xs
xsm
sm
md
lg

หมานคร : รักรื่นรมย์ อารมณ์ดี ประหลาดโลก

เผยแพร่:   โดย: อภินันท์ บุญเรืองพะเนา


คอลัมน์ : คนดูหนังไทย
__________________________________


“บางสิ่งยิ่งค้นหาก็ยิ่งไม่พบ
แต่ถ้าเราลองหยุดค้นหา และอยู่เฉยๆ
มันจะออกมาหาเราเอง”

...ในการรับรู้เมื่อแรกเริ่มแนะนำตัวกับผลงานชิ้นแรก “วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง” เป็นคนที่ทำหนังได้สนุก แต่ในเชิงความผูกพัน สิ่งที่สะท้อนออกมาผ่านผลงานของผู้กำกับคนนี้ที่เราจะเห็นได้เด่นชัด เป็นความรู้สึกนึกประหวัดถึงอดีตกาลที่ผ่านพ้น ชีวิตชีวาในคืนวันอันเก่าก่อนเปรียบเสมือนซูเปอร์มาร์เก็ตแห่งวันวานซึ่งเต็มไปด้วยของเก่าโบราณที่เขาไปหยิบมาใช้สอยได้อย่างมีสีสัน ผลงานภาพยนตร์ของเขา ไล่ตั้งแต่ “ฟ้าทะลายโจร” มาจนกระทั่ง “หมานคร” หรือแม้แต่ “อินทรีแดง” ล้วนโยงใยผูกติดกับสีสันชีวิตและวัฒนธรรมที่เคยแวววาวอยู่ในวันวาน และเขาก็นำเอาสิ่งเหล่านั้นมาเล่าผ่านรูปแบบวิธีการใหม่ได้อย่างลงตัวและงดงาม

กล่าวอย่างรวบรัดที่สุด สำหรับผู้ที่ติดตามผลงานของวิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง มาตั้งแต่ยุคเริ่มทำหนังใหญ่อย่างฟ้าทะลายโจร การย้อมสีของหนังให้มีสีสันฉูดฉาดจัดจ้าน คือเสน่ห์แรกๆ ที่สามารถหยุดพักสายตาของเราให้จ้องดูอยู่กับหนังได้ เทคนิคแบบนี้ถูกนำมาใช้อีกครั้งใน “หมานคร” (ขณะที่ “แหยม ยโสธร” เพ็ชรทาย วงษ์คำเหลา หรือ หม่ำ จ๊กมก ก็นำเทคนิคแบบนี้มาใช้เช่นกัน) แต่ไม่ว่าจะอย่างไร อารมณ์โดยรวมที่ได้ มันให้ความรู้สึกแบบถวิลหาคืนวันเก่าก่อน เหมือนได้หวนสู่วันชื่นคืนสุขเมื่อครั้งอดีต เหมือนภาพชีวิตในวันวานกลับมาโลดแล่นมีชีวิตชีวาอีกคราครั้ง

นอกจากนั้นแล้ว “หมานคร” ยังคับคั่งด้วยรายละเอียดแวดล้อมที่เป็นบรรยากาศแห่งวันวาน ภาพฝาบ้านที่เป็นภาพดารานักแสดงยุคโน้นอย่างมิตร ชัยบัญชา และเพชรา เชาวราษฎร์, เสื้อสกรีนยาบวดหาย (สุดยอดยาแก้ปวดในอดีต) ภาพโฆษณาสุราแม่โขงซึ่งมีศิลปินนั่งวาดภาพเหมือนหนุ่มสาวคู่หนึ่ง (ภาพแบบนี้มักจะพบเห็นได้ตามร้านอาหารทั่วไป), ภาพโปสเตอร์โฆษณาประเวศร์ยิม สถานที่ออกกำลังกายกายที่ผูกพันกับคนกรุงเทพฯ มาเนิ่นนาน (การโฆษณาของสถานที่นี้ก็แปลกมาก เพราะเรามักจะพบเห็นมันติดอยู่ตามเสาไฟฟ้า), นิตยสาร ดารารีวิว, วิทยุทรานซิสเตอร์ และยังมีบทเพลงอย่าง “ไม่อยากจากเธอ” ของครูเอื้อ สุนทรสนาน และความหลังอีกมากมายที่ถูกนำมาใส่ไว้ในหนังเรื่องนี้อย่างมีสีสัน ไม่เว้นกระทั่งรูปท่านประธานเหมา เจ๋อตุง

ขณะเดียวกัน ในฐานะของการเป็นหนังเรื่องหนึ่ง และเป็นหนังในแนวทางตลก “หมานคร” ก็ได้แสดงความทรงจำอันเลอค่าชิ้นหนึ่งออกมาแบบที่ว่าถ้าใครรู้จักหรือเคยรับชมมาก่อน จะสะดุดตามากกับฉากสั้นๆ ที่นางเอกของเรื่องนั่งรถไฟเข้ากรุงเทพฯ บนผนังตู้รถไฟด้านหลังเบาะนั่งของเธอ ติดโปสเตอร์หนังเรื่อง “อยากเปนดารา” (การสะกดคำว่า “เปน” แทนที่จะ “เป็น” แบบมีไม้ไต่คู้ ก็บ่งบอกถึงความเก่าหรือวันวานได้แบบหนึ่ง) ซึ่งเป็นผลงานการแสดงของสองดาราหนังตลกที่ได้รับหยิบยกคารวะในสถานะแห่ง “จีเนียส” หรืออัจฉริยะแห่งโลกภาพยนตร์ที่สร้างรอยยิ้มเสียงหัวเราะให้กับคนดูหนังในยุคเก่าก่อน “สแตน ลอเรล” และ “โอลิวเวอร์ ฮาร์ดี้” คู่หูดูโอที่ได้รับการจดจำและเรียกขานกันในนาม “ลอเรลและฮาร์ดี้”

strong>ก็จะนึกถึงหน้าตาของลอเรลและฮาร์ดี้ที่คนหนึ่งมาพร้อมกับความผอม อีกคนก็ร่างท้วม สมัยหนังกลางแปลงเฟื่องฟู งานของพวกเขามักถูกนำไปฉายและใส่เสียงพากย์แบบตามใจคนพากย์ แต่ถึงอย่างนั้น เอกลักษณ์ของพวกเขาก็ไม่ถูกบดบังด้วยเสียงพากย์ เพราะเพียงแค่ได้ดูลักษณะการกระทำของตัวละครของพวกเขา ก็เรียกความตลกขบขันได้แล้วโดยบางทีอาจไม่จำเป็นต้องมีบทพูด หนังของลอเรลและฮาร์ดี้ มีทั้งหนังยาวและหนังสั้น ถือว่าเป็นตำนานอีกหนึ่งหน้าของโลกภาพยนตร์และเป็นต้นแบบทางด้านตลกที่หลายคนหยิบยกเอารูปแบบและสไตล์ของพวกเขามาใช้กันจนเกร่อในเวลาต่อมา และการนำโปสเตอร์หนังของพวกเขามาแปะไว้ใน “หมานคร” ก็กวาดต้อนเอาความรุ่งเรืองของพวกเขายุคนั้นให้กลับเข้ามาสู่ความทรงจำอีกครั้งหนึ่ง

“รุ่มรวยความทรงจำ” และหยิบฉวยมาใช้สอยแบบไม่รุงรัง เราอาจจะกล่าวแบบนั้นได้กับหนังเรื่องนี้ที่ออกสตาร์ทด้วยเรื่องของ “ป๊อด” (มหาสมุทร บุณยรักษ์) หนุ่มบ้านนอกที่ไม่มีความฝันใดๆ ในชีวิต เขาเดินทางเข้ากรุงเทพฯ พร้อมกับคำพูดของยายว่าวันใดก็ตามที่เขาได้งานทำในกรุงเทพฯ เขาจะมีหางงอกออกมา และป๊อดก็คงจะมีชีวิตแบบลอยชายลอยไปลอยมาอย่างนั้นไปเรื่อย ถ้าเขาไม่ได้พบกับ “จิน” (แสงทอง เกตุอู่ทอง) สาวบ้านนอกเหมือนกันกับป๊อด

แต่ในขณะที่ป๊อดคิดถึงการมีหาง จินกลับหาทางที่จะทำความฝันซึ่งมีอยู่เปี่ยมล้นของตนให้สำเร็จ ตอนเธออยู่ต่างจังหวัด มีหนังสือเล่มหนึ่งตกมาจากเครื่องบินและจินก็คิดว่ามันตกมาเพื่อเธอโดยเฉพาะ เธอพยายามอ่านหนังสือเล่มนั้นแต่ก็อ่านไม่ออก เธอหวังว่าการเดินทางเข้ากรุงเทพฯ จะทำให้เธอได้พบกับใครสักคนที่สามารถบอกความหมายในหนังสือเล่มนั้น “หมานคร” ให้ตัวละครสองตัวนี้เป็นตัวหลักในการดำเนินเรื่อง พร้อมกับแทรกเรื่องราวของอีกหลากหลายตัวละครเข้ามา คล้ายกับเป็น “เรื่องสั้น” ที่ซ้อนอยู่ในเรื่องยาว ไม่ว่าจะเป็น “คงเดช มอเตอร์ไซค์ผี”, “ยอด เพื่อนร่วมนิ้ว”, “หมวย ธิดาจักรพรรดิ์”, “น้องแหม่ม เด็กหญิงหรือหญิงสาว”, “ธงชัย ตุ๊กตาหมีที่ต้องพบกับเรื่องเศร้า” ไปจนกระทั่ง “ติ๊ก” ชายหนุ่มผู้เลียทุกอย่างที่ขวางหน้า (ไม่เว้นกระทั่งใบหน้าของคน!) อย่างไรก็ดี เรื่องราวของทั้งหมด ผ่านการร้อยเรียงมาอย่างเป็นเอกภาพและส่งสะท้อนย้อนกลับกันไปมาในประเด็นเนื้อหาอันเป็นแกนของหนัง

strong> “เมจิคัล เรียลิสม์” (Magical Realism) หรือ “สัจจะนิยมมหัศจรรย์” ที่ส่งผลให้ตัวเรื่องและองค์ประกอบต่างๆ ดู “เซอร์เรียล” หรือเหนือจริง ซึ่งอันที่จริง เพียงได้เห็นการใช้ “สี” ของหนัง ก็เหมือนหนังได้ทำสัญญาทางวรรณกรรมไว้กับคนดูผู้ชมตั้งแต่แรกเริ่มแล้วว่า เรื่องที่คุณจะได้สัมผัสถัดจากนี้ อาจดูแตกต่างไปจากความรับรู้ในเชิงความจริง ซึ่งก็คือความเหนือจริง “หมานคร” เป็นหนึ่งในผลงานยุคแรกๆ ที่คำว่า “หนังแนว” กำลังได้รับการกล่าวถึง เช่นเดียวกับเพลงแนวๆ ชื่อของตัวละครอย่าง “ป๊อด” ก็อ้างอิงอย่างชัดเจนถึงศิลปินนักร้องขวัญใจเด็กแนวยุคเบ่งบาน คือ ป๊อด โมเดิร์นด็อก (ที่หนังก็หยิบเอาเพลง “ก่อน” ที่คัฟเวอร์โดยโมเดิร์นด็อกมาประกอบ) และมีการวิเคราะห์ที่น่าสนใจต่อไปอีกว่า ชื่อของ “จิน” นั้น อาจมาจาก “จินตหรา” ซึ่งเป็นชื่อของนักร้องลูกทุ่งหมอลำชื่อดัง (จินตหรา พูนลาภ) และการมาพบกันระหว่าง “ป๊อด” กับ “จิน” ก็เหมือนกับการเลื่อนไหลถ่ายรวมระหว่างวัฒนธรรม “เมืองกับชนบท” หรือระหว่างสิ่งที่ไม่เคยคิดว่าจะไปด้วยกันได้ก็ถูกจับมามัดรวม เป็นการผสมข้ามวัฒนธรรม (Cross-Cultural) สิ่งนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกในเวลาต่อมา เพราะเราจะเห็นว่า “เบิร์ด-ธงไชย แม็คอินไตย” ยังเคยร้องเพลงร่วมกับ “จินตหรา พูนลาภ” หรือ “บอดี้สแลม” ร้องร่วมกับ “ศิริพร อำไพพงษ์”

ไม่ว่าจะอย่างไร ถึงแม้จะไม่ประสบความสำเร็จด้านรายรับในช่วงที่ออกฉาย แต่หนังเรื่องนี้ก็เหมือนหนังอินดี้หนังแนวในยุคนั้นหลายต่อหลายเรื่องซึ่งไปฟูเฟื่องได้รับคำชมในตลาดนอกประเทศ โดยเฉพาะเทศกาลหนังต่างๆ หรือแม้กระทั่งได้รับการจัดอันดับให้ติดหนึ่งในลิสต์ 10 หนังยอดเยี่ยมแห่งปีของนิตยสารไทม์ในปีนั้น แต่เหนืออื่นใด ต้องยอมรับว่า “หมานคร” นั้นไม่สามารถตัดสินด้วยรายรับ เพราะคุณภาพของหนังนั้นก็คงจะเหมือนหลายสิ่งหลายอย่างที่วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง หยิบมาใส่ไว้ในหนังของเขา คือคุณค่าความทรงจำที่อยู่เหนือกาลเวลา ทั้งในแง่องค์ประกอบไปจนถึงเนื้อหาสาระที่หนังนำเสนอ

ท่ามกลางสีสันที่ฉูดฉาดและเรื่องเล่าประหลาดๆ พิสดาร “หมานคร” เป็นหนังที่ครบรสความบันเทิง ทั้งความสุขความเศร้าและความน่าขบขัน อีกทั้งการแสดงของตัวละครทุกตัวก็ดูน่าขบขัน การแสดงแข็งๆ ที่วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง หยิบยืมมาจากหนังของ “อากิ เคาริสมากิ” (ผู้กำกับชาวฟินแลนด์) กลายเป็นเสน่ห์แห่งความตลกหน้าตายได้อย่างน่าขัน ส่วนตัวเรื่อง จริงๆ แล้วมันก็คือเลิฟสตอรี่ที่อบอวลด้วยมวลบรรยากาศแห่งความเหงาและค้นหา ดูเหมือนเลื่อยลอยแต่มีหลัก โดยส่วนตัว ผมเห็นว่ามันเป็นเรื่องราวน่ารักๆ เรื่องราวหนึ่งซึ่งต่อให้ไม่คิดอะไร ก็รื่นรมย์ไปกับหนังได้ แต่ความแยบยลแยบคายของหนังก็คือยังมีพื้นที่สำหรับคนที่ชอบคิดชอบตีความไว้อย่างครบครัน เชื่อว่าคนที่ได้ดูหนังเรื่องนี้ คงต้องมีคำถามเกิดขึ้นเหมือนๆ กันว่าตรงนั้นตรงนี้หมายถึงอะไร

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องการมีหางของป๊อด ตามคำทำนายของยายที่ว่าเมื่อเขาเข้ากรุงเทพฯแล้วมีงานทำ เขาจะมีหางงอกออกมาที่ก้น จำได้ว่าตอนที่หนังเรื่องนี้เข้าฉาย มีการพยายามอธิบายจากคนดูจำนวนไม่น้อยว่าหางนั้นหมายถึงอะไร ผมว่านี่คือความยอดเยี่ยมของภาพยนตร์ที่สามารถเล่นกับคนดูได้ และจริงๆ ก็ไม่ปิดกั้นโอกาสในการทำความเข้าใจในแง่มุมหนังต่างๆ กันไป สุดแท้แต่ใครจะตีความ แต่ก็เหมือนกับที่หนังเกริ่นไว้ในตอนต้นก่อนเปิดเรื่อง บางสิ่งบางอย่างยิ่งค้นหาก็ยิ่งไม่พบ ต่อเมื่อหยุดค้นหา มันจะออกมาหาเราเอง การดูหนังเรื่องนี้ก็คงไม่ต่างไปจากนั้น ปล่อยใจไปกับเรื่อง และเอ็นจอยไปกับมัน แล้วเราอาจจะพบว่า เนื้อหาที่หนังนำเสนอนั้น มันยอดเยี่ยมมาก

**หมายเหตุ : คำว่า “หนังรักรื่นรมย์ อารมณ์ดี ประหลาดโลก” เป็นคำที่วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง ให้นิยามแก่หนังเรื่องนี้ของเขา








ติดตามรับชมช่อง “Super บันเทิง” ได้ที่ Super บันเทิง live

ข่าวบันเทิง, ถูกต้อง, รวดเร็วฉับไว ทั้งไทย และเทศ http://www.superent.co.th

ติดตามความเคลื่อนไหวอินสตาแกรมดาราทั้งไทยและเทศตลอด 24 ชั่วโมงได้ที่ ซูเปอร์สตาแกรม
กำลังโหลดความคิดเห็น