบาลต้องตั้งนายกฯ ใหม่ก็ยังอยู่ใน 5 ปีแรกตามผลออกเสียงประชามติของประชาชน แต่เกิดข้อติดขัดว่าไมสามารถเลือกคนจากบัญชีรายชื่อได้แล้วจะขอยกเว้นเพื่อปลดล็อกตามวรรคสองก็จะทำไม่ได้ ซึ่งไม่สอดคล้องกับผลการออกเสียงประชามติ

“ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ไม่ใช่ให้ตรวจสอบตามคำขอของ กรธ. หรือตามคำขอของใคร ดังนั้นจะมีคำขอหรือไม่ไม่ใช่ประเด็น เพราะเมื่อศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบพบว่าไม่สอดคล้องกับผลออกเสียงประชามติ ก็ต้องแก้ให้ถูกต้องเพราะไม่ใช่การไปใช้วิแพ่ง (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์) ที่ไม่ให้พิพากษาเกินคำขอ มันคนละระบบคนละศาล จึงต้องตัดประเด็นเรื่องคำขอไปเลย”

นายจรัญกล่าวว่า ในประเด็นที่ 2 ที่ศาลรัฐธรรมนูญให้แก้ไข คือ การเข้าชื่อขอยกเว้นการเลือกนายกรัฐมนตรีจากบัญชีรายชื่อซึ่งกรรมการร่างรัฐธรรมนูญเห็นว่าให้เป็นเรื่องขอ งส.ส.เข้าชื่อกันแต่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 7 ต่อ 2 ให้ ส.ว.มีส่วนร่วมในการเข้าชื่อด้วยเพราะเป็นผู้มีส่วนร่วมในการอนุมัติยกเว้นก็ควรให้สมาชิกของรัฐสภาร่วมกันทำในการเสนอขอยกเว้นด้วยไม่ใช่เฉพาะ ส.ส.เท่านั้น ซึ่งเป็นไปเพื่อประโยชน์ในการแก้ปัญหาประเทศในกรณีที่ไม่สามารถแต่งตั้งคนที่อยู่ในบัญชีรายชื่อได้ตามวรรคหนึ่ง โดยไม่ได้ไปลิดรอนสิทธิของ ส.ส.ที่มีอยู่เดิม ส่วนการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีก็ยังให้เป็นอำนาจของ ส.ส.ตามรัฐธรรมนูญบทหลักในมาตรา159

ส่วนที่มีเสียงวิจารณ์ว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นการเปิดทางให้มีนายกฯ คนนอกนั้น นายรัญกล่าวว่า ไม่ใช่ เพราะ ส.ส.ต้องเสนอชื่อคนจากบัญชีรายชื่อก่อนเป็นอันดับแรก อย่างน้อยน่าจะมี 3 พรรคที่ได้คะแนนเสียงเกิน 5% ในสภาเท่ากับมี 9 คน แต่ถ้าติดล็อกว่าที่ประชุมรัฐสภาไม่เห็นชอบก็เท่ากับว่าต้องเลือกแล้ว 9 รอบแต่ไม่ได้รับความเห็นชอบ ใช้เวลาไปเท่าไหร่จะปล่อยให้ประเทศอยู่ในภาวะอย่างนั้นนานๆ ก็อันตราย ดังนั้น ไม่มีทฤษฎีใดที่จะสำคัญไปกว่าความมั่นคงอยู่รอดของประเทศชาติ ศาลรัฐธรรมนูญจึงให้แก้ไข ให้ ส.ว.มีส่วนร่วมในการเข้าชื่อเสนอขอยกเว้นนายกฯ จากบัญชีรายชื่อได้ด้วยซึ่งก็ไม่ได้ตัดสิทธิ ส.ส. ส่วนที่มีข่าวว่า กรธ.บางคนอยากพบกับศาลรัฐธรรมนูญเพื่อขอความชัดเจนในการปรับแก้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ตนไม่สามารถบอกได้ว่าจะมีการพบกันระหว่างตุลาการศาลรัฐธรรมนูญกับ กรธ.หรือไม่ เพราะเรื่องนี้เป็นมติร่วมกันขององค์คณะทั้งหมด


กำลังโหลดความคิดเห็น