สมาคมแพทย์โรคหัวใจ เล็งผลักดัน “การช่วยชีวิต” เป็นหลักสูตรการเรียนการสอนในเด็กนักเรียนทุกชั้นปี พร้อมจัดงานวันช่วยชีวิตแห่งชาติครั้งแรก หวังสร้างความตระหนัก ให้ความรู้ ปชช. ช่วยชีวิตกันอย่างถูกต้อง
พ.ต.อ.นพ.โสภณ กฤษณะรังสรรค์ ที่ปรึกษาคณะกรรมการมาตรฐานการช่วยชีวิต สมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ แถลงข่าวการจัดงานวันช่วยชีวิตแห่งชาติครั้งที่ 1 (Thai-ReSS 2016 ) ว่า เรื่องของการช่วยชีวิตยังไม่มีการบรรจุลงไปในหลักสูตรการเรียนการสอนในเด็ก จึงเตรียมที่จะมีการผลักดันให้มีการบรรจุหลักสูตรการช่วยชีวิตเบื้องต้น ในหลักสูตรการเรียนการสอนให้กับนักเรียนในระดับชั้นต่าง ๆ แต่การจะบรรจุเป็นหลักสูตรได้นั้น ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย ทั้งจากกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นอกจากนี้ ที่ผ่านมา มีแต่การอบรมเจ้าหน้าที่ในการช่วยชีวิต ด้วยการปั๊มหัวใจ หรือ ซีพีอาร์ ซึ่งก็มีการเปลี่ยนแปลงวิธีการซีพีอาร์ทุก ๆ 5 ปี เพื่อให้ความรู้ถึงความทันสมัยที่เพิ่มทุกปี และมีประสิทธิภาพในการช่วยชีวิตมากขึ้น ทั้งเรื่องของการกดหน้าอก การเพิ่มความถี่ หรือการเป่าปาก จึงได้มีการอบรมในเจ้าหน้าที่ และประชาชนรวมถึงนักเรียนตามโรงเรียนต่างๆที่สนใจเข้ามาร่วมอบรม
“สำหรับในกลุ่มประชาชนทั่วไปเพื่อให้เกิดความตระหนักในการช่วยชีวิตฉุกเฉิน จึงจะมีการจัดงานวันช่วยชีวิตแห่งชาติขึ้น ซึ่งตรงกับวันที่ 19 ก.ย. ของบทุกปี โดยจะจัดที่อาคารกีฬานิมิบุตร สนามกีฬาแห่งชาติ โดยวันงานจะมี พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี มาเป็นประธานในพิธีเปิด ทั้งนี้ ภายในงาน จะมีกิจกรรมต่าง ๆ มากมาย ทั้งกิจกรรมการจัดนิทรรศการการให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องการช่วยชีวิต ด้วยการทำ CPR อย่างถูกวิธีปลอดภัย ไม่ประสบปัญหากระดูกหัก ตับแตก ตามที่สังคมสงสัย และยังมีการนำหุ่นช่วยชีวิตจำลองมากให้ประชาชนที่สนใจลองปั๊มหัวใจด้วยตนเอง นอกจากนี้ ยังนำหุ่นมนุษย์จำลองจากยางพารา ที่ได้ศึกษาวิจัยโดยมหาวิทยาสงขลานครินทร์มาร่วมในงานด้วย พร้อมแจกหนังสือการช่วยชีวิตพื้นที่ฐานแก่ผู้มาร่วมงานอีกด้วย” พ.ต.อ.นพ.โสภณ กล่าว
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่