ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ยังคงมุ่งมั่นเดินหน้าขอฉันทมติจากสังคมอย่างต่อเนื่องสำหรับ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ที่กำลังผลักดันนโยบายเปลี่ยนยาบ้าจากบัญชียาเสพติดประเภท 1 ให้มาอยู่ในบัญชียาเสพติดประเภท 2 เพื่อนำไปใช้ในการรักษาทางการแพทย์และบำบัดรักษาผู้เสพ งานนี้กระทรวงสาธารณสุขออกโรงหนุนพร้อมเอาด้วย แต่ขอย้ำอีกครั้งผู้ค้ารายใหญ่ยังคงโทษประหารไม่เปลี่ยนอย่าเบี่ยงประเด็นเป็นเปิดเสรี
เป็นที่รับรู้กันทั่วไปว่า เทรนด์ของโลกเกี่ยวกับการจัดการปัญหายาเสพติดได้เปลี่ยนไปแล้ว การทำสงครามยาเสพติดที่เน้นการปราบปรามจับยัดคุกและประหารนั้นไม่ได้ผลเพราะยังมีคนทำผิดล้นคุก ซึ่งหมายความว่า การปราบไม่ได้ทำให้เกิดความเกรงกลัวหรือเลิกเกี่ยวข้องกับยาเสพติด กระทั่งสหประชาชาติเองก็ต้องปรับระบบคิดใหม่เพื่อรับมือกับปัญหานี้ด้วยแนวทางที่แตกต่างไปจากเดิม เพราะ30-40 ปีที่ผ่านมา สหประชาชาติเคยประกาศสงครามยาเสพติดมาแล้วแต่ไม่ได้ผล แนวคิดดังกล่าวไม่สามารถใช้ได้ ขณะที่ประเทศไทยซึ่งเผชิญปัญหานี้มายาวนานต้องหาทางออกจากวังวนเดิมๆ เช่นกัน
และงานนี้ คนที่เป็นหัวหอก กล้าผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงก็คือ “บิ๊กต๊อก” - พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม โดยล่าสุดในการไปเป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “บูรณาการควบคุม (เมท) แอมเฟตามีนอย่างสร้างสรรค์ และนวัตกรรมยุติธรรมตามร่างประมวลกฎหมายยาเสพติด” เมื่อวันที่ 29 สิงหาคมที่ผ่านมา พล.อ.ไพบูลย์ ย้ำอีกครั้งว่า ต้องมองการแก้ไขปัญหายาบ้าแบบบูรณาการใน 5 มิติ คือ องค์ความรู้เรื่องยาเสพติด ด้านสังคม การแพทย์และสาธารณสุข เศรษฐกิจ และการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งขณะนี้กำลังศึกษาการปรับยาบ้าให้มาอยู่ในยาเสพติดประเภท 2 เนื่องจากหากอยู่ในบัญชียาเสพติดประเภท 1 กระทรวงสาธารณสุข ไม่สามารถนำมาใช้รักษาได้ เพราะเป็นยาเสพติดที่รุนแรง
ครั้งนี้ “บิ๊กต๊อก” เอาจริงถึงกับระบุว่า อาจขอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจมาตรา 44 เพื่อปลดล็อก แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับความพร้อมของกระทรวงสาธารณสุขเป็นหลัก ขณะเดียวกันก็ต้องปรับระบบทำงาน 3 ด้าน คือ ป้องกัน ปราบปราม และบำบัดฟื้นฟู ควบคู่กันไป ซึ่งหลายสิบประเทศได้นำนโยบายนี้ไปใช้จนประสบความสำเร็จ สำหรับประเทศไทย หน่วยงานอย่างป.ป.ส. ต้องเป็นพระเอกร่วมบูรณาการทั้งภาครัฐและเอกชนในการแก้ไขเรื่องดังกล่าวอย่างจริงจัง
“ปริมาณยาเสพติดที่ออกมาจากแหล่งผลิตถือว่ายังมีจำนวนมาก ผมเคยพูดเรื่องสามเหลี่ยมทองคำกับนานาประเทศว่าจะต้องกำจัดแหล่งผลิตอย่างจริงจังไม่ให้ป้อนเข้าสู่ประเทศไทยได้ อีกทั้งความต้องการของยาบ้ามองว่าอาจเป็นสินค้าเศรษฐกิจหรือไม่ เพราะสร้างผลกำไรอันมหาศาล และถ้าทำให้ตัวยาถูกลงจะลดผู้ขายได้หรือไม่ ก็เป็นหัวข้อที่ควรนำมาพูดคุยกัน แต่หากเมื่อมันถูกแล้วคนซื้อก็จะซื้อเพิ่มขึ้น อันนี้ต้องทำความเข้าใจสร้างความรับรู้ให้ประชาชนด้วย ขณะเดียวกันก็ต้องไม่ลดหย่อนโทษให้ผู้ค้า และยืนยันว่ายังคงต้องโทษประหารชีวิตซึ่งยังจำเป็นสำหรับประเทศไทย” รมว.ยุติธรรม กล่าวย้ำ
นอกเหนือจากการพิจารณาปลดยาบ้าให้มาอยู่ในสารเสพติดประเภท 2 แล้ว พล.อ.ไพบูลย์ ยังระบุว่า ยาเสพติดประเภท 5 ได้แก่ พวกกัญชา ใบกระท่อม กำลังคุยกันอยู่ว่าถ้ามีคนปลูกเป็นยาสามัญประจำบ้านก็ไม่น่ามีปัญหา แต่หากแปรสภาพเป็นยาเสพติดถือว่าผิดกฎหมาย เนื่องจากชาวบ้านถือว่าเป็นยารักษา หากจะมาบอกทุกอย่างคือยาเสพติดหมดก็จะกลายเป็นปัญหาเพราะปัจจุบันการแพทย์พิสูจน์มาแล้วว่าสามารถช่วยรักษาโรคได้ โดยรัฐต้องเป็นผู้แยกกฎหมายให้ชัดเจน
กระบวนการปรับเปลี่ยนเพื่อเปลี่ยนผ่านนี้ มีความท้าทายอยู่ 3 ประเด็น คือ ปรับองค์กรที่จะมารองรับ ปรับด้านกฎหมายซึ่งทำไปแล้วบางส่วน และที่สำคัญที่สุดขณะนี้คือ การสร้างการรับรู้ให้ประชาชน ต้องชัดเจนว่าปรับเพื่ออะไร ใช้วิธีการอะไรมาดำเนินการ ซึ่งหลังจากนี้ “บิ๊กต๊อก” จะเรียกประชุมผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อทำความเข้าใจและลงไปสร้างการรับรู้ให้สังคม
“ยืนยันว่ายาบ้าก็คงยังเป็นยาเสพติด และเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ซึ่งผู้ผลิตหรือผู้ค้ารายใหญ่ต้องได้รับโทษไม่ว่าจะอยู่ในประเภท 1 หรือประเภท 2 ก็ตาม แต่การปรับต้องการคัดแยกผู้เสพ ผู้ป่วย และให้แพทย์มีโอกาสได้ใช้ตัวยาบางอย่างได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย และเรื่องนี้ไม่จำเป็นต้องมาศึกษาอีก เพราะเรื่องเหล่านี้ต่างประเทศก็ทำกันอยู่แล้ว แต่ขณะนี้ต้องเน้นเรื่องการรับรู้ต่อสังคม และต้องสร้างความเชื่อมั่นว่าวิธีการของรัฐนั้นถูกต้อง....” พล.อ.ไพบูลย์ ย้ำอีกครั้งดักคอพวกชอบเบี่ยงประเด็น
ฟากฝั่งทางกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) คิดเห็นอย่างไร มีความพร้อมที่จะนำ “ยาบ้า” มาใช้สำหรับการรักษาหรือไม่ นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข อธิบายความให้สังคมเข้าใจเป็นเบื้องต้นก่อนว่า ที่ผ่านมา ประเทศไทยจัดให้ยาบ้า คือ เมทแอมเฟตามีน และแอมเฟตามีน เป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 1 จึงนำมาใช้ทางการแพทย์ไม่ได้ แต่หากจะนำมาใช้ก็ต้องย้ายกลับมาเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทประเภทที่ 2และในเบื้องต้น สธ. หารือกันแล้วว่าจะใช้ตัว “แอมเฟตามีน” เพราะประโยชน์ทางการแพทย์มีการศึกษาอยู่ในเชิงระบบบำบัดรักษาด้านประสาท การกระตุ้นทางจิตประสาท ส่วน “เมทแอมเฟตามีน” คงไม่นำมาใช้ เพราะเป็นอนุพันธุ์มีฤทธิ์ในการติดสูง
แต่อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานในเรื่องนี้ต้องร่วมมือกันหลายฝ่าย เบื้องต้น สธ.มีระบบคัดกรองผู้ป่วยโดยปัจจุบันโรงพยาบาลระดับอำเภอเป็นศูนย์คัดกรองอยู่แล้ว แบ่งการบำบัดออกเป็นกลุ่มใช้ กลุ่มเสพ และกลุ่มติด การบำบัดรักษามีทั้งรักษาแบบผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน หากมีการแก้ไขในเรื่องผู้เสพให้เป็นผู้ป่วยแทนที่จะส่งไปรับโทษก็ดึงเข้าสู่ระบบบำบัดรักษาได้เลย แต่การคัดกรองผู้เสพเข้าระบบการบำบัดรักษาอาจต้องร่วมกับกระทรวงมหาดไทยและตำรวจด้วย
นพ.พงศ์เกษม ไข่มุกต์ รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้รายละเอียดว่า การบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด พบว่า ร้อยละ 80 สามารถรักษาได้ด้วยการประคับประคอง โดยไม่ต้องใช้ยาแอมเฟตามีน แต่มีร้อยละ 20 อาจต้องใช้ร่วมในการรักษา ก็ต้องมาดูว่ามีกี่เปอร์เซ็นต์จริงๆ กันแน่ ตรงนี้กำลังทำข้อมูลอยู่ ซึ่งเบื้องต้นการรักษา หากผู้ป่วยติดยาไม่รุนแรง โรงพยาบาลชุมชน (รพช.) หรือโรงพยาบาล สธ. สามารถดูแลได้ แต่หากมีโรคจิตเวชร่วมด้วยก็สามารถส่งมายังโรงพยาบาลจิตเวชสังกัดกรมสุขภาพจิต
ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม การผ่องถ่ายผู้เสพมาสู่ระบบการรักษานั้น รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ เอาจริงแน่ โดย นพ.พงศ์เกษม ระบุว่า ขณะนี้ สธ. อยู่ระหว่างทำระบบรองรับการผ่องถ่ายผู้เสพจากกรมควบคุมความประพฤติประมาณ 1 แสนคน มาเป็นผู้ป่วยของ สธ. คาดว่า จะผ่องถ่ายมาที่ สธ. ได้ประมาณเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้
ส่วนประเด็นที่ว่าควรลดระดับเมทแอมเฟตามีนหรือแอมเฟตามีนนั้น ขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปคาดว่าน่าจะต้องเชิญราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาพิจารณา เพื่อจัดทำข้อมูลให้ชัดเจนขึ้น
ด้าน นพ.วิโรจน์ วีรชัย ผู้อำนวยการสถาบันธัญญารักษ์ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ให้ข้อมูลในทำนองเดียวกันว่า ในส่วนของแอมเฟตามีนมีประโยชน์ในทางการแพทย์ โดยใช้สำหรับการรักษาโรคสมาธิสั้น ซึ่งปัจจุบันทั่วโลกมีใช้กว่า 10 ยี่ห้อ และมีการศึกษาทั้งในสหรัฐอเมริกาและออสเตรเลีย ว่า สามารถนำมาใช้รักษาผู้ที่ติดยาบ้าในระดับรุนแรง หรือติดงอมแงมได้ โดยใช้เป็นสารทดแทนในช่วงรักษาบำบัด 2 - 3 เดือนแรก ที่ผ่านมา มีการจัดแอมเฟตามีนทั้งกลุ่มให้อยู่ในยาเสพติดให้โทษประเภท 1 ทำให้เมืองไทยไม่มีการใช้ประโยชน์แอมเฟตามีนในทางการแพทย์ จึงเห็นด้วยที่จะปรับลดกลุ่มแอมเฟตามีนให้อยู่ในวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทประเภท 2 ซึ่งจะส่งผลให้แพทย์สามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้ เพราะแอมเฟตามีนจะมีฤทธิ์ในการติดต่ำ แต่เมทแอมเฟตามีนจะมีฤทธิ์ในการติดสูง
ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ก็ล้างหูฟังกระแสเสียงสังคมอยู่ว่าจะรับการปรับเปลี่ยนนี้หรือไม่ โดยบอกว่า “บิ๊กต๊อก” ยังไม่ได้พูดถึงการใช้ม .44 ปลดล็อกสารเมทแอมเฟตามีนพ้นบัญชียาเสพติดประเภทที่ 1 เรื่องนี้หากสังคมรับไม่ได้ก็ทำไม่ได้อยู่ดี แต่ที่เป็นปัญหาใหญ่ต้องแก้เร่งด่วนคือนักโทษล้นคุก
นักโทษจากคดียาเสพติดล้นคุกจนน่าวิตกขนาดไหนนั้น ดูตัวเลขจำนวนผู้ติดยา ซึ่ง นายจรัญ ภักดีธนากุล อดีตปลัดกระทรวงยุติธรรมและผู้พิพากษาศาลยุติธรรม ให้ข้อมูลประมาณการณ์ว่าปี 2557 มีผู้ติดยาราว 1.8 ล้านคน หากดูคดีที่เข้ามาสู่ศาลพบว่า ปี 2556 มีคดียาเสพติดถึง 327,000 คดี ขณะที่ 2558 ไม่ถึงครึ่งปี มีคดียาเสพติดถึง 350,000 คดี
เมื่อหันมองดูผู้ต้องขังหญิงคดียาเสพติด พบว่า มีอยู่ราว 45,000 คน โทษเฉลี่ยคือ 2 ปี หมายความว่าคนส่วนใหญ่เป็นผู้ค้ารายย่อย คนส่งยา ผู้เสพ ระบบบำบัดฟื้นฟูก็ใช้ได้น้อย เพราะเจ้าหน้าที่ไม่คัดกรองเข้าสู่ระบบ และในจำนวนผู้ต้องขังหญิงนั้นมันหมายถึง 45,000 ครอบครัวที่ต้องล่มสลาย และปัญหาสังคมอีกร้อยแปด
นับเป็นสถิติที่น่ากังวล ยิ่งดูจากปริมาณยาบ้าที่จับกุมได้เพิ่มจาก 54.2 ล้านเม็ดในปี 2553 พุ่งทะลุ 100 ล้านเม็ดในปี 2556 และ 2557 และสถิติผู้ต้องขังคดียาเสพติดในเรือนจำทั่วประเทศ ที่พุ่งขึ้นจาก 106,966 คน ในปี 2543 เป็น 217,408 คน ในปี 2557 ซึ่งเป็นผลจากนโยบายกวาดจับผู้เสพ ผู้ขน ยัดคุกจนล้น ทำเอางบของกรมราชทัณฑ์ ที่ใช้ดูแลผู้ต้องขังพุ่งสูงถึง 12,372.9 ล้านบาทในปีนี้ คิดเป็น 52% ของงบกระทรวงยุติธรรม
แนวคิดเรื่องการถอดยาบ้าจากบัญชียาเสพติดประเภท 1 ให้มาอยู่ในบัญชียาเสพติดประเภท 2 ที่ “บิ๊กต๊อก” กำลังเดินเครื่องผลักดันอยู่ในเวลานี้นั้น แม้แต่นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ซึ่งปกติไม่ได้ชมชอบ “รัฐบาลบิ๊กตู่” ก็ยังยกนิ้วให้ โดยโพสต์เฟซบุ๊ก เปิดกะโหลกกลุ่มคนเสื้อแดงที่ออกมาต่อต้านเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2559 ที่ผ่านมาว่า “ผมเห็นคนที่ต้าน คสช (เสื้อแดง) หลายคน ออกมาด่านโยบายเรื่องยาบ้าของไพบูลย์ คุ้มฉายา พูดแบบตรงไปตรงมานะ ผมเห็นว่านโยบายที่ว่า เป็นแนวคิดที่มาถูกทางยิ่งกว่าไอเดียเรื่องสงครามยาเสพติดของทักษิณ”
สงครามยาบ้า ถึงเวลาเปลี่ยนแล้วจริงๆ