xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กต๊อก” ยันยาบ้าคือยาเสพติด จ่อแก้ กม.ผู้เสพเป็นผู้ป่วย ชงสาธารสุขรับไปบำบัด ลั่นลุยหน้าปราบเต็มที่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


MGR Online - “พล.อ.ไพบูลย์” ระบุ ไทยยังไม่พร้อมให้ยาเสพติดถูก กม. ยันยาบ้าคือยาเสพติด เตรียมปรับผู้เสพให้เป็นผู้ป่วย แก้ กม. เพื่อเพิ่มโทษผู้ค้าและนายทุนรายใหญ่ ลั่นลุยปราบปรามปัญหายาเสพติดอย่างเต็มที่ จ่อชงกระทรวงสาธารณสุขเป็นแม่งานในการรับผู้เสพไปบำบัด

วันนี้ (21 มิ.ย.) เวลา 10.00 น. ชั้น 8 ห้องประชุมกระทรวงยุติธรรม อาคารราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะผู้อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดแห่งชาติ (ผอ.ศอ.ปส.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ครั้งที่ 2/2559 เพื่อพิจารณาแนวทางการควบคุมเมทแอมเฟตามีน (ยาบ้า) โดยยึดหลักความสำคัญกับด้านสาธารณสุข ด้านกฎหมาย และด้านการให้ข้อมูลต่อสาธารณชน ซึ่งมีตัวแทนหลายหน่วยงานเข้าร่วม อาทิ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ฯลฯ

พล.อ.ไพบูลย์ เปิดเผยก่อนการประชุม ว่า หลังจากเดินทางไปประชุม UNGASS 2016 สมัชชาสหประชาชาติสมัยพิเศษ นครนิวยอร์ก เมื่อกลางปีที่ผ่านมา ว่าด้วยยาเสพติดโลก ซึ่งตนเป็นหัวหน้าคณะเดินทางไป และเมื่อกลับมาถึงประเทศไทยก็เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาประชุมทิศทางของยาเสพติด และการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดในประเทศไทย ว่า จะมีทิศทางไปกันอย่างไร และจะมาเล่าให้หน่วยงานที่รับผิดชอบฟัง หลังจากนั้น แต่ละหน่วยงานก็ไปดำเนินการอะไรบ้าง

พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวอีกว่า วันนี้มีการประชุม 2 ประเด็น คือ 1. ประเด็นยาเสพติดโลก และ 2. ประเทศไทยควรทำอะไรบ้าง ซึ่งจะได้หารือกันในที่ประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ส่วนแนวคิดการยกเลิกเมทแอมเฟตามีนนั้น ต้องพูดคุยกันในที่ประชุมอีกครั้ง

ต่อมา เวลา 12.00 น. พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวถึงผลการประชุม ว่า การประชุมเกี่ยวกับการปราบปรามยาเสพติดโลก ครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อ 28 ปีก่อน โดยสหประชาชาติมีแนวคิดใช้สงครามปราบยาเสพติดเป็นหลักในการดำเนินการ แต่หลังจากได้ใช้นโยบายนี้มาตลอดระยะเวลา 20 กว่าปี พบว่า แนวคิดดังกล่าวไม่สามารถนำไปสู่การป้องกันและปราบปรามยาเสพติดของประชากรโลกได้ ซึ่งก่อนการประชุม UNGASS 2016 นั้น มีหลายประเทศปรับแนวคิดในการดำเนินการ มีนักวิชาการนำผลวิจัยไปปฏิบัติจนประสบความสำเร็จในหลายประเทศจึงมีการประชุมสัมมนากัน

พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวอีกว่า สำหรับผลการประชุม UNGASS 2016 มีการคิดที่หลากหลายมาก ไม่ว่าจะเป็นการเสนอให้ยาเสพติดเป็นสิ่งที่ถูกต้องตามกฎหมาย เน้นให้ลดโทษไม่มีการประหารชีวิตเกี่ยวกับความผิดคดียาเสพติด รณรงค์ให้ทุกประเทศอย่าใช้คำว่าสงครามยาเสพติด เพราะการทำสงครามหมายถึงการละเมิดสิทธิ การเข่นฆ่า การใช้ชีวิตในการแก้ไข ซึ่งยาเสพติดมีแนวโน้มจะไปในทางสาธารณสุข การรักษาอาการเจ็บป่วย นอกจากนี้ ขอเรียนว่า ประเทศไทยมีถ้อยแถลงคัดค้านไม่เห็นด้วยในหลายเรื่องเช่นกัน อาทิ ไม่เห็นด้วยให้ยาเสพติดเป็นสิ่งถูกต้องตามกฎหมาย แต่เห็นด้วยว่าผู้เสพเป็นผู้ป่วย เรายังไม่พร้อมที่จะใช้โทษประหารชีวิตกับคดียาเสพติด แต่เราจะลงโทษผู้กระทำความผิดที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดต้องได้สัดส่วนกับพฤติกรรมในการกระทำความผิดซึ่งตรงนี้สำคัญ

“ประเทศไทยได้แก้กฎหมายยาเสพติดเป็นประมวลยาเสพติดแล้ว โดยใช้การลงโทษผู้กระทำผิดที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดต้องได้สัดส่วนกับพฤติกรรมในการกระทำความผิด ซึ่งจะแยกผู้ค้ารายใหญ่ต้องถูกลงโทษขั้นรุนแรง ส่วนผู้เสพจะต้องได้รับการลงโทษที่เหมาะสมกับเรื่องดังกล่าว การคัดกรอง การแยกแยะเป็นเรื่องของในหน่วยงานกระบวนการยุติธรรม ฉะนั้น ต้องมองปัญหาว่าผู้เสพมีความยากจนจนพัฒนาไปสู่ผู้ค้าต้องทำการคัดแยกอย่างเหมาะสม”

พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวต่อว่า ส่วนโทษการประหารชีวิต มีประเทศมากกว่าเกินครึ่งของในที่ประชุม UNGASS 2016 ยื่นแนวโน้มใช้มาตรการนี้แต่ประเทศไทยไม่พร้อมกับมาตรการดังกล่าว แต่สิ่งที่ได้ผลสรุปในการประชุมวันนี้ คือ 1. นโยบายป้องกันและปราบปรามยาเสพติดจะต้องมีการบำบัดฟื้นฟูเข้มข้น 2. ยืนยันว่า ยาเสพติดเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายแน่นอน นอกจากนี้ เรื่องยาเสพติดจากผลวิจัยกลายมาเป็นเรื่องสุขภาพ เรื่องสาธารณสุข เรื่องคนป่วย ทำให้การบำบัดฟื้นฟูนั้น มีแนวคิดให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการ ทั้งนี้ ตนในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมมีหลายหน่วยงานต้องดูแลจะเป็นฝ่ายสนับสนุนเพื่อให้การบำบัดฟื้นฟูได้ประสิทธิภาพ และจะสอดคล้องกับประมวลกฎหมายยาเสพติด

พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การสร้างความรับรู้ให้กับประชาชนเป็นเรื่องสำคัญ และต้องร่วมมือกันแก้ไขปัญหายาเสพติด แต่ยังยืนยันว่า ยาบ้าคือยาเสพติด และประเทศไทยไม่พร้อมจะทำยาเสพติดให้ถูกกฎหมาย อย่างไรก็ตาม การปรับยาเสพติดก็ต้องไปทั้งระบบไม่ใช่เฉพาะยาบ้าเท่านั้น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมีความพร้อม ฝากขอบคุณกระทรวงสาธารณสุขช่วยทำผู้เสพให้หายป่วย ซึ่งคนกลุ่มนี้ต้องไปหาหมอและไม่ควรส่งคนป่วยเข้าไปในคุกเพราะไม่ใช่ที่รักษา ตนดูแลกรมราชทัณฑ์ กรมพินิจฯ ทราบดีว่าไม่มีถูกต้องและอยากให้ไปอยู่กับหมอ

ด้าน นายแพทย์ บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า ตนได้รับมอบหมายจาก นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ร่วมหารือในประเด็นดังกล่าว ซึ่งในหลักการกระทรวงสาธารณสุขเห็นด้วยกับนโยบาย และเป็นความพยายามที่ดีในการแก้ไขปัญหายาเสพติดในบ้านเมือง ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้รับผิดชอบในเรื่องของสุขภาพประชาชน ซึ่งแนวคิดที่มองว่าผู้เสพเป็นผู้ป่วยก็ต้องรับมาดำเนินการแต่จะต้องคุยในรายละเอียด

“ประเทศไทยดำเนินการนโยบายเดิมมานานแล้วตั้งแต่ปี 2539 ประกาศสงครามยาเสพติดแต่ปริมาณผู้เสพและยาเสพติดก็มากขึ้นเรื่อย ๆ โดย อย. เป็นหน่วยที่เก็บรักษายาเสพติดจากเมื่อ 3 ปีที่แล้ว ประมาณ 30 - 40 ตันแต่ปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็น 50 ตัน ซึ่งถ้าหากมีแนวคิดวิธีการใหม่ ๆ ก็น่าจะควรริเริ่มทำและสอดคล้องกับทิศทางประเทศสากล”



กำลังโหลดความคิดเห็น