ธุรกิจเพลงฟื้นคืนชีพ “แกรมมี่” วางหมากถูกทางลงล็อกแบ่งค่ายเพลง ต่อยอดรายได้ในดิจิตอล ดันคอนเสิร์ตครึ่งปีหลังทะลัก หวังรายได้ทั้งปีไปได้สวย ตามไตรมาสแรกที่ทำได้กว่า 1,005 ล้านบาท
นายกริช ทอมมัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานจีเอ็มเอ็ม มิวสิค บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่บริษัทได้มีการปรับโครงสร้างธุรกิจเพลงจากมิวสิกบิสิเนส สู่ไอดอลบิสิเนส ในการสร้างรายได้ให้ครอบคลุมแบบ 360 องศาผ่านกลยุทธ์หลายด้าน เน้นให้ความสำคัญต่อการหารายได้ผ่านตัวศิลปินมากขึ้น จำแนกค่ายเพลงตามแนวเพลงให้ชัดเจนขึ้นกับ 6 ค่ายเพลง และการต่อยอดรายได้ในสื่อดิจิตอล
“ปัจจุบันการหารายได้จากศิลปินคนหนึ่งจะมาจากช่องทางหลัก คือ เพลง คอนเสิร์ต พรีเซ็นเตอร์ และเมอร์ชันไดซิ่ง ส่วนเพลงจะพัฒนาให้สอดคล้องกับช่องทางของผู้บริโภคแต่ละกลุ่ม ซึ่งปัจจุบันเพลงของแกรมมี่ก็ยังครองตลาดด้วยส่วนแบ่งกว่า 70% และเป็นที่น่ายินดีว่าตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาผลงานเพลงและศิลปินของแกรมมี่สามารถกวาดรางวัลสำคัญๆ จากเวทีต่างๆ ได้อย่างมากมาย มียอดการรับชมผ่านยูทิวบ์สูงมาก ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเพลงของแกรมมี่ยังเป็นที่ชื่นชอบของคนฟัง และสามารถครองตลาดในฐานะผู้นำได้อย่างเหนียวแน่น”
ดังนั้น แผนการดำเนินงานช่วงครึ่งปีหลังนี้จะมุ่งเน้นการขยายตัวของธุรกิจเพลง แกรมมี่ต่อยอดธุรกิจเพลงอย่างครบวงจร โดยเฉพาะการขยายช่องทางรายได้ใหม่ๆ เข้ามาเสริม เช่น การให้บริการมิวสิกสตรีมมิ่งร่วมกับเอไอเอส ภายใต้บริการ KKBOX การเข้าร่วมเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับยูทิวบ์ไทยแลนด์ โดยปัจจุบันแกรมมี่มีช่องอยู่ในยูทิวบ์ไทยแลนด์ทั้งสิ้น 53 ช่อง มีสมาชิกกว่า 5 ล้านสมาชิก และในแต่ละเดือนมีผู้รับชมคลิบจากช่องต่างๆ ของแกรมมี่กว่า 100 ล้านวิว ที่สำคัญบริษัทมียอดวิวและจำนวนสินค้าที่เข้ามาลงโฆษณาผ่านช่องจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ในยูทิวบ์ในอัตราการเติบโตที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วย
นอกจากนี้ ในส่วนของโชว์บิซนั้น จากที่มีแนวโน้มดีขึ้นตั้งแต่ต้นปี ในครึ่งปีหลังจะมีอีกหลายคอนเสิร์ต เช่น คอนเสิร์ตของวงบอดี้สแลม, 25Hours, บิ๊กแอส, โปเตโต้ หรือการแบตเทิลกันของศิลปินต่างค่าย ภายใต้ชื่อคอนเสิร์ต Band on the run จิ้มไหล่ เฟสติวัล 2, คอนเสิร์ต 20 ปี แกรมมี่โกลด์ และปิดท้ายด้วยเทศกาลดนตรีระดับประเทศ บิ๊กเมาน์เท่น มิวสิค เฟสติวัล 7 ที่คาดว่าจะมีผู้เข้าชมงานนี้กว่า 5 หมื่นคน
ส่วนธุรกิจคอนเสิร์ตฮอลล์ กับ “เมืองไทย จีเอ็มเอ็ม ไลฟ์ เฮ้าส์” ครึ่งปีหลัง ลูกค้าได้จองสถานที่มาแล้วเกือบ 80% โดยงานส่วนใหญ่ยังเป็นคอนเสิร์ต และปาร์ตี้อีเวนต์เป็นหลัก
นายกริชกล่าวสรุปว่า จากแผนการดำเนินงานที่วางไว้ มั่นใจว่าผลการดำเนินงานกลุ่มธุรกิจเพลงจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านรายได้และผลกำไร โดยเฉพาะการเติบโตของรายได้จากช่องทางใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นยูทิวบ์ หรือคอนเสิร์ตฮอลล์ ที่จะส่งผลให้ไตรมาสสองนี้น่าจะมีผลกำไรที่ดีเช่นเดียวกับไตรมาสแรกของปีนี้
โดยตัวเลขรายได้จากธุรกิจเพลงในช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมามีกำไรกว่า 400 ล้านบาท จากรายได้รวมที่มีมูลค่าสูงถึง 1,005 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2557 ที่ทำรายได้รวมอยู่ที่ 652 ล้านบาท