พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 สวรรคตเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราช สร้างความโศกเศร้าเสียใจกลายเป็นน้ำตาท่วมแผ่นดิน
สำหรับงานพระราชพิธีพระบรมศพนั้นให้จัดตามราชประเพณีโบราณที่ทำกันสืบต่อมา แต่เนื่องจากในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงครองราชย์ยาวนานถึง 70 ปี ดังนั้นงานพระราชพิธีพระบรมศพของพระมหากษัตริย์ จึงได้ว่างเว้นมายาวนานมาก
เพื่อเป็นประโยชน์แก่อนุชนรุ่นหลังจะได้ทราบถึงราชประเพณีโบราณ และการเปลี่ยนแปลงของงานพระราชพิธีพระบรมศพในแต่ละยุค จึงขอย้อนตำนานราชประเพณีการทำพระราชพิธีพระบรมศพของพระมหากษัตริย์ แห่งราชวงศ์จักรี ยุครัตนโกสินทร์ ตั้งแต่องค์ปฐมกษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ จนถึงรัชกาลที่ 8
**ครั้งแรกของงานพระบรมศพ**
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์ เป็นปฐมกษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325 และทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกแห่งราชวงศ์จักรี
หลังจากเสด็จครองราชย์สมบัตินานถึง 27 ปี และมีการฉลองวัดพระศรีรัตนศาสดารามแล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกก็ทรงพระประชวรด้วยพระโรคชรา พระอาการทรุดลงตามลำดับ จนกระทั่ง เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2352 ณ พระที่นั่งสิบเอ็ดห้อง คือ พระที่นั่งไพศาลทักษิณในปัจจุบัน รวมพระชนมายุได้ 73 พรรษา
จากนั้นได้มีพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ในวันที่ 5 พฤษภาคม 2355 ณ พระเมรุท้องสนามหลวง การพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก นับเป็นครั้งแรกของกรุงรัตนโกสินทร์ที่มีการจัดพระราชพิธีพระบรมศพของพระมหากษัตริย์
โดยเมื่อรัชกาลที่ 1 ทรงปราบดาภิเษกแล้ว ได้มีการรื้อฟื้นธรรมเนียมปฏิบัติต่างๆ ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากกรุงศรีอยุธยา เมื่อปี 2351 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้าง “โกศทองใหญ่” ขึ้นเพื่อทรงพระบรมศพพระมหากษัตริย์ ต่อมาเมื่อสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงศรีสุนทรเทพ พระราชธิดา สิ้นพระชนม์ ทรงเสียพระราชหฤทัยเป็นอย่างมาก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้พระโกศทองใหญ่ทรงพระศพครั้งแรก
ครั้นเมื่อรัชกาลที่ 1 เสด็จสวรรคต พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงขึ้นครองราชย์และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพระราชพิธีพระบรมศพตามโบราณราชประเพณีพระบรมศพพระเจ้าแผ่นดินตามราชประเพณแบบครั้งกรุงศรีอยุธยา โดยกำหนดสร้างพระเมรุมาศขนาดใหญ่เต็มตามตำรามทุกประการ จนกระทั่ง พ.ศ. 2354 พระเมรุมาศสร้างแล้วเสร็จ จึงเชิญพระบรมโกศจากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทขึ้นประดิษฐาน ณ พระเมรุมาศ แล้วจัดให้มีการสมโภชพระบรมศพเป็นเวลา 7 วัน 7 คืน จึงถวายพระเพลิงพระบรมศพ หลังจากนั้น มีการสมโภชพระบรมอัฐิและบำเพ็ญพระราชกุศล เมื่อแล้วเสร็จจึงเชิญพระบรมอัฐิประดิษฐาน ณ หอพระธาตุมณเฑียร ภายในพระบรมมหาราชวัง ส่วนพระบรมราชสรีรางคารเชิญไปลอยบริเวณหน้าวัดปทุมคงคาราชวรวิหาร
ในครั้งนั้นได้มีการใช้ “เกรินบันไดนาค” ที่สมเด็จพระสัมพันธวงศ์เธอ กรมหลวงพิทักษ์มนตรี (ต้นราชสกุลมนตรีกุล) ทรงออกแบบ สำหรับเชิญพระศพ และเป็นแบบอย่างที่ใช้มาจนถึงในปัจจุบัน
อนึ่ง พระมหาพิชัยราชรถ พระเวชยันตราชรถ ที่ใช้ทรงพระบรมศพ และพระศพเจ้านายในเวลาต่อมา ก็ได้สร้างขึ้นในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เช่นกัน
**บันทึกจดหมายเหตุครั้งแรก**
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่2 ทรงครองราชย์ 15 ปี จึงสวรรคต เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2367 ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน และมีการถวายพระเพลิงพระบรมศพ วันที่ 29 เมษายน 2368 ณ พระเมรุท้องสนามหลวง
สำหรับการพระบรมศพรัชกาลที่2 ถือเป็นครั้งแรกที่มีการบันทึกเป็นจดหมายเหตุอย่างละเอียด ซึ่งทำให้เห็นแบบแผนและวิธีการตั้งแต่ครั้งอดีต โดยระบุตั้งแต่การสรงน้ำพระบรมศพ ถวายฉลองพระองค์ ถวายพระธำรงค์เพชรใส่พระโอษฐ์ ไปจนถึงขั้นตอนการบรรจุพระบรมศพลงในพระโกศ
ซึ่งกล่าวถึง “พระปทุมปัตนิการ” หรือที่เรียกเป็นภาษาธรรมดาว่า “ไม้กาจับหลัก” เพื่อรองรับพระหนุ (คาง) และค้ำพระเศียร (ศีรษะ) ไว้ให้อยู่กับที่ มัดตราสัง แล้วนำผ้าขาวหกมุมมาปู ผูกรวบขึ้นถึงพระกัณฐา (คอ) พันด้วยด้ายดิบสีขาว นำมาต่อกับพระภูษาโยง ถวายพระชฎามหากฐินตามโบราณราชประเพณี เสร็จแล้วเชิญพระบรมศพลงพระบรมโกศ
ทั้งนี้ยังอธิบายวิธีการระบายพระบุพโพ (น้ำเหลืองหรือของเสีย) ไว้ว่า “สนมพลเรือนเอาใบดีบุรองใต้พื้นพระบรมโกศ เอาไม้ไผ่ทะลวงท่อหยั่งลงไปใต้พื้นพระมหาปราสาท ถึงพระถ้ำที่รองพระบุพโพ”
**มีพิธีกงเต็กครั้งแรก**
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่3 สวรรคต วันที่ 2 เมษายน 2394 และมีงานถวายพระเพลิงพระบรมศพ เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2395 ณ พระเมรุท้องสนามหลวง
ตามจดหมายเหตุ กล่าวว่าพระเมรุมาศของรัชกาลที่3 มีขนาดใหญ่เป็นอย่างยิ่ง มีความสูงถึง 80 เมตร ซึ่งหากเปรียบเทียบให้เห็นภาพแล้ว คือ มีขนาดสูงกว่าพระปรางค์วัดอรุณราชวราราม โดยพระเมรุมาศนี้มีรูปแบบทรงพระเมรุยอดปรางค์ ตามความเชื่อของลัทธิเทวราช ที่ยกย่องว่าพระเจ้าแผ่นดินเปรียบประดุจสมมติเทพ โดยมีพระเมรุซ้อนอยู่อีกชั้นหนึ่ง เรียก “พระเมรุทอง” ซึ่งเป็นเมรุขนาดสูงประมาณ 20 เมตร ทำด้วยกระดาษปิดทอง หรือกระดาษทอง หรือทองน้ำตะโก
การสร้างพระเมรุมาศนี้ อาจเปรียบได้ว่าเป็นการสมมติว่าเป็นเทวาลัย หรือสรวงสวรรค์ ซึ่งตรงกับความหมายของ คำว่า “สวรรคต” อันหมายถึงการเสด็จไปสู่ทิพยโลก จดหมายเหตุดังกล่าว ทำให้เห็นภาพของพระเมรุมาศ และความเชื่อครั้งก่อนๆ ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
นอกจากนั้นเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่มีพิธีกงเต๊กหลวงเกิดขึ้น เนื่องด้วยพระราชนิยมใน พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และอาจจะด้วยทรงมีพระสหายชาวจีนมาถวายสักการะพระบรมศพตามธรรมเนียมจีน
**ครั้งสุดท้ายที่สร้างพระเมรุมาศใหญ่**
หลังจากที่ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ทอดพระเนตรสุริยุปราคาเต็มดวง ณ ตำบลหว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ทรงพระประชวรจนเสด็จสวรรคต วันที่ 1 เมษายน 2411 ณ พระที่นั่งภาณุจำรูญ รวมครองราชย์ 16 ปี จัดงานถวายพระเพลิงพระบรมศพ วันที่ 17 มีนาคม 2412 ณ พระเมรุท้องสนามหลวง
และการถวายพระเพลิงครั้งนั้น นับเป็นครั้งสุดท้ายที่มีการประกอบพระราชพิธี และสร้างพระเมรุมาศตามโบราณราชประเพณี ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชวินิจฉัยให้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบพระราชพิธี และไม่มีการสร้างเมรุใหญ่คร่อมเมรุทอง เพียงแต่สร้างพระเมรุที่พระประดิษฐานพระโกศเท่านั้น
**สร้างพระโกศทององค์ใหม่**
เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2453 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 สวรรคต ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต นำมาซึ่งความโศกเศร้าของประชาชนเป็นอันมาก แต่ในครานั้นพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชโองการให้ยกเลิกการโกนหัวไว้ทุกข์ และมีการเปลี่ยนแปลงแบบแผนธรรมเนียมหลายๆ อย่าง ก่อนจะเสด็จสวรรคต ทรงพระกรุณโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระโกศทองใหญ่ขึ้นมาใหม่ แทนพระโกศทองใหญ่องค์ที่ชำรุดตามกาลเวลา ถือเป็นพระโกศทองใหญ่องค์ที่ 2 ของกรุงรัตนโกสินทร์
สำหรับการพระเมรุทรงมีพระราชดำริให้ประหยัดงบประมาณในการประกอบพระราชพิธี ดังจะเห็นได้จากขนาดและรูปแบบของพระเมรุมาศซึ่งมีความแตกต่างจากพระเมรุมาศในครั้งรัชกาลก่อน คือ ลดขนาดของพระเมรุมาศให้มีขนาดที่ย่อมลง เปลี่ยนจากทรงพระปรางค์เป็นทรงมณฑป ซึ่งเป็นการนำเฉพาะส่วนพระเมรุทองส่วนที่ใช้ถวายพระเพลิงมาขยายแบบเป็นพระเมรุมาศ นับเป็นแบบแผนใหม่ในการสร้างพระเมรุมาศที่ยังคงดำเนินสืบมา
ส่วนประเพณี “นางร้องไห้” หน้าพระบรมศพในครั้งนั้นได้ เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับ ลดาวัลย์ เจ้าจอมพระองค์สุดท้ายในรัชกาลที่ 5 เป็นต้นเสียงร้องนำ และถือเป็นครั้งสุดท้ายที่มีธรรมเนียมนางร้องไห้หน้าพระบรมศพ เพราะถูกยกเลิกไปในรัชกาลที่ 6
**ใช้รถปืนใหญ่เชิญพระบรมศพ**
ครั้นเข้าสู่รัชสมัย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ครองราชย์ได้ 15 ปี จนเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2468 เสด็จสวรรคต ณ พระที่ที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ถวายพระเพลิงพระบรมศพ ณ พระเมรุท้องสนามหลวง
สำหรับงานพระบรมศพของรัชกาลที่ 6 ยังคงยึดแบบแผนตามโบราณราชประเพณี แต่มีพระบรมราชโองการแสดงพระราชประสงค์ให้รวบรัดหมายกำหนดการให้น้อยลง เพื่อประหยัดตามกาลสมัย โดยพระราชพินัยกรรมระบุถึงการจัดงานพระบรมศพให้งดราชประเพณีเก่า ๆ หลายอย่าง อาทิ
การงดการโยงโปรย ยกเลิกนางร้องไห้ ซึ่งรบกวนพระราชหฤทัยตั้งแต่งานพระบรมศพ ของรัชกาลที่ 5 เป็นเหตุให้ประเพณีดังกล่าวงดตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา รวมไปถึงทรงพระราชประสงค์ให้แห่พระบรมศพจากวัดพระเชตุพนไปจนถึงพระเมรุมาศ โดยรถปืนใหญ่เป็นรถทรงพระบรมศพเยี่ยงชายชาติทหาร
แต่เมื่อถึงพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนแปลงเนื่องจากขัดกับราชประเพณี โดยเชิญพระบรมโกศขึ้นพระมหาพิชัยราชรถ เมื่อมาถึงพระเมรุจึงเชิญพระบรมโกศเลื่อนลงรถปืนใหญ่เวียนพระเมรุ
**งานพระบรมศพนอกราชอาณาจักร**
ในรัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เกิดการปฏิวัติโดยคณะราษฎร์ อันเป็นที่มาของการเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศ หลังจากนั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสละราชสมบัติเมื่อ วันที่ 2 มีนาคม 2477 แล้ว ทรงตัดสินพระราชหฤทัยประทับ ณ ประเทศอังกฤษ จนกระทั่งเสด็จสวรรคต ณ พระตำหนัก Compton House ประเทศอังกฤษ
พระบรมศพได้ประดิษฐานที่พระตำหนักเป็นเวลา 4 วัน เพื่อให้พระประยูรญาติใกล้ชิดเสด็จมาทรงสักการะ โดยมิได้มีการบำเพ็ญพระราชกุศลทางพระพุทธศาสนา จากนั้นจึงจัดการถวายพระเพลิงพระบรมศพ จัดขึ้น ณ สุสานในกรุงลอนดอน โดยมีทั้งชาวไทยและต่างชาติ เฝ้าฯ ถวายอาลัยเป็นครั้งสุดท้าย ก่อนพระราชพิธีมีการกล่าวสรรเสริญพระเกียรติคุณโดยพระสหายชาวต่างประเทศ ผู้ที่ไปร่วมในพระราชพิธีได้สักการะพระบรมศพ และมีการบรรเลงไวโอลินเพลง Mendelssohn Violin Concerto ซึ่งเป็นเพลงที่โปรด ตามพระราชประสงค์
ต่อมารัฐบาลได้กราบบังคมทูลสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 ขอพระราชทานอัญเชิญ พระบรมอัฐิ และพระบรมราชสรีรางคาร ของรัชกาลที่ 7 กลับคืนสู่ประเทศไทย กระทั่งขบวนอัญเชิญได้เสด็จฯ มาถึงประเทศไทยในวันที่ 24 พฤษภาคม 2492 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร ผู้สำเร็จราชการในพระปรมาภิไธยในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช โปรดให้กำหนดการรับพระบรมอัฐิ และการบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุประทานถวายตามราชประเพณีทุกประการ
นับเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกที่เสด็จสวรรคตนอกประเทศ และมีพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพอย่างเรียบง่ายที่สุด
**พระเมรุถวายพระบรมศพ**
หลังจากที่รัชกาลที่ 7 ทรงประกาศสละราชสมบัติ ทางรัฐบาลไทยสมัยนั้นจึงได้กราบบังคมทูลเชิญ พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอานันทมหิดล ซึ่งเป็นพระราชวงศ์องค์ที่ 1 ในลำดับการสืบสันตติวงศ์ ตามกฎมณเฑียรบาล พ.ศ.2467 ขึ้นครองราชย์ เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 8 แห่งบรมราชจักรีวงศ์ ขณะนั้นทรงมีพระชนมายุเพียง 8 พรรษา ทรงครองราชย์ 12 ปี และสวรรคต วันที่ 9 มิถุนายน 2489 ณ พระที่นั่งบรมพิมาน
ข่าวการสวรรคตของรัชกาลที่ 8 อย่างกระทันหันนำความวิปโยคมาสู่ชาวไทยอย่างมิทันตั้งตัว นับเป็นการพระบรมศพครั้งแรกหลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครองเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงขึ้นครองราชต่อจากสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช
หลังพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศล จึงเสด็จฯ กลับทรงศึกษาต่อประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการถวายพระเพลิงพระบรมศพในหลวง รัชกาลที่ 8 ก่อนพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
หลังจากถวายพระเพลิงพระบรมศพเสร็จ พระเมรุมาศดังกล่าวยังใช้ถวายพระเพลิง พระศพสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพวงสร้อยสอางค์ และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประภาพรรณพิไลย แต่ออกนามเรียกพระเมรุมาศ ว่า “พระเมรุ”
อ้างอิงจาก: หนังสือธรรมเนียมพระบรมศพและพระศพเจ้านาย และหนังสือพระเมรุมาศ พระเมรุและเมรุ สมัยกรุงรัตนโกสินทร์