xs
xsm
sm
md
lg

จับตาคิวต่อไป “อากู๋” จะตัดขายธุรกิจอะไร?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

“อากู๋-ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม” ประธานกรรมการ บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) [แฟ้มภาพ]
มีกระแสข่าวมาเป็นระยะก่อนหน้านี้แล้วว่า “อากู๋-ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม” ประธานกรรมการ บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) จะตัดขายทิ้งธุรกิจสิ่งพิมพ์นิตยสาร และในที่สุดก็เป็นจริง!

ไม่ใช่เรื่องเซอร์ไพรส์เท่าใดนัก เพราะคนที่ช่ำชองเกมธุรกิจสื่ออย่าง “อากู๋” ก็ไม่ต่างจากคนที่อยู่ในวงการสื่อด้วยกันที่ย่อมรู้ดีว่า สื่อสิ่งพิมพ์ หรือแมกกาซีนเป็นสื่อเก่าที่มีแต่วัน “ทรงกับทรุด” ต่างจากสื่อใหม่ๆ ทั้งทีวีดาวเทียม, เพย์ทีวี, ทีวีออนไลน์ หรือทีวีดิจิตอล รวมทั้งสื่อออนไลน์ที่เป็นสื่อใหม่และถือเป็นสื่อดาวรุ่งที่มีแต่ “โตกับโต”

“เพราะแกรมมี่ต้องการโฟกัสและเน้นทำธุรกิจหลัก คือ ธุรกิจเพลง ธุรกิจโทรทัศน์ และธุรกิจภาพยนตร์ ส่วนธุรกิจที่ไม่ใช่ธุรกิจหลักจะพยายามหาผู้ที่มีความพร้อมมาลงทุนเพื่อไปบริหารต่อ หรือนำไปต่อยอดธุรกิจของเขา”

นี่คือเหตุผลที่ชัดเจนจากปากของ “ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม” ในการขายธุรกิจนิตยสารครั้งนี้ รวมถึงอีกหลายธุรกิจที่ขายไปแล้วก่อนหน้านี้!

ทั้งนี้ “ธุรกิจเพลง” ยังคงเป็นบ่อทองบ่อใหญ่ของ “จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่” ที่เป็นรายได้หลักสัดส่วนมากกว่า 30-40% ของรายได้รวม ส่วนทีวีดิจิตอลยังเพิ่งเริ่มและยังไม่สามารถทำเงินให้ได้ ซึ่ง “จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่” ก็รู้อยู่แล้วโดยวางช่วงขาดทุนไว้กว่า 2 ปี

ก่อนหน้านี้ “จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่” ก็จัดจำหน่ายธุรกิจโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก หรือ “เพย์-ทีวี” ออกไปให้ “ซีทีเอช” เข้ามารับช่วงต่อ รวมทั้งการขายหุ้นจำนวนหนึ่งใน บริษัท ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด (มหาชน) ด้วย

“ฟ้าใหม่ ดำรงชัยธรรม” ประธานเจ้าหน้าที่ ปฏิบัติการ กลุ่มงานแพลตฟอร์ม บริษัท จีเอ็มเอ็ม แซท จำกัด บริษัทในเครือ บมจ.จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ (GRAMMY) กล่าวเกี่ยวกับการขายธุรกิจเพย์ทีวีในครั้งนั้นว่า GRAMMY และ CTH ลงนามในสัญญาข้อตกลงรวม บริษัท จีเอ็มเอ็ม บี จำกัด (GMM B) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ GRAMMY ที่ทำธุรกิจเพย์ทีวี กับ บริษัท ซีทีเอช แอล ซี โอ จำกัด โดย “ซีทีเอช แอล ซีโอ” เข้าถือหุ้น 100% ใน GMM B ขณะที่บริษัท แซท เทรดดิ้ง จำกัด ในเครือ GRAMMY เข้าถือหุ้น 10% ใน CTH ซึ่งทำให้ CTH เป็นบริษัทแม่ในการดำเนินธุรกิจเพย์ทีวีของทั้ง GMM B และ ซีทีเอช แอล ซี โอ

“การที่ บริษัท แซท เทรดดิ้ง จำกัด เข้าไปถือหุ้นของ CTH ในสัดส่วน 10% นั้นเห็นว่าคุ้มค่าการลงทุนในอนาคต แม้ CTH จะมีผลขาดทุนอยู่ก็ตาม แต่ตามมาตรฐานบัญชีไม่ต้องรับรู้ผลขาดทุนเข้ามา อีกทั้งจะทำให้ธุรกิจเพย์ทีวีมีฐานลูกค้าใหญ่ขึ้นเป็น 5 ล้านกล่องและช่วยลดต้นทุนในการบริหารงานได้มากซึ่งน่าจะทำให้ธุรกิจเพย์ทีวีสร้างผลตอบแทนที่ดีในอนาคต”

สอดรับกับการขยายตัวของสื่อใหม่ๆ อย่างกรณีล่าสุดที่ “กริช ทอมมัส” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายธุรกิจจีเอ็มเอ็ม มิวสิค บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปัจจุบันสื่อออนไลน์มาแรง ซึ่งหลังจากที่ ยูทิวบ์เข้ามาเปิด “ยูทิวบ์ ไทยแลนด์” ในประเทศไทยได้เพียง 1 ปี พบว่ามีส่วนสำคัญที่ทำให้ธุรกิจบันเทิงในบ้านเราคึกคักมากขึ้น และเป็นก้าวที่ดีในการขยายธุรกิจของ “จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่” เข้าสู่โลกออนไลน์ที่ได้เริ่มนำคลิปผลงานเพลงขึ้นบน “ยูทิวบ์ ไทยแลนด์” ตั้งแต่ปลายปี 2556

ปัจจุบัน “แกรมมี่” มีช่องอยู่ใน “ยูทิวบ์ ไทยแลนด์” ทั้งสิ้น 53 ช่อง โดยมีจำนวนคลิปจากทุกช่องรวมกันกว่า 28,442 คลิป มียอดวิวรวมกว่า 9 พันล้านวิว และมีจำนวนสมาชิกรวมกว่า 17 ล้านสมาชิก โดยช่อง GMM GRAMMY OFFICIAL เป็นช่องอันดับ 1 ของ “ยูทิวบ์ ไทยแลนด์” มียอดสมาชิกกว่า 4.9 ล้านยูสเซอร์ มียอดวิวสะสมรวมกว่า 4,152 ล้านวิว ขณะที่ช่อง GENIEROCK ครองอันดับ 2 ด้วยยอดสมาชิก 2.6 ล้านยูสเซอร์ มียอดวิวสะสมรวมกว่า 1,650 ล้านวิว
“ธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบิน “ไทยแอร์เอเชีย” [แฟ้มภาพ]
ย้อนกลับมาดูที่สื่อแมกกาซีนอีกครั้ง !

การตัดขายสื่อแมกกาซีนครั้งนี้ แม้ว่าจะได้เงินน้อยมากแค่ 45 ล้านบาท พร้อมทั้งการเซตซีโร่ธุรกิจทั้งหมดให้ผู้ซื้ออย่าง “ธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบิน “ไทยแอร์เอเชีย” ในนามของธุรกิจส่วนตัวที่ชื่อ “บริษัท ซีทรู จำกัด” ที่ทำเกี่ยวกับการรับจัดงานอีเวนต์ งานพีอาร์ งานโปรโมชันต่างๆ และอื่นๆ

เมื่อมองเม็ดเงินโฆษณาสื่อนิตยสาร หรือแมกกาซีน ก็พอจะคาดเดาไม่ยาก ตัวเลขจาก “นีลเส็น” ระบุว่า เม็ดเงินโฆษณาแมกกาซีนเดือนมกราคม 2558 มีมูลค่าเพียง 265 ล้านบาท ลดลงจากเดือนมกราคม 2557 ที่มีถึง 336 ล้านบาท หรือตกลง 21% ส่วนเดือนกุมภาพันธ์ 2558 มีมูลค่า 297 ล้านบาท น้อยกว่าเดือนกุมภาพันธ์ 2557 ที่มีถึง 363 ล้านบาท ตกลง 18%

ขณะที่ทั้งเดือนมีนาคมปีนี้ก็เหลือแค่ 360 ล้านบาท น้อยกว่ามีนาคม 2557 ที่มี 414 ล้านบาท ตกลง 13% และเดือนเมษายน 2558 มูลค่า 347 ล้านบาท ต่ำกว่าเดือนเดียวปีนี้ที่มี 403 ล้านบาท ตกลง 13%

ส่วนช่วง 4 เดือนแรกของปี 2558 งบโฆษณาแมกกาซีนมีเพียง 1,321 ล้านบาท น้อยกว่า 4 เดือนแรกปี 2557 ที่มี 1,520 ล้านบาท ตกลงถึง 13%

อย่างน้อยก็เป็นตัวสะท้อนหนึ่งได้ว่า เม็ดเงินโฆษณานิตยสารหดหายไปเรื่อยๆ เมื่อเทียบกับในอดีต เพราะ 1. นิตยสารในเมืองไทยมีมากมาย ทั้งหัวไทยหัวนอกต่างก็แย่งชิงโฆษณากันหนักหน่วง 2. ภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ค่อยดี เจ้าของสินค้าต่างก็ลดงบโฆษณาสื่อเก่า หรือที่เรียกว่า “ออฟไลน์” ไปมาก 3. เจ้าของสินค้าหันไปใช้งบโฆษณากับสื่อใหม่อย่าง “ออนไลน์” และ “ทีวีดิตอล” มากขึ้น เพราะต้นทุนต่ำและได้ผลตรงเป้าหมายมากกว่า 4. หากนิตยสารค่ายใดที่ไม่มีอำนาจต่อรองมากพอและไม่มีการขายเป็นแพกเกจกับสื่อในมือที่มากมายแล้วก็อยู่ยาก แม้จะเป็นค่ายใหญ่ก็ตาม

สถานการณ์เช่นนี้ยังเกิดขึ้นกับนิตยสารอีกหลายหัวเป็นจำนวนมากทั้งที่อยู่ในตลาดมานานก็ไม่เว้น รวมทั้งหัวเก่าด้วย และมีกระแสข่าวด้วยว่าเตรียมเลิกกิจการและขายต่ออีกหลายหัว

นิตยสารทั้งหมด 6 ฉบับของแกรมมี่ที่ขายออกไป ประกอบด้วย
นิตยสาร “อิมเมจ” ทำธุรกิจมา 29 ปี
นิตยสาร “อิน แมกกาซีน” ทำธุรกิจมา 10 ปี
นิตยสาร “มาดาม ฟิกาโร่” ทำธุรกิจมา 10 ปี
นิตยสาร “แม็กซิม”, นิตยสาร “เฮอร์เวิลด์” และนิตยสาร “แอตติจูด” ซึ่งแต่ละหัวนิตยสารนั้นมีผลประกอบการดีต่อเนื่องมาโดยตลอด

“การขายดังกล่าวเป็นราคาที่ถูกมาก เพราะขายในราคาต้นทุนบัญชีของบริษัท หรือบุ๊กแวลู โดยพูดคุยกันแค่ 1-2 วันก็จบดีล เพราะเชื่อว่าผู้ซื้อสามารถนำนิตยสารทั้ง 6 หัวดังกล่าวไปใช้ประโยชน์และต่อยอดธุรกิจได้ เนื่องจากมีธุรกิจด้านไอทีและดิจิตอล โดย “ธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์” ได้รับบุคลากรของ 6 หัวนิตยสารดังกล่าวที่มีอยู่กว่า 100 คน ดังนั้นเมื่อซื้อไปก็สามารถดำเนินการต่อได้ทันทีไม่ต้องขาดช่วง เพราะใช้ทีมงานเดิมและสถานที่ที่ตึกจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่เพลส เดิม เพียงแค่เปลี่ยนเจ้าของเท่านั้น”

“จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่” ต้องขายธุรกิจสิ่งพิมพ์เพื่อไม่ให้เป็นภาระมากไปกว่านี้ เพราะยังต้องใช้เงินลงทุนอีกมากในการขยายธุรกิจสื่อต่างๆ แม้จะบอกว่าแมกกาซีนทั้งหมดอยู่ได้และมีกำไรก็ตาม

“เราต้องการกระแสเงินสดเข้ามาในบริษัท เพื่อลดอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนให้ต่ำที่สุดและสามารถกู้เงินได้มากขึ้นสำหรับขยายกิจการทำธุรกิจใหม่ สำหรับผลประกอบการสิ้นปี 2558 น่าจะไม่ขาดทุนเพราะธุรกิจหลักที่เน้นทำทั้งธุรกิจเพลงและธุรกิจภาพยนตร์มีผลกำไรมากและน่าจะกลบให้ผลประกอบการสิ้นปีขยับขึ้นได้ แม้ธุรกิจทีวีดิจิตอลจะยังลำบาก” นายไพบูลย์กล่าว

สำหรับงบลงทุนของ “จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่” ทั้งกลุ่มในปี 2558 ตั้งไว้ที่ประมาณ 1,000 ล้านบาท ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจเพลง, ทีวีดิจิตอล, ออนไลน์ และอื่นๆ

ด้าน “ธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์” กล่าวให้เหตุผลว่า การซื้อกิจการสื่อสิ่งพิมพ์ในเครือ “จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่” เป็นการลงทุนส่วนตัวไม่เกี่ยวข้องกับสายการบิน “ไทยแอร์เอเชีย” แต่อย่างใด ซึ่งนอกจากซื้อนิตยสารชั้นนำทั้ง 6 เล่มแล้ว ยังได้เข้าไปลงทุนในสื่อดิจิตอลด้วย เพื่อมาช่วยเสริมและเพิ่มช่องทางให้นิตยสารที่มีทั้งหมด

“ผมมองว่าตลาดนิตยสารและหนังสือจะยังไม่ตายไปจากโลกนี้ แม้ว่าพฤติกรรมการอ่านของคนจะอ่านผ่านเครื่องมือสื่อสารออนไลน์มากขึ้นก็ตาม แต่การเข้ามาลงทุนสื่อสิ่งพิมพ์หวังจะทำให้วงการนิตยสารมีการปรับโฉมแบบผู้อ่านตะลึงและคาดไม่ถึง มั่นใจว่าจะทำให้มีกำไรภายใน 3 ปี หลังจากนั้นจะระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย”

“ในส่วนแนวทางในการบริหารงานนั้นจะให้ความมั่นใจกับบุคลากรทั้ง 6 เล่มรวมกว่า 80 คน โดยจะไม่มีการปรับเปลี่ยนพนักงานแต่ละกองบรรณาธิการ ทุกคนทำหน้าที่ในความรับผิดชอบเดิม ผมแค่เข้ามาบริหารภาพรวมเท่านั้น โดยในส่วนของรูปแบบเนื้อหาในหนังสือ หรือคอนเทนต์อาจจะปรับให้มีความสอดคล้องกับชีวิตประจำวันของคน เพื่อนำหนังสือทั้ง 6 เล่มจากระบบแอนะล็อกมาลงในสื่อดิจิตอลที่บริษัทฯ ได้เตรียมพร้อมไว้”

แม้หัวเรือใหญ่ของ “บริษัท ซีทรู จำกัด” จะย้ำว่าการซื้อแมกกาซีนทั้งหมดจาก “จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่” ครั้งนี้เป็นการลงทุนส่วนตัว ไม่เกี่ยวกับสายการบิน แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเขาคงต้องนำสองธุรกิจนี้มาผสานประโยชน์กันแบบลงตัวแน่นอน

ถ้ามองถึง “นายแพทย์ ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ” ของ “บางกอกแอร์เวย์ส” ที่รุกเข้าสื่อทีวีดิจิตอลก็จะเห็นตัวอย่างได้ชัดเจนกับการใช้ประโยชน์ทั้งสองธุรกิจมาเป็นการสร้างความได้เปรียบและจุดแข็งของธุรกิจ ทั้งใช้เป็นช่องทางสื่อสารการเข้าถึงลูกค้าของทั้งธุรกิจสายการบินกับธุรกิจสื่อ

...และคงต้องจับตาดูต่อไปด้วยว่า “อากู๋” จะตัดขายธุรกิจอะไรทิ้งออกไปอีก?




กำลังโหลดความคิดเห็น