เมื่อช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ เกิดวิกฤติเศรษฐกิจขึ้นทั่วโลก พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงมีพระราชดำริจะจัดงานแสดงสินค้าระดับนานาชาติขึ้นเป็นครั้งแรกของประเทศไทย ด้วยพระราชประสงค์จะเปิดหูเปิดตาประชาชนให้ได้เห็นสินค้าจากต่างประเทศที่ตนอาจทำเองได้บ้าง ไม่ต้องสั่งซื้อเข้ามา และโชว์สินค้าไทยให้ชาวต่างประเทศได้เห็น เมื่อมีการซื้อขายกันก็จะทำให้เกิดกระแสการเงินหมุนเวียน ช่วยแก้ปัญหาเศรษฐกิจ
สถานที่จัดงานจะต้องเป็นสถานที่กว้างขวาง ตอนนั้นรัฐบาลก็ไม่มีเงินจะซื้อ จึงพระราชทานที่ดินส่วนพระองค์ที่ทุ่งศาลาแดง ๓๖๐ ไร่ ให้เป็นสมบัติของชาติ เพื่อจัดงานนี้ในฤดูหนาวปี ๒๔๖๘ เรียกว่า “งานสยามรัฐพิพิธภัณฑ์” ทั้งยังเป็นการเฉลิมฉลองที่ทรงครองราชย์ครบ ๑๕ ปีเท่ารัชกาลที่ ๒ ด้วย พระราชทานนามสถานที่แห่งนี้ว่า “สวนลุมพินี” ตามชื่อ “อุทยานลุมพินี” สถานที่ประสูติพระพุทธองค์
อีกทั้งยังทรงมีพระราชประสงค์ว่า เมื่อเสร็จงานนี้แล้ว สถานที่นี้จะเป็นอุทยานที่สวยงามแห่งหนึ่งของพระนคร เป็นรมณียสถานสำหรับประชาชนเตร็ดเตร่หย่อนใจในยามว่าง
ขณะที่การเตรียมงานต่างๆกำลังดำเนินไปด้วยดี มีการขุดสระน้ำขนาดใหญ่นำดินขึ้นถมที่ มีเกาะลอยอยู่กลางน้ำ บนเกาะก็ปลูกพันธุ์ไม้พื้นเมืองจากทุกภาคของประเทศ ร้านค้าของทางราชการและเอกชนก็ใกล้เสร็จ รวมทั้งวางรางรถรางจากถนนเจริญกรุง เลียบคลองสีลม ผ่านสวนลุมพินีไปสุดที่ประตูน้ำ อำนวยความสะดวกแก่ผู้มาชมงาน แต่แล้วประชาชนชาวไทยก็หัวใจสลาย เมื่อองค์ผู้ให้กำเนิดสวนลุมพินีได้เสด็จสวรรคตในวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๔๖๘ ความห่อเหี่ยวหัวใจทำให้ “งานสยามรัฐพิพิธภัณฑ์” ที่มีกำหนดเปิดในวันที่ ๑ มกราคมนั้น ต้องล่มสลายลงไม่มีโอกาสได้เปิด
เมื่อสิ่งก่อสร้างสำหรับงานถูกรื้อถอนออกไป สวนลุมพินีถูกทิ้งให้เป็นพงรก จนในปี ๒๔๗๒ นายพลตำรวจตรี พระยาคทาธรสีหราชบาลเมือง (เทียบ อัศวรักษ์) อดีตจเรตำรวจ ข้าราชบริพารใกล้ชิด ร.๖ ก็ขอเช่าพื้นที่ ๙๐ ไร่จากกรมโยธาเทศบาล จัดทำเป็นสวนสนุก เริ่มตั้งแต่หัวค่ำไปจนดึก มีเครื่องเล่นต่างๆ เช่น ชิงช้าสวรรค์ ม้าหมุน ลานสเก็ต มีการพนันประเภท ๒ ที่ยังไม่ต้องห้ามในยุคนั้น เช่น บิงโก ยิงเป้า ตกเบ็ด ฯลฯ มีโรงละครและหนังกลางแปลงที่ขับรถเข้าไปจอดดูได้แบบ Drive in ของฝรั่ง มีโรงเต้นรำชื่อ “บลูฮอลล์” สั่งโชว์และนักดนตรีจากต่างประเทศมาแสดง บางวันก็มีการแข่งขันชกมวยและฟุตบอล สั่งทีมต่างประเทศมาแข่งกับทีมไทย โดยเก็บค่าผ่านประตูสวนสนุก ๑๐ สตางค์ ค่าเข้าชมฟุตบอล ๒๕ สตางค์
แต่เปิดอยู่ได้ไม่นาน สวนลุมพินีก็ถูกทิ้งให้ร้างอีกครั้ง จนเป็นที่เกิดฆาตกรรมขึ้นบ่อยๆ ต่อมาในปี ๒๔๗๘ ม.ล.กรี เดชาติวงศ์ นายช่างชั้น ๑ กองช่างนคราธร จึงเข้าปรับปรุงให้เป็นสวนสาธารณะ ติดต่อนายโอวบุ้นโฮ้ว เศรษฐีใหญ่ของสิงคโปร์ให้ช่วยสร้างสนามกีฬาสำหรับเด็กขึ้น และจัดตั้งสวนเพาะชำขยายพันธุ์ไม้สำหรับตกแต่งกรุงเทพฯ
จากนั้นสวนลุมพินีก็เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชนตลอดมา และเป็นที่จัดงานระดับชาติเช่นงานฉลองรัฐธรรมนูญ ประกวดนางสาวไทย มีการวางรางรถไฟเล็กพาผู้โดยสารชมรอบบริเวณงาน รวมทั้งเป็นที่จัดงานลอยกระทง งานวันเด็ก และจัดรายการโชว์จากต่างประเทศ ซึ่งวงดนตรีซาเวียร์ คูกัต ขณะกำลังโด่งดังก็เคยมาเปิดแสดงกลางแจ้งที่สวนลุมฯ มีเวทีลีลาศสำหรับจัดงานบอลล์ และมีรายการให้ประชาชนซ้อมเท้าสัปดาห์ละครั้ง ซึ่งครูเอื้อ สุนทรสนาน หรือ “สุนทราภรณ์” ขุนพลเพลงแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ผู้เป็นเจ้าเวทีนี้ ก็ยังมีอนุสาวรีย์อยู่หน้าอาคารลีลาศสวนลุมพินี และมีเสียงเพลงสุนทราภรณ์บรรเลงเบาๆทั่วสวนในปัจจุบัน
ยามแดดร่มลมตก สวนลุมพินีจะคึกคักด้วยผู้คนมารับลมเย็น โดยเฉพาะบริเวณริมสระน้ำจะมีเสื่อและเตียงผ้าใบให้เช่า ตอนหลังมีพัฒนาเป็นแบบนอนได้ ๒ คน แนบชิดได้บรรยากาศยิ่งขึ้น ส่วนอาหารว่างที่ขึ้นหน้าขึ้นตาในยุคนั้นก็คือ ปลาหมึกย่าง เมี่ยงคำ และส้มตำ
แต่ก่อนริมสระน้ำด้านถนนวิทยุ จะมีร้านอาหารดังชื่อ “ศรีไทยเดิม” ลูกค้าที่ขับรถมามักจะไม่เข้านั่งในร้าน เสยหัวรถเข้าริมสระฝั่งตรงข้ามถนนของร้าน มีบริการส่งอาหารเครื่องดื่มถึงรถ โดยมีถาดติดขาเสียบเข้าที่ประตูรถเปิดกระจกแทนโต๊ะ ต่อมาร้านศรีไทยเดิมถูกย้ายไปชิดรั้วด้านถนนพระราม ๔ เปิดขายตั้งแต่ ๐๔.๓๐ น.ถึง ๑๐.๐๐ น.บริการผู้มาออกกำลังกายตอนเช้า ปัจจุบันเลิกไปแล้ว กลายเป็นศูนย์อาหารที่เปิดบริการอาหารสุขภาพสำหรับผู้มาออกกำลังตอนเช้าเช่นกัน
สวนลุมพินีเคยมีภัตตาคารที่โด่งดังสนั่นเมืองอีกแห่งหนึ่ง เป็นภัตตาคารอาหารจีนขนาดใหญ่ สร้างเป็นรูปเรืออยู่กลางน้ำใกล้เกาะลอย แม้จะมีสะพานสั้นๆเชื่อมกับฝั่ง แต่ทางภัตตาคารก็มีบริการรับส่งทางเรือแจว นัยว่าให้ได้บรรยากาศเหมือนภัตตาคารที่อ่าวอาเบอร์ดีนในฮ่องกง แต่ที่โด่งดังกว่าไอเดียนี้ก็คือศิลปะที่ใช้ตกแต่ง
ภัตตาคารนี้มีชื่อภาษาอังกฤษว่า “Peninsula” แต่ชื่อภาษาไทยคือ “กินรีนาวา” จึงทำเป็นรูปนางกินรีครึ่งตัวเชิดหน้าเป็นหัวเรือ ที่ดังก็เพราะนางกินรีไม่ได้เชิดแค่หน้า แต่ยื่นถัน ๒ เต้าเปลือยเปล่าให้เป็นจุดสะดุดตา เลยเกิดข้อวิจารณ์กันทั้งเมือง และเป็นข่าวพาดหัว นสพ.อยู่หลายวัน ว่าเป็นศิลปะหรืออนาจารกันแน่ บางคนตั้งฉายให้ว่า “ภัตตาคารจ้ำบ๊ะ”
เมื่อเป็นข่าวเกรียวกราว ภัตตาคารก็เอาผ้ามาคลุมถันไว้กันอุจาด แต่ก็เป็นผ้าบางมองได้ทะลุปรุโปร่ง เสียงเรียกร้องจึงให้รื้อออกสถานเดียว แต่ก็ไม่สามารถบังคับภัตตาคารได้ เพราะคณะเทศมนตรีเทศบาลนครกรุงเทพฯ ได้เซ็นสัญญาให้บริษัทประสิทธิ์สิน จำกัด เจ้าของคิงส์โฮเตล เช่าที่เดือนละ ๖,๐๐๐ บาทตั้งแต่ปี ๒๕๐๔ เป็นเวลา ๒๐ ปี ทั้งอนุมัติรูปนางกินรีแอ่นอกที่หัวเรือไว้ด้วย
นอกจากนี้ “กินรีนาวา” ยังถูกโจมตีว่าเป็นต้นเหตุทำให้น้ำในสระสวนลุมฯเน่าส่งกลิ่นเหม็น เพราะเทเศษอาหารลงน้ำ นายแพทย์บุญส่ง เลขะกุล เขียนลงใน นสพ.ว่า ขับรถผ่านสวนลุมฯก็ได้กลิ่นแล้ว และส่งกลิ่นไปรบกวนคนไข้ถึงใน ร.พ.จุฬาฯ ภัตตาคารก็ปฏิเสธว่าไม่ได้เป็นต้นเหตุ
แต่แล้วปัญญาที่สะสางกันไม่ออกนี้ก็ยุติลงได้ราวปาฏิหาริย์ เมื่อไฟไหม้กินรีนาวาวอดไปทั้งลำ โดยต้นเพลิงเกิดจากห้องครัวของภัตตาคารเอง
ภัตตาคารแบบอาเบอร์ดีนและกินรีจ้ำบ๊ะ จึงเหลือเป็นเพียงตำนานหนึ่งของสวนลุมพินี
ปัจจุบันถ้าพูดถึงสวนลุมพินี คนจะนึกถึงการออกกำลังกายเป็นอันดับแรก สวนลุมฯได้กลายเป็นสวนสุขภาพอย่างแท้จริง ห้ามรถเข้า ห้ามสูบบุหรี่ ห้ามขายอาหาร มีแต่ซุ้มเครื่องดื่มและของว่าง เปิดตั้งแต่ ๐๔.๓๐ น.ถึง ๒๑.๐๐ น. มีคนไปพักผ่อนและออกกำลังกายกันทั้งวัน
วันก่อนมีโอกาสไปรำลึกความหลังในสวนลุมฯอีกครั้ง เสื่อให้เช่ายังมีอยู่ แต่เก้าอี้ผ้าใบ ปลาหมึกย่างและเมี่ยงคำไม่มีแล้ว นึกเสียดายบรรยากาศที่เคยประทับใจ นอนเคี้ยวปลาหมึกย่างบนเตียงผ้าใบคู่กับคนถูกใจ กลิ่นปลาหมึกย่างเคล้ากลิ่นน้ำหอมของคนข้างกาย ได้บรรยากาศไปอีกแบบ
กลิ่น รส บรรยากาศแบบนี้ หาที่ไหนไม่ได้จริงๆ นอกจากสวนลุมฯในยุคนั้น