คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้
โดย...ไม้ เมืองขม
ถ้าถามว่าการที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เดินหน้าในโครงการพูดคุยสันติภาพในชื่อใหม่ว่า “การพูดคุยสันติสุข” กับกลุ่มคนผู้เห็นต่างในปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งคนในขบวนการแบ่งแยกดินแดน และกลุ่มคนในพื้นที่ ซึ่งมีอยู่หลากหลายกลุ่ม เช่น ปัญญาชน นักศึกษา ผู้นำศาสนา ผู้นำท้องถิ่น นักวิชาการ นักการเมือง และประชาชนทั่วไปนั้น
เรื่องนี้เป็น “ข่าวดี” หรือไม่?!
ก็ต้องตอบว่า การเดินหน้าเพื่อพูดคุยกับกลุ่มผู้เห็นต่าง ไม่ว่าจะเป็น “โจร” หรือเป็น “ประชาชน” ย่อมเป็นข่าวดี!!
เพราะอย่าลืมว่า ครั้งหนึ่งที่ผ่านมาเมื่อปี 2556 หลังจากที่ “รัฐบาลเพื่อไทย” หรือจะเป็น “รัฐบาลเพื่อทักษิณ” ก็ได้ ประกาศวาระการแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยการพูดคุยกับ “ขบวนการบีอาร์เอ็นฯ” เท่านั้น เสียงตอบรับก็กระหึ่มไปทั่ว
โดยเฉพาะเสียงตอบรับแสดงความเห็นด้วยจากคนใน “สังคมใหญ่” ของจังหวัดชายแดนภาคใต้ถึงการเห็นด้วย และเอาด้วย ทั้งที่ยังไม่เห็นว่าวิธีการในการพูดคุยเป็นรูปแบบไหน มีการกำหนดหัวข้ออย่างไร และผู้พูดคุยประกอบด้วยใครบ้าง
เพียงแต่เกือบจะทุกภาคส่วนมีความเห็นพ้องกันว่า ปัญหาการก่อความไม่สงบ หรือการก่อการร้ายในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่สามารถจบลงในการใช้กำลังทหาร ตำรวจ และอาวุธเข้าเข่นฆ่ากัน แต่ต้องใช้เวทีในการพูดคุยตามแนวทางสันติภาพที่หลายๆ ประเทศที่มีปัญหาแบบเราเขาทำสำเร็จไปแล้ว หรือไม่ก็อยู่ระหว่างการกระทำ เช่น ที่ประเทศฟิลิปปินส์ เป็นต้น
แต่ที่หลายคนสงสัยคือ การที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ในฐานะหัวหน้า คสช. และ พล.อ.อุดมเดช สีตะบุตร รอง ผบ.ทบ. และหัวหน้าคณะแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำไมออกมาเปิดเผยแผนการเดินหน้าแก้ปัญหาความไม่สงบด้วยการสานต่อแนวทางของ “รัฐบาลเพื่อไทย”
ด้วยการประกาศพร้อมพูดคุยกับกลุ่มขบวนการต่างๆ ทั้งบีอาร์เอ็นฯ พูโล และอาจจะมีขบวนการอื่นๆ อีก รวมทั้งกลุ่มผู้เห็นต่างจากทุกภาคส่วน โดยยังยืนยันว่าจะให้ “ประเทศมาเลเซีย” เป็นผู้อำนวยความสะดวกเหมือนเดิม เหมือนกับที่รัฐบาลเพื่อไทย เคยดำเนินการเมื่อปี 2556 ที่ผ่านมา
เอ๊ะ!! ทำไมครั้งนี้เสียงตอบรับ หรือขานรับว่าเห็นด้วยๆ จากประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้จึงไม่ดังกระหึ่มเหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปี 2556?!
อะไรเกิดขึ้นกับคนในพื้นที่ หรือนี่คือการชี้ชัดว่า ระหว่างการปกครองที่รัฐบาลมาจาก “การเลือกตั้ง” กับรัฐบาลที่มาจาก “การรัฐประหาร” หรือการเป็นรัฏฐาธิปัตย์มันต่างกันตรงนี้ ตรงที่บรรยากาศการแสดงออกของประชาชนไม่มี และเอาให้ชัดคือ บรรยากาศการวิพากษ์รัฐบาลทำไม่ได้
หรือประชาชนไม่เชื่อมั่นว่า “กองทัพ” จะทำในเรื่องของ “สันติภาพ” ไม่ได้?!
และอีกข้อที่น่าสังเกตคือ นอกจากคนในพื้นที่แสดงอาการที่เงียบ ซึ่งไม่แสดงออกถึงการตอบรับแล้ว ยังพบว่าบีอาร์เอ็นฯ และพูโล รวมทั้งกลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดนอื่นๆ ที่อยู่ในประเทศที่สาม ต่างก็ไม่ตอบรับกับนโยบายของพูดคุยกับกลุ่มผู้เห็นต่างของกองทัพครั้งนี้
ทั้งที่โดยข้อเท็จจริงที่ผ่านมา แค่การโยนก้อนหินถามทางเกิดขึ้นในเรื่องการพูดคุย หรือเจรจากับกลุ่ม หรือขบวนการในต่างประเทศ ก็จะมีการแสดงความคิดเห็นผ่านโลกของโซเชียลเน็ตเวิร์กอย่างเชี่ยวกราก!!
แม้กระทั่งในวันนี้ที่ คสช.มีการเปิดเผยว่า จะมีการตั้งคณะทำงาน 1 ชุด และตั้งคณะสนับสนุนการทำงานอีก 3 ชุด เพื่อการเดินหน้าพูดคุย แต่ก็ยังไม่มีบรรยากาศของความคึกคักให้เห็น หรือแม้กระทั่งการแสดงคิดเห็นว่าคณะทำงานควรจะเป็นใคร และคณะทำงานสนับสนุนควรจะประกอบด้วยบุคคลอย่างไร
ส่วนที่ได้เห็น หรือได้ฟังบ้างก็แค่ความคิดเห็นจาก “สมภพ จิตภิรมย์ศรี” นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ในฐานะ ผอ.ศูนย์เผ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ และ “ประสิทธิ์ เมฆสุวรรณ” ประธานภาคประชาสังคมชายแดนใต้ ที่ออกมาแสดงความคิดเห็นแบบเกร็งๆ และกั๊กๆ ให้เห็นเท่านั้น
ทว่าที่ต้องจับตามอง และเห็นค่อนข้างชัดเจนกลับเป็นบทบาทของประเทศมาเลเซีย ซึ่งในครั้งที่พรรคเพื่อไทย เป็นรัฐบาล และเป็นผู้กำหนดนโยบายดับไฟใต้ด้วยการพูดคุย โดยให้มีมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวกนั้น มาเลเซีย วางบทบาทของผู้อำนวยความสะดวกไว้ที่ “สันติบาล”
เพราะมาเลเซียเห็นชัดเจนว่า ณ ขณะนั้นประเทศไทยมี “ตำรวจ” เป็นใหญ่ เช่นเดียวกับผู้ที่อยู่เบื้องหลังการพูดคุยก็เป็นอดีตตำรวจยศ “พ.ต.ท.” ที่เป็นอดีตนายกรัฐมนตรีนั่นเอง
แต่เมื่อ คสช.ประกาศชัดเจนว่า จะดำเนินการสานต่อนโยบายการพูดคุย โดยยังมอบหมายให้ประเทศมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก เหมือนกับที่รัฐบาลเพื่อไทยเคยใช้บริการมา มาเลเซียก็แสดงท่าที่มีความพร้อมในการให้ความร่วมมือกับ คสช.ในด้านการอำนวยความสะดวกในการพูดคุย โดยมีการส่งตัวแทนที่เป็น “นายทหาร” เข้ามาพบปะประสานแนวทางอย่างทันทีทันใด
เนื่องเพราะเห็นชัดเจนว่า ณ ขณะนี้ผู้กุมอำนาจของรัฐไทยคือ “กองทัพ”!!
โดยข้อเท็จจริง “กลไก” สำคัญในการเปิดพื้นที่พูดคุยระหว่างตัวแทนของรัฐไทยกับขบวนการแบ่งแยกดินแดน และกลุ่มผู้เห็นต่างทุกกลุ่มคือ “รัฐบาลมาเลเซีย”
แต่การ “เกลี้ยกล่อม” และ “บังคับ” ให้ตัวแทนของบีอาร์เอ็นฯ ที่อยู่ในประเทศมาเลเซียเป็นตัวแทนในการพูดคุยกับตัวแทนของสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) คือ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการ สมช.ในขณะนั้น
รวมทั้งการ “เจาะจง” ให้ “ฮาซัน ตอยิบ” เป็นตัวแทนของขบวนการบีอาร์เอ็นฯ ในการพูดคุย รวมถึงการ “กำหนดแนวทาง” ของข้อเรียกร้องต่างๆ บนโต๊ะของการพูดคุย หรือการเจรจา จนสุดท้ายแกนนำบีอาร์เอ็นฯ ที่ไม่เห็นด้วยต่อวิธีการพูดคุยสันติภาพที่กำหนดโดย “รัฐบาลมาเลเซีย” ทนไม่ได้ ต้องใช้วิธีการส่งข้อเรียกร้อง หรือข้อเสนอผ่านช่องทาง “ยูทิวบ์” เพื่อสื่อสารโดยตรงถึงมวลชนของตนเอง จนกลายเป็นอุปสรรคของการพูดคุยในครั้งนั้น ซึ่งต้องมีการทบทวน และชะงักมาตลอด จนสุดท้ายต้องหยุดไปจริงๆ เพราะความวุ่นวายทางการเมือง
ดังนั้น สาเหตุที่เสียงตอบรับต่อกระแสเดินหน้าพูดคุยกับขบวนการแบ่งแยกดินแดน และผู้เห็นต่างกลุ่มอื่นๆ ยังไม่ดังให้ได้ยิน อาจจะเป็นผลมาจากแนวทางการพูดคุยที่ผ่านมาในยุคของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ได้ทำให้คนส่วนหนึ่งที่รู้เท่าทัน และอ่านเกมออกแล้วในเวลานี้
โดยเฉพาะที่เห็นได้ชัดเจนว่า หลายอย่างที่เกิดขึ้นในกระบวนการพูดคุยสันติภาพมันเป็นเหมือนกับ “ปาหี่” ที่เอา “งูเห่า” มากัดกับ “พังพอน” โดยมีการคั่นรายการด้วยการ “ขายยา” เป็นระยะๆ จนสุดท้ายงูเห่ากับพังพอนก็ไม่ได้กัดกัน
แต่ “เจ้าของ” คณะมายากล หรือคณะปาหี่ได้เงินจากประชาชนไปแล้วเต็มกระเป๋า!!
“ภาพหลอน” ในครั้งก่อนที่คนส่วนหนึ่งเห็นชัดว่า “นักการเมืองไทย” กับ “นักการเมืองมาเลเซีย” คือผู้ที่สมประโยชน์กับการพูดคุยสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ นั่นอาจจะเป็นส่วนที่ทำให้เสียงตอบรับในการเดินหน้าพูดคุยสันติสุขครั้งใหม่ของ คสช.เวลานี้เงียบเหงาจากภาคประชาชน โดยเฉพาะคนในพื้นที่
อย่างไรก็ตาม น่าจะเป็นผลดีที่ต่อทั้ง “คสช.” และ “รัฐบาลชั่วคราว” ที่กำลังจะได้มาจะได้ใช้โอกาสนี้ดำเนินการให้เกิดความรอบคอบรัดกุมในนโยบายการพูดคุยlสันติสุขกับขบวนการ และกลุ่มผู้เห็นต่างที่กำลังจะมีขึ้นต่อไป
เนื่องเพราะคนในพื้นที่ต่างเบื่อหน่ายที่จะย้อนกลับไปดู “ละครเรื่องเดิมๆ” ที่ไม่มีอะไรใหม่ เพียงแต่เปลี่ยนตัวแสดงเท่านั้น
ณ วันนี้ “ดอเลาะ” และ “ไข่นุ้ย” ฉลาดกว่าเดิมแล้วครับ?!?!