xs
xsm
sm
md
lg

คนกรุงเทพฯตื่นเต้นที่มีภูเขา! เป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจ มีทั้งสมุนไพรและถ้ำเหมาะพลอดรัก!!

เผยแพร่:   โดย: โรม บุนนาค

ภูเขาของกรุงเทพฯในสมัยรัชกาลที่ ๔
สมัยก่อนภูเขาเป็นเรื่องแปลกของคนกรุงเทพฯ ถ้าอยากเห็นภูเขาต้องใช้เวลาเดินทางเป็นวันๆ คนกรุงเทพฯบางคนตั้งแต่เกิดจนตายไม่เคยได้เห็นภูเขาก็มี แต่แล้วในสมัยรัชกาลที่ ๓ เกิดมีภูเขาผุดขึ้นมากลางกรุง แม้ไม่ใช่ภูเขาตามธรรมชาติ และเกิดโดยไม่ได้ตั้งใจจะให้เป็นภูเขา แต่ก็ทำให้คนกรุงเทพฯตื่นเต้นที่ได้เห็นภูเขา เลยถือเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมไป

ภูเขาที่ว่านี้ก็คือ “ภูเขาทอง” เมื่อแรกสร้างนั้นมีพระราชดำริจะให้เป็นพระเจดีย์ใหญ่แบบพระเจดีย์ภูเขาทองที่กรุงศรีอยุธยา แต่จะสร้างให้ใหญ่กว่านั้นขึ้นไปอีก โดยกำหนดสถานที่ก่อสร้างตรงสระน้ำมงคล

สระที่ว่านี้ถือว่าเป็นสระน้ำสำคัญของกรุงรัตนโกสินทร์เลยทีเดียว เพราะเมื่อสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกยกทัพกลับมาจากตีเขมรเมื่อได้ข่าวความวุ่นวายทางกรุงธนบุรี แต่ก่อนที่จะข้ามฟากไปนั้น ได้ทรงแวะสรงพระเกศาที่สระน้ำวัดสะแก ต่อมาเมื่อปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์และทรงย้ายพระนครมาอยู่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา จึงโปรดให้สถาปนาวัดสะแกขึ้นเป็นพระอารามหลวง พระราชทานนามว่า “วัดสระเกศ”

ในสมัยรัชกาลที่ ๓ สระน้ำนั้นตื้นเขิน แต่ก็ทรงถือว่าจุดนี้เป็นนิมิตมงคล จึงทรงกำหนดให้สร้างพระเจดีย์ใหญ่ขึ้นตรงนั้น เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี พระราชทานนามว่า “พระเจดีย์ภูเขาทอง” โปรดเกล้าฯให้เจ้าพระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษา (ทัต บุนนาค) เป็นแม่กองสร้าง โดยขุดลึกลงไปในโคลน ใช้ซุงทั้งต้นห่มลงไปเป็นเสาเข็ม แล้วเอาซุงปูเป็นตารางอีก จากนั้นก็ก่อด้วยศิลาแลงขึ้นมาเสมอดิน แล้วจึงก่อด้วยอิฐ ภายในก็ถมด้วยหิน แต่พอขึ้นไปถึงชั้นที่ ๒ หินที่ใส่เข้าไปถ่วงหนักทำให้ยุบลงไปถึง ๙ วา องค์พระปรางค์แตกร้าว พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯเสด็จมาทอดพระกฐิน จึงขอแรงพระบรมวงศานุวงศ์และขุนนางที่ตามเสด็จ ให้ช่วยกันฝังเสาหลักโดยรอบไม่ให้ดินไหลออก แต่องค์พระปรางค์กลับทรุดลงไปอีก ๓ วา เห็นว่าแก้ไม่ได้แล้วจึงเลิก

เมื่อก่อสร้างไม่สำเร็จ กองอิฐถูกทอดทิ้งอยู่หลายปีก็มีต้นไม้ขึ้นรกครึ้ม ดูเหมือนภูเขา คนกรุงเทพฯ เลยตื่นเต้นเห็นเป็นของแปลกที่กรุงเทพฯมีภูเขา ถือเป็นที่ท่องเที่ยว เรียกกันว่า “ภูเขาทอง”

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นว่า พระเจดีย์ที่รัชกาลที่ ๓ สร้างค้างไว้ไม่ควรปล่อยให้เป็นกองอิฐ จึงโปรดเกล้าฯให้เจ้าพระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษา (แพ บุนนาค) บุตรเจ้าพระยาศรีพิพัฒน์ฯคนก่อนที่ได้เลื่อนขึ้นเป็นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ เป็นแม่กองไปสร้างต่อจากที่พ่อทำค้างไว้ แล้วก่อพระเจดีย์ขึ้นบนยอด พระราชทานนามว่า “บรมบรรพต”

กระนั้นบรมบรรพตก็ไม่เสร็จสมบูรณ์ในรัชกาลที่ ๔ มาแล้วเสร็จในรัชกาลที่ ๕ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระเขี้ยวแก้วจำลอง ยาวประมาณ ๒ องคุลี ที่เคยเก็บไว้ในห้องภูษามาลาในพระบรมมหาราชวัง มาประดิษฐานไว้ในเจดีย์บนบรมบรรพตเมื่อ พ.ศ.๒๔๒๐ โปรดให้ตัดถนนบริพัตรต่อจากถนนสระปทุม และตัดถนนจักรพรรดิต่อจากถนนวรจักร เข้าถึงลานบรมบรรพต

ในปี พ.ศ.๒๔๔๑ อังกฤษได้ขุดพบอัฐิธาตุในพระสถูปที่เนปาล ซึ่งเป็นเมืองกบิลพัสดุ์เก่า มีอักษรจารึกที่ผอบว่าเป็นพระบรมสารีริกธาตุในส่วนที่กษัตริย์ศากยวงศ์ได้รับแบ่งไปในคราวถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ มาร์ควิส เคอร์สัน อุปราชอินเดีย เห็นว่าพระมหากษัตริย์ที่เป็นพุทธศาสนูปถัมภ์ภกก็มีแต่สมเด็จพระปิยมหาราชพระองค์เดียว จึงนำมาถวายเพื่อให้จัดแบ่งพระราชทานแก่ประเทศต่างๆที่นับถือศาสนาพุทธ ซึ่งสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงได้ทรงแบ่งพระราชทานแก่ลังกา ญี่ปุ่น พม่า รัสเซีย ส่วนที่เหลือบรรจุไว้ในเจดีย์บนยอดบรมบรรพต

สมัยรัชกาลที่ ๕ งานภูเขาทองเป็นงานรื่นเริงสนุกสนานที่สุดในรอบปี เวลาไม่มีงานบริเวณร่มรื่นของภูเขาทองยังเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชนเหมือนเป็นสวนสาธารณะ มีหนุ่มสาวใช้เป็นที่พลอดรักกันประจำ และมีหลายคู่ที่แอบใช้ถ้ำบนภูเขาทองทำบัดสีบัดเถลิงโดยไม่คำนึงว่าเป็นเขตวัดและเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ มีกลอนเก่าบทหนึ่งไม่รู้ว่าใครแต่งไว้ บรรยายเรื่องเกิดที่ภูเขาทองได้อย่างสนุกสนานว่า

“ยังคู่หนึ่งอัศจรรย์ขันที่สุด
เมื่อวันตรุษพอจะเลื่อนเข้าเดือนห้า
จึงชวนคู่พิสมัยเดินไคลคลา
ถึงคูหาห้องสุวรรณพรรณราย
ปลอบประโลมโฉมยุพินกินเรศ
ในประเทศถ้ำทองอันผ่องใส
มนะน้อมพร้อมกำหนัดสัมผัสกาย
แสนสบายปลอดเปลี่ยวไม่เหลียวแล
ชายคนหนึ่งไปเก็บยาที่หน้าถ้ำ
ตาเจ้ากรรมมองเข้าไปในแฉว
ดำตะคุ่มลุ่มดอนแอบซ่อนแล
จึงรู้แน่เห็นกระจ่างว่านางนาย
จึงทักถามนามไปว่าใครนั่น
ทำไมกันในคูหาน่าใจหาย
สองผงกตกใจจริงวิ่งตะกาย
ไม่เสียดายผ้าผ่อนหลุดล่อนตัว
แสนสงสารนางนายตะกายถ้ำ
โดนชอกช้ำเจ็บตรมระบมหัว
ดูล่อนจ้อนหลงจังประจงตัว
แต่ความกลัวล้างอายพอหายกัน
กินนรผัวมีขาวม้าออกมาด้วย
พอชูช่วยกันอายให้หายขัน
แต่นางเมียนุ่งมือดื้อไม่บัน
วิ่งถลันแอบตนที่ต้นโพธิ์
คิดถึงกายอายกระไรใจจะขาด
เจียนชีวาตย์จะขาดกระเด็นไม่เป็นโส
ถ้าใครเห็นอนิจจาน่าพุทโธ
ดูกายากาโยเกโรลง
นางร้องไห้ไหว้พระโพธิ์อันโสภา
ได้เมตตาข้าเมื่อจนเป็นคนหลง
ยืมจีวรท่อนดำทำสบง
แล้วนุ่งทรงโจงกระเบนเป็นเณรนาง
ครั้นเย็นย่ำสุริยันก็ผันผาย
ค่อยเยื้องกรายตามทำนองไม่หมองหมาง
ดูเหมือนแม้ภิกษุณีที่สำอาง
จักษุวางดีแท้ไม่แลใคร
นุ่งจีวรห่มจีวรชะอ้อนกาย
ดูแยบคายโสภาจะหาไหน
ที่บางคนนึกว่าพระมาลัย
ยกมือไหว้นอบน้อมอยู่พร้อมกัน
ครั้นถึงเรือนผลัดภูษาผ้าจีวร
ม้วนเป็นก้อนเข้าให้กลมดูคมสัน
ทอดผ้าป่าเสียในคลองเลิกครองกัน
อ้ายเรื่องนั้นขอตัดเป็นสัจจริง”

ในสมัยรัชกาลที่ ๕ กรุงเทพฯยังโล่ง บนยอดภูเขาทองมองไปไกลได้ถึงปากอ่าว จอมพลเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี เมื่อครั้งยังเป็น เจ้าหมื่นไวยวรนารถ เลยกราบทูลจะขอรื้อพระเจดีย์ออกทำเป็นป้อมปืน เมื่อข้าศึกเอาเรือรบเข้ามา อย่างฝรั่งเศสเคยฝ่าป้อมพระจุลฯเข้ามาถึงกรุงเทพฯ ก็สามารถยิงจากภูเขาทองได้ แต่ไม่ทรงอนุญาต ให้ทำได้แค่เพิงพักทหารรอบพระเจดีย์เป็นยามระวังเหตุ โดยมีเสาธงบอกเหตุและโทรศัพท์สายตรงต่อไปยังกรมทหารหน้า หรือตึกกระทรวงกลาโหมในปัจจุบัน ที่เจ้าหมื่นเป็นผู้บังคับบัญชา แต่ก็เคยช่วยได้แค่แจ้งเหตุไฟไหม้เท่านั้น

ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ ญี่ปุ่นได้เอาปืนต่อสู้อากาศยานขึ้นไปตั้งบนภูเขาทอง ยิงเครื่องบินฝ่ายสัมพันธมิตรที่มาทิ้งระเบิดใส่กรุงเทพฯ ทำให้ภูเขาทองได้รับความกระทบกระเทือนมาก ผนังที่สร้างมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๓ ได้เคลื่อนตัวออกจากฐาน ศูนย์ถ่วงได้หลุดไปจากฐานบางตอน ผนังโดยรอบจึงแตกร้าวและเอนออกไปเรื่อยๆจากแรงของดินที่อัดอยู่ภายใน หากปล่อยไว้อาจทลายลงได้ และเมื่อตัดต้นไม้ออกก็พบว่าภูเขาทองเอียงไปข้างหนึ่ง จึงมีการบูรณะครั้งใหญ่เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๓ แล้วเสร็จใน พ.ศ.๒๔๙๗ หมดเงินไป ๗ ล้านเศษ ใช้วิทยาการก่อสร้างสมัยใหม่ทำคอนกรีตเสริมเหล็กช่วย ขุดเอาอิฐข้างในออกให้น้ำหนักเบาขึ้นไม่มีแรงดัน ซึ่งทำให้ภูเขาทองมั่นคงแข็งแรง การบูรณะครั้งนี้ทำโดยกรมชลประทาน

บรมบรรพตได้รับการตกแต่งอีกครั้งใน พ.ศ.๒๕๐๙ โดยกระทรวงมหาดไทย บุโมเสกรอบองค์พระเจดีย์เป็นสีทอง และสร้างเจดีย์เล็กขึ้น ๔ มุม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงบรรจุพระบรมสารีริกธาตุในลูกแก้วบนยอด โดยชักสายสูตรขึ้นไปเมื่อวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๐๙

เดี๋ยวนี้คนกรุงเทพฯไม่ตื่นเต้นภูเขาเหมือนในสมัยก่อนแล้ว และความบันเทิงก็มีอยู่มาก งานภูเขาทองจึงไม่คึกคักเหมือนอย่างแต่ก่อน ทั้งรอบๆภูเขาทองยังเป็นที่บรรจุอัฐิเต็มไปหมด บรรยากาศจึงไม่โรแมนติกชวนให้ใครเข้าไปทำบัดสีบัดเถลิงกันเหมือนแต่ก่อน กลับดูน่ากลัวด้วย

แต่อย่างไรก็ตาม ภูเขาทองก็ยังเป็นภูเขาหนึ่งเดียวของกรุงเทพฯ และเป็นสถานที่สำคัญของชาติ
พระเจดีย์ภูเขาทองที่อยุธยา ต้นแบบของภูเขาทองกรุงเทพฯ
อีกมุมหนึ่งของภูเขาทองในอดีต
สมัยก่อนภูเขาทองมีบันไดขึ้นตรงอีกทาง แต่ชันอันตราย
กำลังโหลดความคิดเห็น