มีเรื่องเล่าที่น่ากังขาเกี่ยวกับพระเจ้าตากสินอยู่เรื่องหนึ่ง ไม่ตรงกับพงศาวดารซึ่งระบุว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินถูกนำไปประหารด้วยการใส่กระสอบทุบด้วยท่อนจันทน์เมื่อวันที่ ๖ เมษายน พ.ศ.๒๓๒๕ ณ ป้อมวิชัยประสิทธิ์ แต่พงศาวดารฉบับชาวบ้านกลับเล่ากันว่า ท่านได้ล่องหนหลบท่อนจันทน์ไปจำศีลภาวนาจนสวรรคตที่วัดเขาขุนพนม อำเภอพรหมคีรี จังหวัดนครศรธรรมราช โดยมีหลักฐานยืนยันอย่างน่าเชื่ออยู่ที่วัดนี้
วัดเขาขุนพนมตั้งอยู่ในตำบลที่มีสวนผลไม้หนาแน่น มีถนนลาดยางเล็กๆคดเคี้ยววกวนแยกจากถนนใหญ่เข้าไปลึกพอควร ซึ่งในสมัยเมื่อ ๒๐๐ กว่าปีก่อน คงจะต้องเป็นป่าดงดิบที่มิดชิดเป็นแน่ แต่เดี๋ยวนี้ในวัดมีสิ่งก่อสร้างที่โอ่อ่ามากมาย รวมทั้งตำหนักพระสังฆราช สมเด็จพระญาณสังวรฯ และอีกด้านหนึ่งใกล้วัด คือที่ตั้ง“พระตำหนักเมืองนคร” ซึ่งชาวนครศรีธรรมราชสร้างถวายสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ
เมื่อเดินไปถึงเชิงบันได ๒๔๕ ขั้นที่จะขึ้นไปสู่ถ้ำบนเขาที่ว่าพระเจ้าตากสินทรงใช้เป็นที่นั่งวิปัสสนากรรมฐาน ก็พบแผ่นป้ายที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยติดไว้ มีข้อความว่า
ถ้ำเขาขุนพนม
ชาวนครศรีธรรมราชเชื่อกันว่า ถ้ำแห่งนี้เคยเป็นที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้เสด็จหนีมาผนวชและประทับ ณ ถ้ำแห่งนี้จนสวรรคต โดยสันนิษฐานจากเพลงกล่อมเด็กที่เรียกกันว่าเพลงร้องเรือ ภายในถ้ำได้มีผู้ขุดพบพระพุทธรูปทองคำ เงิน สัมฤทธิ์ และพระพุทธรูปจำลองเป็นศิลปะสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนกลาง ปัจจุบันโบราณวัตถุเหล่านี้แสดงไว้ในพิพิธภัณฑ์วัดเขาขุนพนม
เมื่อขึ้นบันไดไปเล็กน้อย ที่ชะง่อนเขาด้านซ้ายมือ จะมีตำหนักพระเจ้าตากสินตั้งอยู่ มีรูปปั้นของพระองค์ประดิษฐานอยู่ภายใน ส่วนภายนอกด้านหลังมีแผ่นหินใหญ่จารึกข้อความไว้ว่า
“พระตำหนักสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช วัดเขาขุนพนม อำเภอพรหมคีรี จังหวัดนครศรีธรรมราช
ด้วยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงมีคุณูประการอันยิ่งใหญ่ต่อชาติไทย ทรงกอบกู้เอกราชได้เป็นผลสำเร็จ ทรงทะนุบำรุงบ้านเมืองเจริญรุ่งเรืองจนเราชาวไทยร่วมกันถวายพระนาม “มหาราช”
ณ ที่นี้ มีตำนานเล่าขานกันต่อๆมาว่า พระองค์ทรงมาประทับอยู่ระยะหนึ่ง มีผู้ระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ได้สร้างพระพุทธรูปประดิษฐานไว้ในศาลาเรือนไม้ขนาดเล็กเพื่อการกราบบูชา
คณะข้าราชการกรมสามัญศึกษากระทรวงศึกษาธิการ และผู้มีจิตศรัทธา ในการนำของนายสัมพันธ์ ทองสมัคร ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ร่วมกันทอดผ้าป่าสามัคคี เมื่อวันเสาร์ที่ ๑๔ เมษายน ๒๕๓๘ สร้างพระตำหนักหลังนี้ขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติ
ในวโรกาสนี้ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายก วัดบวรนิเวศวิหาร ทรงร่วมอนุโมทนาด้วย”
เมื่อขึ้นบันไดต่อไปจนสุด ๒๔๕ ขั้น ก็พบถ้ำที่ว่าเคยประทับ เป็นลานหินกว้างประมาณ ๒๐ ตารางวา เว้าลึกเข้าไปในภูเขา เหมือนเป็นหลังคากำบังแดดและฝน มีการก่อกำแพงเหมือนกำแพงวัง กั้นด้านในเป็นซอกหลืบ มีทางเข้าออกเล็กๆ นัยว่าข้าติดตามครั้งนั้นได้สร้างขึ้นเพื่อทรงใช้เป็นที่ทำสมาธิ
เป็นที่น่าสังเกตว่า จานชามที่ติดฝังประดับไว้ในกำแพงนั้น มีลวดลายสวยงาม เป็นของมีราคาที่ไม่น่าจะเป็นของใช้ของชาวบ้านธรรมดา อีกทั้งพระพุทธรูปทองคำ เงิน และสัมฤทธิ์ที่ขุดได้ในถ้ำนี้ ก็คงไม่ใช่ของที่ชาวบ้านในป่าลึกเช่นนี้จะเอาขึ้นไปไว้
เล่ากันว่า พระเจ้าตกสินทรงฝักใฝ่ในพระศาสนา ทั้งยังทรงนั่งวิปัสสนาปฏิบัติกรรมฐานเป็นประจำ แต่ในระยะหลังมีเรื่องที่ทำให้ทรงเคร่งเครียดอย่างมาก วันหนึ่งรับสั่งให้คนไปตามเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกมาเฝ้า เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกกำลังจะนำทัพออกไปตีเมืองเขมรก็สะพายดาบไปด้วย เมื่อเห็นพระเจ้าตากสินอยู่ในชุดนุ่งขาวห่มขาวถือลูกประคำ ประทับอยู่ในห้องกรรมฐาน จึงชะงักอยู่เพียงแค่ประตู พระเจ้าตากรับสั่งว่า “เข้ามาซิทองด้วง เข้ามาทั้งยังงั้นแหละ” เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกก็ทูลว่า “ข้าพระพุทธเจ้ามิบังอาจ” ว่าแล้วก็ปลดดาบวางหน้าประตูคลานเข้าไป พระเจ้าตากเงยพระพักตร์ขึ้นมอง แล้วรับสั่งอย่างจริงจังว่า
“ทองด้วง ข้าจะให้เจ้าเป็นพระเจ้าแผ่นดินแทนข้า”
เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกก็รีบกราบทูลว่า
“ข้าพระพุทธเจ้าไม่เคยแม้แต่จะคิด”
แต่พระเจ้าตากสินก็ยืนยันว่ามีเหตุจำเป็นที่จะต้องเป็นเช่นนั้น
ความจำเป็นในเรื่องนี้ก็คือ เมื่อครั้งกรุงแตก พม่าได้กวาดทรัพย์สินในท้องพระคลังไปจนหมด นอกจากพระเจ้าตากสินจะต้องซื้อข้าวจากต่างประเทศมาช่วยราษฎรที่อดอยากแล้ว ยังต้องสร้างกรุงธนบุรีขึ้นด้วย จึงอาศัยเงินกู้จากพ่อค้าเจ้าสัวชาวจีนซึ่งคิดว่าพระเจ้าตากสินเป็นลูกจีน หวังจะมีอิทธิพลเหนือเมืองไทย แต่เมื่อทรงถูกเร่งรัดหนี้และไม่มีทางหามาใช้ได้จึงทรงเครียดหนัก แต่สัญญาเงินกู้ในยุคนั้นก็นิยมระบุกันไว้ว่า ถ้าผู้กู้หรือผู้ให้กู้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเกิดวิกลจริตหรือถึงแก่กรรม หนี้สินมิให้ตกถึงทายาท
พระเจ้าตากสินจึงทรงเลือกเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกผู้ที่ทรงไว้พระราชหฤทัยที่สุด เพราะเป็นทั้งเพื่อนสนิทและกรำศึกรอบทิศมาด้วยกัน ทรงเห็นว่าเป็นผู้เข้มแข็งที่จะรักษาบ้านเมืองไว้ได้มากกว่าพระราชโอรสของพระองค์เอง แต่เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกก็ยังมิได้ตอบรับ ขอไปจัดการกับเขมรก่อน
เมื่อเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกและเจ้าพระยาสุรสีห์ ๒ พี่น้อง พร้อมด้วยพระเจ้าลูกเธอ กรมขุนอินทรพิทักษ์ ยกทัพไปตีเมืองเขมรแล้ว พระเจ้าตากสินก็ทรง “ออกอาการ” ต่างๆทางด้านวิปลาส เช่น เรียกประชุมสงฆ์แล้วถามว่าเราบรรลุโสดาบันแล้ว แต่พวกท่านเป็นพระยังไม่บรรลุ พระอย่างท่านจะไหว้เราซึ่งเป็นฆราวาสได้หรือไม่ สงฆ์ที่เกรงกลัวในพระบารมีก็ยอมไหว้ องค์ไหนที่ไม่ยอมก็ให้เอาไปเฆี่ยน แต่ก็เล่ากันว่าพวกที่ถูกเฆี่ยนนั้นล้วนเป็นนักโทษห่มเหลืองกันทั้งนั้น
อาการวิปลาสต่างๆของพระเจ้าตาก ทำให้พระยาสรรค์ซึ่งไม่รู้แผน บังคับพระเจ้าตากซึ่งต่อมาทรงผนวชเป็นพระภิกษุ ให้ลาผนวชแล้วจองจำไว้ แจ้งข่าวให้เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกรีบกลับมา จนสำเร็จโทษพระเจ้าตากด้วยท่อนจันทน์ แล้วอัญเชิญเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกขึ้นครองราชย์
หลังจากนั้นอีก ๔ วัน ก็มีสำเภาลำหนึ่งออกจากกรุงธนบุรี มีคน ๑๐ คนไปขึ้นฝั่งที่เมืองนครศรีธรรมราช แล้วเดินทางต่อด้วยช้างไปยังวัดเขาขุนพนม ในจำนวนนั้นมีหม่อมประยงค์ น้องสาวร่วมสายโลหิตของพระเจ้าตาก พร้อมด้วย นายชิด นายชุบ ผู้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาท ขอติดตามไปรับใช้ มีช้างเชือกหนึ่งประจำอยู่ที่เมืองนคร อีกเชือกหนึ่งอยู่ที่วัดเขาขุนพนม เดินทางขนสัมภาระถึงกันตลอดเวลา
ต่อมาอีก ๒ ปี นายชิดกับนายชุบก็เสียชีวิตเพราะไข้ป่า ทำให้ทรงเสียพระราชหฤทัยมาก ให้นำอัฐิของคนทั้งสองบรรจุไว้ในรูปปั้นยักษ์ที่รักษาทวารบนถ้ำ
และอีก ๒ ปี พระเจ้าตากสินก็สวรรคตด้วยไข้ป่าเช่นกัน ทรงประทับอยู่ที่เขาขุนพนมเพียง ๔ ปี
เมื่อตอนเจ้าพระยานคร (น้อย) ซึ่งกล่าวกันว่าเป็นโอรสลับของพระเจ้าตาก เสียชีวิตลง มีการฌาปนกิจศพบนเมรุใหญ่กลางเมือง คนทั้งหลายต่างพากันแปลกใจที่บนเมรุใหญ่นั้นมีโลงศพตั้งเคียงคู่กันอยู่ ๒ โลง อีกโลงที่ตั้งเคียงกับโลงศพเจ้าพระยานคร ไม่มีใครรู้ว่าเป็นศพใคร และมีการนำอัฐิจากโลงนั้นบรรจุไว้ในเจดีย์องค์หนึ่งซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับเจดีย์พระบรมธาตุเมืองนคร ซึ่งชาวบ้านทุกวันนี้เรียกกันว่า “เจดีย์ดำ” มีรูปพระเจ้าตากสินตั้งอยู่หน้าเจดีย์ และมีคนมาจุดธูปบูชากราบไหว้กันไม่ขาด
นี่คือ “พงศาวดารฉบับชาวบ้าน” ส่วนหลักฐานต่างๆซึ่งปรากฏอยู่ที่วัดเขาขุนพนมหรือที่อื่นๆ จะยืนยันความจริงได้แค่ไหน ก็อยู่ที่ความเชื่อของแต่ละบุคคล