xs
xsm
sm
md
lg

จากขุดคลองลัดโพธิ์ เพื่อย่นระยะทางไปทรงเบ็ด!มาเป็นย่นระยะทางระบายน้ำลงทะเล มหัศจรรย์ ๕ ชั่วโมง เหลือ ๑๐ นาที!

เผยแพร่:   โดย: โรม บุนนาค

ระยะทางเดินของน้ำที่ลดลงโดยตลองลัดโพธิ์
“คลองลัดโพธิ์” อยู่ในพื้นที่ตำบลทรงคะนอง อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ เป็นคลองเก่าแก่ กล่าวกันว่าขุดขึ้นในสมัยพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ กษัตริย์ลำดับที่ ๓๐ ของกรุงศรีอยุธยา เพื่อย่นระยะการเสด็จประพาสไปทรงเบ็ดที่ปากอ่าวแม่น้ำเจ้าพระยา อันเป็นกีฬาที่ทรงโปรด แต่ในสมัยรัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงเห็นว่าคลองลัดโพธิ์ทำให้น้ำเค็มขึ้นมาถึงกรุงเทพฯ เป็นผลเสียแก่เรือกสวนไร่นา จึงดำรัสให้เกณฑ์ข้าราชการไปขนอิฐจากกรุงศรีอยุธยามาถมปากคลองด้านใต้ ไม่ให้น้ำทะเลลัดขึ้นมาได้ ทำให้คลองลัดโพธิ์ตื้นเขินไป

คลองลัดโพธิ์เป็นคลองลัดในแนวเหนือ-ใต้ มีความยาวแค่ ๖๐๐ เมตร แต่แม่น้ำเจ้าพระยาช่วงนี้ จากปากคลองถึงท้ายคลอง จะไหลวกอ้อมไปเป็นระยะทางถึง ๑๘ กิโลเมตร มีลักษณะเหมือนกระเพาะหมู ซึ่งเป็นที่ตั้งของตำบลบางกระเจ้า

เมื่อวันที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๕๓๘ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้พระราชทานพระราชดำริแก่ นายรุ่งเรือง จุลชาติ อธิบดีกรมชลประทาน พล.ต.อ.จำลอง เอี่ยมแจ้งพันธุ์ ผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจ และนายจริย์ ตุลยานนท์ อดีตอธิบดีกรมชลประทานและกรรมการมูลนิธิชัยพัฒนา ให้หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องร่วมกันศึกษา วางโครงการปรับปรุงคลองลัดโพธิ์ ขุดลอกและสร้างประตูน้ำ ปิดเมื่อเวลาน้ำทะเลขึ้น เพื่อไม่ให้น้ำทะเลขึ้นมาทางคลองลัด และเปิดเมื่อเวลาน้ำทะเลลง เพื่อระบายน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาออกสู่ทะเลให้เร็วขึ้น ไม่ต้องไหลอ้อมไปถึง ๑๘ กิโลเมตร

ต่อมาในวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๔๙ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชกระแสรับสั่งเพิ่มเติมกับ นายวุฒิ สุมิตร รองราชเลขาธิการ และ นายสวัสดิ์ วัฒนายากร องคมนตรี ว่าโครงการคลองลัดโพธิ์จะทำประโยชน์ได้อย่างมหัศจรรย์ มีพลังมหาศาล จะใช้พลังงานน้ำที่ระบายผ่านคลอง ทำประโยชน์อย่างอื่นด้วยได้หรือไม่

ต่อมานายชลิต ดำรงศักดิ์ อธิบดีกรมชลประทาน ได้เปิดเผยถึงการวางโครงการประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ เมื่อวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ ว่า

“โครงการประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นโครงการที่กรมชลฯสนองพระราชดำริในองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระราชทานพระราชดำริให้ปรับปรุงคลองลัดโพธิ์ บริเวณคุ้งน้ำช่วงที่ไหลผ่านเขตพื้นที่ตำบลบางกระเจ้า จากเดิมซึ่งมีสภาพตื้นเขิน มีความกว้างเพียง ๑๐-๑๕ เมตร ให้สามารรับปริมาณน้ำได้เพิ่มขึ้น อีกทั้งยังเป็นทางลัดของน้ำไหลลงสู่ทะเลได้สะดวก รวดเร็ว โดยช่วยลดระยะทางการไหลของแม่น้ำจ้าพระยาจาก ๑๘ กิโลเมตร ให้เหลือเพียง ๖๐๐ เมตร รวมทั้งลดเวลาการเดินทางของน้ำจาก ๕ ชั่วโมง ให้เหลือเพียง ๑๐ นาทีเท่านั้น ทำให้ช่วยลดผลกระทบจากน้ำล้นตลิ่งในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จากสภาวะน้ำเหนือไหลหลากในช่วงที่ผ่านมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยโครงการนี้สามารถระบายน้ำออกสู่อ่าวไทยได้เฉลี่ยวันละประมาณ ๔๐ ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งผลการดำเนินการระบายน้ำตั้งแต่เดือนสิงหาคม ถึงเมื่อวานนี้ สามารถระบายน้ำได้โดยรวมประมาณ ๒,๔๗๐ ล้านลูกบาศก์เมตร ถือว่าเป็นปริมาณน้ำที่มากในระดับหนึ่งที่ระบายลงสู่อ่าวไทยได้

โครงการนี้ยังมีศักยภาพในการผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังน้ำ โดยกรมชลฯร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทำการศึกษาวิจัยและนำไปขยายผลเพื่อพัฒนา ผลิตกังหันพลังน้ำติดตั้งในประตูระบายน้ำต่างๆทั่วประเทศ เป็นการเพิ่มทางเลือกในการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานน้ำ ทั้งยังช่วยลดปัญหาภาวะโลกร้อน ประหยัดพลังงานอื่นให้ประเทศได้อย่างมหาศาลด้วย ปัจจุบันมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์อยู่ระหว่างขอจดสิทธิบัตรเครื่องกำเนิดไฟฟ้าพลังจลน์ และชุดสำเร็จเครื่องไฟฟ้าพลังจลน์ในพระปรมาภิไธย คาดว่าจะประกาศใช้ในเร็ววันนี้ และจะนำขึ้นทูลเกล้าฯถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวต่อไป”

อาคารประตูน้ำคลองลัดโพธิ์ เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก มีช่องประตูระบายน้ำ ๔ ช่อง กว้างช่องละ ๑๔ เมตร ในฤดูแล้งจะปิดบานประตูทั้ง ๔ บานตลอดฤดู ส่วนในฤดูน้ำหลาก จะปิดบานประตูเมื่อน้ำทะเลขึ้น และเปิดในช่วงที่น้ำทะเลลง ส่วนตัวคลองเหนือประตูน้ำกว้าง ๖๕ เมตร ใต้ประตูระบายน้ำกว้าง ๖๖ เมตร มีเขื่อนคอนกรีตตลอดทั้งสองฝั่ง เริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๔๔๕ แล้วเสร็จในเดือนมิถุนายน ๒๕๔๙ ค่าก่อสร้างทั้งสิ้น ๕๒๘,๔๓๑,๒๑๓ บาท

ส่วนในด้านการผลิตกระแสไฟฟ้า กรมชลประทานกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้สร้างกังหันพลังน้ำต้นแบบ อาศัยพลังงานจลน์จากความเร็วของกระแสน้ำไหล ๒ แบบ คือ แบบหมุนตามแนวแกน และแบบหมุนขวางการไหล ทำการเชื่อมต่อเข้ากับเครื่องกำเนิดกระแสไฟฟ้า ติดตั้งบริเวณประตูระบายน้ำ

กังหันแบบหมุนตามแนวแกน ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๒ เมตร และแบบหมุนขวางการไหล ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๑ เมตร ยาว ๒.๕๐ เมตร เป็นต้นกำลังของเครื่องกำเนิดไฟฟ้าแบบแม่เหล็ก มีเกียร์ทดอยู่ภายในกล่องที่จมน้ำได้

กำลังและแรงดันไฟฟ้าที่ได้จะขึ้นอยู่กับความเร็วรอบ เช่น หากความเร็วที่ ๒๐๐ รอบต่อนาที จะได้กำลังไฟฟ้า ๕ กิโลวัตต์ต่อวัน และปรับแรงดันกับความถี่เชื่อมต่อกับระบบไฟฟ้าของการไฟฟ้านครหลวง แต่จากการทดลองเดินกังหันพลังน้ำต้นแบบพบว่า ได้กำลังไฟฟ้าสูงสุดที่ ๕.๗๔กิโลวัตต์ต่อวัน มากกว่าที่คำนวณไว้

ความรู้ที่ได้จากการวิจัยเพื่อวิเคราะห์ศักยภาพของคลองลัดโพธิ์นี้ จะถูกนำไปต่อยอดเพื่อการผลิตกังหันพลังน้ำในประเทศ ซึ่งปัจจุบันยังต้องใช้วัสดุอุปกรณ์จากต่างประเทศ เมื่อมีการขยายผล จนสามารถใช้กับประตูระบายน้ำของกรมชลประทาที่มีอยู่ทั่วประเทศได้ ไม่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศอีก จะช่วยประหยัดงบประมาณลงได้อย่างมหาศาล

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินทางชลมารค โดยเรือพระที่นั่งอังสนาที่กองทัพเรือจัดถวาย ทรงเปิดประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ และสะพานภูมิพล ๑ ภูมิพล ๒ ในเส้นทางวงแหวนอุตสาหกรรม เมื่อวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๓

ภายหลังเปิดการใช้งานโครงการ โครงการประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้ช่วยผันน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาออกสู่ทะเลเป็นไปตามเป้าหมาย และยังช่วยป้องกันน้ำเค็มรุกเข้าพื้นที่ทางการเกษตรได้ด้วย ในช่วงที่น้ำเหนือหลากและน้ำทะเลหนุนสูงระยะเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน ประตูน้ำคลองลัดโพธิ์ก็ทำหน้าที่ช่วยลดปัญหาน้ำล้นตลิ่งเจ้าพระยาได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยสามารถระบายน้ำออกสู่อ่าวไทยได้เฉลี่ยวันละ ๔๐ ล้านลูกบาศก์เมตร และผลของการระบายน้ำตั้งแต่ต้นเดือนสิงหาคม-วันที่/๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ สามารถระบายน้ำได้รวม ๒,๔๗๐ ล้านลูกบาศก์เมตร นับว่าช่วยระบายน้ำเพิ่มขึ้นจากปกติได้มาก

ในช่วงมหาอุทกภัยที่ผ่านมา ประตูน้ำคลองลัดโพธิ์มีส่วนช่วยบรรเทาได้อย่างมาก นายเชิดศักดิ์ ชูศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งติดตามเฝ้าระวังการบ่าของน้ำเหนือลงมาออกทะเลที่จังหวัดสมุทรปราการ กล่าวว่า ตั้งแต่ดำเนินการระบายน้ำผ่านคลองลัดโพธิ์ด้วยการใช้เรือดัน ตั้งแต่วันที่ ๑๗ กันยายน ๒๕๕๔ สามารถเร่งการเดินทางของน้ำจากความเร็ว ๒ น็อต เป็น ๖ น็อต ทำให้ระบายน้ำเพิ่มขึ้นร้อยละ ๑๕ ของการไหลในอัตราตราปกติ ทำให้ระดับน้ำตั้งแต่อำเภอบางไทรลงมา ลดระดับลงจากก่อนหน้านั้น ไม่ท่วมเข้าพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพฯและพื้นที่บางกระเจ้า รวมทั้งพื้นที่ของจังหวัดสมุทรปราการ จึงมีการหารือกับกรมชลประทานที่จะขยายความกว้างของคลองลัดโพธิ์ออกไปอีกในอนาคต

เมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๕๔ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้นายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยคณะข้าราชการกรมชลประทาน เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทกราบบังคมทูลรายงานผลการดำเนินงานโครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสถึงประสิทธิภาพของคลองลัดโพธิ์ ในการช่วยระบายน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา ว่าจากการสังเกต ตอนเช้าน้ำขึ้น มองลงไปเห็นน้ำเต็มแม่น้ำ แต่พอถึงเวลาเปิดคลองลัดโพธิ์ น้ำก็ลดลงไป และเห็นได้ชัดเมื่อเวลาฝนตกหนัก น้ำสูงขึ้นมาก แต่พอฝนหยุดน้ำก็ลด เพราะไปออกทางประตูน้ำลงทะเลได้เร็ว คลองลัดโพธิ์มีระยะเพียงไม่กี่ร้อย ไม่ต้องไปผ่านทางยาวหลายกิโลเมตร แสดงให้เห็นว่าคลองลัดโพธิ์มีประสิทธิภาพสูงอย่างมหัศจรรย์จริงๆ จึงควรขยายผล จัดสร้างประตูระบายน้ำแบบคลองลัดโพธิ์ไปยังพื้นที่ต่างๆต่อไป

เนื่องจากคลองลัดโพธิ์ไม่กว้างเหมือนแม่น้ำเจ้าพระยา การใช้เรือดันน้ำจึงได้ผล ในช่วงเกิดมหาอุทกภัย เรือ ๖ ลำของกองทัพเรือ กระทรวงเกษตรฯ และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ ที่ช่วยกันดันน้ำ โดยผูกเรือไว้ด้วยสลิงเส้นใหญ่กับเสาตอม่อของสะพานภูมิพล ไม่ให้เรือเคลื่อนไปด้วยกำลังใบพัด จึงทำให้น้ำในคลองลัดโพธิ์เชี่ยวกราก จนต้องมีป้ายแผ่นใหญ่ติดเตือนอันตรายไว้ทั่วไป

คลองลัดโพธิ์ในวันนี้ จึงเป็นความมหัศจรรย์อีกโครงการหนึ่ง ในพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
ประตูน้ำคลองลัดโพธิ์

ทรงทำพิธีเปิดประตูน้ำจาก เรือพระที่นั่งอังสนา
กังหันปั่นไฟผลพลอยได้จากกำลังน้ำ
กำลังโหลดความคิดเห็น