ดร.ปิติ ศรีแสงนาม
ศูนย์อาเซียนศึกษา คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ
ศูนย์อาเซียนศึกษา คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ
เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (19 พ.ย. 2559) ประชาชนชาวมาเลเซียจำนวนประมาณ 15,000 คนสวมเสื้อเหลืองออกมาชุมนุมกันในบริเวณใจกลางกรุงกัวลาลัมเปอร์ เมืองหลวงของมาเลเซีย แน่นอนว่าคนจำนวนนี้ถือว่าลดลงมากเมื่อเทียบกับการชุมนุมครั้งก่อนในนาม Bersih 4.0 ที่มีประชนชนเรือนแสนออกมาร่วมขับไล่รัฐบาล ณ จัตุรัส Merdeka
การชุมนุมเกิดขึ้นสั้นๆครับจาก 10โมงเช้าถึง 6 โมงเย็นเท่านั้น ส่วนใหญ่คนก็ออกมาปิกนิคถ่ายรูป selfie กัน เทียบไม่ได้เลยกับ 4.0 ที่ชุมนุมกันมากกว่า 30 ชั่วโมงคนเรือนแสนทั่วประเทศ
Bersih เป็นภาษา Bahasa ที่แปลว่า สะอาด เป็นกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองโดยภาคประชาชนที่มีแกนนำคือ คุณ Maria Chin Abdullah คนมาเลเซียเชื้อสายจีนที่ออกมาเรียกร้องเพื่อเป้าหมาย 5 ประการอันได้แก่
1. ต้องการการเลือกตั้งที่ใสสะอาด
2. ต้องการการเมืองที่ใสสะอาด
3. ต้องการให้ภาคประชาชนมีพื้นที่ในการเรียกร้องการปฏิรูปการเมือง
4. ต้องการระบบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาที่มีการปฏิรูป
5. ต้องการการปฏิรูประบบเศรษฐกิจ
Bersih 5.0 อาจจะไม่ได้มีการเตรียมตัวมาดีเท่าที่ควรเมื่อเทียบกับปีที่แล้วที่มีคนออกมาร่วมเป็นเรือนแสน ทั้งนี้เนื่องจากในครั้งนั้นมีกรณีเปิดโปงนายกรัฐมนตรีนาจิบราซัก ที่มีความไม่โปร่งใสในเรื่องเงินโอนเข้าบัญชีส่วนตัวมูลค่ากว่า 700 ล้านริงกิตโดยไม่มีที่มาที่ไป (อ่านเพิ่มเติมใน (www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9580000099891)
ทำให้ Bersih 4.0 มีเป้าหมายเป็น 5+1 นั่นคือ ต้องการ ผู้นำของชาติคนใหม่แทนนาจิบ ราซัค
อย่างไรก็ตาม 5.0 กระแสไม่แรงขนาดนั้น และภาครัฐเองก็มีการควบคุมการชุมนุมที่เข็มแข็งและเตรียมการรับมือมาอย่างดีมากขึ้น โดยมีการกันพื้นที่ไม่ใ้ห้กลุ่มผู้ชุมนุมสามารถเดินทางไปรวมกลุ่มกันที่จัตุรัส Merdeka ได้ตามต้องการ แต่ก็สามารถป้องกันการปะทะระหว่างกลุ่ม Bersih เสื้อเหลืองกับผู้สนับสนุนรัฐบาลพรรค UMNO ที่ใส่เสื้อแดงพร้อมพกอาวุธออกมา ไม่ให้เผชิญหน้าและปะทะกันในลักษณะเสื้อแดงรุมกินโต๊ะเสื้อเหลืองได้
แม้เที่ยวนี้คนจะลดลง แต่การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญคือ เราเห็น คนมลายู ออกมาสนับสนุน Bersih เพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งที่โดยปกติแล้วคนมลายูส่วนใหญ่คือกลุ่มที่สนับสนุน UMNO: United Malay National Organisation ที่มีนโยบายเอื้อประโยชน์ให้กับคนมลายูมากกว่าคนเชื้อชาติอื่นในประเทศ
นักวิเคราะห์การเมืองมาเลเซียพิจารณาว่า เรื่องนี้มีที่มาที่ไปอยู่ดังนี้
1. พวกเขาเดือดร้อนจากความถดถอยทางเศรษฐกิจที่ทำให้ค่าครองชีพสูงขึ้นอย่างมาก สินค้าราคาแพงขึ้น โดยเฉพาะกับคนมลายูซึ่งส่วนใหญ่เป็นรากหญ้า
2. นักธุรกิจมลายู โดยเฉพาะ SMEs รับไม่ได้กับความไร้สามารถในการรักษาค่าเงินริงกิต เพราะทุกวันนี้ริงกิตอ่อนค่าลงมาก
3. ผิดหวังที่รัฐบาลไม่สามารถทำนโยบายประชานิยม ลด แลก แจก แถม ได้อีกต่อไป ตามที่พวกเขาคาดหวัง (ทั้งนี้เนื่องจากรายได้ภาครัฐที่มาจากอุตสาหกรรมพลังงานลดลงอย่างมาก)
4. รู้สึกอนาคตตนเองเริ่มมีความไม่แน่นอน
5. ต้องการการปฏิรูปการเมือง ปฏิรูปเศรษฐกิจจริงๆ
6. ออกมาตามกระแสและตามนักการเมืองในดวงใจ โดยเฉพาะ Dr.Mahathir Mohammad ที่ย้ายข้างมาสนับสนุน Bersih เพราะตัวเองก็โดน UMNO ทำไว้หนักอยู่
และอีกสิ่งหนึ่งที่เราเห็นอย่างชัดเจนคือผู้นำทางการเมืองที่ฉายแววมากขึ้นในการนำมวลชน นั่นคือ อดีตรองนายกรัฐมนตรี Tan Sri Muhyiddin Yassin ที่กล่าวปราศรัยเรื่องการปฏิรูปได้อย่างจับใจผู้ชุมนุม
ในขณะที่ Mahathir แก่เกินไปแล้ว Anwar Ibrahim ก็ยังต้องเคลียร์ข้อกล่าวหาอีกหลายๆ เรื่อง นาจิบ ราซัค ก็ป้อแป้ดูหมดอนาคต
Muhyiddin Yassin คือชื่อที่ต้องจับตามองครับ