xs
xsm
sm
md
lg

เปิดโผกก.องค์กรอิสระส่อปิ๋ว พิษคุณสมบัติเข้มกรธ.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หากคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ใช้เกณฑ์คุณสมบัติของกรรมการองค์กรอิสระใหม่ตามร่างรธน.ใหม่ ในการโละกรรมการองค์กรอิสระชุดปัจจุบันที่ดำรงอยู่ในองค์กรต่างๆ เบื้องต้นกรรมการองค์กรอิสระ 3 องค์กร ที่จะมีปัญหา คือ ศาลรัฐธรรมนูญ กกต. และ ป.ป.ช.
โดยในส่วนของศาลรธน. บุคคลที่เข้าข่ายอาจมีปัญหาคุณสมบัติ ประกอบด้วย นายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ จากสายผู้ทรงคุณวุฒิด้านนิติศาสตร์ และ นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ จากสายผู้ทรงคุณวุฒิด้านรัฐศาสตร์ ได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นศาสตราจารย์ไม่ถึง 5 ปี ขณะเข้ารับการสรรหา จึงเข้าลักษณะขาดคุณสสมัติในการดำรงตำแหน่ง ตามมาตรา 200 (3) และ (4) ตามร่างรธน.ใหม่ ขณะที่นายจรัญ ภักดีธนากุล ซึ่งก็มาจากสายผู้ทรงคุณวุฒิด้านนิติศาสตร์ ได้รับการโปรดเกล้าฯ เป็นศาสตราจารย์พิเศษ ซึ่งร่างรธน.ฉบับใหม่ ไม่ได้ระบุชัดว่า ถือเป็นหนึ่งในคุณสมบัติของตุลาการศาลรธน. หรือกรรมการองค์กรอิสระอื่น จึงขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของคณะกรรมการสรรหา ส่วนนายปัญญา อุดชาชน จากสายผู้ทรงคุณวุฒิด้านรัฐศาสตร์ ไม่เคยดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ โดยตำแหน่งสุดท้ายก่อนได้รับการสรรหาเป็นตุลาการศาลรธน. คือ ที่ปรึกษาสำนักงานศาลรธน. คุณสมบัติจึงขัดมาตรา มาตรา 200 (4) ตามร่างรธน.ใหม่
อย่างไรก็ตาม มาตรา 200 วรรคท้าย ได้บัญญัติการนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ อธิบดี หรือหัวหน้าส่วนราชการ ซึ่งเป็นคุณสมบัติของผู้ที่จะดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรธน.นั้น ให้นับถึงวันที่ได้รับคัดเลือก หรือวันสมัครเข้ารับการสรรหา และในกรณีที่จำเป็นอันไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ คณะกรรมการสรรหา จะประกาศลดระยะเวลาการเคยดำรงตำแหน่งดังกล่าวลงก็ได้ แต่จะลดลงเหลือน้อยกว่า 2 ปีไม่ได้ ซึ่งถ้าคณะกรรมการสรรหาประกาศลดระยะเวลาการเคยดำรงตำแหน่งดังกล่าวลงจริง นายนครินทร์ ซึ่งได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ เมื่อ 17 ก.พ. 54 และนายทวีเกียรติ ได้รับโปรดเกล้าฯ ในปี 54 เช่นกันก็อาจจะดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรธน. ต่อไปได้
แต่ทั้งนี้ ในตุลาการศาลรธน.ชุดปัจจุบัน ในส่วนของนายนุรักษ์ มาประณีต ประธานศาลรธน. นายจรัญ ภักดีธนากุล นายชัช ชลวร นายบุญส่ง กุลบุปผา และ นายอุดมศักดิ์ นิติมนตรี ซึ่งได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง เมื่อ 28 พ.ค. 51 จะครบวาระการดำรงตำแหน่ง 9 ปี ในวันที่ 27 พ.ค. 60 ดังนั้น เมื่อรธน.ใหม่มีผลบังคับใช้ และกว่า พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรธน.ยกร่างแล้วเสร็จ ประกาศใช้ ก็อาจจะพอดีกับตุลาการศาลรธน.ทั้ง 5 คน หมดวาระ การดำเนินการสรรหาคุณสมบัติก็จะเป็นไปตามรธน.ใหม่
ส่วนตุลาการศาลรธน.ที่ไม่น่าจะมีปัญหาเลย และจะอยู่ดำรงตำแหน่งต่อไปก็คือ นายวรวิทย์ กังศศิเทียม ตุลาการศาลรธน.ซึ่งมาจากที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ซึ่ง นายวรวิทย์ ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลปกครองสูงสุด เมื่อปี 2551 จึงมีคุณสมบัติตรงตามมาตรา 200 (2) ของร่างรธน.ใหม่ โดยนายวรวิทย์ ได้รับคัดเลือกจากที่ประชุมใหญในศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่ 25 มิ.ย.57 ให้มาดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรธน. และได้รับโปรดเกล้าฯ ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรธน. เมื่อ 9 ก.ย. 57 จึงเหลือวาระดำรงตำแหน่งไปจนถึง 28 ก.พ.65 ซึ่งจะมีอายุครบ 70 ปี เนื่องจากนายวรวิทย์ เกิดวันที่ 1 มี.ค. 95 รวมจะได้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรธน. 8 ปี
ขณะที่กกต. ผู้ที่อยู่ในข่ายมีปัญหาเบื้องต้นก็คือ นายประวิช รัตนเพียร กกต.ด้านการมีส่วนร่วม เนื่องจากเคยดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการแผ่นดิน เมื่อวันที่ 26 ต.ค. 54-24 ก.ย. 56 ซึ่งเข้าลักษณะต้องห้ามเคยดำรงตำแหน่งกรรมการในองค์กรอิสระตาม มาตรา 216(3) ประกอบ มาตรา 202 (1) ตามร่างรธน.ใหม่ ขณะเดียวกัน เคยดำรงตำแหน่ง รมว.วิทยาศาสตร์ ปี 2548-2549 เมื่อนับถึงวันเข้ารับการสรรหาเป็นกกต. เมื่อ ก.ย. 56 ถือว่าพ้นจากเป็นข้าราชการการเมืองมาเพียง 7 ปี เข้าลักษณะต้องห้ามการดำรงตำแหน่งกรรมการองค์กรอิสระตาม มาตรา 216(3) ประกอบมาตรา 202 (4) ตามร่างรธน.ใหม่
อีกคนหนึ่งคือ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านบริหารกลาง ซึ่งแม้เจ้าตัวจะยืนยันว่า ก่อนหน้าดำรงตำแหน่งกกต. เคยทำงานในองค์กรเอกชนตรวจสอบการเลือกตั้งอย่างองค์กรกลาง มารวมระยะเวลากว่า 24 ปี จึงมีคุณสมบัติตาม มาตรา 222 วรรคท้ายของร่างรธน.ใหม่ ที่ระบุว่า ต้องเป็นผู้ทำงาน หรือเคยทำงานในภาคประชาสังคมมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 20 ปี แต่ทั้งนี้ ก็ต้องรอดูประกาศของคณะกรรมการสรรหา ว่าจะกำหนดว่างานภาคประชาสังคมใด หรือตำแหน่งใดในองค์กรภาคประชาสังคม ที่จะถือว่าเข้าข่ายใช้เป็นเกณฑ์การมีคุณสมบัติได้รับคัดเลือกเป็นกกต.ได้
ส่วนที่ดูจะหนักหนาอีกองค์กรหนึ่ง คือ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยกรรมการที่อยู่ในข่ายอาจมีปัญหาคุณสมบัติเริ่มตั้งแต่ พล.ต.อ.วัชรพล ประสานราชกิจ ประธาน ป.ป.ช. เนื่องจาก เคยดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ) ในปี 2557 จึงเข้าลักษณะต้องห้ามดำรงตำแหน่ง กรณีเคยเป็นข้าราชการการเมืองในระยะ 10 ปี ก่อนเข้ารับการสรรหาตาม มาตรา 216(3) ประกอบมาตรา 202 (4) ตามร่างรธน.ใหม่ นายวิทยา อาคมพิทักษ์ เคยดำรงตำแหน่งคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ในปี 2557 เข้าลักษณะต้องห้ามเคยดำรงตำแหน่งกรรมการในองค์กรอิสระตาม มาตรา 216(3) ประกอบมาตรา 202 (1) ตามร่างรธน.ใหม่
ขณะที่ นายณรงค์ รัฐอมฤต เคยดำรงตำแหน่งรองเลขาป.ป.ช. ซึ่งถือว่าเป็นระดับ 10 ในปี 52 แต่เมื่อตำแหน่งดังกล่าวไม่ได้เป็นหัวหน้าหน่วยงานจึงไม่อาจนำมาเทียบเคียงอธิบดีได้ และเมื่อมาเป็นเลขา ป.ป.ช. ซึ่งเป็นระดับ 11 เทียบเท่าอธิบดี และหัวหน้าส่วนราชการในปี 55 แต่เมื่อนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งดังกล่าวจนเข้าสรรหาเป็น ป.ป.ช. ในปี 56 ยังไม่ถึง 5 ปี นายณรงค์ จึงขาดคุณสมบัติดำรงตำแหน่งตาม มาตรา 232 ( 2) ของร่างรธน.ใหม่ เช่นเดียวกันกับ นายปรีชา เลิศกมลมาศ เป็นรองเลขาป.ป.ช. ตั้งแต่ปี 2547-2552 และเป็นเลขาป.ป.ช. ปี 52 ซึ่งเทียบเท่าอธิบดีและหัวหน้าส่วนราชการ แต่เมื่อนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งดังกล่าว จนเข้าสรรหาเป็น ป.ป.ช. ปี 53 ก็ยังไม่ถึง 5 ปี จึงขาดคุณสมบัติตาม มาตรา 232 ( 2) ของร่างรธน.ใหม่เช่นกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น