พลันเมื่อ ธ เสด็จสู่สวรรค์
พสุธาสะเทือนสั่นวิปโยค
ชลนัยน์สิบ่กลั้นท่วมฟ้า
โศกใดฤาเทียมโศกโศกสิ้นราชา
..........
วันที่ 13 ตุลาคม พุทธศักราช 2559
วันที่เสียงร่ำไห้ของประชาชนชาวไทยระงมไปทั้งประเทศ พลันที่มีการแถลงการณ์จากสำนักพระราชวังว่า “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช” เสด็จสวรรคต ยังความโศกสลด และอาดูรแก่พสกนิกรชาวไทยยิ่งนัก
ตลอดระยะเวลา 70 ปีแห่งการครองสิริราชสมบัติ พระองค์ได้ทรงประกอบพระราชกรณียกิจ ซึ่งเป็นคุณูปการอันอเนกอนันต์ต่อประชาชนของพระองค์อย่างที่ไม่มีพระมหากษัตริย์พระองค์ใดในโลกเสมอเสมือน
ยิ่งไปกว่านั้น “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช” ยังทรงเป็นอัครมหากษัตริย์ ที่ทรงพระอัจฉริยภาพในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านการถ่ายภาพ ด้านกีฬา ด้านการช่าง ด้านจิตรกรรม และด้านอื่น ๆ อีกมากมาย
หากหนึ่งในพระอัจฉริยภาพที่ได้รับการยอมรับมากที่สุด ก็คือพระปรีชาสามารถในด้านการดนตรีทรงเป็นคีตกวีและนักดนตรีที่ชาวโลกยกย่อง ทรงพระปรีชาสามารถในการทรงดนตรี พระราชนิพนธ์เพลง และเรียบเรียงเสียงประสาน ทรงเป็นครูสอนดนตรีแก่ข้าราชบริพารใกล้ชิด และทรงซ่อมเครื่องดนตรีได้ด้วยพระองค์เอง พระปรีชาสามารถของพระองค์เป็นที่ประจักษ์แก่พสกนิกรชาวไทย จนพร้อมใจกันน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายพระราชสมัญญาว่า "อัครศิลปิน" รวมถึงเป็นที่ประจักษ์แก่ชาวโลก เมื่อรัฐบาลออสเตรีย ได้ทูลเกล้าฯ ถวายสมาชิกภาพกิตติมศักดิ์หมายเลข 23 แด่พระองค์ ณ สถาบันการดนตรีและศิลปะแห่งเวียนนา เมื่อวันที 5 ตุลาคม พ.ศ. 2507 โดยมีการสลักพระนามลงบนแผ่นหินของสถาบัน ทรงเป็นชาวเอเชียเพียงพระองค์เดียวที่ได้รับการถวายพระเกียรตินี้
พระองค์ทรงเริ่มเรียนดนตรีเมื่อพระชนมายุ 13 พรรษา ขณะประทับอยู่ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยมีครูชาวอัลซาส ชื่อ นายเวย์เบรชท์ (Wey-brecht) เป็นผู้สอน โดยทรงเรียนเป่าแซกโซโฟน วิชาการดนตรี การเขียนโน้ต และสเกลต่าง ๆ ในแนวดนตรีคลาสสิก กระทั่งในเวลาต่อมา จึงเริ่มฝึกดนตรีแจ๊ส และทรงดนตรีสากล มีความชำนาญในการเป่าแซกโซโฟน กระทั่งสามารถทรงเป่าสอดแทรกกับแผ่นเสียงของนักดนตรีที่มีชื่อเสียง นอกจากแซกโซโฟนแล้ว ยังทรงโปรดเครื่องดนตรีอีกหลายชนิด ทั้งคลาริเนต , ทรัมเปต รวมทั้งเปียโนและกีตาร์ที่ทรงฝึกเพิ่มเติมในภายหลัง เพื่อประกอบการพระราชนิพนธ์เพลงและเพื่อทรงดนตรีร่วมกับวงดนตรีส่วนพระองค์
พระองค์ทรงเริ่มต้นพระราชนิพนธ์เพลง ตั้งแต่เมื่อครั้งยังทรงดำรงพระอิสรยยศเป็นสมเด็จพระอนุชาธิราช มีทั้งที่ทรงพระราชนิพนธ์ทำนองเพลง และพระราชนิพนธ์คำร้องภาษาอังกฤษ มีจำนวนรวมทั้งสิ้นถึง 48 บทเพลง
โดยบทเพลงที่พระองค์ทรงพระราชนิพนธ์ทำนองนั้น โปรดเกล้าฯ ให้มีผู้แต่งคำร้องประกอบหลายคนด้วยกัน อาทิ หม่อมเจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ จักรพันธุ์, ศาสตราจารย์ ท่านผู้หญิงนพคุณ ทองใหญ่ ณ อยุธยา, ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร, ท่านผู้หญิงสมโรจน์ สวัสดิกุล ณ อยุธยา, นายจำนงราชกิจ (จรัล บุณยรัตพันธุ์), ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช , ม.ล.ประพันธ์สนิทวงศ์ และท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค เป็นต้น
สำหรับเพลงที่ทรงพระราชนิพนธ์ทำนอง และคำร้องภาษาอังกฤษด้วยพระองค์เอง มี 5 เพลง คือ "Echo", "Still on My Mind", "Old-Fashioned Melody", "No Moon" และ "Dream Island"
และนอกจากนั้น ยังมีเพลงที่ทรงพระราชนิพนธ์ทำนองขึ้นภายหลังใส่ในคำร้องที่มีผู้ประพันธ์ไว้แล้ว คือ ความฝันอันสูงสุด , เราสู้ และ รัก
ในยุคแรกนั้น เมื่อเสร็จสมบูรณ์ทั้งเนื้อร้อง และทำนอง ก็จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ “ครูเอื้อ สุนทรสนาน” นำไปบรรเลงในวงดนตรีกรมโฆษณาการ หรือวงสุนทราภรณ์ จนได้รับความนิยมทั้งในหมู่ชาวไทยและชาวต่างชาติ
**********
หลายบทเพลงที่พวกเราคุ้นหู และร้องกันจนเคยปาก แต่อาจจะไม่ทราบว่าเป็นพระปรีชาสามารถในการพระราชนิพนธ์ของพระองค์ท่าน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพลง “พรปีใหม่” ซึ่งถูกเลือกมาใช้ในการเฉลิมฉลองการเถลิงศกใหม่ และทุกคนสามารถร้องตามกันได้อย่างแพร่หลาย และใช้ต่อเนื่องกันมาทุกยุคทุกสมัย ตามที่ปรากฏเนื้อเพลงดังต่อไปนี้
สวัสดีวันปีใหม่พาให้บรรดาเราท่านรื่นรมย์
ฤกษ์ยามดีเปรมปรีดิ์ชื่นชมต่างสุขสมนิยมยินดี
ข้าวิงวอนขอพรจากฟ้าให้บรรดาปวงท่านสุขศรี
โปรดประทานพรโดยปรานีให้ชาวไทยล้วนมีโชคชัย
ให้บรรดาปวงท่านสุขสันต์ทุกวันทุกคืนชื่นชมให้สมฤทัย
ให้รุ่งเรืองในวันปีใหม่ผองชาวไทยจงสวัสดี
ตลอดปีจงมีสุขใจตลอดไปนับแต่บัดนี้
ให้สิ้นทุกข์สุขเกษมเปรมปรีดิ์สวัสดีวันปีใหม่เทอญ
เชื่อว่าหลายคนที่ร้องเพลงนี้กันจนชินปาก อาจจะไม่เคยทราบว่าเป็นเพลงพระราชนิพนธ์ใน “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช”
โดยเพลง “พรปีใหม่” นั้น เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 13 ซึ่งทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2494 เมื่อครั้งที่เสด็จนิวัตพระนคร และประทับ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต
สำหรับที่มาของบทเพลงพระราชนิพนธ์ “พรปีใหม่” นั้น เกิดจากพระราชประสงค์ของพระองค์ ที่ทรงต้องการจะพระราชทานพรปีใหม่แก่บรรดาพสกนิกรไทย จึงทรงพระราชนิพนธ์ทำนองเพลงนี้ขึ้นมา และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ “พระเจ้า วรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ” นิพนธ์คำร้อง จากนั้นจึงพระราชทานแก่วงดนตรี 2 วง คือ วงดนตรีนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำออกบรรเลง ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และวงดนตรีสุนทราภรณ์ นำออกบรรเลง ณ ศาลาเฉลิมไทย ในวันปีใหม่ วันอังคารที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2495 และถูกนำมาใช้ติดต่อกันยาวนานถึง 64 ปี นับว่าเป็นบทเพลงที่มีอายุยาวนานมากกว่าหลายๆ คนในที่นี้ด้วยซ้ำไป
**********
เพลงพระราชนิพนธ์เพลงแรก คือเพลง “แสงเทียน” ซึ่งทรงพระราชนิพนธ์ไว้เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ.2489 และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ (ขณะดำรงพระยศเป็นหม่อมเจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ จักรพันธ์) นิพนธ์คำร้องภาษาไทย โดยหลังจากที่ทรงแก้ไขทำนองและคอร์ดบางตอนเรียบร้อยแล้ว จึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้นำออกบรรเลงครั้งแรก พ.ศ.2490 และในภายหลังนางสาวสดใส วานิชวัฒนา (รองศาสตราจารย์สดใด พันธุมโกมล) ได้ประพันธ์คำร้องภาษาอังกฤษขึ้นในปี พ.ศ.2496
สำหรับพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 5 คือเพลง “ชะตาชีวิต” นั้น ทรงพระราชนิพนธ์หลังจากเสด็จขึ้นครองราชย์ และเสด็จพระราชดำเนินกลับไปทรงศึกษาต่อที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องภาษาอังกฤษ (H.M. BLUES) เนื้อเพลงมีใจความว่า "คนอื่น ๆ ที่ไม่ได้เล่นดนตรีต่างก็อิ่มหนำสำราญกัน แต่พวกเราที่กำลังเล่นดนตรีต่างก็หิวโหย และไม่มีแรงจะเล่นต่อไปอีกแล้ว" และสำหรับคำร้องภาษาไทย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ ณ นคร เป็นผู้ประพันธ์ หากมีความหมายออกมาคนละแบบ เนื่องจากต้นฉบับคำร้องภาษาอังกฤษไม่ได้พระราชทานลงมา เพราะอยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์
บทเพลง “ความฝันอันสูงสุด” เป็นบทพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 43 ซึ่งทรงพระราชนิพนธ์ไว้ในปี พ.ศ. 2514 ซึ่งมีที่มาจากบทกลอนที่ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค แต่งถวายตามพระราชเสาวนีย์ของ “สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ” ที่ให้เขียนบทกลอนแสดงความนิยมส่งเสริมคนดีให้มีกำลังใจทำงานเพื่ออุดมคติเพื่อประเทศชาติ เตือนสติมิให้ท้อถอยในการทำความดี ออกมาเป็นกลอน 5 บท และในภายหลังจึงได้กราบบังคมทูลพระกรุณาขอให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงใส่ทำนองเพลง
บทเพลง “เราสู้” เพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 44 เป็นอีกหนึ่งบทเพลงที่มีจุดเริ่มต้นมาจากกลอนสุภาพ 4 บท ที่นายสมภพ จันทรประภา ประพันธ์ถวายตามพระราชดำรัสที่พระราชทานแก่สมาชิกสภานิติบัญญัติที่เข้าเฝ้าฯ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อทรงเกิดแรงบันดาลพระราชหฤทัยที่จะทรงพระราชนิพนธ์เพลงพระราชทานให้เป็นของขวัญปีใหม่แก่ทหาร อาสาสมัครและตำรวจชายแดน และพระราชทานให้ วง อ.ส. วันศุกร์ นำออกบรรเลง ณ พระราชวังบางปะอิน ในงานวันขึ้นปีใหม่ 1 มกราคม พ.ศ. 2517
ต่อเมื่อในระยะหลัง เมื่อ “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช” มีพระราชกรณียกิจมากมาย จึงทำให้ไม่สามารถปลีกพระองค์มาทรงพระราชนิพนธ์เพลงใหม่ ๆ ออกมา โดยเพลงสุดท้ายที่ทรงพระราชนิพนธ์ก็คือคือเพลง "เมนูไข่" ซึ่ง พระราชนิพนธ์เนื้อร้องโดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานเป็นของขวัญวันพระราชสมภพครบ 72 พรรษา แด่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เมื่อ พ.ศ. 2538
สำหรับบทเพลงพระราชนิพนธ์ทั้ง 48 เพลงใน “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช” เรียงลำดับดังต่อไปนี้
1.แสงเทียน (Candlelight Blues)
2.ยามเย็น (Love at Sundown)
3.สายฝน (Falling Rain)
4.ใกล้รุ่ง (Near Dawn)
5.ชะตาชีวิต (H.M. Blues)
6.ดวงใจกับความรัก (Never Mind the Hungry Men's Blues)
7.มาร์ชราชวัลลภ (Royal Guards March)
8.อาทิตย์อับแสง (Blue Day)
9.เทวาพาคู่ฝัน (Dream of Love Dream of You)
10.คำหวาน (Sweet Words)
11.มหาจุฬาลงกรณ์ (Maha Chulalongkorn)
12.แก้วตาขวัญใจ (Lovelight in My Heart)
13.พรปีใหม่
14.รักคืนเรือน (Love Over Again)
15.ยามค่ำ (Twilight)
16.ยิ้มสู้ (Smiles)
17.มาร์ชธงไชยเฉลิมพล (The Colours March)
18.เมื่อโสมส่อง (I Never Dream)
19.ลมหนาว (Love in Spring)
20.ศุกร์สัญลักษณ์ (Friday Night Rag)
21.Oh I say
22.Can't You Ever See
23.Lay Kram Goes Dixie
24.ค่ำแล้ว (Lullaby)
25.สายลม (I Think of You)
26.ไกลกังวล (When), เกิดเป็นไทยตายเพื่อไทย
27.แสงเดือน (Magic Beams)
28.ฝัน (Somewhere Somehow), เพลินภูพิงค์
29.มาร์ชราชนาวิกโยธิน (Royal Marines March)
30.ภิรมย์รัก (A Love Story)
31.Nature Waltz
32.The Hunter
33.Kinari Waltz
34.แผ่นดินของเรา (Alexandra)
35.พระมหามงคล
36.ยูงทอง
37.ในดวงใจนิรันดร์ (Still on My Mind)
38.เตือนใจ (Old-Fashioned Melody)
39.ไร้เดือน (No Moon), ไร้จันทร์
40.เกาะในฝัน (Dream Island)
41.แว่ว (Echo)
42.เกษตรศาสตร์
43.ความฝันอันสูงสุด (The Impossible Dream)
44.เราสู้
45.เรา-เหล่าราบ 21 (We-Infantry Regiment 21)
46.Blues for Uthit
47.รัก
48.เมนูไข่
แหละ..........บทเพลงพระราชนิพนธ์เหล่านี้ จะยังคงดังก้องอยู่ในรู้สึกของพสกนิกรชาวไทยไม่รู้เลือน แม้จะผ่านเดือน ผ่านปี ไปเนิ่นนานเพียงใดก็ตาม
ที่มา นิตยสาร ผู้จัดการ 360 องศา สุดสัปดาห์ ฉบับที่ 362 22-28 ตุลาคม 2559