เบื้องหลัง ศอตช. ได้รายชื่อ 6 พันคน เอี่ยวคดีจำนำข้าว - คดีจีทูจีข้าว หลัง ประธานอนุฯรวบรวมข้อมูล ทำหนังสือถึงปลัด 5 กระทรวง เผย ส่วนใหญ่อยู่ใน “คณะอนุกรรมการติดตามกำกับดูแลการรับจำนำระดับจังหวัด” ทั้ง 76 จังหวัด ระบุ ขอข้อมูลละเอียดยิบ ทั้งรายงานการประชุม หน่วยงาน - รายชื่อเจ้าหน้าที่ในสังกัด สอบถามความเกี่ยวข้อง - ตำแหน่ง - อำนาจหน้าที่ มีการดำเนินการอย่างไร เจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องคือผู้ใด
วันนี้ (15 พ.ย.) มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาล ว่า ภายหลัง พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม ในฐานะประธานศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) ออกมาระบุว่า ได้รับรายชื่อผู้ที่เกี่ยวข้องในคดีรับจำนำข้าวกว่า 6,000 คน นั้น พบว่า เมื่อ วันที่ 3 พ.ย. นายจิรชัย มูลทองโร่ย ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานอนุกรรมการประสานงานและรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินการต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในคดีทุจริตระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐและคดีจำนำข้าว ได้ทำหนังสือด่วนที่สุด ที่ ปท ๐๐๓๐ /๒๕ ถึงปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย และปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี
ขณะที่ เมื่อวันที่ 14 พ.ย. ที่ผ่านมา นายประยูร รัตนเสนีย์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ปฏิบัติราชการแทนปลัดกระทรวงมหาดไทย ทำหนังสือด่วนที่สุด ที่ มท ๐๓๑๐.๓/ ว ๔๕๒๓ เรื่องการจัดส่งเอกสารหลักฐานการดำเนินการตามโครงการรับจำนำข้าวตามนโยบายรัฐบาล สำหรับโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2554/55, นาปรัง ปีการผลิต 2545, นาปี ปีการผลิต 2555/56 และ นาปี ปีการผลิต 2556/57 ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ
โดยมีการส่งสำเนาหนังสือจากศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจรติแห่งชาติ (ศอตช.) ด่วนที่สุด ที่ ปท ๐๐๓๐ /๒๕ ลงวันที่ 3 พ.ย. ที่ผ่านมา ส่งมายังจังหวัดด้วย โดยหนังสือระบุว่า ด้วยประธานอนุกรรมการประสานงานและรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินการต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในคดีทุจริตระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐและคดีจำนำข้าว ขอให้กระทรวงมหาดไทยจัดส่งข้อมูลและเอกสารหลักฐานโครงการรับจำนำข้าวตามนโยบายรัฐบาล สำหรับโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2554/55, นาปรัง ปีการผลิต 2545, นาปี ปีการผลิต 2555/56 และ นาปี ปีการผลิต 2556/57
“ให้คณะอนุกรรมการติดตามกำกับดูแลการรับจำนำระดับจังหวัด จัดส่งข้อมูลการดำเนินการ ให้ครบถ้วนและถูกต้อง ขอให้จังหวัดจัดทำและส่งมาตามแบบที่กำหนดให้เลขานุการอำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) โดยตรง และให้จัดส่งมาภายในวันที่ 14 พ.ย. นี้”
มีรายงานว่า ก่อนหน้านั้น นายจิรชัย ได้ทำหนังสือด่วนที่สุด ที่ ปท ๐๐๓๐ /๒๕ ลงวันที่ 3 พ.ย. เพื่อขอเอกสารดังกล่าวจากกระทรวงต่างๆ ทุกจังหวัด
หนังสือระบุ ตอนหนึ่งว่า 1. ขอทราบข้อเท็จจริง หน่วยงานในสังกัด และเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานในสังกัดของท่านที่เกี่ยวข้องกับโครงการรับจำนำข้าวดังกล่าว คือ หน่วยงานใด เกี่ยวข้องอย่างไร เจ้าหน้าที่รัฐคือผู้ใด ตำแหน่งใด พร้อมทั้งมีคำสั่งที่ให้มีอำนาจหน้าที่ที่มีรายชื่อตามคำสั่งที่เกี่ยวข้องกับการรับจำนำข้าวดังกล่าว พร้อมให้ส่งรายงานการประชุม (ถ้ามี) และขอให้กรอกข้อมูลแบบสรุปหน่วยงาน หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องกับโครงการรับจำนำข้าว 1 แผ่น
2. ขอให้จัดส่งข้อเท็จจริงและเอกสารหลักฐานในการดำเนินการในส่วนของคณะอนุกรรมการติดตามกำกับดูแลการรับจำนำระดับจังหวัด (76 จังหวัด) มีการดำเนินการอย่างไร เข้าหน้าที่เกี่ยวข้อง คือ ผู้ใด พร้อมทั้งคำสั่งที่ให้มีอำนาจหน้าที่ และการมอบให้ปฏิบัติหน้าที่แทน (หากมี)
3. ขอให้ผู้ว่าฯแจ้งรายชื่อผู้ที่ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบในการรวบรวมเอกสารหลักฐานดังกล่าวให้ฝ่ายเลขานุการรับทราบ และขอให้จัดส่งข้อเท็จจริง และเอกสารหลักฐานไปยังสำนักงาน ป.ป.ท. ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการอำนวยการต่อต้านการทุจรติแห่งชาติ (ศอตช.) ภายในวันที่ 7 พ.ย. ที่ผ่านมา
มีรายงานว่า อย่างไรก็ตาม ในส่วนของกระทรวงมหาดไทย ได้สั่งการให้จัดส่งเอกสารรายชื่อผู้เกี่ยวข้องเพิ่มเติมให้แล้วเสร็จในค่ำวันที่ 14 พ.ย. ที่ผ่านมา
เมื่อเช้าวันนี้ (15 พ.ย.) พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม ในฐานะประธานศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) ให้สัมภาษณ์ก่อนประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงความคืบหน้าการเรียกค่าเสียหายกับผู้เกี่ยวข้องในคดีรับจำนำข้าว ส่วนที่เหลืออีก 80% ในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี มูลค่า 142,868 ล้านบาท ว่า ขณะนี้ได้รับรายชื่อผู้ที่เกี่ยวข้องจากหน่วยงานที่ได้รับผิดชอบ คือ กระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย และสำนักนายกรัฐมนตรีแล้ว โดยแบ่งผู้เกี่ยวข้องออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มผู้บริหาร หรือกลุ่มของรัฐมนตรีและอนุกรรมการเกี่ยวกับนโยบายข้าว ประมาณ 2,000 รายชื่อ กลุ่มผู้ปฏิบัติ หรือกลุ่มรายกระทรวงเดิม มีองค์กรต่างๆ และข้าราชการ ประมาณ 4,000 ราย รวม 6,000 ราย จำนวนนี้ไม่ได้หมายความว่าจะต้องรับผิดชอบทั้งหมด
แต่จะต้องมาตรวจสอบรายละเอียดก่อนว่า ใครต้องรับผิดอะไรและเป็นเพราะอะไร เพื่อเสนอให้นายกรัฐมนตรี และ ครม. รับทราบ และสุดท้ายกลุ่มผู้ประกอบการ หรือภาคเอกชน เช่น โรงสี คลังสินค้า ซึ่งยังรวบรวมไม่เรียบร้อย เนื่องจากมีข้อมูลไม่เกี่ยวข้องกับกลุ่มผู้ปฏิบัติ โดยกระทรวงมหาดไทย กำลังรวบรวมข้อมูลเพื่อส่งมาให้ตนพิจารณาต่อไป