“วิษณุ” อธิบายคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ รับเป็นไปได้อาจทำให้นายกฯ คนนอกอยู่ยาวถึง 8 ปี ถ้าอึดและทน ถ้าเลือกกี่ครั้งก็ยังได้กลับมาก็คงต้องยอม ระบุต่อจากนี้สรรหานายกฯ ต้องประชุมรัฐสภา ใครได้ 376 เสียงคว้าเก้าอี้ ถ้าจะเอาคนนอกก็ให้ 376 เสียงเข้าชื่อชงญัตติแล้วโหวต ถ้าสมาชิก 501 ยอมก็เสนอชื่อได้ แล้วให้โหวต ใครถึง 376 เสียงก็เป็นนายกฯ อ้างประชามติต้องการให้วุฒิสภาเป็นตัวแปร
วันนี้ (29 ก.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ไปปรับแก้เนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญเพื่อให้สอดคล้องกับผลการออกเสียงประชาชามติว่า จากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ออกมานั้น ข้อความสำคัญอยู่ที่ 2-3 หน้าสุดท้ายเท่านั้น โดยสรุปง่ายๆ ถึงสิ่งที่ศาลรัฐธรรมนูญสั่ง คือ เมื่อไม่สามารถหาชื่อนายกฯ จากบัญชีของพรรคการเมืองได้ก็ให้สมาชิกรัฐสภา คือ ส.ส.หรือ ส.ว. เสนอให้ใช้ชื่อจากคนนอก ซึ่งการเสนอนี้จะต้องมีเสียงเห็นชอบในการเสนอครึ่งหนึ่งของสมาชิกคือ 376 เสียง และเมื่อเสนอครบแล้วว่าจะต้องเอาคนนอกบัญชี แล้วสมาชิกทั้งหมด 750 คนก็ต้องมาโหวตกัน การโหวตตรงนี้จะต้องได้คะแนนเสียง 2 ใน 3 คือ 501 เสียง ถึงตรงนี้ก็ยังไม่ได้ชื่อหรือตัวนายกฯ แล้วจากนั้นจึงเข้าสู่กระบวนการต่อไป
นายวิษณุกล่าวว่า จากนั้นวันรุ่งขึ้นเมื่อมีการยินยอมให้เสนอชื่อคนนอกแล้วก็ต้องมาเริ่มโหวตให้ได้คะแนน 376 เสียง แต่ไม่ได้มีตรงไหนระบุว่าแล้วคนที่จะเสนอชื่อนายกฯ นั้นจะต้องเป็น ส.ส.หรือ ส.ว. ตรงนี้จึงเป็นที่มาที่ทำให้ กรธ.อธิบายว่าก็ไม่มีตรงไหนระบุว่าให้ ส.ว.เป็นคนเสนอชื่อ ดังนั้นจึงต้องกลับมาให้ ส.ส.เป็นคนเสนอแล้วจึงให้ ส.ว.เป็นคนร่วมโหวต
นายวิษณุกล่าวอีกว่า อีกประเด็นหนึ่ง ศาลรัฐธรรมนูญอ่านแล้วเห็นว่าถ้อยคำยังไม่ชัด จึงให้ กรธ.แก้ไขมาให้ชัดเจนเพื่อเป็นการตัดไฟแต่ต้นลมไม่ให้มีปัญหาอีกต่อไป ในประเด็นที่ กรธ.เขียนว่า ในวาระเริ่มแรก ซึ่งจะทำให้เกิดความเข้าใจไปว่า การหานายกฯ แบบยุ่งๆ ที่กล่าวมาให้ใช้เฉพาะตอนเริ่มแรกหลังจากมีรัฐสภา คือ หลังเลือกตั้งแล้วถ้าได้นายกฯ มาอยู่ไป 1 ปี นายกฯ ตายหรือลาออก หรือถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ พ้นจากตำแหน่ง หรือถูกถอดถอน ซึ่งอยู่ในห้วง 5 ปี แล้วเป็นการหานายกฯ หนที่ 2 ก็ถามว่าจะไปหานายกฯ แบบที่ยุ่งๆ แบบเก่าหรือไม่ ศาลรัฐธรรมนูญจึงเห็นว่า เมื่อ กรธ.ใช้คำว่าในวาระเริ่มแรกนับตั้งแต่มีการได้สมาชิกรัฐสภาจะชวนให้เกิดความเข้าใจไปว่าเฉพาะหนแรกหนเดียว แต่ในเมื่อเจตนารมณ์ของประชามติหมายถึงกี่หนก็ได้ แต่ให้อยู่ใน 5 ปีจึงให้ไปแก้ถ้อยคำให้ชัดเจนเป็นว่ากี่หนก็ได้ใน 5 ปี เพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิด
ผู้สื่อข่าวถามว่า กลไกดังกล่าวจะทำให้ได้นายกฯ คนนอกและอยู่ยาวถึง 8 ปีหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ก็เป็นไปได้ หากอึดและทน รวมถึงเจตนาเป็นอย่างนั้น เพราะนี่คือประชามติ ก็ไม่รู้จะพูดอย่างไร อีกทั้งดูน้ำใจ ส.ส.และดูเหตุการณ์ว่าบุคคลนั้นมีความเป็นที่นิยมถึงขนาดว่าเลือกกี่ครั้งก็ได้กลับเข้ามาอีก ถ้าถึงขนาดนั้นประเทศไทยก็คงต้องยอม
“ต่อไปนี้ประเทศไทยการหานายกฯ เริ่มจากประชุม 2 สภา แล้วเลือกว่าจะเอาใครเป็นนายกฯ โดยต้องมาจากบัญชีที่พรรคการเมืองเสนอพรรคละ 3 คน แล้วถ้าได้ก็ได้ ถ้าไม่ได้ก็คือไม่ได้ โดยดูจากคะแนนว่าใครได้ถึง 376 เสียงคนนั้นก็ได้เป็นนายกฯ ถ้าไม่ได้ถึง 376 เสียงก็ต้องประชุมกันทุกวันจนกว่าจะได้ 376 เสียง จนถึงวันหนึ่งถ้าเบื่อแล้วก็แปลว่าจะเอาคนนอกบัญชีก็ต้องให้ ส.ส.หรือ ส.ว.ก็ได้รวมกันเข้าชื่อให้ได้ 376 คนเสนอขอเอาคนนอก ก็แปลว่าญัตตินี้จะเข้าไปในสภา แล้วสภาต้องโหวตเพื่อยอมให้เอาคนนอก โดยมีเสียง 501 คน แต่ถ้าได้ไม่ถึง 501 คนก็แปลว่าไม่มีโอกาสจะเอาคนนอก ดังนั้นก็ต้องกลับไปตะบี้ตะบันเอาจากพรรคละ 3 รายชื่อ แต่ถ้าได้ถึง 501 คนแปลว่ายอมให้เอาคนนอก พรุ่งนี้ก็มาประชุมกันใหม่ ใครเสนอชื่อนายกฯ ขึ้นมาแล้วโหวตได้ 376 เสียง คนนั้นก็เป็นนายกฯ แล้วถ้ายังไม่ถึง 376 เสียงอีกก็ทำไปจนกระทั่งได้ 376 เสียง” นายวิษณุกล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า หมายความว่า ส.ว.จะเป็นตัวแปรที่ทำให้ได้นายกฯ คนนอกง่ายขึ้น นายวิษณุกล่าวว่า ประชามติต้องการให้เป็นตัวแปรตามที่มีคำถามพ่วง