xs
xsm
sm
md
lg

เปิดโผเกณฑ์คุณสมบัติใหม่ กรธ. กก.องค์กรอิสระส่อหลุดเพียบ “สมชัย” ยังไม่ชัวร์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (แฟ้มภาพ)
กางโผ กก.องค์กรอิสระส่อหลุดระนาว หากใช้เกณฑ์คุณสมบัติใหม่ กรธ. ป.ป.ช. “วัชรพล” ติดเงื่อนเข้าข่าย ขรก.การเมือง “วิทยา” เคยเป็น คตง. “ณรงค์-ปรีชา” อยู่ไม่ถึง 5 ปี ฝั่ง กกต. “ประวิช” ส่อโดนด้วย “สมชัย” ยังไม่ชัวร์ ด้านศาล รธน. “ปัญญา” ส่อหลุดชัด “นครินทร์-ทวีเกียรติ” แต่ 5 ตุลาการศาล รธน.เดิมเตรียมพ้นเหตุครบวาระ ส่งผลเหลือ “วรวิทย์” หนึ่งเดียวไร้ปัญหาคุณสมบัติ

วันนี้ (18 พ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หากคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ใช้เกณฑ์คุณสมบัติของกรรมการองค์กรอิสระใหม่ตามร่างรัฐธรรมนูญใหม่ในการโละกรรมการองค์กรอิสระชุดปัจจุบันที่ดำรงอยู่ในองค์กรต่างๆ เบื้องต้นกรรมการองค์กรอิสระ 3 องค์กรที่จะมีปัญหา คือ ศาลรัฐธรรมนูญ กกต. และ ป.ป.ช. โดยในส่วนของศาลรัฐธรรมนูญบุคคลที่เข้าข่ายอาจมีปัญหาคุณสมบัติ ประกอบด้วย นายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ จากสายผู้ทรงคุณวุฒิด้านนิติศาสตร์ และนายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ จากสายผู้ทรงคุณวุฒิด้านรัฐศาสตร์ ได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นศาสตราจารย์ ไม่ถึง 5 ปีขณะเข้ารับการสรรหา จึงเข้าลักษณะขาดคุณสมบัติในการดำรงตำแหน่ง ตามมาตรา 200 (3) และ (4) ตามร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ขณะที่ นายจรัญ ภักดีธนากุล สายผู้ทรงคุณวุฒิด้านนิติศาสตร์ ได้รับการโปรดเกล้าฯ เป็นศาสตราจารย์พิเศษ ซึ่งร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่ได้มีการระบุชัดว่าถือเป็นหนึ่งในคุณสมบัติของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือกรรมการองค์กรอิสระอื่น จึงขึ้นอยู่กับดุลพินิจของคณะกรรมการสรรหา ส่วนนายปัญญา อุดชาชน จากสายผู้ทรงคุณวุฒิด้านรัฐศาสตร์ ไม่เคยดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ โดยตำแหน่งสุดท้ายก่อนได้รับการสรรหาเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ คือที่ปรึกษาสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ คุณสมบัติจึงขัดมาตรา มาตรา 200 (4) ตามร่างรัฐธรรมนูญใหม่

อย่างไรก็ตาม มาตรา 200 วรรคท้ายได้บัญญัติการนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ อธิบดีหรือหัวหน้าส่วนราชการ ซึ่งเป็นคุณสมบัติของผู้ที่จะดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรับธรรมนูญนั้นให้นับถึงวันที่ได้รับคัดเลือกหรือวันสมัครเข้ารับการสรรหา และในกรณีที่จำเป็นอันไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ คณะกรรมการสรรหาจะประกาศลดระยะเวลาการเคยดำรงตำแหน่งดังกล่าวลงก็ได้ แต่จะลดลงเหลือน้อยกว่า 2 ปีไม่ได้ ซึ่งถ้าคณะกรรมการสรรหาประกาศลดระยะเวลาการเคยดำรงตำแหน่งดังกล่าวลงจริง นายนครินทร์ ซึ่งได้รับโปรดเกล้าให้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ เมื่อ 17 ก.พ. 2554 และนายทวีเกียรติได้รับโปรดเกล้าในปี 54 เช่นกันก็อาจจะดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญต่อไปได้

แต่ทั้งนี้ในตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดปัจจุบัน ในส่วนของนายนุรักษ์ มาประณีต ประธานศาลรัฐธรรมนูญ นายจรัญ ภักดีธนากุล นายชัช ชลวร นายบุญส่ง กุลบุปผา และนายอุดมศักดิ์ นิติมนตรี ซึ่งได้รับการโปรดเกล้าแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเมื่อ 28 พ.ค. 51 จะครบวาระการดำรงตำแหน่ง 9 ปี ในวันที่ 27 พ.ค. 2560 ดังนั้นเมื่อรัฐธรรมนูญใหม่มีผลบังคับใช้ และกว่า พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญยกร่างแล้วเสร็จประกาศใช้ ก็อาจจะพอดีกับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 5 คนหมดวาระ การดำเนินการสรรหาคุณสมบัติก็จะเป็นไปตามรัฐธรรมนูญใหม่

ส่วนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ไม่น่าจะมีปัญหาเลย และจะอยู่ดำรงตำแหน่งต่อไปก็คือ นายวรวิทย์ กังศศิเทียม ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญซึ่งมาจากที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ซึ่งนายวรวิทย์ได้รับการโปรดเกล้าฯ ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลปกครองสูงสุดเมื่อปี 2551 จึงมีคุณสมบัติตรงตามมาตรา 200 (2) ของร่างรัฐธรรมนูญใหม่ โดยนายวรวิทย์ได้รับคัดเลือกจากที่ประชุมใหญในศาลปกครองสูงสุดเมื่อวันที่ 25 มิ.ย. 2557 ให้มาดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และได้รับโปรดเกล้าดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเมื่อ 9 ก.ย. 57 จึงเหลือวาระดำรงตำแหน่งไปจนถึง 28 ก.พ. 2565 ซึ่งจะมีอายุครบ 70 ปี เนื่องจากนายวรวิทย์ เกิดวันที่ 1 มี.ค. 2495 รวมจะได้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 8 ปี

ขณะที่ กกต. ผู้ที่อยู่ในข่ายมีปัญหาเบื้องต้นก็คือ นายประวิช รัตนเพียร กกต.ด้านการมีส่วนร่วม เนื่องจากเคยดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการแผ่นดิน เมื่อวันที่ 26 ต.ค. 2554 - 24 ก.ย. 2556 ซึ่งเข้าลักษณะต้องห้ามเคยดำรงตำแหน่งกรรมการในองค์กรอิสระตามมาตรา 216 (3) ประกอบมาตรา 202 (1) ตามร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ขณะเดียวกันเคยดำรงตำแหน่งรมว.วิทยาศาสตร์ปี 2548-2549 เมื่อนับถึงวันเข้ารับการสรรหาเป็นกกต.เมื่อก.ย. 2556 ถือว่าพ้นจากเป็นข้าราชการการเมืองมาเพียง 7 ปี เข้าลักษณะต้องห้ามการดำรงตำแหน่งกรรมการองค์กรอิสระตามมาตรา 216 (3) ประกอบมาตรา 202 (4) ตามร่างรัฐธรรมนูญใหม่ อีกคนหนึ่งคือนายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านบริหารกลาง ซึ่งแม้เจ้าตัวจะยืนยันว่าก่อนหน้าดำรงตำแหน่งกกต. เคยทำงานในองค์กรเอกชนตรวจสอบการเลือกตั้งอย่างองค์กรกลางมารวมระยะเวลากว่า 24 ปี จึงมีคุณสมบัติตามมาตรา 222 วรรคท้ายของร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ที่ระบุว่า ต้องเป็นผู้ทำงาน หรือเคยทำงานในภาคประชาสังคมมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 20 ปี แต่ทั้งนี้ก็ต้องรอดูประกาศของคณะกรรมการสรรหาว่าจะกำหนดว่างานภาคประชาสังคมใด หรือตำแหน่งใดในองค์กรภาคประชาสังคมที่จะถือว่าเข้าข่ายใช้เป็นเกณฑ์การมีคุณสมบัติได้รับคัดเลือกเป็น กกต.ได้

ส่วนที่ดูจะหนักหนาอีกองค์กรหนึ่ง คือ ป.ป.ช. โดยกรรมการที่อยู่ในข่ายอาจมีปัญหาคุณสมบัติเริ่มตั้งแต่ พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช. เนื่องจากเคยดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการนายกฯ ฝ่ายการเมือง (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) ในปี 2557 จึงเข้าลักษณะต้องห้ามเข้าลักษณะต้องห้ามดำรงตำแหน่งกรณีเคยเป็นข้าราชการการเมืองในระยะ 10 ปีก่อนเข้ารับการสรรหาตามมาตรา 216 (3) ประกอบมาตรา 202 (4) ตามร่างรัฐธรรมนูญใหม่ นายวิทยา อาคมพิทักษ์ เคยดำรงตำแหน่งคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินในปี 2557 เข้าลักษณะต้องห้ามเคยดำรงตำแหน่งกรรมการในองค์กรอิสระตามมาตรา 216 (3) ประกอบมาตรา 202 (1) ตามร่างรัฐธรรมนูญใหม่

ขณะที่นายณรงค์ รัฐอมฤต เคยดำรงตำแหน่งรองเลขาฯ ป.ป.ช. ซึ่งถือว่าเป็นระดับ 10 ในปี 2552 แต่เมื่อตำแหน่งดังกล่าวไม่ได้เป็นหัวหน้าหน่วยงานจึงไม่อาจนำมาเทียบเคียงอธิบดีได้ และเมื่อมาเป็นเลขาฯ ป.ป.ช. ซึ่งเป็นระดับ 11 เทียบเท่าอธิบดีและหัวหน้าส่วนราชการในปี 2555 แต่เมื่อนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งดังกล่าวจนเข้าสรรหาเป็น ป.ป.ช. ในปี 2556 ยังไม่ถึง 5 ปี นายณรงค์จึงขาดคุณสมบัติดำรงตำแหน่งตามมาตรา 232 (2) ของร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เช่นเดียวกันกับนายปรีชา เลิศกมลมาศ เป็นรองเลขาฯ ป.ป.ช.ตั้งแต่ปี 2547-2552 และเป็นเลขาฯ ป.ป.ช.ปี 2552 ซึ่งเทียบเท่าอธิบดีและหัวหน้าส่วนราชกา แต่เมื่อนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งดังกล่าวจนเข้าสรรหาเป็น ป.ป.ช.ปี 2553 ก็ยังไม่ถึง 5 ปี จึงขาดคุณสมบัติตามมาตรา 232 (2) ของร่างรัฐธรรมนูญใหม่เช่นกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น