xs
xsm
sm
md
lg

รบ.มาเลเซียชุดใหม่ของ‘นาจิบ’แท้จริงคือ‘เป็ดง่อย’ (ตอนจบ)

เผยแพร่:   โดย: ชิน ฮวด หว่อง

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

A lame duck line-up for Malaysia
By Chin Huat Wong
16/05/2013

นายกรัฐมนตรี นาจิบ อับดุล ราซัค ของมาเลเซีย เพิ่งประกาศรายชื่อคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ของเขาออกมา ซึ่งปรากฏว่ามีความบวมฉุกว่าชุดก่อน ถึงแม้จะได้ลดจำนวนผู้ที่เป็นตัวแทนเสียงโหวตของคนเชื้อจีนลงมา ทั้งนี้ก็เพื่อเกื้อหนุนค้ำจุนฐานะของเขา ตลอดจนมุ่งหวังว่าจะเป็นการเพิ่มโอกาสแห่งการอยู่รอด ภายหลังการเลือกตั้งซึ่งปรากฏผลว่าแนวร่วมรัฐบาลที่มีเขาเป็นผู้นำได้รับคะแนนของผู้ออกเสียงไม่ถึงครึ่งหนึ่ง อย่างไรก็ดี การแต่งตั้งปูนบำเหน็จของเขาคราวนี้อาจจะยังไม่เพียงพอสำหรับเหล่าพันธมิตร ขณะที่มีกระแสข่าวลือกระหึ่มว่าคนในพรรคของเขาเองชักมีดออกมาเตรียมเล็งแทงที่แผ่นหลังของเขากันแล้ว

*ข้อเขียนชิ้นนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนที่ 2 ซึ่งเป็นตอนจบ*

(ต่อจากตอนแรก)

**น่าสงสัยว่าจะทำอะไรได้แค่ไหน**

แน่นอนทีเดียวว่า ยังเป็นที่น่าสงสัยอยู่มากว่าพวกรัฐมนตรีที่มิใช่นักการเมืองอาชีพเหล่านี้จะสามารถสร้างความแตกต่างขึ้นมาได้มากน้อยแค่ไหน ตัวอย่างเช่น อิดริส จาลา ครั้งหนึ่งเคยเป็นตัวตั้งตัวตีคนหนึ่งในการคัดค้านการที่รัฐบาลยังคงให้การอุดหนุนเพื่อทำให้พวกน้ำมันเชื้อเพลิงและสินค้าจำเป็นอื่นๆ มีราคาต่ำกว่าความเป็นจริง ทว่าหลังจากที่เขาเข้าร่วมรัฐบาลแล้ว อีกไม่นานนัก นาจิบ กลับมีการออกมาตรการอุดหนุนและแจกฟรีแบบประชานิยมเพิ่มขึ้นอีก ด้วยจุดมุ่งหมายที่จะดึงดูดคะแนนเสียงของกลุ่มผลประโยชน์ซึ่งยังแกว่งไปแกว่งมา

ยิ่งกรณีของพอล โหลว ด้วยแล้ว คุณูปการของเขาในเรื่องการต่อสู้ต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นมีข้อน่าสงสัยตั้งแต่ก่อนจะได้รับแต่งตั้งคราวนี้ด้วยซ้ำไป กล่าวคือ เมื่อ 2 เดือนที่แล้ว ตอนที่ ตออิบ มะห์มูด (Taib Mahmud) มุขมนตรี (Chief Minister) ผู้ทรงอำนาจของรัฐซาราวัก ตกอยู่ในข่ายพัวพันกับการรับสินบนก้อนมหึมา โดยที่มีการเปิดเผยหลักฐานที่แอบใช้กล้องถ่ายเอาไว้ด้วยซ้ำไป ปรากฏว่า โหลว ในฐานะประธานองค์การเพื่อความโปร่งใสระหว่างประเทศ แห่งมาเลเซีย ได้ออกมาปกป้องแก้ต่างให้ นาจิบ ที่ไม่ได้ทำอะไรกับ ตออิบ โดยอ้างเหตุผลในเรื่องความเป็นจริงทางการเมือง และทั้งๆ ที่ถูกกล่าวหาเรื่องคอร์รัปชั่นอย่างโจ๋งครึ่ม แต่พรรคของ ตออิบ ในซาราวัก ซึ่งอยู่ในเครือข่าย บารีซัน นาซีโอนัล ก็ยังคงได้ชัยชนะอย่างงดงามในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด

ตรงกันข้ามกับ ไซฟุดดิน อับดุลเลาะห์ (Saifuddin Abdullah) ซึ่งมีบางคนมองว่าเป็นนักการเมืองของอัมโนที่มีความคิดเรื่องการปฏิรูปมากที่สุด ปรากฏว่าเขาประสบความปราชัยในการเลือกตั้งและกลายเป็น ส.ส.สอบตก ท่ามกลางกระแสต่อต้าน บารีซัน นาซีโอนัล ที่แรงกล้าขึ้นเรื่อยๆ ในการเลือกตั้งครั้งหลังสุด นับแต่นั้นมาเขาก็ออกมาแสดงความกังวลที่ในคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ของนาจิบ ไม่ได้มีนักการเมืองจำนวนมากเพียงพอซึ่งมีความคิดมุ่งมั่นที่จะผลักดันการปฏิรูป รวมทั้งการที่ บารีซัน นาซีโอนัล แสดงท่าทีเพิกเฉยละเลิกความมุ่งมาดปรารถนาที่เพิ่มมากขึ้นทุกทีในหมู่ผู้ออกเสียง ซึ่งต้องการเห็นการบริหารประเทศที่มีธรรมาภิบาล

การปฏิรูปอันเป็นที่ปรารถนามากที่สุดในหมู่ผู้ออกเสียง ย่อมได้แก่การปฏิรูปกระบวนการเลือกตั้งที่บิดเบือนบกพร่อง ภายหลังการเลือกตั้งคราวหลังสุดนี้ พันธมิตร ปากาตัน รักยัต (Pakatan Rakyat ใช้อักษย่อว่า PR เป็นภาษามาเลย์แปลว่า ภาคีประชาชน) ที่เป็นฝ่ายค้าน ได้จัดการชุมนุมปราศรัยครั้งยักษ์ใหญ่รวม 5 ครั้ง (นับถึงวันที่ 16 พฤษภาคม 2013) ตามเมืองเอกของรัฐต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อประท้วงผลการเลือกตั้ง โดยปรากฏว่าสามารถดึงดูดผู้คนหลายหลากเชื้อชาติคละเคล้ากันและส่วนมากเป็นคนหนุ่มสาวเข้าร่วมได้เป็นจำนวนมาก ตั้งแต่ 30,000 คนจนถึง 120,000 คน

ถึงแม้ นาจิบ ออกมาพูดถึงความจำเป็นที่จะต้องสร้างความปรองดองขึ้นภายในชาติ ในทันทีภายหลังการเลือกตั้งซึ่งเป็นการแข่งขันต่อสู้กันอันดุเดือดคู่คี่ที่สุดครั้งนี้ ทว่าจากรายชื่อของคณะรัฐมนตรีชุดนี้ ตลอดจนมาตรการอื่นๆ ที่เขาให้คำมั่นสัญญาไว้ ก็ไม่ได้ปรากฏสัญญาณใดๆ ว่าเขากำลังเตรียมตัวที่จะเผชิญปัญหานี้ด้วยวิถีทางที่มีความหมาย

ในเวลาเดียวกัน หลังการเลือกตั้งผ่านพ้นไปสัปดาห์เศษ ได้มีการเปลี่ยนตัวผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย รองผู้บัญชาการ คอลิด อบู บาการ์ (Khalid Abu Bakar) ซึ่งขึ้นชื่อเรื่องความแข็งกร้าว ได้ขึ้นแทนที่ อิสมาอิล โอมาร์ (Ismail Omar) ที่เกษียณอายุ ทำให้เกิดความวิตกกังวลกันว่าการชุมนุมประท้วงของฝ่ายค้านครั้งต่อๆ ไปอาจจะเผชิญการปราบปรามอย่างเข้มงวดกวดขัน หากเป็นเช่นนั้นจริงๆ ก็อาจจะทำให้ความแตกแยกทางการเมืองของประเทศซึ่งอยู่ในภาวะเดือดพล่านอยู่แล้ว ยิ่งย่ำแย่เลวร้ายลงไปอีก

จากรายชื่อคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ของนาจิบ มีลักษณะที่เรียกว่าเป็นการตอบสนองความเปลี่ยนแปลงบางประการในการเมืองมาเลเซียและสังคมมาเลเซียอยู่เหมือนกัน ทว่าแค่เป็นการสนองตอบเรื่องขอบๆ มิใช่เรื่องแกนกลาง กล่าวคือ นับเป็นการเลือกตั้งครั้งที่สองติดต่อกันแล้ว ซึ่งตัวแทนจาก 2 รัฐของมาเลเซียที่ตั้งอยู่บนเกาะบอร์เนียว อันได้แก่ ซาบาห์ และ ซาราวัก ได้รับแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีเพิ่มมากขึ้น โดยที่สำคัญแล้วก็เพื่อเป็นการให้รางวัลจากการที่พวกเขาแสดงความสนับสนุนอย่างยืนยาวต่อ บารีซัน นาซีโอนัล

ถึงแม้จำนวนผู้มีสิทธิออกเสียงใน 2 รัฐนี้รวมกันแล้วเท่ากับเพียง 1 ใน 6 ของผู้มีสิทธิโหวตทั่วประเทศ และมีที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรเท่ากับเพียง 1 ใน 4 ของสภานี้ แต่ในคณะรัฐบาลชุดปัจจุบันกลับปรากฏว่า รัฐมนตรีว่าการทุกๆ 2 ใน 5 คนมาจากซาบาห์และซาราวัก อย่างไรก็ดี การได้รับแต่งตั้งเข้ามาเป็นจำนวนมากเช่นนี้ จะมีส่วนช่วยการพัฒนาในรัฐทั้งสอง (ซึ่งแม้มีทรัพยากรธรรมชาติมั่งคั่งที่สุดในมาเลเซียทว่ามาตรฐานความเป็นอยู่กลับยังคงยากจนที่สุด) หรือไม่นั้น ยังเป็นสิ่งที่จะต้องติดตามชมกันต่อไป

เกี่ยวกับเรื่องตัวแทนของคนเชื้อชาติต่างๆ จุดหนึ่งซึ่งเป็นที่สนใจกันในคณะรัฐบาลชุดใหม่ของนาจิบ ได้แก่การที่ พี เวย์ธามูรธี (P Waythamoorthy) ผู้นำคนหนึ่งของ “ฮินดรัฟ” (Hindraf) ขบวนการเรียกร้องสิทธิของชาวอินเดียที่เป็นชนส่วนน้อยในมาเลเซีย ได้รับแต่งตั้งเป็นวุฒิสมาชิก และเข้าดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยกระทรวงศึกษาธิการและการอุดมศึกษา หลังจากที่เขาให้คำมั่นสัญญาที่จะสนับสนุน บารีซัน นาซีโอนัล ในการเลือกตั้งที่ผ่านมา ในฐานะที่เป็นรัฐมนตรีเชื้อสายอินเดียคนแรกที่มาจากนอกพรรคคองเกรสชาวอินเดียมาเลเซีย (Malaysian Indian Congress ใช้อักษรย่อว่า MIC) ซึ่งเป็นพันธมิตรของพรรคอัมโนมายาวนาน การแต่งตั้งเวย์ธามูรธี จึงถูกตีความว่าเป็นเครื่องบ่งชี้ให้เห็นว่า อัมโมยอมรับถึงความจำเป็นที่จะต้องเข้าให้ถึงผู้มีสิทธิออกเสียงซึ่งอยู่นอกโครงสร้างดั้งเดิมของ บารีซัน นาซีโอนัล

อย่างไรก็ตาม พัฒนาการที่น่าสนใจที่สุดในเรื่องเกี่ยวกับตัวแทนของคนเชื้อชาติต่างๆ นี้ ย่อมต้องเป็นปัญหาเรื่องตัวแทนของคนเชื้อจีนในรัฐบาลกลางของมาเลเซีย โดยภายหลังจากผลการเลือกตั้งออกมาว่า พรรคสมาคมชาวจีนมาเลเซีย (Malaysian Chinese Association ใช้อักษรย่อว่า MCA) มีผลงานอันย่ำแย่ที่สุดเท่าที่เคยทำได้แล้ว ทางพรรคซึ่งจงรักภักดีต่อ บารีซัน นาซีโอนัล มายาวนาน ก็ทำตามสัญญาที่ประกาศไว้ ด้วยการไม่เข้าร่วมในคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ของนาจิบ

ปรากฏว่า นาจิบ แก้ปัญหาด้วยการนำเอาตำแหน่งรัฐมนตรี 4 ตำแหน่งที่เคยเป็นโควตาของพรรคตัวแทนคนจีนซึ่งเป็นพันธมิตรกับอัมโนมาเก่าแก่รายนี้ มาจัดสรรให้แก่ อัมโน 3 ตำแหน่ง และพรรคคองเกรสชาวอินเดียมาเลเซีย 1 ตำแหน่ง โดยที่ 1 ตำแหน่งที่ให้แก่อัมโน คือ รัฐมนตรีว่าการขนส่ง ยังคงถือว่าอัมโนเพียงแค่รักษาการเอาไว้ เพื่อรอให้พรรคสมาคมชาวจีนมาเลเซียเปลี่ยนใจเข้าร่วมรัฐบาลอีกครั้ง แต่สำหรับในสภาพปัจจุบัน คนจีนซึ่งมีจำนวนประมาณ 1 ใน 4 ของประชากรทั่วประเทศมาเลเซีย จะมีตัวแทนในรูปของคนเชื้อจีนในคณะรัฐบาลเพียงแค่ 2 คน ได้แก่ พอล โหลว ที่เป็นรัฐมนตรีว่าการ และ แมรี ยัป (Mary Yap) รัฐมนตรีช่วยที่มาจากรัฐซาบาห์

ในอดีตที่ผ่านมา ถ้าหากชาวจีนที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ใหญ่อันดับสองของประเทศ ถอยออกห่างไม่ได้เข้าร่วมรัฐบาลในทางเป็นจริงเช่นนี้ จะต้องกลายเป็นสัญญาณเตือนภัยทั้งสำหรับชาวมาเลย์ซึ่งเป็นชาติพันธุ์สวนใหญ่ของมาเลเซีย โดยพวกเขาอาจจะมองว่านี่คือการที่คนจีนท้าทายฐานะครอบงำทางการเมืองของคนมาเลย์ และทั้งสำหรับชาวจีนเองซึ่งจะต้องรู้สึกหวาดหวั่นว่าพวกเขากำลังถูกลดฐานะและความสำคัญลง

อย่างไรก็ดี ตามผลการสำรวจความคิดเห็นที่กระทำโดย เมอร์เดกา เซนเตอร์ (Merdeka Centre) ซึ่งเป็นสำนักทำโพลอิสระ ตั้งแต่ก่อนหน้าการเลือกตั้งทั่วไปในคราวนี้ ปรากฏว่ามีผู้ตอบคำถามที่เป็นชาวจีนถึง 80% ทีเดียว รู้สึกว่าผลประโยชน์องค์รวมของชุมชนของพวกเขานั้น พวกนักการเมืองที่ไม่ใช่คนจีนก็สามารถที่จะปกป้องคุ้มครองและช่วยเหลือเกื้อหนุนให้ได้ ตัน ยิว ซิง (Tan Yew Sing) นายกสมาคมชาวจีนแห่งกัวลาลัมเปอร์และรัฐสลังงอร์ (Kuala Lumpur and Selangor Chinese Assembly Hall) ซึ่งเป็นองค์กรคนจีนที่มีอิทธิพลสูง อาจจะกล่าวสรุปความเปลี่ยนแปลงในความคิดจิตใจของคนจีนเช่นนี้ได้ดีที่สุด เมื่อเขาบอกว่า “เราเพียงแค่จะต้องมีพวกรัฐมนตรีที่มีความคิดจิตใจแบบชาวมาเลเซีย ซึ่งพร้อมที่จะรับใช้ให้บริการตามความต้องการของ (ชาวมาเลเซีย) ทุกๆ คนเท่านั้น”

ชิน ฮวด หว่อง เป็นนักวิจัยอยู่ที่สถาบันปีนัง (Penang Institute) องค์กรคลังสมองที่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับรัฐบาลท้องถิ่นรัฐปีนัง เขาได้รับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยเอสเสกซ์ (University of Essex), สหราชอาณาจักร โดยทำวิทยานิพนธ์ซึ่งเน้นหนักที่ระบบการเลือกตั้งและระบบพรรคการเมืองของมาเลเซีย นอกจากนั้น เขายังเป็นสมาชิกคนหนึ่งในคณะกรรมการนำร่องของกลุ่มพันธมิตรเพื่อการเลือกตั้งที่สะอาดและยุติธรรม 2.0 (Coalition for Clean and Fair Elections 2.0) หรือที่รู้จักกันในนาม เบอร์ซิห์ 2.0 (Bersih 2.0)
กำลังโหลดความคิดเห็น