xs
xsm
sm
md
lg

“พาณิชย์” เผยราคาข้าวเริ่มขยับขึ้น เปลือกหอมมะลิขึ้นแล้วตันละ 500 เปลือกเจ้าถึงตันละ 8,000 แน่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“พาณิชย์” เผยมาตรการช่วยชาวนาได้ผล ราคาข้าวเริ่มขยับขึ้น หอมมะลิเพิ่มขึ้นแล้วตันละ 500 บาท มีโอกาสขยับถึง 1,000 บาทแน่ ส่วนข้าวเปลือกเจ้า ราคาถึงตันละ 8,000 แน่ เตรียมหารือเกษตรวางแผนเพาะปลูกข้าวนาปรัง ตั้งเป้าไม่ให้เกิน 4 ล้านตัน ป้องกันผลผลิตมากเกิน กระทบการทำตลาด

น.ส.วิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้แนวโน้มราคาข้าวเริ่มปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องซึ่งเป็นผลมาจากมาตรการช่วยเหลือชาวนาที่รัฐบาลได้นำมาใช้เพื่อชะลอการขายข้าวเปลือก ทำให้ชาวนามีความมั่นใจว่าได้รับการดูแล ประกอบกับคุณภาพข้าวเริ่มดีขึ้นเนื่องจากข้าวแก่เต็มที่และมีความชื้นลดลงหลังจากหมดฤดูฝน โดยความชื้นลดลงมาเหลือ 16% และสูงสุด 28% จากก่อนหน้านี้ความชื้นจะสูงถึง 30% ทำให้ราคาข้าวเปลือกหอมมะลิได้ปรับตัวมาอยู่ที่ตันละ 9,000-10,000 บาท ที่ความชื้น 15% โดยราคาขยับขึ้นมาแล้วตันละ 500 บาท และมีโอกาสที่จะขึ้นไปถึงตันละ 1,000 บาทหรือมากกว่าได้

ส่วนข้าวเปลือกเจ้า ราคาก็มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น เพราะข้าวแก่เต็มที่ และมีความชื้นลดลง โดยมั่นใจว่าราคาจะขึ้นมาอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปีก่อนที่ตันละ 7,000-8,000 บาท เนื่องจากผลผลิตข้าวเปลือกเจ้านาปีในปีนี้ปริมาณลดลงมาเหลือเพียง 6 ล้านตัน น้อยกว่าปีก่อนที่มีปริมาณ 7-8 ล้านตัน

น.ส.วิบูลย์ลักษณ์กล่าวว่า ผลผลิตข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2559/60 ที่กำลังออกสู่ตลาด คาดว่าจะมีผลผลิตรวมอยู่ที่ 25 ล้านตันข้าวเปลือก ซึ่งกระทรวงฯ จะร่วมมือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการปรับแผนการเพาะปลูกข้าวรอบ 2 หรือข้าวนาปรัง ที่จะต้องผลักดันให้มีปริมาณไม่เกิน 4 ล้านตัน เพราะปีนี้ทั้งปี ได้ตั้งเป้าผลผลิตข้าวไว้ที่ 27 ล้านตัน ซึ่งผลผลิตรอบแรก หรือข้าวนาปี ก็เกือบจะถึงเป้าแล้ว หากมากไปกว่านี้ก็จะมีปัญหาในการทำตลาดได้ เนื่องจากแนวโน้มผลผลิตข้าวโลกเพิ่มขึ้น จากการที่ประเทศผู้ซื้อหลายประเทศหันมาปลูกข้าวเพิ่มขึ้นทำให้ความต้องการลดลง

อย่างไรก็ตาม กระทรวงฯ ได้จัดทำแผนระบายผลักดันการส่งออกข้าว เพื่อเร่งระบายผลผลิตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งได้เริ่มดำเนินการจัดกิจกรรมเจรจาธุรกิจ (บิสิเนส แมตชิ่ง) ไปแล้ว ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก สามารถตกลงซื้อขายได้สูงถึง 6.3 หมื่นล้านบาท และยังมีแผนที่จะเดินทางไปเจรจาขายข้าวในประเทศต่างๆ ประมาณ 25 ประเทศ ทั้งในรูปแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) และการขายปกติ โดยได้ดำเนินการไปแล้วหลายประเทศ รวมทั้งยังได้เพิ่มช่องทางการขายข้าว โดยใช้ระบบออนไลน์มาช่วย ซึ่งมีทั้งการผลักดันให้ชาวนาเอาข้าวมาขายโดยตรง หรือการผลักดันให้ผู้ประกอบการที่ขายข้าวอยู่แล้ว มีช่องทางในการจำหน่ายได้เพิ่มขึ้น

สำหรับงบประมาณที่นำมาในการช่วยเหลือชาวนาของรัฐบาลชุดนี้ มีวงเงินงบประมาณหมุนเวียนประมาณ 1.3-1.4 แสนล้านบาท ประกอบด้วย มาตรการช่วยเหลือต้นทุนการผลิต วงเงินประมาณ 7 หมื่นล้านบาท โครงการชะลอการขายข้าวเปลือกอีกประมาณ 4 หมื่นล้านบาท และที่เหลือเป็นการช่วยเหลือในการลดราคาปัจจัยการผลิต ลดดอกเบี้ย และพักชำระหนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น