ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -การจัดเตรียมพระราชพิธีพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ยึดแบบแผนตามโบราณราชประเพณีอย่างเคร่งครัด
พระเมรุมาศ ถือเป็นเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศสำหรับการถวายพระเพลิงพระบรมศพพระมหากษัตริย์ พระบรมราชวงศ์ชั้นสูง ตามโบราณราชประเพณีสืบมาตั้งแต่สมัยอยุธยา แสดงพระเกียรติแผ่ไพศาลในวาระสุดท้ายแห่งพระชนม์ชีพ
การสร้างพระเมรุมาศในยุคแรกเริ่ม แบบแผนตามราชประเพณีกรุงศรีอยุธยานั้นมีความยิ่งใหญ่โอฬารแสดงพระเกียรติแสดงกิตติศัพท์พระเจ้าแผ่นดินให้ขจรเลื่องลือ เป็นที่เกรงขามแก่หมู่ปัจจามิตร บ่งบอกถึงความมั่นคงของประเทศชาติ
คติการสร้างพระเมรุมาศ เป็นวัฒนธรรมรับอิทธิพลมาจากการปกครองแบบเทวนิยม เปรียบพระมหากษัตริย์ดังสมมติเทพ เมื่อพระราชสมภพถือเป็นทิพยเทพาวตาร ครั้นถึงวาระสุดท้ายแห่งพระชนมชีพก็ต้องเสด็จกลับยังเทวพิภพ
พระเมรุมาศ เป็นสถาปัตยกรรมจำลอง เขาพระสุเมรุ ที่เชื่อว่าเป็นศูนย์กลางของจักรวาล เหนือขึ้นไปเป็นที่ตั้งของสรวงสวรรค์ ได้รับอิทธิพลจากศิลปะเขมร สร้างเลียนแบบจำลองเขาพระสุเมรุของ นครวัด หรือ วิษณุโลก
สถาปัตยกรรมตามราชประเพณีโบราณ พระเมรุมาศ ลักษณะเป็น กุฎาคาร (เรือนยอด) มีหลังคาต่อกันเป็นยอดแหลม ประกอบด้วยอาคารหลายหลัง เปรียบดังโรงพระราชพิธีพระบรมศพ ยึดรูปแบบพระเมรุมาศทรงปราสาท สร้างเมรุทองซ้อน (เรือนบุษบกบัลลังก์) อยู่ภายใน ยึดถือรูปแบบการสร้างตามคติที่ได้รับอิทธิพลมาจากศาสนาพราหมณ์
กระทั่ง สมัยรัตนโกสินทร์ในงานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ ๑) มีการสร้างพระเมรุมาศตามตำราโบราณ ณ ท้องสนามหลวง จัดสร้างพระเมรุมาศทรงปราสาทประกอบด้วย
ประตูทั้ง 4 ทิศ แต่ละประตูตั้งรูปกินนรและอสูร ทั้ง 4 ทิศ ประตูพระเมรุใหญ่ปิดทองทึบจนถึงเชิงเสา กลางพระเมรุเป็นแท่นรับเชิงตะกอนที่ตั้งพระบรมโกศ เสาเชิงตะกอนปิดทองประดับกระจก รอบ ๆ มีเมรุทิศ 4 เมรุ และเมรุแทรก 4 เมรุ รวมเป็น 8 ทิศ ล้วนปิดทองประดับกระจกเป็นลวดลายต่าง ๆ รอบ ๆ เมรุตั้งรูปเทวดาและสัตว์หิมพานต์ อาทิ รูปเทวดา รูปวิทยาธร รูปคนธรรพ์ ครุฑ กินนร คชสีห์ ราชสีห์ เหมหงส์ นรสิงห์ สิงโต มังกร เหรา นาคา ทักกะทอ ช้าง ม้า และเลียงผา แล้วกั้นราชวัติ 3 ชั้น ซึ่งปิดทอง นาก และเงิน ตีเรือกเป็นทางเดินสำหรับเชิญพระบรมศพตามริมทางตั้งต้นไม้กระถางที่มีดอกต่าง ๆ ประดับประดาฉัตรและธง
พระเมรุมาศทรงปราสาทขนาดใหญ่ตามโบราณราชประเพณี นิยม 2 รูปแบบ พระเมรุมาศทรงปราสาทยอดปรางค์ และพระเมรุมาศทรงปราสาทยอดมณฑป และเป็นแบบแผนในงานพระบรมศพพระเจ้าอยู่หัวแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ ๒) พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๓) สืบจนกระทั่งสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔)
ความยิ่งใหญ่ของพระเมรุมาศตามแบบแผนกรุงศรีอยุธยา เกิดการเปลี่ยนแปลงในงานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) รูปแบบพระเมรุมาศทรงบุษบก ได้นำมาจัดสร้างในพระราชพิธีพระบรมศพพระเจ้าแผ่นดิน ตามพระราชปณิธานของพระเจ้าอยู่หัว ร.๕ พระองค์มีพระราชดำริที่จะไม่ก่อสร้างพระเมรุมาศยิ่งใหญ่เช่นแต่ก่อน มองว่าการก่อสร้างปราสาทเป็นเรื่องสิ้นเปลืองเกินความจำเป็น ความว่า
“แต่ก่อนมา ถ้าเป็นพระเจ้าแผ่นดินสวรรคตลง ก็ต้องปลูกเมรุใหญ่ซึ่งคนไม่เคยเห็น แล้วจะนึกเดาไม่ถูกกว่าใหญ่โตสักเพียงใด เปลืองทั้งแรงคน เปลืองทั้งพระราชทรัพย์ ถ้าจะทำในเวลานี้ก็ดูจะไม่สมควรกับการเปลี่ยนแปลงของบ้านเมือง ไม่เป็นเกียรติยศยืนยาวไปได้เท่าใด ไม่เป็นประโยชน์แก่คนทั้งปวง กลับเป็นความเดือดร้อน
“ถ้าเป็นการศพท่านผู้มีพระคุณ หรือผู้มีบรรดาศักดิ์ใหญ่อันควรจะได้เป็นเกียรติยศ ฉันก็ไม่อาจจะลดทอนด้วยเกรงว่าคนจะไม่เข้าใจ เพราะผู้นั้นประพฤติไม่ดีอย่างหนึ่งอย่างใด จึงไม่ทำศพให้สมพระเกียรติสมควรจะได้ แต่เมื่อถึงตัวฉันเองแล้ว เห็นว่าไม่มีข้อขัดข้องอันใด เป็นข้อคำที่จะพูดได้ถนัด จึงขอให้ยกเลิกงานพระเมรุใหญ่นั้นเสีย ปลูกแต่ที่เผาพอสมควร ในท้องสนามหลวง แล้วแต่จะเห็นสมควรกันต่อไป”
(ที่มา : คณะกรรมอนุกรรมการจัดทำจดหมายเหตุและจัดพิมพ์หนังสือที่ระลึกพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ. งานพระเมรุมาศสมัยรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ อมรินทร์การพิมพ์, ๒๕๑๘. หน้า ๒๑๑)
งานพระบรมศพของ รัชกาลที่ ๕ จึงไม่ได้สร้างเขาพระสุเมรุตามแบบโบราณราชประเพณี เปลี่ยนมาก่อสร้างพระเมรุมาศทรงบุษบก บนพื้นราบ ดัดแปลงอาคารปราสาทเป็นเรือนบุษบกบัลลังก์ หรือเป็นการขยายพระเมรุทอง ในปราสาทเป็นเรือนบุษบกบัลลังก์แต่เดิมให้ใหญ่ขึ้น แวดล้อมด้วยเมรุราย 4 ทิศ ลดรูปเป็นคดซ่าง ระเบียง ทับเกษตร อย่างไรก็ตาม ยังคงสถาปัตยกรรมวิจิตรงดงาม เป็นต้นแบบพระเมรุมาศแบบใหม่แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
พระเมรุมาศทรงบุษบก ได้นำมาใช้งานพระบรมศพองค์พระมหากษัตริย์ในรัชกาลต่อมา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๖) ยกเว้น งานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๗) ถวายพระเพลิง ณ สุสานในประเทศอังกฤษ และงานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล (รัชกาลที่ ๘) ซึ่งพระเมรุมาศทรงบุษบก ถือเป็นแบบพระเมรุมาศสำหรับกษัตริย์เท่านั้น
พระเมรุมาศในพระราชพิธีพระบรมศพในงานพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ ๙) พระเจ้าแผ่นดินอันเป็นที่รักยิ่งของปวงชนชาวไทย ได้รับการออกแบบขึ้นใหม่อย่างสมพระเกียรติ ยิ่งใหญ่ และมีความเหมาะสมตามพระราชดำรัสความพอเพียงขององค์ โดยกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ข้อมูล ณ วันที่ 24 พ.ย. 2559 ยังไม่มีการเปิดเผยอย่างเป็นทางการว่ารูปแบบจำลองว่าจะเป็นพระเมรุมาศรูปทรงใด
ทั้งนี้ ได้มีการทูลเกล้าฯ ถวายแบบพระเมรุมาศเพื่อขอรับพระราชวินิจฉัยจาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี องค์ที่ปรึกษาคณะกรรมการจัดงานพระราชพิธีพระบรมศพฯ โดยจะเริ่มก่อสร้างพระเมรุมาศ ณ ท้องสนามหลวง ในช่วงต้นปี 2560 ทางฝั่งทิศใต้ของสนามตามธรรมเนียมโบราณ ใช้พื้นที่ 40 ไร่ จาก 75 ไร่ คิดเป็น 2 ใน 3 ของพื้นที่สนามหลวงทั้งหมด ตามกำหนดการจะเริ่มการตีผังพื้นที่ฝั่งทิศใต้ โดยจะจัดตั้งศูนย์ควบคุมที่สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ พร้อมจัดทำแบบจำลองแบบย่อเสมือนจริงในโรงละครเล็ก
การสร้างพระเมรุมาศเป็นไปด้วยความประณีตบรรจง ทั้งนี้ ในส่วนของการจัดสร้างพระเมรุมาศคาดว่าจะเสร็จตามกรอบเวลา 1 ปี โดยตั้งเป้าให้แล้วเสร็จภายในเดือน ก.ย. 2560
ส่วนของรายละเอียดต่าง ๆ รูปแบบของพระเมรุมาศ รูปแบบพระโกศจันทน์ สถานที่ ฯลฯ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าสมบูรณ์แล้ว แต่เพื่อให้เกิดสิ่งที่ดีที่สุดจะปรับรายละเอียดให้ดีขึ้น โดยจะอยู่ภายใต้การดูแลของสำนักช่างสิบหมู่
ขณะที่กรมศิลป์ดำเนินงานภารกิจสำคัญ ได้แก่ งานประณีตศิลป์ประดับพระเมรุมาศและอาคารประกอบ และงานบูรณะ ราชรถ ราชยาน งานประติมากรรมในการจัดสร้างเทวดาสัตว์หิมพานต์ และองค์ประกอบพระเมรุมาศ งานจัดสร้างพระโกศจันทน์ และงานทำพระโกศทองคำลงยาสำหรับเก็บพระบรมอัฐิ โดยเบื้องต้น ปฏิสังขรณ์พรมหาพิชัยราชรถ พระเวชยานตราราชรถ ราชน้อย 3 พระองค์ และพระยานมาศสามลำคาน 2 พระองค์ รวมถึงลงรักปิดทองราชรถใหม่บางส่วน คาดว่าจะใช้เวลาในการเตรียมการไม่เกิน 1 ปีเช่นกัน
กรมศิลป์เผยร่างแบบพระโกศจันทน์อันงดงามสมพระเกียรติ พร้อมกันนี้ได้นำแบบพระโกศจันทน์หอมและแบบลวดลายพระโกศจันทน์ งานพระบรมศพสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๗ มาจัดแสดงเป็นตัวอย่าง
พระเมรุมาศ สถานที่เสด็จสู่สวรรคาลัยขององค์พระมหากษัตริย์อันเป็นที่รักยิ่งจะถูกสร้างขึ้นในอีกไม่ช้าไม่นาน สถาปัตยกรรมอันยิ่งใหญ่จะกลายเป็นจารึกสำคัญแห่งรัชสมัย เฉกเช่นเดียวกับ พระบารมีปกเกล้าของ “ในหลวง รัชกาลที่ ๙” ผู้สถิตอยู่ในดวงใจคนไทยตราบนิรันดร์