เอเอฟพี - แกนนำฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลมาเลเซียประกาศจะระดมมวลชนออกมาต่อต้านม็อบฝ่ายค้าน ซึ่งนัดชุมนุมใหญ่เพื่อขับไล่นายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัค ในเดือนนี้ พร้อมขู่เป็นนัยๆ ว่า “อะไรก็เกิดขึ้นได้ แม้แต่ความรุนแรง”
ญามาล ยูนุส หัวหน้าแผนกในพรรคพรรคสหมาเลย์แห่งชาติ (อัมโน) และเครือข่าย “เสื้อแดง” ซึ่งเขาเป็นแกนนำ ถูกมองว่าเป็นเหมือนแก๊งอันธพาลรับจ้างที่พร้อมจะออกมาชนกับทุกฝ่ายที่พยายามยกเรื่องทุจริตอื้อฉาวมาโค่นอำนาจ นาจิบ
กลยุทธ์การเผชิญหน้าและถ้อยคำปลุกระดมที่เน้นเรื่องเชื้อชาติของยูนุส กำลังสร้างความปั่นป่วนในมาเลเซีย ซึ่งเป็นสังคมพหุวัฒนธรรมที่แทบไม่เคยเผชิญเหตุรุนแรงทางการเมืองอย่างเต็มรูปแบบ
กลุ่มเสื้อแดงมาเลย์เคยลงมือทำร้ายนักเคลื่อนไหวเพื่อการปฏิรูป ซึ่งได้ออกเดินสายรณรงค์ทั่วมาเลเซียเพื่อเปิดโปงพฤติกรรมทุจริตคอร์รัปชันของผู้นำประเทศ
ฝ่ายต่อต้านนาจิบ ได้นัดชุมนุมใหญ่ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ในวันที่ 19 พ.ย.นี้ เพื่อกดดันให้นายกรัฐมนตรีลาออกและถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย ซึ่ง ญามาล ก็ประกาศว่าจะระดมคนเสื้อแดงออกมาสู้
“อะไรๆ ก็เกิดขึ้นได้ ผมไม่รับปากว่าเราจะไม่ใช้ความรุนแรง เพราะอะไรก็เกิดขึ้นได้ทั้งนั้น รวมถึงความรุนแรงด้วย” เขาให้สัมภาษณ์
สถานการณ์ทางการเมืองในมาเลเซียปั่นป่วนมานานกว่า 1 ปี หลังจากที่ นาจิบ ถูกครหาว่ายักยอกเงินนับพันๆ ล้านดอลลาร์ไปจากกองทุนเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจระยะยาวที่เขาก่อตั้งขึ้นเองเมื่อปี 2009
ทั้ง นาจิบ และกองทุน วัน มาเลเซีย ดีเวลลอปเมนต์ เบอร์ฮัด (1MDB) ต่างยืนกรานปฏิเสธข่าวการทุจริต ทว่ากระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ได้ออกมาแฉข้อมูลเมื่อเดือน ก.ค. ซึ่งบ่งชี้เป็นนัยๆ ว่าคดียักยอกเงิน 1MDB นั้นพัวพันถึงผู้นำเสือเหลือง บุตรบุญธรรม และคนสนิทอีกหลายคน
หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายในหลายประเทศก็กำลังสอบสวนเรื่องนี้อยู่เช่นกัน
หลังจากนาจิบใช้อำนาจปิดกั้นกระบวนการสอบสวนภายในประเทศ นักเคลื่อนไหวกลุ่ม “เบอร์ซิห์” ก็ได้ระดมประชาชนหลายหมื่นคนออกมาสวมเสื้อเหลืองชุมนุมขับไล่นายกฯ อย่างสงบ เมื่อเดือน ส.ค.ปี 2015
กลุ่มเบอร์ซิห์ประกาศจะทำกิจกรรมเช่นนี้อีกครั้งในวันที่ 19 พ.ย. แม้ทางการมาเลเซียจะออกมาเตือนแล้วว่า การชุมนุมในลักษณะนี้ “ผิดกฎหมาย” ไม่ว่าเสื้อเหลืองหรือเสื้อแดงก็ตาม
“สิ่งที่แย่ไปกว่านั้นก็คือ การชุมนุม “เบอร์ซิห์ 5” มีวัตถุประสงค์เพื่อทำลายระบอบประชาธิปไตยในมาเลเซีย ด้วยการระดมคนออกมาเดินประท้วงตามท้องถนน ไม่ต่างจากที่เคยเกิดขึ้นในอียิปต์และลิเบีย” ญามาล กล่าว
“เราไม่อยากให้เกิดสถานการณ์อย่างนั้นขึ้นในมาเลเซีย ซึ่งเป็นประเทศที่สงบสุข”
แม้จะสวมเสื้อสีแดงซึ่งเป็นสีประจำพรรคสหมาเลย์แห่งชาติ (อัมโน) แต่ ญามาล ยืนยันว่ากลุ่มของตนไม่เคยรับเงินอุดหนุนจากพรรค และรายได้ทั้งหมดมาจากการที่ตนมีธุรกิจส่วนตัวหลายด้าน
ญามาล ยังอ้างข้อมูลแปลกๆ หลายอย่างที่ทำให้คนในสังคมรู้สึกหมดศรัทธา เช่นอ้างว่าภายในกลุ่มเบอร์ซิห์มีมือระเบิดฆ่าตัวตายจากกลุ่มรัฐอิสลาม (ไอเอส) แฝงตัวอยู่ และยังกล่าวหาว่าชาวยิวเป็นผู้สร้างไอเอส แต่ในส่วนของข้อหาทุจริตที่ นาจิบ กำลังเผชิญอยู่นั้น ญามาล กลับบอกว่า “ไม่จริงสักอย่าง”
ไม่กี่สัปดาห์มานี้ กลุ่มเสื้อแดงมาเลย์หลายสิบคนได้ไปชุมนุมที่หน้าสำนักข่าวอิสระแห่งหนึ่ง และกล่าวหาว่าสื่อสำนักนี้รับใช้ต่างชาติ จนองค์การนิรโทษกรรมสากล (Amnesty International) ต้องออกมาเตือนว่า การกระทำของกลุ่มเสื้อแดงมาเลย์เข้าข่ายคุกคามเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น
“การที่กลุ่มเบอร์ซิห์ใช้กลยุทธ์เผชิญหน้าแบบเปิดเผยมากขึ้นเรื่อยๆ เท่ากับยั่วยุให้เสื้อแดงทำแบบเดียวกัน... รัฐบาลมาเลเซียควรตระหนักว่าสถานการณ์กำลังเลวร้ายลง” บริดเจ็ต เวลช์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองมาเลเซียจากมหาวิทยาลัยอีเป็ก (Ipek University) ในตุรกี ระบุ
พรรคอัมโนซึ่งเป็นหัวเรือใหญ่ของแนวร่วม “บาริซาน เนชันแนล” (บีเอ็น) ผูกขาดอำนาจบริหารในแดนเสือเหลืองมาตั้งแต่ได้รับเอกราชจากอังกฤษในปี 1957 ทว่าคะแนนนิยมของกลุ่มบีเอ็นชักจะแผ่วลงมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เนื่องจากพฤติกรรมคอร์รัปชันของนักการเมือง การจำกัดเสรีภาพ และนโยบายภูมิบุตรที่เอื้อประโยชน์แก่คนเชื้อสายมาเลย์มากกว่าพลเมืองกลุ่มอื่นๆ
การเลือกตั้งทั่วไปในมาเลเซียจะมีขึ้นในอีก 18 เดือนข้างหน้า