xs
xsm
sm
md
lg

ศาลอุทธรณ์แก้โทษจำคุก “พ.ต.อ.ชาญชัย” เหลือ 2 ปี ไม่รอลงอาญา ฐานติดสินบนตุลาการคดียุบพรรคไทยรักไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


MGR Online - ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ ลดโทษจำคุกจาก 3 ปี เหลือ 2 ปี “พ.ต.อ.ชาญชัย เนติรัฐการ” อดีตผู้กำกับ สภ.ต.โพธิ์แก้ว นครปฐม กรณีเสนอเงินสินบน 15-30 ล้านบาทให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญล้มคดียุบพรรคไทยรักไทย เหตุจำเลยอมรับข้อเท็จจริงตามฟ้อง แต่จำเลยเป็นถึงอดีตตำรวจ กลับทำเรื่องเสื่อมเสียให้วงการยุติธรรม โทษจำคุกไม่มีเหตุให้ต้องรอลงอาญา



ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก วันที่ 19 ก.พ. ศาลอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีหมายเลขดำ อ.3559/2556 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 7 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พ.ต.อ.ชาญชัย เนติรัฐการ อดีต ผกก.สภ.ต.โพธิ์แก้ว อ.สามพราน จ.นครปฐม เป็นจำเลยในความผิดฐานผู้ใดขอให้หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดแก่เจ้าพนักงานฯ เพื่อจูงใจให้กระทำหรือไม่กระทำการที่มิชอบด้วยหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 144 และผู้ใดขอให้หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดแก่เจ้าพนักงานตำแหน่งตุลาการ อัยการ ผู้ว่าคดีหรือพนักงานสอบสวน เพื่อจูงใจให้กระทำหรือไม่กระทำการที่มิชอบด้วยหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 167

ตามฟ้องโจทก์เมื่อวันที่ 25 ก.ย. 2556 บรรยายพฤติการณ์สรุป เมื่อวันที่ 16-22 ต.ค. 2549 จำเลยได้ไปพบ ม.ล.ไกรฤกษ์ เกษมสันต์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่ห้องทำงานที่ศาลฎีกา แล้วรับว่าจะให้เงินจำนวน 15 ล้านบาทแก่ ม.ล.ไกรฤกษ์ เพื่อให้ช่วยเหลือในการพิจารณาคดียุบพรรคการเมือง เหตุเกิดที่แขวงคลองกุ่ม เขตบึงกุ่ม กทม. จำเลยให้การปฏิเสธต่อสู้คดี อ้างเป็นเพื่อนร่วมรุ่นนิติศาสตร์ ม.ล.ไกรฤกษ์ การไปพบก็เพื่อส่งหนังสือเชิญร่วมงานเลี้ยงรุ่น และการกล่าวถึงสินบนก็เพียงพูดคุยหยอกล้อในฐานะเพื่อนเท่านั้น เพราะขณะนั้นมีข่าวลือเรื่องวิ่งเต้นคดี

ศาลชั้นต้นมีพิพากษาเมื่อวันที่ 24 ธ.ค. 2557 ว่า โจทก์มี ม.ล.ไกรฤกษ์เป็นพยานเบิกความ ซึ่งพยานโจทก์ ไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน ขณะที่การกระทำของจำเลยถือเป็นการเห็นแก่ตัว ทำลายความเชื่อถือและศรัทธาของระบบศาลและตุลาการซึ่งถือเป็นที่พึ่งสุดท้ายของประชาชน จึงพิพากษาว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 167 ให้จำคุก 3 ปีโดยไม่รอลงอาญา ต่อมาจำเลยยื่นอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนปรึกษากันแล้ว เห็นว่าโจทก์มี ม.ล.ไกรฤกษ์ เป็นพยานเบิกความว่า หลังจบการศึกษานิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ จำเลยและพยานไม่เคยติดต่อพูดคุยกัน แต่เมื่อได้รับเลือกเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จำเลยได้ขอเข้าพบมาแสดงความยินดีและและพูดคุยว่าภรรยาจำเลยเป็นหนี้บุญคุณคุณหญิงอ้อ ถ้ายอมช่วยเหลือจะได้รับเงิน 15 ล้าน และจำเลยขอส่วนแบ่ง 5 เปอร์เซ็นต์ ต่อมาวันที่ 22 ต.ค. 2549 จำเลยยังมาพบกับพยานอีกครั้งที่บ้าน อ้างนำบัตรเชิญเลี้ยงรุ่นมาให้และพูดลอยๆ ว่า 30 ล้าน พยานจึงบอกให้จำเลยกลับไปและห้ามพูดเรื่องนี้อีก ซึ่งพยานได้ทำบันทึกถึงนายปัญญา ถนอมรอด ประธานศาลฎีกา และประธานศาลรัฐธรรมนูญ (เมื่อปี 2549) สอดคล้องกับคำเบิกความของรองเลขานุการศาลฎีกา ในรายละเอียดการทำหนังสือเพื่อส่งถึงนายปัญญา

ขณะที่ยังมีนายจรัญ ภักดีธนากุล, นายอุดม เฟื่องฟุ้ง และนายชาญชัย ลิขิตจิตถะ ซึ่งขณะนั้นเป็นผู้พิพากษาและอดีตผู้พิพากษา เบิกความว่า ม.ล.ไกรฤกษ์ได้เล่าเรื่องที่จำเลยเข้าพบแล้วมีการพูดถึงเรื่องเงินให้ฟัง ซึ่งพยานโจทก์ทั้งสามปากก็มีตำแหน่งสำคัญ อีกทั้ง ม.ล.ไกรฤกษ์เป็นเพื่อนร่วมรุ่นกับจำเลย และไม่มีเรื่องโกรธเคืองกันมาก่อน จึงไม่มีเหตุที่จะปรักปรำจำเลย และขณะนั้นพรรคไทยรักไทยเองก็เป็นรัฐบาลมีอำนาจในการบริหารประเทศ หากปรักปรำก็จะเป็นการสร้างความเข้าใจผิด

ส่วนที่จำเลยอ้างว่าเป็นเพียงการพูดหยอกล้อ หลังจากที่มีข่าวเรื่องการวิ่งเต้นนั้น เมื่อฟังได้ว่าตั้งแต่จบการศึกษาจนถึงก่อนที่จะเกิดเหตุดังกล่าว ม.ล.ไกรฤกษ์และจำเลยไม่ได้มีความสนิทสนมกันถึงขนาดรับประทานอาหารหรือไปไหนมาไหนด้วยกัน จึงไม่ใช่เหตุที่พยานจะมาพูดคุยหยอกล้อเรื่องดังกล่าว และข้อเท็จจริงข่าวการวิ่งเต้นเกิดขึ้นในภายหลังจากนายจรัญ ออกมาให้สัมภาษณ์ เมื่อเดือน มิ.ย. 2550 พยานจำเลยไม่มีน้ำหนัก พยานโจทก์จึงรับฟังได้ปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยมาที่บ้านพยานและเสนอเงิน 15-30 ล้านบาทเพื่อจูงใจให้การตัดสินคดียุบพรรคเป็นประโยชน์ต่อพรรคไทยรักไทย

และที่จำเลยอ้างว่า ม.ล.ไกรฤกษ์ ไม่ได้แจ้งความดำเนินคดีต่อจำเลยตั้งแต่เกิดเหตุ แต่หลังจากนั้น 10 เดือน นายวีระ สมความคิด จึงแจ้งความ คำเบิกความ ม.ล.ไกรฤกษ์จึงมีข้อพิรุธสงสัยนั้น ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ชั้นนำสืบได้ความว่า ม.ล.ไกรฤกษ์กำลังปฏิบัติหน้าที่ตุลาการ ซึ่งคดีมีอายุความหลายปี และเมื่อนายวีระแจ้งความแล้วจึงไม่ได้ดำเนินการอีก แม้คดีมีเพียง ม.ล.ไกรฤกษ์เป็นประจักษ์พยานเพียงปากเดียว พยานอื่นเป็นพยานบอกเล่า แต่พยานก็ได้รับความไว้วางใจดำรงตำแหน่งตุลาการที่สำคัญ จากความซื่อสัตย์สุจริต ที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาลงโทษจำเลย จึงเหมาะสมพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว

ส่วนที่มีเหตุให้รอการลงโทษจำเลยหรือไม่ เห็นว่าจำเลยก็เคยเป็นตำรวจ ซึ่งเป็นหนึ่งในกระบวนการยุติธรรม การกระทำของจำเลยทำให้เสื่อมเกียรติภูมิตุลาการอย่างร้ายแรง ทำให้ประชาชนเกิดความรู้สึกคลางแคลงใจต่อกระบวนการยุติธรรม จึงไม่มีเหตุให้รอการลงโทษ แต่ชั้นพิจารณาจำเลยได้รับข้อเท็จจริงตามฟ้อง จึงมีเหตุบรรเทาโทษ พิพากษาแก้เป็นให้จำคุกจำเลย เป็นเวลา 2 ปี โดยไม่รอการลงโทษ

ภายหลังจากฟังคำพิพากษา ทนายความของ พ.ต.อ.ชาญชัยได้ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์เป็นเงินสด 300,000 บาท เพื่อขอปล่อยชั่วคราวระหว่างฎีกาสู้คดี

ศาลพิจารณาคำร้องและหลักทรัพย์แล้วมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว พ.ต.อ.ชาญชัย จำเลยระหว่างฎีกาสู้คดี โดยตีราคาประกัน 3 แสนบาท พร้อมกำหนดเงื่อนไขห้ามจำเลยเดินทางออกนอกราชอาณาจักรเว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล







กำลังโหลดความคิดเห็น