xs
xsm
sm
md
lg

รายงานจากบ้านนอกคอกนา

เผยแพร่:   โดย: ไสว บุญมา

เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายนที่ผ่านมา กลุ่มโรงเรียนรัฐบาลในอำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก รวมตัวกันอย่างไม่เป็นทางการจัดงานประกวดนักอ่านบ้านนาครั้งที่ 11 และนักเขียนบ้านนาครั้งที่ 3 (นำร่อง) การประกวดนี้เป็นกิจกรรมประจำปีที่ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธินักอ่านบ้านนาและกัลยาณมิตร โดยปีนี้โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 73 (วัดบ้านพร้าว) รับจัดงาน ตามธรรมดางานจะใช้เวลาสองวัน แต่ปีนี้ฝ่ายโรงเรียนต้องการทดลองจัดในรูปแบบใหม่โดยให้เสร็จสิ้นภายในวันเดียวเพื่อลดทั้งเวลา ค่าใช้จ่าย และแรงงาน ผลปรากฏว่าทำได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้แต่ตอนต้น ผลของการจัดงานยืนยันอีกครั้งหนึ่งว่า เด็กๆ ที่เกิดในท้องทุ่งนาจะไม่น้อยหน้าใครหากได้รับโอกาสการชี้นำที่ดี และการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากผู้ใหญ่

(เวทีการประกวด)

โครงการนี้มีที่มาจากชาวบ้านนาซึ่งไปทำมาหากินในท้องถิ่นห่างไกลปรารถนาจะหาทางทดแทนคุณแผ่นดิน การปรึกษาหารือกันได้มติว่าเราจะช่วยกันสนับสนุนการศึกษาของเยาวชนในย่านบ้านเกิดผ่านการส่งเสริมการอ่านเป็นหลัก เนื่องจากเราเชื่อว่า การอ่านยังมีความสำคัญยิ่งในยุคที่เทคโนโลยีใหม่ทำให้โลกเปลี่ยนไปจนดูเสมือนว่าไร้พรมแดนแล้ว โครงการครอบคลุมโรงเรียนรัฐบาลในเขตอำเภอบ้านนาทั้ง 38 แห่ง เริ่มด้วยการประกวดนักอ่านในระดับชั้นประถมซึ่งมีโรงเรียนรัฐบาลอยู่ในข่าย 35 แห่งที่ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในพื้นที่ห้อมล้อมด้วยทุ่งนา หรืออยู่ไม่ห่างทุ่งนาและนักเรียนส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านกลางทุ่งนามากกว่าในเขตเทศบาลเมืองบ้านนา การสนับสนุนทำผ่านมูลนิธินักอ่านบ้านนาซึ่งมีเว็บไซต์แนววิทยาทานอยู่ที่ www.bannareader.com

หลังจากโครงการนี้ดำเนินไปได้ระยะหนึ่ง เราเริ่มได้รับการสนับสนุนจากกัลยาณมิตรที่ไม่มีพื้นเพเป็นชาวบ้านนามาก่อน การสนับสนุนแตกออกไปในหลายด้าน เช่น การสนับสนุนให้มีการประกวดการเขียนเรียงความของนักเรียนชั้นมัธยมต้น การส่งเสริมให้นักเรียนเล่นลูกรูบิคซึ่งตอนนี้พัฒนาไปจนกลายเป็นกีฬานักเรียนของโรงเรียนชั้นประถมในอำเภอบ้านนาแล้ว การสนับสนุนให้รื้อฟื้นการขี่จักรยานล้อเดียวซึ่งเกือบจะสูญหายไปเมื่อโรงเรียนที่มีกิจกรรมนี้ถูกยุบ ณ วันนี้ มีกิจกรรมขี่จักรยานล้อเดียวอย่างมั่นคง ณ โรงเรียนวัดแหลมไม้ย้อยซึ่งนำนักเรียนไปแสดงการขี่จักรยานล้อเดียวให้ชมกันในงานด้วย

(นักเรียนโรงเรียนวัดแหลมไม้ย้อยนำจักรยานล้อเดียวเข้าสู่เวทีการแสดง)

นอกจากจะเป็นศูนย์การรื้อฟื้นการขี่จักรยานล้อเดียวในโรงเรียนซึ่งให้ประโยชน์มากมายแก่เด็กแล้ว โรงเรียนวัดแหลมไม้ย้อยยังเป็นศูนย์การพัฒนาสวนครัวอินทรีย์ในพื้นที่หลังอาคารเรียนที่โครงการของเราสนับสนุนอีกด้วย โครงการนี้ได้ชี้ให้เด็กๆ (และหวังว่าผู้ใหญ่ด้วย) เห็นแล้วว่า สารเคมีโดยเฉพาะยาฆ่าหญ้าที่ใช้อยู่ในทุ่งนารอบโรงเรียนนั้น ทำลายแม้แต่ไส้เดือนและมะละกอต้นค่อนข้างใหญ่ในสวนครัว เป้าหมายต่อไปได้แก่การเผยแพร่ความคิดที่ว่า เมื่อใช้สารเคมีมากจนไส้เดือนตายไปจากพื้นดิน ยากที่การเกษตรและสังคมไทยจะอยู่ได้

(ส่วนหนึ่งของการเริ่มต้นทำสวนครัวขนาดใหญ่)

ในงานเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน โรงเรียน 31 แห่งส่งนักเรียนชั้นประถมเข้าประกวดการอ่านซึ่งแต่ละแห่งส่งนักเรียนที่อ่านเก่งที่สุด 1 คนเข้าประกวด หนังสือที่เรากำหนดให้นักเรียนอ่านได้แก่เรื่อง “บ้านไม้ชายคลอง” ของจันทรา รัศมีทอง ซึ่งได้รับรางวัลรองชนะเลิศ แว่นแก้ว ประจำปี 2553 นักเรียนที่เข้าประกวดต้องผ่านการทำข้อสอบในตอนเช้าของวันประกวดก่อนได้รับคัดเลือกให้นำเสนอแก่นของเนื้อเรื่องบนเวที และสัมภาษณ์เชิงลึกกับคณะกรรมการ ผู้ชนะและผู้เข้าประกวดทุกคนได้รับรางวัลเป็นทุนการศึกษาในจำนวนลดหลั่นกันไปจาก 10,000 บาทถึง 500 บาท

ในการประกวดปีนี้ มีนักเรียนที่ได้รับคัดเลือกให้นำเสนอแก่นของเนื้อเรื่องหนังสือบนเวทีและสัมภาษณ์เชิงลึกโดยคณะกรรมการรวม 8 คน ผลของการประกวดออกมาดังในตาราง (ด.ญ.กมลรัตน์ บุญประกอบ ยืนชิดครูสมศักดิ์ในภาพต่อไป)


(ผู้เข้ารอบสุดท้ายการประกวดนักอ่านและประธานกรรมการประกวดนายสมศักดิ์ ชำนาญกิจ)

สำหรับการประกวดนักเขียนของชั้นมัธยมต้น คณะกรรมการกำหนดรางวัลทุนการศึกษาให้ทุกคนจาก 3,000 บาทลดหลั่นกันลงมาถึง 500 บาท ปีนี้โรงเรียน 7 ใน 9 แห่งที่สอนถึงชั้นมัธยมส่งเข้าประกวดแห่งละ 1 คน คณะกรรมการกำหนดให้นักเรียนเขียนเรียงความให้เสร็จภายในเวลา 2 ชั่วโมงครึ่งในตอนเช้า เมื่อนักเรียนเข้าห้องประกวดแล้วโดยนักเรียนไม่รู้มาก่อนว่าคณะกรรมการจะให้เขียนเรื่อง “ในหลวงรัชกาลที่ ๙”

ผลปรากฏว่า เด็กหญิงวนัฐพร เลิศณรงค์ นักเรียนชั้น ม. 2 ของโรงเรียนวัดบ้านพริกชนะเลิศ ตามด้วยเด็กหญิงภัทรลดา สุขชม นักเรียนชั้น ม. 3 ของโรงเรียนบ้านนา “นายกพิทยากร” และเด็กหญิงนาตยา วิเศษ นักเรียนชั้น ม. 2 ของโรงเรียนวัดโพธิแก้วเบญจธาราม เนื่องจากคณะกรรมการเห็นว่าผู้ชนะเลิศเขียนเรียงความได้ดีเป็นพิเศษ (ภาพ) จึงเชิญเธอให้ขึ้นอ่านเรียงความนั้นบนเวทีให้ผู้เข้าร่วมงานฟังอย่างทั่วถึงกัน จากเสียงปรบมือที่ตามมา เราอนุมานได้ค่อนข้างแน่นอนว่าผู้ฟังพอใจมาก



(เด็กหญิงวนัฐพร เลิศณรงค์ อ่านเรียงความชนะเลิศ)

เป็นที่น่าสังเกตว่านักเรียนที่ชนะเลิศทั้งการอ่านและการเขียนมาจากโรงเรียนวัดบ้านพริก ซึ่งเป็นโรงเรียนขยายโอกาสจากระดับชั้นประถมถึงชั้นมัธยมต้น นับเป็นครั้งแรกที่ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้น แต่ก็ไม่เป็นที่น่าแปลกใจ ทั้งนี้เพราะนักเรียนของโรงเรียนวัดบ้านพริกมักได้รับรางวัลระดับต้นๆ เสมอ หลังจากได้สังเกตและพูดคุยกับครูและผู้อำนวยการโรงเรียนในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา ผมสรุปคร่าวๆ ได้ว่า โรงเรียนวัดบ้านพริกมักกวาดรางวัลด้วยปัจจัย 3 ประการคือ ประการแรก ผู้บริหารใส่ใจในด้านการเรียนการสอนภาษาไทยอย่างแท้จริง และให้โอกาสแก่ครูและนักเรียนเตรียมตัวเข้าแข่งขันอย่างเพียงพอ ประการที่สอง โรงเรียนมีครูที่เรียนเอกภาษาไทยหลายคนซึ่งใส่ใจในการอ่านและการเรียนการสอน พร้อมทั้งยังแนะนำนักเรียนเกี่ยวกับการแข่งขันอย่างใกล้ชิดอีกด้วย และประการสุดท้าย นักเรียนมีความปราดเปรื่องเบื้องต้นสูง และเอาใจใส่ในการเรียนภาษาไทยมากกว่าผู้อื่นในรุ่นเดียวกัน

หลังจากคลุกคลีกับโครงการนี้และนักเรียนในท้องทุ่งนามานาน เสริมด้วยผลของการจัดงานประกวดนักอ่านบ้านนา และนักเขียนบ้านนาที่เพิ่งจบลงหมาดๆ ผมสรุปได้ง่ายๆ ว่า ไม่ว่าเด็กจะเกิดและเติบโตที่ไหนรวมทั้งในบ้านนอกคอกนา พวกเขาจะสามารถทำอะไรๆ ได้ไม่ต่างกัน หากผู้ใหญ่ให้โอกาสแก่พวกเขาเท่าๆ กัน ชี้นำพวกเขาไปในทางที่ดี เป็นตัวอย่างที่ดีและสนับสนุนพวกเขาอย่างเต็มที่ในด้านที่พวกเขาสนใจ
กำลังโหลดความคิดเห็น