xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

โปรดฟัง...อย่างมีสติ “บิ๊กต๊อก” เลิกทำสงคราม “ยาบ้า” ไม่ใช่ “ถึงเวลาที่พ่อค้ามีเฮ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ต้องบอกว่านาทีนี้ ไม่มีใครหาญกล้าเท่า พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ที่สวมหัวใจสิงห์ออกมาเสนอให้เลิกสงครามยาบ้าที่พิสูจน์ชัดเจนแล้วว่าไม่ได้ผล จนนักเลงคีย์บอร์ดยอดเกรียนทั้งหลายที่ฟังไม่ได้ศัพท์จับเอาไปกระเดียด พากันปั่นกระแสโจมตี พล.อ.ไพบูลย์ ว่า “โชว์โง่ครั้งใหญ่” ทั้งที่จริงแล้วหากเหล่านักเลงคียบอร์ดพากันใช้สติปัญญาศึกษาหาความรู้ให้รอบด้านกันเสียก่อนจะละเลงสีใส่ไข่เอามันเข้าว่าก็คงรู้หละแท้จริงใครกันแน่ที่โชว์โง่เสียยิ่งกว่า

คงจำกันได้ดี สมัยรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร มีการประกาศสงครามยาบ้ากันอึกทึกครึกโครม และใช้วิธีการจัดการขั้นเด็ดขาดรุนแรงกับผู้ที่อยู่ในวงจรยาบ้า มีการวิสามัญฆาตกรรมพ่อค้ายาบ้าครั้งมโหฬาร ช่วงนั้นมีทั้งเสียงแซ่ซ้องสรรเสริญ และเสียงก่นด่าประณามเพราะเกิดความผิดพลาดจนทำให้ชีวิตของผู้บริสุทธิ์ต้องล้มหายตายจากไปก็ไม่น้อย

แต่การปราบปรามยาบ้าด้วยการทำสงครามใช้ความรุนแรงที่ดำเนินมาตลอด 30 ปีทั้งก่อนหน้าและหลังสมัยรัฐบาลนายทักษิณ จวบจนบัดนี้นั้น ซึ่งได้รับการคาดหมายว่าจะทำให้เกิดความหลาบจำและเกรงกลัวและคดียาเสพติดลดน้อยถอยลง ผลกลับตรงกันข้ามเพราะปรากฏว่าคดียาเสพติด และปริมาณยาเสพติดที่จับได้และนำมาเผาทำลายในแต่ละปีนั้นมีแต่เพิ่มขึ้น ไม่มีลดลงแต่อย่างใด แถมในจำนวนผู้ต้องขังในคดียาเสพติด พบว่ากว่าร้อยละ 70-80 เป็นผู้เสพ จนนักโทษล้นคุก นี่แสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงของสงครามยาเสพติดที่ปราบความรุนแรงของปัญหาด้วยความรุนแรง

อย่างปีนี้ที่กำลังจะมีการเผาทำลายยาเสพติดในวันที่24 มิถุนายนที่จะถึงนี้ นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)แถลงว่า มีปริมาณยาเสพติดให้โทษของกลางที่จะเผาทำลาย จำนวนกว่า 5,136 กิโลกรัม จาก231,100 คดี ได้แก่ เมทแอมเฟตามีน หรือยาบ้า 4,240 กิโลกรัม (ประมาณ 47 ล้านเม็ด)มูลค่าประมาณ 9,423 ล้านบาท ยาไอซ์ น้ำหนักกว่า 422 กิโลกรัม มูลค่าประมาณ 1,056ล้านบาท เฮโรอีน น้ำหนักกว่า 411 กิโลกรัม มูลค่าประมาณ 441 ล้านบาท โคคาอีน น้ำหนักกว่า 9 กิโลกรัม มูลค่าประมาณ 28 ล้านบาท เอ็กซ์ตาซี่ หรือ ยาอี น้ำหนักกว่า 3 กิโลกรัม (ประมาณ 15,457 เม็ด) มูลค่าประมาณ 12 ล้านบาท ฝิ่น น้ำหนักกว่า 38 กิโลกรัม มูลค่าประมาณ 4 แสนบาท และอื่นๆ รวมมูลค่าทั้งสิ้นกว่า10,961 ล้านบาท ซึ่งตัวเลขนี้เห็นชัดๆ ว่ายาบ้านั้นมีปริมาณมากที่สุดและมีมูลค่าสูงสุด

ส่วนจำนวนผู้ติดยานั้น นายจรัญ ภักดีธนากุล อดีตปลัดกระทรวงยุติธรรมและผู้พิพากษาศาลยุติธรรม ให้ข้อมูลประมาณการว่าปี 2557 มีผู้ติดยาราว 1.8 ล้านคน หากดูคดีที่เข้ามาสู่ศาลพบว่า ปี 2556 มีคดียาเสพติดถึง 327,000 คดี ขณะที่ 2558ไม่ถึงครึ่งปี มีคดียาเสพติดถึง 350,000 คดี เมื่อหันมองดูผู้ต้องขังหญิงคดียาเสพติด พบว่า มีอยู่ราว 45,000 คน โทษเฉลี่ยคือ 2 ปี หมายความว่าคนส่วนใหญ่เป็นผู้ค้ารายย่อย คนส่งยา ผู้เสพ ระบบบำบัดฟื้นฟูก็ใช้ได้น้อย เพราะเจ้าหน้าที่ไม่คัดกรองเข้าสู่ระบบ และในจำนวนผู้ต้องขังหญิงนั้นมันหมายถึง 45,000 ครอบครัวที่ต้องล่มสลาย ตามมาด้วยปัญหาสังคมอีกร้อยแปด

นับเป็นสถิติที่น่ากังวล ยิ่งดูจากปริมาณยาบ้าที่จับกุมได้เพิ่มจาก 54.2 ล้านเม็ดในปี 2553 พุ่งทะลุ 100 ล้านเม็ดในปี 2556 และ 2557 และสถิติผู้ต้องขังคดียาเสพติดในเรือนจำทั่วประเทศ ที่พุ่งขึ้นจาก 106,966 คน ในปี 2543 เป็น 217,408 คน ในปี 2557ซึ่งเป็นผลจากนโยบายกวาดจับผู้เสพ ผู้ขน ยัดคุกจนล้น ทำเอางบของกรมราชทัณฑ์ ที่ใช้ดูแลผู้ต้องขังพุ่งสูงถึง 12,372.9 ล้านบาทในปีนี้ คิดเป็น 52%ของงบกระทรวงยุติธรรมเลยทีเดียว

ปัญหายาเสพติดเป็นปัญหาคู่โลกพอๆ กับปัญหาโสเภณี นับแต่มีการออกกฎหมายให้ยาเสพติด เฮโรอีน ฝิ่น ยาบ้า ยาไอซ์ ฯลฯ เป็นสิ่งผิดกฎหมาย แล้วก็ไล่จับไล่ฆ่าผู้ค้าผู้เสพกันเรื่อยมา กระทั่งเมื่อไม่นานมานี้ประเทศทั้งหลายทั่วโลกถึงได้ยอมรับกันว่าไม่มีทางทำให้ปัญหายาเสพติดหมดไปจากโลกได้ ไม่ว่าจะใช้ความรุนแรงปราบปรามมากมายเพียงใดก็ตาม หลายๆ ประเทศจึงปรับกระบวนทัศน์ใหม่ ทำอย่างไรถึงจะควบคุมไม่ให้ยาเสพติดกลายเป็นปัญหาของสังคมจนเกิดความไม่ปกติสุข คล้ายกับว่าเมื่อปราบให้หมดไม่ได้ ทำอย่างไรให้อยู่ด้วยกันได้โดยไม่เป็นภัยต่อชาติบ้านเมือง จะป้องกันและบำบัดเยียวยาผู้เสพอย่างไร นั่นคือโจทย์ใหม่

กระบวนทัศน์ใหม่ในการแก้ไขปัญหายาเสพติด มีการหยิบยกขึ้นมาพูดคุยกันในเวทีประชุมเรื่องยาเสพติดทั่วโลก และล่าสุดวงใหญ่ใน เวทีประชุมร่วมสมัยพิเศษของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ เรื่องยาเสพติด หรือ UNGASS 2016 เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ก็ปรึกษาหารือพูดคุยกันถึงปัญหายาเสพติดและในทิศทางการแก้ไขดังกล่าว หน่วยงานต่างๆ ของประเทศไทยที่ไปประชุมในเวทีดังกล่าวเมื่อกลับมาแล้วก็มาทำการบ้าน มาทำการศึกษา แล้วจัดทำข้อมูลข้อเสนอต่อ พล.อ.ไพบูลย์ เพื่อเสนอต่อไปยังนายกรัฐมนตรี อีกทีหนึ่ง

นั่นคือที่มาที่ไปของเรื่องไม่ใช่ว่าจู่ๆ พล.อ.ไพบูลย์ จะเสนอโป้งขึ้นมาโดยไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย นักเกรียนคีย์บอร์ดที่เอาแต่โหมกระพือกระแสโดยไม่ศึกษาแต่มาตั้งคำถาม “เอามาจากไหนว่ะ” ก็ควรเปิดโลกทัศน์ตามกระแสสังคมโลกเสียบ้าง อย่าเอาแต่วิจารณ์ในกะลาแลนด์กันมากนัก เพราะการแสวงหาแนวทางใหม่ๆ ในการแก้ไขปัญหายาเสพติดเป็นเรื่องถึงเวลาที่ต้องปรับเปลี่ยนกันใหม่จริงๆ แล้ว และหลายกระแสเสียงก็ออกมาให้การสนับสนุน พล.อ.ไพบูลย์ ว่ามาถูกทางแล้ว

ยิ่งบรรดาฝ่ายการเมืองและผู้ฝักใฝ่รัฐไทยใหม่ซึ่งหลอมรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับรัฐธรรมกายด้วยแล้ว ยิ่งเห็นได้ชัดว่า แสดงความคิดเห็นด้วยอคติ เพราะนำมาซึ่งการประดิษฐ์วาทกรรมลวงโลกว่า “ปรองดองยาบ้า ไล่ล่าพระสงฆ์” กันเลยทีเดียว

ต้องย้ำอีกครั้งว่า การเสนอแนวคิดในการเปลี่ยนสารในกลุ่มแอมเฟตามีน หรือยาบ้าออกจากบัญชียาเสพติดให้โทษประเภท 1 ตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522นั้นไม่ใช่ “ถึงเวลาที่พ่อค้ายาบ้ามีเฮ” เพราะแนวคิดนี้แม้จะเสนอให้ถอดออกจากบัญชียาเสพติดให้โทษประเภท 1 ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดฯ แต่ไม่ใช่ปล่อยให้ค้าขายกันเสรี ยังควบคุมอยู่โดยให้มาอยู่ในบัญชีวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท ซึ่งมีอยู่ 4 ประเภท แต่จะจัดให้ยาบ้าอยู่ในประเภทไหนยังไม่เคาะ เรื่องนี้ยังต้องว่ากันอีกยาว

ระหว่างนี้อยู่ในขั้นตอนของการทำความเข้าใจสภาพปัญหาที่เป็นจริงและหาทางออกระยะยาวที่ยั่งยืนร่วมกัน ซึ่ง พล.อ.ไพบูลย์ ได้ย้ำอีกครั้งในวันที่ 17 มิถุนายนที่ผ่านมา ว่าทุกประเทศประกาศร่วมกันว่าไม่มีทางทำให้ยาเสพติดหมดไปจากโลกได้แต่จะอยู่ร่วมกับยาเสพติดอย่างไรให้สังคมปลอดภัย ซึ่งตรงกับที่ตนเองพูดตอนรับตำแหน่งเมื่อสองปีที่แล้วว่าไม่มีทางทำให้ยาเสพติดหมดไปจากประเทศไทยได้ แต่จะทำให้ยาเสพติดเบาบางลงไม่เป็นภัยต่อสังคมบ้านเมืองเรา

และปัจจุบันนี้โลกมองเรื่องยาเสพติดเกี่ยวข้องกับสาธารณสุข เป็นเรื่องของสุขภาพที่จะสามารถเข้าถึงยาซึ่งมีส่วนผสมของยาเสพติดได้อย่างไรตามหลักสิทธิมนุษยชน รวมทั้งการบำบัดเยียวยาที่จำเป็นต้องอาศัยยาเสพติดอย่างเหมาะสมจนกระทั่งหายขาด โดยสิ่งเหล่านี้เป็นวิชาการ มีงานวิจัยชัดเจนว่าการประกาศสงครามยาเสพติดไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องและยกตัวอย่างบางประเทศ เช่น สวิตเซอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ โปรตุเกส ได้ดำเนินการตามแนวคิดใหม่ดังกล่าวมากว่า 10ปีแล้วพร้อมอยู่กับยาเสพติดได้โดยไม่เป็นภัยต่อบ้านเมืองของเขา

“ผมยืนยันว่า ยาบ้าคือยาเสพติด และประเทศไทยไม่พร้อมจะทำยาเสพติดให้ถูกกฎหมาย อย่างไรก็ตาม การปรับยาเสพติดก็ต้องไปทั้งระบบไม่ใช่เฉพาะยาบ้าเท่านั้น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมีความพร้อม ฝากขอบคุณกระทรวงสาธารณสุขช่วยทำผู้เสพให้หายป่วย ซึ่งคนกลุ่มนี้ต้องไปหาหมอและไม่ควรส่งคนป่วยเข้าไปในคุกเพราะไม่ใช่ที่รักษา ผมดูแลกรมราชทัณฑ์ กรมพินิจฯ ทราบดีว่าไม่มีถูกต้องและอยากให้ไปอยู่กับหมอ”พล.อ.ไพบูลย์กล่าวย้ำในการประชุมคณะกรรมการอำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ครั้งที่ 2/2559 เพื่อพิจารณาแนวทางการควบคุมเมทแอมเฟตามีน (ยาบ้า) เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2559 ที่ผ่านมา

สำหรับแนวทางที่จะวางกันใหม่ก็คือ หนึ่ง ระบบปราบปราม สอง ระบบป้องกัน และสาม ระบบบำบัดและฟื้นฟู ซึ่งต้องปราบแหล่งผลิต ผู้ค้ารายใหญ่ แต่แยกผู้เสพออกมาเป็นผู้ป่วย ควบคุมการบำบัดให้ได้ อย่างนี้พร้อมจะทำกันหรือไม่

แนวทางของพล.อ.ไพบูลย์ ด้านหนึ่งมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์โดยเฉพาะจากเพจดังนักเลงคีย์บอร์ด แต่มีหลายกระแสเสียงออกโรงหนุนโดยเฉพาะบุคลากรในระบบสาธารณสุขและระบบยุติธรรม ซึ่งคลุกคลีอยู่กับคดีและผู้เสพซึ่งเป็นกลุ่มที่มีปัญหามากที่สุดในขณะนี้

อย่างเลขาธิการ อ.ย.ที่ทำหน้าที่เผาทำลายยาเสพติดทุกปีนั้น ชี้ให้เห็นว่าปริมาณที่เผาทำลายยาเสพติดของ อ.ย.แต่ละปีมีแต่เพิ่มขึ้นไม่มีลดลง จำนวนผู้ต้องขังในคดียาเสพติด ก็พบว่าร้อยละ 70-80 เป็นผู้เสพ แสดงว่ามาตรการที่มีอยู่ไม่เพียงพอ ต้องมีมาตรการอื่นเพิ่มเติม โดยแนวคิดการนำเอาผู้เสพเข้าสู่ระบบบำบัดรักษานั้น นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เตรียมหารือภายในกระทรวงเพื่อเตรียมรับมือกับการปรับเปลี่ยนกฎหมาย

“ประเทศไทยดำเนินการนโยบายเดิมมานานแล้วตั้งแต่ปี 2539 ประกาศสงครามยาเสพติดแต่ปริมาณผู้เสพและยาเสพติดก็มากขึ้นเรื่อย ๆ โดย อย. เป็นหน่วยที่เก็บรักษายาเสพติดจากเมื่อ 3 ปีที่แล้ว ประมาณ 30 - 40 ตันแต่ปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็น 50 ตัน ซึ่งถ้าหากมีแนวคิดวิธีการใหม่ ๆ ก็น่าจะควรริเริ่มทำและสอดคล้องกับทิศทางประเทศสากล”เลขาธิการ อ.ย.ให้ความเห็น

หรืออย่าง นายวันชัย รุจนวงศ์ ผู้แทนไทยในคณะกรรมาธิการอาเซียนว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิสตรีและสิทธิเด็ก อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีแรงงาน เคยดำรงตำแหน่งอธิบดีอัยการฝ่ายต่างประเทศ อธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน อธิบดีกรมคุมประพฤติ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ที่โพสต์เฟชบุ๊ก Wanchai Roujanavong หนุนแนวคิดของพล.อ.ไพบูลย์ เช่นกัน

“....ลองคิดดูก่อนว่าการแก้ปัญหายาบ้า ไม่ได้มีวิธีเดียว เมื่อการปราบปรามรุนแรงไม่ได้ผล ก็ต้องลองดูวิธีที่คนอื่นใช้แล้วได้ผล อย่างประเทศในยุโรป เนเธอร์แลนด์ สวิส และเกือบทุกประเทศ สามารถแก้ปัญหายาเสพติดได้ผล โดยไม่เน้นการติดคุกระยะยาว ปัญหายาเสพติดในประเทศพวกนี้ไม่ได้หมดไป ยังคงมีอยู่ แต่อยู่ในปริมาณและอยู่ในขอบเขตที่ควบคุมได้ อาชญากรรมก็ไม่เพิ่มขึ้น และประชาชนมีความสุข ....เราแก้ปัญหาด้วยการปราบอย่างรุนแรงมาสามสิบปี แต่เห็นชัดว่าไม่ได้ผล จะไม่ปรับวิธีแก้ปัญหากันเลยหรือ”

นายวันชัย ถึงกับเสนอให้องค์การเภสัชกรรม ผลิตยาบ้าออกมาในราคาถูก เพราะเชื่อว่าเป็นการต่อสู้ที่ได้ผลที่สุดคือทำให้ขายไม่ได้ โดยใช้กลไกราคา ตัดกำไรที่สูงมากให้ลดลง และใช้มาตรการทางกฎหมาย ร่วมกับมาตรการทางสุขภาพและสังคม จัดการกับผู้ติดให้สามารถได้รับการบำบัดและใช้ยาภายใต้การควบคุม ทำให้ยาหาได้ในราคาถูกมากแต่ต้องใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์ ถ้าองค์การเภสัชผลิตเอง จะไม่มีการผสมยาฆ่าหญ้าและสารที่เป็นอันตราย อาการคลั่งบ้าจะลดลง และสามารถควบคุมจำนวนการผลิตได้ ยังไงก็น้อยกว่าจำนวนยาบ้าที่ทะลักเข้ามาในประเทศไทยจากรัฐฉาน

“ราคายาบ้านั้น เพียงเม็ดละไม่ถึงสิบบาท ต้องทำลายกลไกราคาให้รัฐฉานขายยาไม่ได้ คนที่รับมาจากรัฐฉานก็ขายในราคาสูงไม่ได้ เพราะมีตัวเปรียบเทียบ ถ้าเราทำลายกลไกราคาได้ การแก้ปัญหาจะง่ายกว่านี้มาก การปราบยาบ้า เราต้องมุ่งการต่อสู้ไปที่รัฐฉานโดยตรงและต้องทำเป็นหลัก ให้ชัดเจนว่า รัฐฉานคือศัตรูของเราหาวิธีทำลายการผลิตยาบ้าของรัฐฉานให้ได้ ถ้าเราสู้กับรัฐฉาน เราจะไม่หลงทาง และสู้ได้ตรงจุด รัฐฉานคือศัตรูที่แท้จริง ไม่ใช่คนไทยด้วยกันเอง...”

นายวันชัย ระบุว่า ยาบ้าแหล่งผลิตใหญ่สุดมีที่เดียว คือรัฐฉานในพม่าซึ่งต้องขายยาบ้าและเฮโรอินเพื่อเอาเงินไปเลี้ยงประเทศ สร้างเมืองยอน และใช้รบกับพม่า เคยมีการประเมินโดยหน่วยงานของรัฐร่วมกับสหรัฐฯว่า รัฐฉานผลิตยาบ้าปีละ 1,000 ล้านเม็ด ส่งเข้ามาขายในเมืองไทยประมาณปีละ 500ล้านเม็ด และแต่ละปีเราจับได้ประมาณ 5 ล้านเม็ด หรือประมาณ 1%ของยาที่เข้ามาเท่านั้น อีก 495 ล้านเม็ดระบาดอยู่ในตลาด เงินกว่าครึ่งได้มาจากการขายยาบ้าให้ประเทศไทย เพราะตลาดขยายเร็วมาก ราคาสูงจูงใจให้คนขายพยายามหาลูกค้า พยายามไปแพร่ขยายให้คนติดยามากขึ้น มากขึ้นและมากขึ้นอย่างรวดเร็ว

อีกหนึ่งเสียงคือ นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ประธานคณะกรรมาธิการสามัญการสาธารณสุข สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ออกมาสนับสนุนแนวคิดของ“บิ๊กต๊อก” เช่นเดียวกัน เพราะการประกาศสงครามกับยาเสพติด เปลี่ยนยาม้าเป็นยาบ้า และนำสารตั้งต้นที่มีสารเมทแอมเฟตามีนเป็นส่วนประกอบเข้าสู่บัญชียาเสพติดประเภทที่1 แต่จนบัดนี้ปัญหายาเสพติดยังไม่หมดไปและมีราคาแพงขึ้นมาก มีผู้ลักลอบขายเป็นขบวนการ

ดังนั้น เมื่อไม่ชนะสงครามยาเสพติดก็ควรเปลี่ยนวิธีการต่อสู้ใหม่ โดยนำสารเมทแอมเฟตามีนออกจากบัญชีที่ 1 เป็นยาเสพติดร้ายแรงมาเป็นยาปกติ เป็นเพียงสารออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท โดยสถานพยาบาลของรัฐสามารถจำหน่ายได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของ อย.

.... นี่เป็นการเปลี่ยนมุมมองใหม่ให้ประชาชนต้องใช้เวลาอธิบายทั้งข้อดีข้อเสีย ซึ่งแนวทางดังกล่าวเป็นสิ่งที่สอดคล้องกับสากลและเป็นแนวทางที่สหประชาชาติ พยายามขับเคลื่อนอยู่

ออกจากกะลาแลนด์ และเลิกโชว์โง่กันเสียที



กำลังโหลดความคิดเห็น