อัยการแนะควรแก้กฎหมายเมาแล้วขับให้ครอบคลุมถึงจักรยาน หลังศาลจังหวัดวิเชียรบุรียกฟ้องในสำนวนที่ตำรวจจับชายเมาในขณะขี่จักรยาน ถือว่าเป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้วเนื่องจากไม่ใช่รถในความหมายของ พ.ร.บ.การจราจรทางบก
วันนี้ (28 ก.ย.) นายโกศลวัฒน์ อินทุจรรยงค์ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวว่า กรณีเป็นข่าวในโซเชียลเน็ตเวิร์กว่า ศาลจังหวัดวิเชียรบุรียกฟ้องของอัยการในสำนวนที่ตำรวจจับชายเมาในขณะขี่จักรยาน โดยให้เหตุผลว่าการกระทำดังกล่าวไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรมาตรา 43 (2) คือไม่ใช่เป็นการเมาสุราในขณะขับขี่รถ ตนมองว่าศาลชั้นต้นพิพากษาถูกต้องตามตัวบทกฎหมายแล้ว เพราะรถจักรยานปั่น ไม่ใช่รถในความหมายของมาตรา 43 (2) ประกอบ 160 แต่ คนที่เมาแล้วขี่จักรยานไปตกคูน้ำ ตกไหล่ทาง หรือถูกเฉี่ยวชนและบุคคลนั้นมีครอบครัวต้องอุปการะพ่อแม่หรือบุตร ก็จะมีผลเดือดร้อนตามมา ดังนั้นควรแก้ไข พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ ให้รวมถึงการขี่จักรยานด้วย
รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุดกล่าวต่อไปว่า ประเด็นต่อมาตนเชื่อว่าอัยการอาจจะรีบฟ้องไปโดยไม่ทันดูให้ละเอียด อันนี้ต้องยอมรับในข้อบกพร่อง โดยฟ้องไปทั้งที่รู้ว่าบทบัญญัติดังกล่าวหมายถึงรถ ไม่มีจักรยานก็เป็นไปได้ แต่อย่าลืมอัยการต้องพิจารณาสำนวนคดีจำนวนมากอาจดูไม่ทัน ประกอบกับผู้ต้องหารับสารภาพจึงต้องเร่งฟ้องให้ทันภายในกำหนดเวลาของกฎหมาย ประเด็นที่ 3 คือ ตำรวจที่ด่านไม่มั่นใจในตัวบทบัญญัติ เลยทดลองจับดูและอัยการก็ฟ้องไปเพื่อให้มีการพิสูจน์ไปเลยในศาลว่า การขี่รถจักรยานในขณะเมาสุราเป็นความผิดหรือไม่ ถ้าศาลว่าไม่ผิดต่อไปก็คงจะไม่จับ
นายโกศลวัฒน์กล่าวว่า คดีนี้ทั้งตำรวจและอัยการคงไม่มีเจตนากลั่นแกล้งผู้ต้องหา หรือเอาผู้ต้องหาเป็นเครื่องทดลองฟ้องเป็นจำเลย แต่อาจเป็นเพราะกฎหมายไม่มีความชัดเจน เพียงแต่ตำรวจไม่มั่นใจ หรืออัยการไม่มั่นใจ เมื่อผู้ต้องรับสารภาพก็ฟ้องคดีไป เท่าที่ทราบคดีนี้อัยการก็ไม่อุทธรณ์เพราะเห็นว่าศาลพิพากษาถูกแล้ว
รองโฆษกกล่าวว่า เรื่องนี้ไม่โทษตำรวจ เป็นเรื่องไม่มั่นใจในตัวกฎหมาย ต้องกลับไปหาที่ต้นเหตุ คือตัวกฎหมาย ตอนนี้ก็ต้องยอมรับคำพิพากษาศาลชั้นต้น แต่อย่าลืมบางครั้งศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาก็พิพากษาไม่สอดคล้องกับศาลชั้นต้น หรือแม้แต่ศาลฎีกาในช่วงเวลาหนึ่งพิพากษาไปแนวหนึ่งต่อมาก็เปลี่ยนไป ในความเห็นส่วนตัวการเมาสุราแล้วขับขี่เป็นเรื่องร้ายแรง บางประเทศถือว่ามีเจตนากระทำความผิดเลย ตนได้หารือกับ นพ.แท้จริง ศิริพานิชย์ ประธานมูลนิธิเมาไม่ขับ เพื่อหาทางยกร่างกฎหมายเรื่องนี้ให้ครอบคลุมและชัดเจนว่าปั่นจักรยานก็เข้าองค์ประกอบความผิด
ส่วนกรณีมีกระแสความคิดว่า พ.ร.บ.จราจร มาตรา160 ประกอบ43 ให้หมายความถึงรถยนต์และจักรยานยนต์ ไม่มีจักรยานปั่น แต่ตำรวจและอัยการทดลองฟ้องไปเพื่อให้ศาลมีบรรทัดให้ชัดเจน เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ในฐานะครูกฎหมายให้ความเห็นว่า กรณีในบางคดีการฟ้องคดีเพื่อตรวจสอบกฎหมายที่ยังไม่มีความชัดเจนว่าควรจะเป็นอย่างไรไม่ควรทำเป็นคดีอาญา ควรทำคดีละเมิดทางแพ่งไปก่อน นักกฎหมายไม่ควรเอาบุคคลเป็นเครื่องทดลองฟ้องในคดีอาญา เพราะคดีอาญามีโทษรุนแรงและผู้ต้องหาหรือจำเลยต้องขาดอิสรภาพต้องมาประกันตัวหาหลักทรัพย์หรือถูกขัง คดีอาญานั้นการฟ้องคดีจะกระทำได้ต่อเมื่อมีกฎหมายบัญญัติไว้ชัดเจนว่าการกระทำใดเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ ลองนึกภาพดูหากบุคคลคนหนึ่งถูกฟ้องเป็นจำเลย เขาต้องวิ่งหาทนายหาเงินประกันตัว กินไม่ได้นอนไม่หลับ เท่ากับติดคุกไปครั้งหนึ่งแล้ว
นายสราวุธ เบญจกุล รองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม เผยว่า เรื่องนี้ถ้าจะให้ชัดเจนว่าให้รวมถึงจักรยานปั่นหรือไม่ ก็ต้องมีการแก้ไขกฎหมาย พ.ร.บ.จราจรทางบก ให้ครอบคลุมถึงการเมาแล้วขี่จักรยานด้วย ส่วนที่พนักงานอัยการจะอุทธรณ์คดีดังกล่าวก็ทำได้แต่ศาลจะพิพากษาอย่างไรเป็นดุลพินิจ ทั้งนี้ ความเห็นตนกฎหมายจราจรออกมาเพื่อความปลอดภัย หากการปั่นจักรยานขณะมึนเมา อาจจะไปชนหรือเกิดอุบัติเหตุเอง ก็เป็นเหตุผลให้ต้องบัญญัติกฎหมายว่าการขี่จักรยานขณะเมาก็ผิดได้