ใครที่เคยดูละครเรื่องห้องหุ่น คงจะจำได้ดีถึงความน่ากลัวของหุ่นแต่ละตัว ที่ราวกับมีชีวิต มีเลือดเนื้อ ไม่ใช่เพียงหุ่นที่ตั้งอยู่กับที่เฉยๆ เมื่อสมัยเด็กฉันก็คิดอยู่ว่า หุ่นที่เหมือนคนจริงๆ พวกนี้จะมีจริงหรือไม่ แต่เมื่อเติบโตขึ้นมาแล้วถึงได้เห็นกับตาตัวเองว่า หุ่นที่หน้าตาท่าทางเหมือนคนที่มีชีวิตก็มีให้เราได้เห็นจริงๆ
ซึ่งใครที่อยากมาเจอกับหุ่นตัวเป็นๆ อย่างฉัน ก็ต้องมาที่นี่เลย “พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย” ถนนบรมราชชนนี อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม
พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย เป็นผลงานการสร้างสรรค์ของ อาจารย์ดวงแก้ว พิทยากรศิลป์ และคณะ ที่ต้องการจะเผยแพร่และอนุรักษ์ไว้ซึ่งศิลปวัฒนธรรมประเพณีของไทย เพื่อประโยชน์ในการศึกษาค้นคว้าของเยาวชน ซึ่งอาจารย์ดวงแก้วได้สร้างสรรค์หุ่นขี้ผึ้งแนวใหม่ที่เป็น “หุ่นขี้ผึ้งไฟเบอร์กลาส” โดยได้ปั้น พระราชสังวราภิมณฑ์ (หลวงปู่โต๊ะ) ขึ้น เป็นหุ่นขี้ผึ้งไฟเบอร์กลาสรูปแรกในราว พ.ศ. 2525
หลังประสบความสำเร็จจากหุ่นขี้ผึ้งรูปแรก ทางทีมงานต่างลงความเห็นว่าควรสนับสนุนให้ก้าวหน้าไปอีกขั้นหนึ่ง การก่อสร้างพิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งจึงถือกำเนิดขึ้น โดยเริ่มดำเนินงานใน พ.ศ. 2527 และดำเนินการก่อสร้างตัวอาคารใน พ.ศ. 2529 แล้วเสร็จในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2531
สำหรับ “หุ่นขี้ผึ้ง” ในพิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ถือเป็นหุ่นขี้ผึ้งแนวใหม่ซึ่งเป็นประติมากรรมแห่งชีวิตที่สะท้อนถึงศาสตร์และศิลป์ในทุกตารางนิ้ว นับแต่เนื้อผิวหุ่นที่หล่อจากไฟเบอร์กลาสทำให้แลดูเหมือนจริง ทั้งสีสัน ลายผิว รูขุมขน ตลอดจนรอยแผลต่างๆ ไปจนถึงเส้นผมที่ได้รับการปลูกทีละเส้น และดวงตาที่ได้รับการหล่อเป็นพิเศษ ทำให้ดูมีแววตาและน้ำหล่อเลี้ยงดุจนัยน์ตาจริง ทุกรายละเอียดได้รับการบรรจงสร้างสรรค์อย่างลึกซึ้งเสมือนมีชีวิต ขาดเพียงลมหายใจเท่านั้น
เมื่อซื้อตั๋วเข้าชมเรียบร้อยแล้ว ฉันก็ก้าวเข้ามาภายในอาคารพิพิธภัณฑ์ ที่จะต้อนรับเราด้วยคุณลุงที่นั่งอ่านข่าวอยู่ที่เก้าอี้ตัวยาว ซึ่งหากไม่ได้สังเกตจริงๆ ก็อาจจะคิดว่านี่เป็นคุณลุงที่เข้ามานั่งรอลูกหลานที่เข้าชมพิพิธภัณฑ์ แต่อันที่จริงแล้ว คุณลุงก็คือหุ่นขี้ผึ้งตัวหนึ่งที่มีชื่อชุดว่า “สนใจข่าวสาร” ส่วนที่นั่งอยู่ใกล้ๆ กันก็คือ “หุ่นเลขาน่ารัก” ที่สะท้อนถึงสภาพชีวิตของคนทำงานที่ต่างมีหน้าที่ความรับผิดชอบของตัวเอง
ฉันเดินผ่านหุ่นทั้งสองตัวนี้ไป ก็จะก้าวเข้าไปสู่การจัดแสดงชุด “พระอริยสงฆ์” ซึ่งเป็นหุ่นจำลององค์พระอริยสงฆ์ที่มีชื่อเสียงท่ามกลางบรรยากาศที่เหมือนจริงทุกมุมมอง โดยมีจำนวนทั้งหมด 17 รูป และแต่ละรูปก็จะอยู่ในอิริยาบถที่เราคุ้นเคยกัน อย่างเช่น ครูบาศรีวิชัย สิริวิชโย พระมหาเถระที่ได้รับการขนานนามว่า นักบุญแห่งล้านนา สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมฺรังสี) อดีตเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร ในสมัยรัชกาลที่ 4-5
ถัดจากหุ่นขี้ผึ้งชุดพระอริยสงฆ์ ก็จะเป็นหุ่นชุด “หมากรุกไทย” โดยจะมีหุ่นสองตัวนั่งเล่นหมากรุกไทยกันอย่างเคร่งเครียด และมีอีกคนที่ยืนช่วยลุ้นอยู่ หมากรุกไทยนั้นเป็นกีฬาที่เล่นกันในยามว่าง ซึ่งนอกจากจะได้ความสนุกสนานแล้วก็ยังช่วยฝึกสมองให้รู้จักแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าด้วย
อีกจุดหนึ่งที่น่าสนใจอย่างมากภายในพิพิธภัณฑ์ก็คือ “หุ่นขี้ผึ้งชุดพระบรมรูปพระมหากษัตริย์ ราชวงศ์จักรี” ตั้งแต่รัชกาลที่ 1-8 โดยจัดแสดงอยู่ภายในห้องท้องพระโรงที่สวยงามตระการตา หุ่นชุดนี้สร้างขึ้นเพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณในพระมหากษัตริย์ราชวงศ์จักรี ที่ทุกพระองค์ทรงปกครองประเทศ และทำนุบำรุงบ้านเมือง ทำให้ประชาชนได้อยู่กันอย่างสงบร่มเย็นมาจนถึงทุกวันนี้
ด้านหลังห้องท้องพระโรงจัดแสดง “นิทรรศการพิเศษ 100 ปี สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี” ที่สะท้อนให้เห็นถึงความทรงจำอันงดงามของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
ฉันเดินชมหุ่นที่ชั้นล่างจนทั่วแล้ว ก็เดินขึ้นบันไดมาชมกันต่อที่ชั้นสอง โดยจะเริ่มต้นกันที่หุ่นชุด “ครูเพลงไทย” อันประกอบด้วย บรมครูพรานบูรพ์ (ครูจวงจันทน์ จันทร์คณา) ผู้สืบทอดละครร้องจากกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ และเป็นผู้ปฏิรูปเพลงไทยด้านรูปแบบเป็นคนแรกของเมืองไทย
ครูเอื้อ สุนทรสนาน ผู้ก่อตั้งวงดนตรีสุนทราภรณ์ และสร้างสรรค์เพลงไทยสากลที่ไพเราะไว้อีกประมาณ 2,000 เพลง และครูไพบูลย์ บุตรขัน บิดาแห่งเพลงลูกทุ่งไทย
นอกจากครูเพลงไทยแล้ว ก็ยังมีหุ่นชุด “บุคคลสำคัญของโลก” ที่ประกอบด้วย ประธานาธิบดีอับราฮัม ลินคอล์น ประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา ผู้ปลดปล่อยทาส เซอร์วินสตัน เชอร์ชิล นายกรัฐมนตรีและรัฐบุรุษผู้ยิ่งใหญ่แห่งอังกฤษ และมหาตมะ คานธี นักการเมืองที่อุทิศตนต่อสู้เพื่ออิสรภาพของชาวอินเดีย
ห้องถัดไปนั้น เรียกว่าเป็นการเรียกความทรงจำเมื่อสมัยยังเด็กให้ออกมาโลดแล่นอีกครั้ง ห้องนี้จัดแสดงหุ่นชุด “การละเล่นของไทย” ซึ่งในส่วนของการละเล่นของเด็กๆ นั้นจะมีทั้ง จ้ำจี้ ขี่ช้างชนกัน แมงมุม และรีรีข้าวสาร โดยตัวหุ่นนั้นปั้นเป็นลักษณะของเด็กไทย มีผมจุก ผมแกละ ผมโก๊ะ และผมเปีย ซึ่งเป็นทรงผมของเด็กๆ ในสมัยก่อน
ส่วนการละเล่นไทยของผู้ใหญ่นั้น ก็เน้นที่ความสนุกสนาน นั่นคือ การเล่นหัวล้านชนกัน โดยได้จำลองลักษณะของหัวล้านทั้ง 7 แบบมาไว้ให้ศึกษาไปพร้อมกันด้วย
อีกหนึ่งบุคคลสำคัญของเมืองไทยที่ได้รับการกล่าวขานถึงอยู่ตลอดมาก็คือ “สุนทรภู่” ที่ได้ฝากบทประพันธ์ที่สนุกสนานให้เราได้เรียนรู้กันมาตั้งแต่เด็กจนโต จึงมีการปั้นหุ่นวรรณคดีไทย “พระอภัยมณี ของสุนทรภู่” ซึ่งนับได้ว่าเป็นบทประพันธ์ที่เราคุ้นเคยกันดี โดยตัวหุ่นนั้นจะประกอบไปด้วยท่านสุนทรภู่ และตัวละครต่างๆ จากวรรณคดีเรื่องพระอภัยมณี
และมาถึงห้องสุดท้าย ที่ถือว่าเป็นประวัติศาสตร์อีกหน้าหนึ่งของไทย นั่นก็คือเรื่องการเลิกทาสในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยมีการปั้นหุ่นชุด “สมเด็จพระปิยมหาราชกับการเลิกทาส” ที่ได้จัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับระบบทาสในบรรยากาศจำลอง มีทั้งทาสในเรือนเบี้ย ชุดบ่อนเบี้ย ชุดทาสถูกโบย ชุดชีวิตใหม่ หุ่นแต่ละชุดนั้นสะท้อนให้เห็นชีวิตของทาสในสมัยก่อน และยังบอกเล่าถึงพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระปิยมหาราชที่ทรงประกาศเลิกทาส
หุ่นแต่ละตัวที่จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์นี้ ล้วนแต่มีความเสมือนจริง ไม่ว่าจะเป็นผิวพรรณ เสื้อผ้า อิริยาบถต่างๆ รวมถึงเส้นผม แววตา ที่สะท้อนความเป็นตัวคนออกมาได้มากที่สุด ฉันเดินเพลินๆ บางทีก็คิดว่าเป็นคนมายืนอยู่จริง หรือบางทีเป็นคนจริงๆ ยืนอยู่ กลับนึกว่าเป็นหุ่นไปเสียนี่ ใครจะมาเดินชมที่นี่คงต้องพกพาความช่างสังเกตมาด้วยเยอะๆ จะได้ไม่ต้องเดินไปตกใจไปแบบฉัน
* * * * * * * * * * * * * * * * *
“พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย” ตั้งอยู่บนถนนบรมราชชนนี ต.ขุนแก้ว อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม เปิดให้บริการทุกวัน วันจันทร์-ศุกร์ เวลา 09.00-17.30 น. วันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา 08.30-18.00 น. ค่าเข้าชม เด็ก 30 บาท ผู้ใหญ่ 70 บาท สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 0-3423-2822, 0-3433-2061 www.thaiwaxmuseum.com หรือที่ Facebook Fanpage : พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย - Thai Human Imagery Museum
* * * * * * * * * * * * * * * * *
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล travel_astvmgr@hotmail.com