“สอดแนมการเมือง”
โดย “ชัชวาลย์ ชาติสุทธิชัย”
เรื่องราวบางเรื่อง..เกิดขึ้นโดยไม่ได้คาดคิดหรือรู้ล่วงหน้ามาก่อน..
การเดินทางไปพูดคุยสถานการณ์การเมืองไทย กับชาวพันธมิตรฯในสิบเมืองของอเมริกาครั้งหนึ่ง ผมได้เดินไปบนเส้นทางที่น่าภาคภูมิใจโดยไม่ตั้งใจ นั่นคือ ได้เยี่ยมเยือน สถานีวิทยุเสียงอเมริกา (Voice of America - VOA) แผนกภาคภาษาไทย ที่กรุงวอชิงตันดีซี.
เพราะครั้งหนึ่ง ผู้สื่อข่าวสถานีวิทยุเสียงอเมริกานี่แหละ ได้สัมภาษณ์ “ในหลวงรัชกาลที่เก้า-อัครศิลปิน” เกี่ยวกับดนตรี เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2503 พระราชดำรัสตอนหนึ่งว่า..
“ดนตรีเป็นส่วนหนึ่งของข้าพเจ้า จะเป็นแจ๊ส หรือไม่ใช่แจ๊สก็ตาม ดนตรีล้วนอยู่ในตัวทุกคน เป็นส่วนที่ยิ่งใหญ่ในชีวิตคนเรา สำหรับข้าพเจ้า ดนตรีคือสิ่งประณีตงดงาม และทุกคนควรนิยมในคุณค่าของดนตรีทุกประเภท เพราะว่าดนตรีแต่ละประเภทต่างก็มีความเหมาะสม ตามแต่โอกาสและอารมณ์ที่ต่างๆกันออกไป”
ที่สำคัญ “กษัตริย์อัจฉริยะอัครศิลปิน” ทรงมองเห็นศักยภาพของดนตรีว่า มิใช่แค่ให้ความบันเทิงเท่านั้น แต่ดนตรียังเป็นสื่อที่สร้างสรรค์ ชักนำให้คนเป็นคนดีของชาติและสังคมอีกด้วย
ดังพระราชดำรัสพระราชทานแก่ คณะกรรมการสมาคมดนตรีแห่งประเทศไทย ณ ศาลาดุสิดาลัย เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2524 ใจความตอนหนึ่งว่า
“การดนตรีจึงมีความหมายสำคัญสำหรับประเทศชาติ สำหรับสังคม ถ้าทำดีๆ ก็ทำให้คนมีกำลังใจจะปฏิบัติงานการ ก็เป็นหน้าที่ส่วนหนึ่งที่ให้ความบันเทิง ทำให้คนที่กำลังท้อใจมีกำลังใจขึ้นมาได้ คือเร้าใจได้ คนกำลังไปทางหนึ่งทางที่ไม่ถูกต้อง ก็อาจจะดึงกลับมาในทางที่ถูกต้องได้ ฉะนั้น ดนตรีก็มีความสำคัญอย่างหนึ่ง จึงพูดได้กับท่านทั้งหลายที่เกี่ยวข้องกับการดนตรีในรูปการณ์ต่างๆ ว่า มีความสำคัญและต้องทำให้ถูกต้อง ต้องทำให้ดี ถูกต้องในหลักวิชาการดนตรีอย่างหนึ่ง และก็ถูกต้องตามหลักวิชาของผู้ที่มีศีลธรรมมีความซื่อสัตย์สุจริต ก็จะทำให้เป็นประโยชน์อย่างมาก เป็นประโยชน์ทั้งต่อส่วนรวม ทั้งส่วนตัว เพราะก็อย่างที่กล่าวว่า เพลงนี้มันเกิดความปีติภายในของตัวเองได้ ความปีติในผู้อื่นได้ ก็เกิดความดีได้ ความเสียก็ได้ ฉะนั้นก็ต้องมีความระมัดระวังให้ดี”
“ในหลวงรัชกาลที่เก้า” ทรงพระปรีชาสามารถ ในศิลปะแขนงต่างๆมากมาย โดยเฉพาะทรงพระราชนิพนธ์บทเพลงพระราชนิพนธ์ ตั้งแต่ปี 2489-2538 ทั้งหมด 47 เพลง
เพลงที่ทรงพระราชนิพนธ์ทำนองและคำร้องภาษาอังกฤษ ด้วยพระองค์เอง มี 5 เพลง คือ Echo (แว่ว) Still on My Mind (ในดวงใจนิรันดร์) Old Fashioned Melody (เตือนใจ) No Moon (ไร้เดือน ไร้จันทร์) Dream Island (เกาะในฝัน)
ยุคแรก เมื่อพระองค์ทรงพระราชนิพนธ์ ทำนองและคำร้องสมบูรณ์แล้ว จะโปรดเกล้าฯให้ ครูเอื้อ สุนทรสนาน นำไปบรรเลงในวงดนตรีกรมโฆษณาการ หรือ “วงสุนทราภรณ์” เพื่อให้แพร่หลายทั่วไป ปรากฎว่า..หลายเพลงกลายเป็นเพลงยอดนิยม ทั้งในหมู่ชาวไทยและชาวต่างประเทศ
น่าเสียดายที่ระยะหลัง “ในหลวงรัชกาลที่เก้า” ทรงมีพระราชกรณียกิจมากมาย จึงไม่มีเวลาที่จะทรงพระราชนิพนธ์เพลงใหม่ๆ เพลงสุดท้ายที่พระองค์ทรงพระราชนิพนธ์คือเพลง “เมนูไข่” เป็นเพลงแนวสนุกสนาน เนื้อร้องโดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานเป็นของขวัญวันพระราชสมภพครบ 72 พรรษา แด่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เมื่อปี 2538
ลำดับและรายชื่อ 47 เพลงพระราชนิพนธ์ คือ
1.แสงเทียน (Candlelight Blues) 2.ยามเย็น (Love at Sundown) 3.สายฝน (Falling Rain) 4.ใกล้รุ่ง (Near Dawn) 5.ชะตาชีวิต (H.M.Blues) 6.ดวงใจกับความรัก (Never Mind the Hungry Men’s Blues) 7.
มาร์ชราชวัลลภ (Royal Guards March) 8.อาทิตย์อับแสง (Blue Day) 9.เทวาพาคู่ฝัน (Dream of Love Dream of You) 10.คำหวาน (Sweet Words)
11.มหาจุฬาลงกรณ์ (Maha Chulalongkorn) 12.แก้วตาขวัญใจ (Love Light in My Heart) 13.พรปีใหม่ 14.รักคืนเรือน (Love Over Again) 15.ยามค่ำ (Twilight) 16.ยิ้มสู้ (Smiles) 17.มาร์ชธงไชยเฉลิมพล (The Colours March) 18.เมื่อโสมส่อง (I Never Dream) 19.ลมหนาว (Love in Spring) 20.ศุกร์สัญลักษณ์ (Friday Night Rag)
21.Oh I say 22.Can’t You Ever See 23.Lay Kram Goes Dixie 24.ค่ำแล้ว (Lullaby) 25.สายลม (I Think of You) 26.ไกลกังวล, When, เกิดเป็นไทยตายเพื่อไทย 27.แสงเดือน (Magic Beams) 28.ฝัน, Somewhere Somehow, เพลินภูพิงค์ 29.มาร์ชราชนาวิกโยธิน (Royal Marines March) 30.ภิรมย์รัก A Love Story (Kinari Suite)
31.Nature Waltz (Kinari Suite) 32.The Hunter (Kinari Suite) 33.Kinari Waltz (Kinari Suite) 34.แผ่นดินของเรา (Alexandra) 35.พระมหามงคล 36.เกษตรศาสตร์, ยูงทอง 37.ในดวงใจนิรันดร์ (Still on My Mind) 38.เตือนใจ (Old Fashioned Melody) 39.ไร้เดือน, ไร้จันทร์ (No Moon) 40.เกาะในฝัน (Dream Island)
41.แว่ว (Echo) 42.ความฝันอันสูงสุด (The Impossible Dream) 43.เราสู้ 44.เรา-เหล่าราบ 21 (We-Infantry Regiment 21) 45.Blues for Uthit 46.รัก 47.เมนูไข่
ทั้งเนื้อหาและทำนองเพลงอันหลากหลาย ของบทพระราชนิพนธ์ “ในหลวงรัชกาลที่เก้า” เปี่ยมท้นด้วยพระมหากรุณาธิคุณต่อพสกนิกรถ้วนหน้า ดังเช่น
เพลง “ยามเย็น” พระราชทานให้กับสมาคมปราบวัณโรค เพื่อนำออกแสดงเก็บเงินเพื่อการกุศล เพลง “ใกล้รุ่ง” ถูกบรรเลงเป็นปฐมฤกษ์ ในงานของสมาคมเลี้ยงไก่แห่งประเทศไทย เพลง “ยิ้มสู้” พระราชทานแก่โรงเรียนสอนคนตาบอด เพลง “ลมหนาว” พระราชทานให้งานประจำปี ของสมาคมนักเรียนเก่าอังกฤษในพระบรมราชูปถัมภ์ เพลง “พรปีใหม่” พระราชทานแด่พสกนิกรชาวไทยในวันปีใหม่ เพลง “เกิดเป็นไทยตายเพื่อไทย” เพลง “ความฝันอันสูงสุด” และเพลง “เราสู้” พระราชทานแก่ผู้ปฏิบัติหน้าที่เพื่อประเทศชาติ
ส่วน Kinari Suite นั้น “ในหลวงรัชกาลที่เก้า” พระราชทานใช้ประกอบการแสดงบัลเล่ต์ชุด“มโนราห์” ที่ประเทศออสเตรีย
ด้วย “ในหลวงรัชกาลที่เก้า” ทรงดนตรีได้ยอดเยี่ยม โดดเด่นจนเป็นที่ประจักษ์ต่อชาวโลก ยามพระองค์เสด็จประพาสยังประเทศต่างๆ ดังเช่น สหรัฐอเมริกาและฟิลิปปินส์ ได้ทรงดนตรีร่วมกับวงดนตรีของประเทศนั้นๆ ตามคำกราบบังคมทูลเชิญ โดยมิได้ทรงเตรียมพระองค์มาก่อน
แต่พระองค์ก็ทรงดนตรีเข้ากับนักดนตรีเหล่านั้นได้อย่างดี ดนตรีจึงกลายเป็นสะพานเชื่อมสัมพันธไมตรี เสริมสร้างมิตรภาพชาติไทยกับชาติอื่นได้อย่างลุ่มลึก
เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศออสเตรีย ในปี 2507 มีการแสดงดนตรีถวาย ณ
คอนเสิร์ตฮอลล์ กรุงเวียนนา โดยวงดุริยางค์ซิมโฟนี ออเคสตราแห่งกรุงเวียนนา ได้มีการอัญเชิญเพลงพระราชนิพนธ์ชุดมโนราห์ สายฝน ยามเย็น มาร์ชราชนาวิกโยธิน และมาร์ชราชวัลลภ ไปบรรเลง
เมื่อแต่ละเพลงจบลง ผู้ชมพากันปรบมือกึกก้องยาวนานไม่หยุด จนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ต้องทรงยืนขึ้น เพื่อรับการแสดงความชื่นชมยินดีทุกครั้ง โดยสถานีวิทยุเวียนนาได้กระจายเสียงเพลง และเสนอข่าวนี้ไปทั่วประเทศออสเตรีย
อีกสองวันต่อมา สถาบันดนตรีและศิลปะการแสดงแห่งกรุงเวียนนา (Die Akademie fur Musik und Darstellende Kunst in Wien) ได้ทูลเกล้าฯถวายประกาศนียบัตรชั้นสูงอันทรงเกียรติยิ่ง แด่ “ในหลวงรัชกาลที่เก้า” ทรงดำรงตำแหน่งสมาชิกกิตติมศักดิ์ หมายเลข 23 และได้จารึกพระปรมาภิไธยลงบนแผ่นหินอ่อน ของอาคารสถาบันเก่าแก่ของยุโรปแห่งนี้ เพื่อแสดงว่า “ในหลวงรัชกาลที่เก้า” ทรงมีพระอัจฉริยภาพอย่างยิ่งทางดนตรี
“ในหลวงรัชกาลที่เก้า” จึงเป็นชาวเอเชียบุคคลแรก ที่เป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ของสถาบันดนตรี ที่มีชื่อเสียงในระดับโลก ขณะที่พระองค์ทรงมีพระชนมพรรษาเพียง 37 พรรษาเท่านั้น..
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุยเดชฯ คือ กษัตริย์อัจฉริยะอันเป็นที่รักยิ่ง และเป็นความภาคภูมิใจของเหล่าพสกนิกร สมดังพระราชสมัญญา “อัครศิลปิน” ผู้ยิ่งใหญ่ของชาวไทยและชาวโลก