xs
xsm
sm
md
lg

ต้นทุนสูงราคาต่ำ : ปัญหาชาวนาวันนี้

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

ในอดีตชาวนาปลูกข้าวเพื่อกินและขายส่วนที่เหลือจากการบริโภคในครัวเรือน เพื่อเป็นรายได้และจะขายข้าวเปลือกทั้งหมดเมื่อฤดูกาลเก็บเกี่ยวใหม่มาถึงจะเหลือไว้เพื่อเก็บเมล็ดพันธุ์เพาะปลูกในปีต่อไปเท่านั้น

ดังนั้น ชาวนาทุกครัวเรือนจึงมียุ้งฉางเก็บข้าวเปลือกของตนเอง ดังนั้น ชาวนาเกี่ยวข้าวแล้วไม่จำเป็นต้องรีบขาย แต่จะเก็บไว้ขายเมื่อจำเป็นต้องใช้เงินเป็นครั้งคราว แต่ส่วนใหญ่จะขายข้าวเปลือกเก่าออกไป เพื่อนำข้าวซึ่งเก็บเกี่ยวในฤดูกาลใหม่มาแทน การที่ชาวนาเก็บข้าวไว้ในยุ้งฉางก่อนเป็นผลดีต่อราคาขาย เนื่องจากปริมาณข้าวออกสู่ตลาดน้อย ไม่ทำให้ถูกพ่อค้าคนกลางกดราคาทั้งข้าวเปลือกที่เก็บไว้ในยุ้งฉางนาน ทำให้ข้าวแห้งมีความชื้นน้อยขายได้ราคาสูงกว่าด้วย

1. ชาวนาในอดีต โดยเฉพาะในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือมิได้ทำนาเพียงอย่างเดียว แต่ทำไร่ปลูกผัก เลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่เพื่อเป็นอาหารและเหลือจากการบริโภคก็ขายเป็นรายได้เสริม และเลี้ยงหมูขายเป็นรายได้พิเศษ ในทำนองเดียวกับการสะสมเงิน สุดท้ายสัตว์เลี้ยงที่ขาดไม่ได้ก็คือวัวควายเพื่อการใช้แรงงานในการทำนา และลากเกวียนขนสัมภาระ

นอกจากเลี้ยงสัตว์แล้ว ชาวนาที่ขยันขันแข็งและมีแรงงานมีฝีมืออยู่ในครอบครัว จะปลูกฝ้ายและปลูกหม่อนเลี้ยงไหมเพื่อนำเส้นใยมาถักทอเครื่องนุ่งห่มใช้เองในครอบครัว และขายส่วนที่เหลือเป็นรายได้เสริมอีกด้วย

2. ชาวนาในอดีตใช้แรงคนในครอบครัวควบคู่ไปกับการใช้แรงงานสัตว์ที่เลี้ยงไว้ ถ้าจำเป็นต้องใช้ปุ๋ยเพื่อบำรุงต้นข้าวตลอดจนพืชไร่ และพืชสวนก็ใช้มูลสัตว์ที่ตนเลี้ยงไว้ และถ้าต้องการใช้แรงงานมากกว่าที่ตนเองมีอยู่ ก็จะมีไหว้วานเพื่อนบ้านมาช่วยกันทำอาหารเลี้ยงกันไม่ต้องจ่ายค่าจ้าง วิธีนี้เรียกว่า ลงแขก

จากการใช้ชีวิตแบบพึ่งตนเองดังกล่าวข้างต้น ชาวนาไม่มีหนี้ ดังนั้น การรีบเร่งขายข้าวเพื่อนำเงินมาใช้หนี้จึงไม่เกิดขึ้น

เมื่อชาวนาไม่เดือดร้อนจากการเร่งขายข้าวเพื่อการใช้หนี้ และแถมยังมีรายได้อื่นมาใช้จ่ายตามอัตภาพ ดังนั้น จึงไม่จำเป็นต้องออกมาเรียกร้องขอให้รัฐบาลช่วยเฉกเช่นในปัจจุบัน

ส่วนชาวนาในปัจจุบันแตกต่างจากอดีตโดยสิ้นเชิง เริ่มจากการทำนาเพื่อขายไม่เหลือแม้เพื่อการบริโภค และเป็นเมล็ดเพื่อการเพาะปลูก

ดังนั้น ชาวนาในยุคปัจจุบันจึงไม่มียุ้งฉางในทันทีที่เก็บเกี่ยวเสร็จขายให้แก่โรงสี หรือพ่อค้าคนกลางจนหมดแล้วซื้อข้าวสารจากโรงสีมาบริโภค จึงเป็นช่องทางให้ถูกเอารัดเอาเปรียบตั้งแต่เริ่มต้น เนื่องจากไม่สามารถกำหนดราคาขายข้าวเปลือก และราคาซื้อข้าวสาร กล่าวคือ เมื่อต้องการขายข้าวเปลือกต้องถามพ่อค้าว่าจะรับซื้อในราคาเท่าใด แต่เมื่อเป็นข้าวสารก็จะถามว่าจะขายราคาเท่าใด ทั้งๆ ที่ข้าวเปลือกและข้าวสารเป็นผลผลิตของตนเอง จึงเห็นได้ว่าอาชีพการทำนาเป็นอาชีพเดียวที่ผู้ผลิตไม่มีความอิสระในการกำหนดราคาขายผลผลิตของตนเอง และนี่เองที่ชาวนาในปัจจุบันต้องขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลทุกครั้งที่ราคาข้าวเปลือกตกต่ำ และดูเหมือนภาวะเช่นนี้จะเกิดขึ้นในทุกฤดูกาลเก็บเกี่ยว

ทำไมชาวนาในปัจจุบันจึงประสบปัญหาเดือดร้อน

เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้มองเห็นเหตุแห่งการเกิดปัญหา ผู้เขียนให้ท่านผู้อ่านย้อนไปดูกระบวนการทำนาในปัจจุบัน ก็จะพบความแตกต่างดังนี้

1. ในขณะที่ชาวนาในอดีตทำนา โดยอาศัยแรงงานคนและแรงงานสัตว์ จึงไม่มีค่าใช้จ่ายหรือพูดง่ายๆ ก็คือไม่มีการลงทุนเป็นตัวเงิน แต่ชาวนาในปัจจุบันทำนาด้วยการใช้เครื่องจักรกล ถ้าเครื่องจักรกลของตนเองมีค่าน้ำมัน และจะต้องจ่ายดอกเบี้ยถ้าซื้อเงินผ่อน แต่ถ้าเป็นการจ้างไม่ว่าจะเป็นรถไถ รถเกี่ยวรวมไปถึงเครื่องปักดำ ล้วนแล้วแต่ต้องลงทุนเป็นตัวเงินสดทั้งสิ้น

ดังนั้น ในทุกฤดูกาลทำนา ชาวนาจะต้องเตรียมเงินสดไว้ ถ้าไม่มีหรือมีไม่พอ ก็จะต้องกู้ยืมหรือติดค้างค่าจ้างรถไถ รถเกี่ยวรวมไปถึงแรงงานหรือเครื่องปักดำ นี่คือเหตุแห่งความต่างประการที่หนึ่ง

2. ในขณะที่ชาวนาในอดีตส่วนใหญ่หรือทุกคนก็ว่าได้ เกี่ยวข้าวแล้วไม่ขายในทันที แต่จะเก็บไว้ในยุ้งฉางเพื่อรอขายหรือทยอยขายเท่าที่จำเป็นต้องใช้เงิน จึงไม่ทำให้ปริมาณข้าวเปลือกออกสู่ตลาดพร้อมกัน ไม่ทำให้ข้าวล้นตลาดและเป็นเหตุให้พ่อค้ากดราคา

แต่ในปัจจุบันชาวนาจะขายข้าวเปลือกทั้งหมดในทันทีหลังเก็บเกี่ยว จึงทำให้ปริมาณข้าวเปลือกล้นตลาด และเป็นเหตุให้พ่อค้ากดราคา ทั้งนี้เนื่องจากชาวนาส่วนใหญ่ไม่มียุ้งฉางเก็บข้าวเปลือก ประกอบกับในรายที่เป็นหนี้จะต้องรีบขายเพื่อนำเงินไปชำระหนี้ จึงทำให้ข้าวเปลือกออกสู่ตลาดพร้อมกันจนเกินความต้องการเป็นเหตุให้ราคาตกต่ำ นี่คือความต่างประการที่สอง

ด้วยเหตุปัจจัยอันเป็นความต่างสองประการดังกล่าวนี้ ชาวนาในปัจจุบันจึงเดือดร้อนและออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลช่วย

เมื่อชาวนาเดือดร้อนเนื่องจากราคาข้าวเปลือกตกต่ำ ทุกรัฐบาลในอดีตได้แก้ปัญหาอย่างไร

ถ้าย้อนไปดูการให้ความช่วยเหลือแก่ชาวนาเพื่อแก้ปัญหาราคาข้าวเปลือกตกต่ำ ก็จะพบว่าทุกรัฐบาลโดยเฉพาะอย่างยิ่ง รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะใช้มาตรการในทำนองเดียวกันคือ

1. ใช้เงินงบประมาณเข้าช่วยเหลือภายใต้ชื่อของโครงการต่างๆ แต่เนื้อหาทำนองเดียวกันคือ การเข้าแทรกแซงกลไกราคาในตลาดโดยการรับซื้อในราคาสูงกว่าตลาดเพื่อพยุงราคาให้สูงขึ้น ประกันราคาขั้นต่ำ และประกันรายได้ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ และเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้พ้นไปในแต่ละปีเท่านั้น เมื่อถึงฤดูกาลเก็บเกี่ยวใหม่ ปัญหาก็เกิดขึ้นเหมือนเดิม ทั้งนี้เนื่องจากว่าต้นเหตุพื้นฐานคือต้นทุนการผลิตสูง และการขาดอำนาจการต่อรองในการกำหนดราคาขาย ยังมิได้รับการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม

2. แก้ปัญหาหนี้โดยการใช้มาตรการผ่อนปรนด้วยการพักการจ่ายดอกเบี้ย และยืดการชำระเงินต้นออกไปในกรณีที่เป็นหนี้ธนาคารของรัฐ เช่น ธ.ก.ส. เป็นต้น และในกรณีที่เป็นหนี้เอกชนก็ให้ธนาคารของรัฐเข้าไปช่วยเหลือโดยการปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำ และชำระคืนในระยะยาว

แต่อย่างไรก็ตาม ชาวนาพอจะมีความหวังขึ้นมาบ้างเมื่อรัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ใช้มาตรการซึ่งแตกต่างไปจากอดีตบางประการเช่น

1. แก้ปัญหาเฉพาะหน้าโดยการให้ชาวนานำข้าวสารที่แปรรูปจากชาวนาเองไปขายตรงให้แก่ประชาชนในรูปแบบต่างๆ

2. การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ จะเห็นได้จากโครงการทำนาแปลงใหญ่โดยให้ชาวนารวมกลุ่มกันเพื่อลดต้นทุนการผลิต และลดอำนาจต่อรองทางการขาย

แต่ถ้าจะให้การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุได้ผลดียิ่งขึ้น ควรจะได้ดำเนินการเพิ่มเติมดังต่อไปนี้

1. กำหนดพื้นที่การทำนาให้สอดคล้องกับพันธุ์ข้าว และวิธีการทำนาคือระบุให้ชัดว่าเป็นนาหว่านหรือนาดำ

2. ควบคุมการผลิตข้าวให้มีการลดต้นทุน และเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้น รวมไปถึงควบคุมคุณภาพและปริมาณของผลผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศรวมกัน เพื่อป้องกันข้าวล้นตลาดและนำพื้นที่ที่เหลือเพาะปลูกพืชชนิดอื่นแทนข้าว
กำลังโหลดความคิดเห็น