xs
xsm
sm
md
lg

หนึ่งในหลาย...หลายล้าน “ดร.ภาธร ศรีกรานนท์” ผู้เล่นดนตรีร่วมกับในหลวง ตั้งแต่อายุ 12 !!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สนทนากับสมาชิกวง อ.ส.วันศุกร์ มืออัลโตแซกโซโฟนที่อายุน้อยที่สุด ซึ่งได้เล่นดนตรีร่วมกับในหลวงตั้งแต่อายุ 12 “ดร.ภาธร ศรีกรานนท์” เล่าประสบการณ์เปี่ยมสีสันและทรงคุณค่า ในห้วงเวลาที่ได้บรรเลงบทเพลงร่วมกับพระเจ้าแผ่นดิน พร้อมเล่าเรื่องราวของพระองค์ในแง่มุมที่น้อยคนนักจักได้สัมผัส

เป็นที่ประจักษ์ชัดถนัดใจของราษฎรไทยมาเนิ่นนาน กับพระอัจฉริยภาพทางด้านดนตรีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งนอกเหนือไปจากบทเพลงพระราชนิพนธ์ 48 บทเพลงที่งดงามตราตรึงสำหรับผู้ซึ่งได้สดับรับฟัง พระองค์ยังทรงโปรดเกล้าฯ ให้ก่อตั้งวงดนตรีขึ้นมาหนึ่งวง ในชื่อวงว่า “อ.ส.วันศุกร์” หรือ “อัมพรสถานวันศุกร์” เล่นออกอากาศทางสถานีวิทยุ “อ.ส.อัมพรสถาน” ในทุกเย็นวันศุกร์ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ.2495

จวบจนปัจจุบัน วงดนตรีวงนี้มีอายุ 60 กว่าปีเข้าไปแล้ว ขณะที่สมาชิกก็อายุมากขึ้น เช่นเดียวกับ “ภาธร ศรีกรานนท์” จากเด็กน้อยอายุ 12 - 13 ปี ในวันที่เริ่มต้นบรรเลงดนตรีร่วมกับวงของในหลวง บัดนี้ได้เติบโตและมีบทบาทมากมาย แต่ไม่ว่าจะอย่างไร ถึงแม้ อ.ส.วันศุกร์ จะได้ยุติการออกอากาศไปนานพอสมควรแล้ว แต่ทว่าเรื่องราวในวันวาน ยังกังวานอยู่ในความทรงจำไม่รู้เลือน และวันนี้ เขานั่งอยู่กับเรา พร้อมบอกเล่าประสบการณ์ที่ถ้าจะว่าไป ก็คือบุญวาสนาสูงสุดในชีวิตที่ยากจะหาสิ่งใดเทียบเทียม...

“...ฟังเสียงบรรเลง ขับเพลงประสาน
จากทิพย์วิมาน ประทานกล่อมใจ...” (๑)

“ดนตรีแจ๊สเป็นดนตรีที่ใช้อารมณ์ของผู้เล่นเป็นอย่างมาก มีการอิมโพรไวส์ตลอดเวลา ซึ่งจะแตกต่างจากดนตรีประเภทอื่นๆ ตัวอย่างเช่น คลาสสิก ถ้าเราจะดูก็คือดูผู้ประพันธ์เป็นตัวหลัก เขาจะเล่นบทเป็นพระเจ้า เขาจะบอกว่าเขาต้องการอะไร พาร์ตนั้นนี้ เครื่องดนตรีชนิดไหนเล่นอย่างไร เสียงอย่างไร จังหวะอย่างไร ตรงไหนเป็นอย่างไร

“แต่ดนตรีแจ๊ส เพลงนั้นๆ มันเป็นแค่โครงกระดูกเท่านั้นเอง ผู้ที่จะระบายสี ระบายลมหายใจให้เพลง คือผู้เล่น ... ผู้เล่นทั้งวงเลย ไม่เฉพาะคนที่มาโซโล่ข้างหน้าเท่านั้น ทุกสิ่งอย่างที่เกิดขึ้น ณ เวลานั้น เป็นอะไรที่ต้องลงตัวมากๆ อาศัยคนหมู่มาก มันต้องมีความสามัคคีที่จะเล่น ถึงจะทำให้เพลงนั้นๆ มีชีวิตขึ้นมา วงดนตรีแจ๊สนั้นๆ มีชีวิตขึ้นมา อันนี้คือสิ่งที่พระองค์ท่านโปรด
“ซึ่งไม่ต่างจากฐานะท่านที่ทรงเป็นพระผู้นำประเทศไทย”

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภาธร ศรีกรานนท์ อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์ ภาควิชาดนตรี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สมาชิกอายุน้อยที่สุดในวง อ.ส.วันศุกร์ ที่กว่า 30 ปี ได้ร่วมบรรเลงบทเพลงกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และถวายการรับใช้พระองค์ท่านอย่างใกล้ชิด แม้ในยามพระประชวรประทับที่โรงพยาบาลศิริราช กล่าวถึงหนึ่งในเหตุผลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงโปรดดนตรีแนวเพลงแจ๊ส

“ฉะนั้นแต่ละคนก็จะต้องมาเล่นรวมกัน เพื่อให้เกิดเป็นวงดนตรีขึ้นมาได้ อันนี้คือสิ่งที่สำคัญ คือมันไม่มีใครสำคัญ คนทุกคน นักดนตรีทุกคน แต่ละชีวิต มีบทบาทที่ไม่เหมือนกัน มีการเล่นที่ไม่เหมือนกัน ความชำนาญไม่เหมือนกัน

“ทุกคนเป็นฟันเฟือง ถ้าเปรียบเทียบกับบ้านเมือง คือทรงเน้นให้รู้จักหน้าที่ ผมเป็นนักดนตรี หน้าที่ก็คือเล่นดนตรีและทำให้ดีที่สุด แต่ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นอย่างนี้ตลอดชาติ ก็ไม่ใช่

“พระองค์ท่านหมายความว่าจะทำอะไรก็ตาม ต้องทำให้ดีที่สุด”

วง อ.ส.วันศุกร์ จึงมิได้มีหมุดหมายเพียงบรรเลงบำเรอความรื่นรมย์ แต่ยังเปี่ยมล้นด้วยแง่งามคำสอนผ่านเมโลดี้ที่พระองค์ทรงใช้เป็นเครื่องมือสื่อสารพระราชทาน โดยอาศัยเทคโนโลยีวิทยุในสมัยนั้นที่ได้รับความนิยมของประชาชนกระจายเสียงทางสถานีวิทยุอัมพรสถาน ในทุกเย็นวันศุกร์ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต

“วันทรงดนตรี” ในระยะแรกๆ นอกจากจะร่วมบรรเลงเพลงกับสมาชิกวง บางครั้งทรงจัดรายการเพลงและโปรดเกล้าฯ ให้มีการขอเพลงด้วยและจะทรงรับโทรศัพท์ด้วยพระองค์เอง พร้อมกันนั้นยังทรงเสด็จออกบรรเลงให้นิสิตนักศึกษาและคณาจารย์ตามมหาวิทยาลัยต่างๆ จนเป็นจุดกำเนิดของ “มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์” มูลินิธิที่ทำงานด้านการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ เริ่มต้นมาตั้งแต่เกิดเหตุการณ์วาตภัยแหลมตะลุมพุก ที่วงดนตรี อ.ส. วันศุกร์ ประกาศชักชวนประชาชนบริจาคทรัพย์ สิ่งของ และธารน้ำใจช่วยเหลือผู้ประสบภัย

กระทั่งปี 2516 เกิดวิกฤตทางการเมือง 14 ตุลาฯ บ้านเมืองไม่สงบ ประชาชนทุกข์ร้อน พระราชกรณียกิจจึงมีเพิ่มขึ้นเพื่อความเป็นอยู่ของประชาชน วง อ.ส.วันศุกร์จึงยุติการออกอากาศ...

“แต่วงเราก็ยังดำเนินต่อไป เพียงแค่ไม่ออกอากาศ เล่นกันเงียบๆ ที่สถานีในทุกวันศุกร์หรือวันเสาร์ตอนที่เสด็จประทับที่พระราชวังไกลกังวล เพราะพระองค์ทรงตั้งพระราชหฤทัยใช้ดนตรีเป็นเครื่องมือในการสื่อสารระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับประชาชน และบทเพลงพระราชนิพนธ์ก็คืออีกหนึ่งพระราชกรณียกิจที่ทรงส่งต่อถึงประชาชน เพราะบทเพลงแต่ละเพลงมีความหมายที่พระองค์ท่านทรงสอน

“อย่างเพลง ‘ยิ้มสู้’ พระองค์ท่านก็รับสั่งว่าตั้งพระราชหฤทัยไว้ว่าจะพระราชทานให้กับคนตาบอดผู้พิการทางสายตา เพราะฉะนั้น ทำนองเพลงต้องไม่ยากเกินไป พระองค์ท่านทรงพระราชนิพนธ์เนื้อเพลงและทำนองมาแบบง่ายมาก ‘โลกจะสุขสบายนั้นเป็นได้หลายทาง ต้องหลบสิ่งกีดขวางหนทางให้พ้นไป’ เราตบมือตุบ ตุบๆๆๆๆๆ ตุบ ทั้งเพลงทุกประโยค มีแค่นี้ทั้งเพลง เพื่อเป็นการจำง่าย แต่ว่าเราก็ไม่รู้หรอกว่าทำไมถึงเป็นอย่างนั้น นี่คือเป็นสิ่งที่พระองค์ท่านตรัสบอก

“เพลงที่มีความหมายในด้านการช่วยเหลือปวงชน เพลงปลุกใจทั้งหลาย อย่างเช่นเพลง ‘เราสู้’ ก็ชัดเจน แม้ว่าเนื้อเพลง อาจารย์สมภพ จันทรประภา เป็นคนประพันธ์เนื้อร้องขึ้นมา แต่ว่าอาจารย์ท่านได้เค้าโครงของบทกลอนนี้มาจากพระราชดำรัสของ’พระองค์ท่านเอง ที่ว่า ‘เราจะสู้ สู้ที่นี่ สู้จนตาย’ (พระราชทานแก่สมาชิกสภานิติบัญญัติ ประกอบด้วย ข้าราชการพลเรือน ทหาร ตำรวจ และประชาชน ซึ่งได้จัดแข่งฟุตบอล เพื่อนำรายได้ทูลเกล้าฯ ถวายโดยเสด็จพระราชกุศล และเข้าเฝ้าฯ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน)

“คือพระองค์ทรงชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของความเป็นชาติ ชาติจะอยู่ได้เราต้องสามัคคีกัน เพลง ‘ความหวังอันสูงสุด’ ก็เหมือนกัน ‘จะยอมตายหมายให้เกียรติดำรง จะปิดทองหลังองค์พระปฏิมา ไม่ท้อถอยคอยสร้างสิ่งที่ควร ไม่เรรวนพะว้าพะวังคิดกังขา
ไม่เคืองแค้นน้อยใจในโชคชะตา’ นี่คือคำสอนทั้งนั้นเลย ทำดีอย่าหวังผล นี่คือเนื้อหาหลักๆ จากเพลงพระราชนิพนธ์พระองค์ท่านที่พระราชทานแก่ชาวไทย”

ตลอดระยะเวลา 70 ปีที่ครองราชย์ บทเพลงพระราชนิพนธ์เป็นแบบอย่างอย่างหนึ่งซึ่งชี้นำแนวทางในการดำเนินชีวิต เป็นมิ่งขวัญและกำลังใจให้ปวงชนชาวไทย ด้วยพระราชประสงค์ให้ราษฎรอยู่เย็นเป็นสุข

“อะไรขาดก็เพิ่มเติม อะไรเก่าก็ปรับพัฒนา เพื่อความผาสุกและชีวิตที่ดีของพวกเรา อย่างที่เราเห็นโครงการต่างๆ มากมาย

“เรื่องบทเพลงพระราชนิพนธ์ เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว ช่วงปีระหว่าง 2545 - 2549 พระองค์ท่านทรงมีรับสั่งให้ผมช่วยสังคายนาเพลงพระราชนิพนธ์ทั้งหมดใหม่ ผมก็เริ่มจากเปลี่ยนของเก่าที่ทรงวาดโน้ตในคอมพิวเตอร์ สมัยนั้นเป็นพิมพ์ เพราะยุคผมทำง่ายและสะดวกดีกว่า ถวายให้พระองค์ท่านทอดพระเนตร คือก่อนหน้านั้น พระองค์ท่านทรงอยากทดลองทำอันนี้อยู่แล้ว ก็ทรงถามมาว่าซอฟต์แวร์นี้มียี่ห้อไหนบ้างอะไรบ้างที่สามารถทำได้ให้มันเร็วและดีขึ้น ผมก็เอาซอฟต์แวร์ยี่ห้อ Finale ที่ผมใช้ไปถวายพระองค์ท่าน

“สิ่งที่ยืนยันสิ่งที่สอง หลังจากถวายไป พระองค์ก็ทรงวินิจฉัยว่าอยากจะเปลี่ยน อยากจะทำอะไรยังไงแล้ว ให้เราไปทดลองเล่นในวง อ.ส.วันศุกร์ ได้ผลอย่างไร พระองค์ทรงมีพระวินิจฉัยเพิ่มเติม เราก็จะจด อย่างเพลง ‘ใกล้รุ่ง’ ที่เราเคยฟังๆ มา เราก็จะคิดว่าทรงใช้จังหวะละติน จังหวะฟอกซ์ทรอต แต่ปรากฏว่าพระองค์ท่านรับสั่งว่า จริงๆ แล้วไม่ใช่ เพราะว่าตอนที่พระราชทาน ทรงตั้งใจให้มันเป็นจังหวะสวิง แต่ว่าท่อนกลาง ช่วง ‘เพลิดเพลินฤทัยฟังไก่ประสานเสียงกัน’ ท่อนนี้พระองค์ท่านอยากให้เป็นจังหวะรำวง หรือบางทีบางเพลงก็รับสั่งที่มาของเพลงเป็นอย่างไร บางเพลงเทคนิคการเล่นต้องเล่นอย่างไร พระองค์ท่านก็จะทรงบอก

“70 ปีที่ผ่านมา พระองค์ท่านก็ทรงทำ จนในวันที่พระองค์ท่านทรงอ่อนแรง ไม่มีแรงจับเครื่องดนตรี สิ่งเหล่านี้ก็ยังคงอยู่ อะไรที่ทำให้ถึงประชาชนดีและไว ขอให้ข้าราชการหรือข้าราชบริพารทำเถอะ นี่คือสิ่งที่ยืนยันพระราชประสงค์ของพระองค์ที่ไม่เคยทรงละทิ้งประชาชนในทุกรายละเอียด”

“... ยินเสียงบรรเลง ดังเพลงขับขาน
สอดคล้องกังวาน ซาบซ่านจับใจ...” (๒)

ดร.ภาธร ศรีกรานนท์ เป็นบุตรของเรืออากาศตรี ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.แมน ศรีกรานนท์ ศิลปินแห่งชาติ นักดนตรีและนักประพันธ์เพลงอมตะอย่าง “ภูมิแผ่นดิน นวมินทร์มหาราชา” เพลง “ทรงพระเจริญ” เพลง “ชั่วฟ้าดินสลาย” เพลง “จับปูดำขยำปูนา” และ ดร.ภาธร เป็นหลานของ “โรนาโด ซีเกร่า” ผู้ก่อตั้งวงดนตรี “คีตะเสวี” ที่โด่งดังเมื่อช่วงก่อนยุคสงครามโลกครั้งที่ 2

“ดนตรีเหมือนอยู่ในสายเลือดจริงๆ เพราะว่าตั้งแต่คุณทวดแล้ว ท่านเป็นชาวโปรตุเกสที่เดินทางมาอยู่ในประเทศไทย ท่านก็เป็นนักดนตรี เล่นกีตาร์ แต่สมัยนั้นจะเป็นคลาสสิก เป็นเพลงพื้นบ้าน คลาสสิกเบาๆ ประมาณไลฟ์คลาสสิกมากกว่า เสร็จแล้วก็มาคุณปู่ ปู่เป็นนักดนตรีรุ่นที่สอง เล่นได้หลายอย่าง ทั้งเปียโน ไวโอลิน แล้วก็ประพันธ์เพลง มีวงดนตรีสมัยนั้นซึ่งเรียกว่าดังมาก เมื่อ 100 ปีที่แล้ว เอื้อ สุนทรสนาน บรมครูเพลงก็เป็นหนึ่งในสมาชิกวง แรกๆ ใช้ชื่อว่า วงดนตรีเรมอนด์และสหาย ต่อมาเปลี่ยนเป็น คีตะเสวี ซึ่งก็คือ คีตา ที่แปลว่าดนตรี ส่วนเสวีก็คือเสรี ความหมายรวมก็หมายความว่า ฟรีมิวสิก ก็แปลว่าแจ๊ส

“คุณปู่ทำงานอยู่ที่สถานทูตอเมริกา สมัยนั้นเป็นกงสุลอยู่ จนมาช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 คุณปู่ถูกญี่ปุ่นจับตัวเป็นเชลย พอสงครามสิ้น ท่านก็ไม่สบาย เสียชีวิต ตอนนั้นพ่อผมอายุ 18 ปี ยังไม่จบชั้นมัธยมก็ต้องออกมาจากโรงเรียนมาทำงานเป็นเสาหลักครอบครัวแทน ท่านก็ทำงานหลายต่อหลายอย่าง และก็เล่นดนตรี สานต่อวงของคุณปู่ด้วย วงคุณปู่สมัยนั้นมีคนดังๆ หลายคนที่เขาเล่นอยู่ด้วย อาทิ ครูเอื้อ สุนทรสนาน ก็เป็นลูกวงด้วย

“บังเอิญระหว่างนั้น คุณพ่อก็ได้ไปช่วยวงดนตรีที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วง ส.จ.ม. (ชมรมดนตรีไทย ส.จ.ม.) แล้วทาง อ.ส.วันศุกร์มีจัดให้นิสิตนักศึกษาเข้าไปร่วมเล่นอยู่แล้ว วงดนตรีนี้ก็ได้เข้าไปเล่น แล้วมีอยู่วันหนึ่ง ในหลวงท่านเสด็จมาทอดพระเนตรการออกอากาศพอดี ตอนนั้นพ่อผม ด้วยความที่เป็นโปรตุเกสมีชื่อฝรั่ง เขาก็อยากได้ชื่อไทย ก่อนหน้านั้นที่จะเจอได้เฝ้าประมาณ 2 ปี ท่านขอพระราชทานชื่อ แล้วพระองค์ท่านก็พระราชทานให้ คุณพ่อก็เลยถือโอกาสครั้งนั้นเขาไปขอบพระคุณท่าน”

นับเป็นชื่อแรกในรัชกาลที่ทรงพระเมตาพระราชทานชื่อ จาก “เรมอนด์ ซีเกร่า” เป็น “แมนรัตน์” และเนื่องด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณจึงได้ถวายตัวเป็นข้าราชบริพารในองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ให้ทรงใช้สอยความสามารถทางดนตรีตามแต่ประสงค์

“เมื่อคุณพ่อได้ร่วมวง อ.ส.วันศุกร์ ผมก็เลยได้แรงบันดาลใจในการเล่นดนตรีอย่างจริงจัง แตกต่างจากก่อนหน้านั้น แม้ว่าบรรยากาศของบ้านจะอบอวลไปด้วยดนตรี พี่สาวก็เล่นดนตรีให้ฟัง พ่อก็เล่นดนตรีและเป็นทั้งนักจัดรายการวิทยุ เราเองก็เรียนดนตรีที่สยามกลการ เล่นอิเล็กโทน ไวโอลิน แต่คือเราไม่ได้สนใจ จนบังเอิญได้เข้าเฝ้าฯ และเห็นพระองค์ทรงเล่น”

ขณะที่ยังไม่รู้แม้กระทั่งว่าแซกโซโฟนคือเครื่องดนตรีอะไร ทว่าท่วงท่าพระจริยวัตรและเสียงของเมโลดี้ทำนอง ก็กังวานเกาะกุมใจมาจนถึงวันนี้

“ช่วงประมาณ 11-12 ชั้น ป.6 วันนั้นปกติเวลาตามคุณพ่อไปเฝ้าพระองค์ท่าน พอพระองค์ท่านเสด็จเข้ามาก่อนจะเริ่มวง เราก็จะกลับ แต่วันนั้นเราอยู่ต่อ เราก็เลยเห็นท่านเป็นครั้งแรกว่าท่านทรงแซกโซโฟน นั่งฟังอยู่เกือบชั่วโมง ทั้งเซกชั่น จนจบในวันนั้น กลับมาก็บอกคุณพ่อเลยว่าอยากจะเล่นแซกโซโฟน เพราะได้ยินที่ท่านเล่น เสียงแซกโซโฟนหวานมาก ไพเราะมาก เป็นลักษณะค่อยเป็นค่อยไป แล้วก็หวาน เสียงจะเอื้อน เอื้อนเยอะๆ แล้วก็เป็นอะไรที่เราชอบ แล้วก็ทรงเท่มาก ช่วงบรรเลงเพลงบิ๊กแบนด์ ยุคเก่าๆ ยุคสมัยสวิง ยุคสมัยเอลลิงตัน พระองค์นั่งประทับอยู่ท่ามกลางวงดนตรีรายล้อมพระองค์

“ตอนนั้นคุณพ่อก็มีแซกโซโฟนอยู่เครื่องหนึ่ง เป็นเครื่องที่พระองค์ท่านพระราชทานให้คุณพ่อไว้ถวายการสอนสมเด็จพระบรมโอสาธิราชฯ สมัยนั้นที่ยังทรงศึกษาอยู่ที่โรงเรียนจิตรลดา ผมก็ได้เรียนเล่นแซกโซโฟน ก็ค่อยๆ ฝึกหัด ประมาณ 1-2 ปี จากนั้นคุณพ่อก็เอาโน้ตเพลง Theme ในวังเอามาให้ซ้อม แล้วก็บอกว่าถ้าเล่นได้จะพาเข้าไป ดีใจมาก เพราะชื่อเสียงของวง อ.ส.วันศุกร์ เป็นเหมือนซูเปอร์สตาร์ และพระองค์ท่านทรงเป็นเหมือนฮีโร่ของเรา

“ความรู้สึกของเรา ณ ตอนนั้น วันที่ได้ร่วมเล่นวง อ.ส.วันศุกร์ กับพระองค์ท่าน จำได้ไม่ลืมเลย เล่นที่เบื้องพระพักตร์ครั้งแรก เล่นร่วมกับพระองค์ท่านครั้งแรก เกร็งมาก หัวใจนี้ตื่นเต้น ตุบๆๆ ไม่กล้าเป่าเลย เป่าเสียงออกมาเป็นเสียงอ่อยๆ หลังเล่นเสร็จ ท่านก็เลยตรัสรับสั่งว่า ‘ไม่ต้องอาย เล่นดีนะ แต่เล่นให้ดังกว่านี้หน่อยก็ได้’ เราก็คิดในใจ อาย ไม่กล้า เพราะเราเด็กสุด 12-13 ปี ห่างกว่า 40 ปีของทุกคนในวง แม้ว่าท่านจะไม่ถือพระองค์ พระองค์มีความเป็นกันเอง ต่างจากความคิดตอนก่อนหน้านั้นที่คิดว่าต้องหมอบกราบตลอดเวลาหรือเปล่าตามละครน้ำเน่า หนังจักรๆ วงศ์ๆ สมัยนั้น เลยนึกว่าชีวิตท่านจะต้องสุขสบายในอัครสถานใหญ่โต แต่พอสัมผัสพระองค์ท่าน ไม่ใช่เลย

“พระองค์ท่านติดดินมากๆ ไม่ต่างจากชาวบ้านคนทั่วไป แม้แต่พระตำหนักจิตรลดาอยู่ข้างใน เล็กกว่าบ้านเศรษฐีทั่วไปอีก แล้วพระองค์ท่านทรงประหยัดมาก ท่านใช้ของไม่ฟุ่มเฟือยเลย ดินสงดินสอใช้จนคุ้ม กุดเหลือนิดเดียว เห็นมากับตา สัมผัสมากับตัวเองจากทั้งในฐานะนักดนตรีและนักเรียนโรงเรียนจิตรลดา”

เก้าอี้ สแตนด์วางโน๊ต ก็ทรงใช้ธรรมดาทั่วไป อย่างคนในวง กระทั่งพระจริยวัตร คำตรัส ล้วนแล้วแต่เป็นไปอย่างเรียบง่าย ประหนึ่งญาติผู้ใหญ่ เสมือนดั่งข้าราชบริพาร ราษฎรคือลูกหลานพระองค์ท่าน

“ทรงไม่ได้มีพิธีรีตอง ไม่ประสงค์แบ่งแยกจดจองอันนี้ของพระองค์ ใช้ได้เพียงเท่านั้น เลิกเล่นเก็บเข้าที่ พอออกมาตั้งใช้ใหม่ก็คละปนกัน เวลาเล่น นั่งเล่นระดับเดียวกัน ไม่มีพิเศษกว่าใคร หรือเวลาเล่นวงบิ๊กแบนด์ที่จะมีเสียงเล่นเมโลดี้ทำนองหลักบ้างอะไรบ้าง ก็ทรงผลัดกันเล่น ไม่ใช่ว่าพระองค์ท่านเป็นหลักอย่างเดียว เป็นพระเอกตลอดกาล จริงๆ แล้วพระองค์ท่านไม่ชอบด้วย ท่านชอบเสียงประสานมากกว่า

“เล่นแป้ก เล่นผิด ท่านก็ทรงหยอกแซว ทรงรับสั่งว่า ‘เนี่ย...ไม่รู้จักที่ต่ำที่สูง’ ตอนแรกเราก็ตกใจ ‘ตายแล้วๆ เราทำอะไรผิดหรือเปล่า’ แต่จริงๆ คือเราเล่นเพี้ยน เล่นเสียงสูงๆ อยู่ไปต่ำ ต่ำๆ อยู่ไปสูง เพราะไม่ใช่นักดนตรีอาชีพกัน ท่านก็ไม่ได้อะไรมากมาย เพราะช่วงเวลาที่ทรงดนตรีเป็นช่วงเวลาที่ไม่ใช่ทรงงาน ก็จะทรงผ่อนพระอิริยาบถ เล่นกันสนุกสนาน

“พระองค์ท่านทรงพระสรวล ทรงขยับพระเศียร ขยับพระองค์ ตามบทเพลงและอารมณ์สไตล์นักดนตรีแจ๊สแนวสวิงยุคสมัยปี 1930 - 1940 ที่ท่านโปรด จอห์นนี่ ฮ็อดเจส และเบนนี่ คาร์เตอร์ หากใครจินตนาการไม่ชัด ให้ดูสองคนนี้ สำเนียง จังหวะจะโคน ลีลาแบบเดียวกับพระองค์ท่านเลย ทรงพระปรีชาสามารถมาก ท่านเก่งมาก ท่านก็เลยมักจะสอนวิธีการเล่น การอ่านโน้ต ออกเสียงโน้ตอย่างนี้ เป็นอย่างไร การวางปาก ถ้าเป่าลมมาอย่างนี้ ลมเข้าไป มันจะกระทบยังไง ผลมันจะออกมาเป็นอย่างไร มันควรจะต้องปรับอย่างไร การวางนิ้ววางอย่างไร เล่นยังไง ท่านสอนหมด แล้วก็ทรงสอนเน้นสไตล์ เพราะแต่ละสไตล์ก็ไม่เหมือนกัน เช่นนิวออร์ลีนแจ๊ส สวิงแจ๊ส ทรงสอนสไตล์การเล่นดนตรีชนิดต่างๆ

“หรือตอนที่กำลังจะไปเรียนต่างประเทศ นอกจากพระองค์ท่านจะมอบทุนการศึกษาต่อแล้ว ก็ทรงแนะนำว่าถ้าจะไปเรียนทางด้านนี้ต้องเรียนทางแนวคลาสสิก เพราะพื้นฐานดนตรีคลาสสิกดีกว่าอย่างอื่น ถ้าเริ่มคลาสสิกได้จะดีมาก หลังจากปิดเทอม กลับมาถวายตัวรับใช้ทีไร ท่านก็จะทรงสอนแจ๊สเราเพิ่มเติมอีกในทุกครั้งที่กลับมา เรียกได้ว่ามีชีวิตวันนี้ได้ก็เพราะพระองค์ท่าน เป็นพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นที่ได้พระองค์ท่านทรงกรุณา เพราะว่าพระราชทานทุนให้ผมตั้งแต่เด็กๆ ซึ่งผมในตอนนั้นก็ไม่ได้มีความสามารถโดดเด่นกว่าใคร หรือเรียกว่าเป็นอัจฉริยะ เราก็คือคนธรรมดานี่แหละ แต่พระองค์ท่านทรงเห็น แสดงว่าพระองค์ท่านทรงเห็นอะไรในตัวเรา แล้วก็ทรงอยากที่จะสนับสนุนต่อ”

“ไม่อย่างนั้นคงไม่มีโอกาสอย่างนี้ได้ ไม่มีเราเป็นอย่างทุกวันนี้”
... วันที่มีความรู้ความสามารถในการหาเลี้ยงชีพ เป็นนักประพันธ์ดนตรี นักวิชาการดนตรี และนักดนตรี เชี่ยวชาญในเครื่องดนตรีแซกโซโฟนและคลาริเน็ต
... วันที่ก่อสร้างร่างเกียรติประวัติ เป็นนักประพันธ์ที่มีอายุน้อยที่สุดในสังกัด บริษัท Dorn Publications ซึ่งเป็นสำนักพิมพ์โน้ตเพลงเครื่องเป่าที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกา เพื่อเป็นผู้พิมพ์จัดจำหน่ายผลงานของตัวเอง รางวัล Best Performance ในการเล่นคลาริเน็ตและบาริโทน แซกโซโฟน ที่งาน Tri C Jazz Festival ที่เมือง Cleveland รัฐ Ohio รางวัล Best Improviser ที่งาน Collegiate Jazz Festival ที่มหาวิทยาลัยนอตเตอร์ดัม และในปี 2546 ได้รับ Certificate of Commendation จากรัฐบาลเมืองลอสแองเจลิส ในฐานะที่เป็นผู้มีผลงานและทำประโยชน์ให้กับประชาคมชาวแคลิฟอร์เนีย

นอกจากนั้น ยังเป็นกรรมการสภา และผู้ทรงคุณวุฒิ สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ กระทรวงวัฒนธรรม เป็นกรรมการอำนวยการ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เป็นอนุกรรมการในหลายคณะของสำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี เป็นที่ปรึกษาของคณะกรรมาธิการร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยนครพนมและนราธิวาสราชนครินทร์ สภาผู้แทนราษฎร

ปัจจุบัน ดร.ภาธร ดำรงตำแหน่งเป็นอาจารย์คณะมนุษยศาสตร์ ภาควิชาดนตรี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และสานต่อพระราชประสงค์ผ่านบทเพลงพระราชนิพนธ์ของวง อ.ส.วันศุกร์ อย่างวันวัยในอดีตที่ได้ทำในสิ่งที่รักและตั้งใจ...

ก็รู้สึกเป็นบุญวาสนาที่พระองค์ท่านทรงเมตา ใส่ใจ กับประชาชนคนธรรมดาทุกคน ให้ความช่วยเหลือต่างๆ ทุกระดับชนชั้น ไม่แบ่งแยก ผมก็เป็นหนึ่งในนั้นที่อาจจะโชคดีที่เข้าไปตั้งแต่อายุยังน้อยที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ

“เป็นความภาคภูมิใจอย่างหาที่ทดแทนไม่ได้อีกแล้ว เพราะพระองค์ท่านก็ทรงทำอะไรให้กับประชาชนอย่างมากมายมหาศาล คนหนึ่งคน ถ้ามองที่พระองค์ไป โดยเฉพาะคนในช่วงเวลานี้ ในช่วงเวลา 20-30 ปีนี้ เราก็จะไม่ค่อยเห็นพระองค์ท่านบ่อย ซึ่งอาจจะทำให้ปัจจุบันเรามีความห่างเหินกับพระองค์ท่าน

“แต่ก็ห่างแค่ระยะทาง ความเป็นจริงทุกสิ่งอย่างมีพระองค์อยู่รายรอบตัวพวกเรา ทุกคนได้รับพระบารมีเมตตาทั่วทุกคน เพราะฉะนั้น สิ่งที่ผมจะตอบแทนพระองค์ท่านได้ก็คือการรักษาสิ่งที่พระองค์ท่านทำ สิ่งที่พระองค์ท่านปรารถนา และของพระองค์ท่าน เราก็ต้องรักษาไว้ แล้วก็เผยแพร่ ทำให้ยั่งยืนต่อไปในอนาคต”

“... ใฝ่กระทำความดีให้มีจิตโสภา
สร้างแต่ความเมตตาหาสุขสันต์ไป...” (๓)

“ก็จะทำต่อไป จนกว่าจะเล่นไม่ได้ เพราะแม้วันนี้ที่ท่านไม่อยู่แล้วจะไม่เป็นวง อ.ส.วันศุกร์อีกแล้วก็ตาม หรือจากสมัยแรกๆ ที่เข้าไปเล่นเมื่อ 30 ปีที่แล้ว คือรู้สึกเหมือนกับว่าเราเล่นดนตรีเพื่อถวายความสำราญแด่พระองค์ท่าน ทำให้ท่านได้ผ่อนคลาย แต่ว่าช่วงหลังๆ โดยเฉพาะที่เสด็จเข้าโรงพยาบาล 7 ปีหลัง การถวายดนตรีพระองค์ท่านคือถวายเป็นยา ไม่เพียงแต่เป็นความสำราญ แต่คือความสุข ความอิ่มเอิบ

“อย่างน้อยมันคือหน้าที่ เป็นเฟืองจักรที่ขับเคลื่อนในสิ่งที่ทำให้ท่าน ก็จะเล่นดนตรีกันไปจนกว่าจะไม่ไหว ซึ่ง ณ ตอนนี้ สมาชิกวงหลายๆ คนก็อายุ 80 กันแล้ว แต่ก็ยังไหว หรือถ้าไม่ไหวก็จะเอาความรู้ความสามารถตรงนี้ เรื่องราวพระจริยวัตรของพระองค์ท่านถ่ายทอดต่อไป

ดร.ภาธร กล่าวถึงทิศทางวงดนตรี อ.ส.วันศุกร์ ในอนาคตที่จะยังคงสืบสานต่อไป เฉกเช่นโครงการในพระราชดำริต่างๆ ที่ยังคงได้รับการสานต่อทอถัก พระราชดำรัส พระบรมราโชวาทที่ทรงสอน ได้ถูกน้อมนำทำตามพระราชประสงค์อย่างพระราชหฤทัยที่ทรงตั้งมั่นให้ราษฎรของพระองค์มีความสุข รักและสามัคคีต่อกัน

“อันที่จริง เมื่อต้นปี เราคิดว่าปลายปีนี้ ตอนแรกที่เราจะเอานักดนตรีจากยุโรปมาเล่นถวายพระองค์ท่าน อย่างเดียวกับตอนเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ที่สมเด็จพระเทพฯ รับสั่งว่าพระองค์ท่านอยากไปนิวออร์ลีน เพราะไม่เคยเสด็จไป ก็เปลี่ยนธีมไปแล้ว ไม่ต้องให้เล่นถวาย ตอนนี้เราก็เปลี่ยนฟังก์ชันของเราให้กลายเป็นว่าเราต้องทำหน้าที่ใหม่แล้ว”

ซึ่งหน้าที่นั้นก็คือ เป็นผู้จุดประกายให้กับเยาวชนคนรุ่นใหม่ได้เข้าใจถึงเพลงพระราชนิพนธ์กว่า 48 บทเพลง ให้ประดุจดั่ง “แสงเทียน” ซึ่งเป็นเพลงพระราชนิพนธ์แรก

“ในวันที่ 5 ธันวาคมที่จะถึงนี้ อ.ส.วันศุกร์ ก็จะกลับมารวมตัวกันอีกครั้งหนึ่ง เล่นดนตรีเป็นการรำลึกถึงพระองค์ท่าน แล้วก็ใช้โอกาสนี้เป็นการส่งต่อจุดประกายให้กับเยาวชนคนรุ่นใหม่ เป็นสะพานเชื่อม เป็นผู้นำสาร เพราะเพลงพระราชนิพนธ์ ใครจะเล่นก็ได้ไม่มีปัญหา แต่ว่าอย่างน้อย ถ้าจะเล่น ก็ควรเข้าใจถึงเจตนารมณ์ของผู้ประพันธ์ด้วย ยิ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท่านทรงทำอะไรให้เราตั้งมากมาย ทั้งโดยตรงและทางอ้อม พระองค์ท่านทรงเหนื่อย เพื่อให้ก่อเกิดสิ่งเหล่านี้ขึ้นมาตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สิ่งที่พระองค์ท่านทรงเป็นห่วงเรื่องหนึ่ง คือเรื่องของเพลงพระราชนิพนธ์ของพระองค์ท่านที่ทรงอยากให้คนนำไปเล่น นำไปปฏิบัติแล้วก็ทำได้อย่างถูกต้องตามพระราชประสงค์ของพระองค์

“ซึ่งแม้ไม่ใช่สิ่งที่พระองค์ท่านจะทรงให้เป็นเรื่องหลัก หรือว่าสำคัญน้อยกว่าเรื่องของบ้านเมือง แต่ตรงนี้ก็เป็นหนึ่งในสิ่งที่ประสงค์ พระองค์ท่านไม่เคยแบ่งแยกชนชั้น ไม่เคยมีอย่างนั้นเลย ถ้าเราเรียกว่าพ่อ เราก็คือลูกของพระองค์ท่านที่ท่านรักเหมือนกันหมดทุกคน เราก็ควรจะต้องทำตาม เพื่อให้ประชาชนที่พระองค์รักมีความสุขความเจริญอย่างที่ท่านทรงทำตลอดพระชนมายุ”

หมายเหตุ
(๑) เนื้อเพลงพระราชนิพนธ์ “ใกล้รุ่ง”
(๒) เนื้อเพลงพระราชนิพนธ์ “ใกล้รุ่ง”
(๓) เนื้อเพลงพระราชนิพนธ์ “ยิ้มสู้”
เรื่อง : รัชพล ธนศุทธิสกุล
ภาพ : จิรโชค พันทวี

กำลังโหลดความคิดเห็น