xs
xsm
sm
md
lg

คนบาปมักทำคำสาปของเทคโนโลยีให้มีผลร้ายออกมาเสมอ

เผยแพร่:   โดย: ไสว บุญมา

ในบรรดาเรื่องฮือฮาสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ เรื่องที่มีคำสาปของเทคโนโลยีแผลงฤทธิ์เกิดขึ้นที่มหาวิทยาลัยรังสิตนี่เอง เทคโนโลยีมักมีคำสาปติดมาด้วยเสมอ แต่คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยใส่ใจไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเทคโนโลยีใหม่ หรือเทคโนโลยีที่ใช้มาตั้งแต่ครั้งโบราณกาล ความไม่ใส่ใจทำให้ไม่ตระหนักซึ่งมักนำไปสู่ความเสียหายร้ายแรงเสมอ เทคโนโลยียิ่งมีพลัง หรืออานุภาพสูงเท่าไร ความเสียหายยิ่งร้ายแรงขึ้นเท่านั้น ในสังคมที่มีจริยธรรมต่ำความเสียหายร้ายแรงมีโอกาสเกิดสูงขึ้นไปอีก

ที่มหาวิทยาลัยรังสิต เกิดการทุจริตในกระบวนการสอบเข้าเรียนในคณะแพทยศาสตร์ ทันตแพทยศาสตร์และเภสัชกรรมศาสตร์ เครื่องมือที่ใช้ได้แก่แว่นตาซึ่งสามารถถ่ายภาพได้และนาฬิกาซึ่งสามารถรับข่าวสารผ่านระบบอินเทอร์เน็ตได้ ผู้อยู่ในห้องสอบคนหนึ่งซึ่งเป็นผู้รับจ้างงานของกระบวนการฉ้อโกงใช้แว่นตานั้น ถ่ายข้อสอบภายในเวลา 45 นาทีแล้วทำทีเป็นทำข้อสอบเสร็จ จึงส่งคำตอบและออกจากห้องสอบไป เขานำภาพข้อสอบที่ถ่ายได้ไปให้ผู้ซึ่งมีความรอบรู้อยู่ข้างนอกเพื่อหาคำตอบ เมื่อได้คำตอบเป็นที่พอใจผู้อยู่ในกระบวนการฉ้อโกงก็ส่งคำตอบเหล่านั้นผ่านนาฬิกาข้อมือของผู้ที่ยังกำลังทำข้อสอบอยู่ในห้อง รายงานอ้างว่า ผู้เข้าสอบที่รับคำตอบจากกระบวนการฉ้อโกงดังกล่าวจ่ายเงินคนละหลายแสนบาท

เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า เครื่องมือเหล่านั้นใช้เทคโนโลยีดิจิตอลซึ่งมีคุณค่ามหาศาลในกิจการสารพัด แต่คนเลวทรามนำไปใช้ในการประกอบกรรมชั่ว หรือทำบาป หากจับคนชั่วเหล่านั้นไม่ได้ คำสาปของเทคโนโลยีจะมีผลร้ายต่อไปอีกหลายทอด เมื่อคนที่มีความเลวทรามอยู่ในสันดานเรียนจบออกไปทำงานเป็นแพทย์ ทันตแพทย์และเภสัชกร ในการสอบครั้งดังกล่าว ผู้เข้าสอบบางคนถูกจับได้ คงไม่มีใครรู้ว่ามีที่จับไม่ได้อีกมากน้อยเพียงไรในการสอบครั้งนี้และครั้งที่ผ่านๆ มา และตอนนี้มีนักศึกษาที่มาจากกระบวนการฉ้อโกงในมหาวิทยาลัย และผู้เรียนจบไปทำงานอยู่อีกเท่าไรในโรงพยาบาลและสำนักงาน หรือคลินิกต่างๆ คิดแล้วน่ากลัวจนขนตัวลุก

แนวคิดเรื่อง “คำสาปของเทคโนโลยี” ผมมีอยู่ในใจมานาน แต่นำมาใช้แบบเป็นทางการครั้งแรกเมื่อปี 2543 ในหนังสือชื่อ “จดหมายจากวอชิงตัน” ในบทที่เกี่ยวกับประเทศเยเมน (ดาวน์โหลดได้ฟรีที่เว็บไซต์ของมูลนิธินักอ่านบ้านนา www.bannareader.com)

ในบริบทของประเทศเยเมน เทคโนโลยีที่ใช้เป็นเครื่องจักรกลซึ่งชาวยุโรปคิดค้นขึ้นมาได้กว่าสองร้อยปีแล้ว มันนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในปรากฏการณ์ “การปฏิวัติอุตสาหกรรม” เครื่องจักรกลที่ใช้ในเยเมนได้แก่เครื่องเจาะบ่อบาดาลและเครื่องสูบน้ำพลังสูง พื้นที่ของเยเมนเป็นทะเลทรายเป็นส่วนมาก น้ำจืดจึงหายากปานทองคำ ชาวเยเมนต้องใช้น้ำจากแหล่งใต้ดินซึ่งธรรมชาติสะสมไว้อย่างช้าๆ ในช่วงเวลานับหมื่นปี ก่อนที่จะมีเครื่องจักรกลดังกล่าว ชาวเยเมนขุดบ่อด้วยมือซึ่งขุดได้ไม่ลึกนักและใช้แรงคนสาวน้ำขึ้นมาใช้ น้ำที่สะสมไว้ในแหล่งใต้ดินจึงไม่เหือดแห้งหลังมีเทคโนโลยีใหม่ ชาวเยเมนสามารถเจาะบ่อบาดาลได้ลึกหลายร้อยเมตรและสูบน้ำขึ้นมาใช้ได้อย่างรวดเร็ว

เหตุการณ์น้ำมันขึ้นราคาแบบก้าวกระโดดเมื่อปี 2516 เอื้อให้ประเทศที่มีน้ำมันมหาศาลเช่นซาอุดีอาระเบียใช้เงินที่ได้จากการขายน้ำมันลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ได้ทั่วประเทศ ชาวเยเมนจำนวนมากอพยพไปทำงานที่นั่น รายได้ที่พวกเขาส่งกลับบ้านทำให้เศรษฐกิจของเยเมนขยายตัวสูงอย่างมีนัยสำคัญ พร้อมกันนั้นชาวเยเมนก็บริโภคใบไม้ที่มีสารเสพติดชนิดซึ่งชื่อ “คัต” มากขึ้นด้วย การบริโภคนั้นทำให้ราคาของใบคัตเพิ่มขึ้นและเป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรเจาะบ่อบาดาลขนาดลึกมากๆ และสูบน้ำขึ้นมาใช้ปลูกต้นไม้ดังกล่าวอย่างแพร่หลาย หลังจากนั้นไม่นาน แหล่งน้ำใต้ดินจำนวนมากเริ่มเหือดแห้งลงส่งผลให้ชาวเยเมนต้องแย่งชิงน้ำกันอย่างเข้มข้น การแย่งชิงน้ำกันมีส่วนจุดชนวนระเบิดให้เกิดสงครามกลางเมืองอย่างยืดเยื้อ จนในขณะนี้ เยเมนมีสถานะเป็นรัฐล้มเหลวแล้ว
(สวนต้นคัต– จากอินเทอร์เน็ต)
ลองนึกต่อไปอาจจะเห็นว่า คำสาปอันเกิดจากเทคโนโลยีที่ใช้ทำเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่กำลังทำให้เมืองไทยมีปัญหาสาหัสด้วย แม่น้ำสายต่างๆ ที่แห้งเหือดไปในช่วงนี้มิได้เกิดจากความแห้งแล้งเป็นเวลานานเพียงอย่างเดียวเท่านั้น หากเกิดจากผู้อยู่ใกล้สายน้ำจำนวนมากต่างใช้เครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่สูบน้ำออกไปใช้ในการทำกิจการด้านเกษตรกรรมและอย่างอื่นด้วย หากไม่มีการสูบด้วยเครื่องสูบดังกล่าว น้ำคงไม่แห้งเหือดไปจนถึงขั้นเกิดความขัดแย้งรุนแรงในชุมชน การขัดแย้งนั้นเป็นเสมือนรูปแบบหนึ่งของสงครามชิงน้ำกันดังเช่นที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ (ผู้สนใจในรายละเอียดของความขาดแคลนน้ำ และความขัดแย้งถึงขั้นทำสงครามอาจหาอ่านได้ในหนังสือจำนวนมาก รวมทั้งสองเล่มที่คอลัมน์นี้เคยอ้างถึง นั่นคือ Water Wars: Drought, Flood, Folly, and the Politics of Thirst เขียนโดย Diane Raines Ward และWater Wars : Privatization, Pollution And Profit เขียนโดย Vandana Shiva ทั้งสองเล่มพิมพ์เมื่อปี 2545 และมีบทคัดย่อภาษาไทยอยู่ในเว็บไซต์ของมูลนิธินักอ่านบ้านนา www.bannareader.com)
(สภาพแม่น้ำปิง เครดิต - เชียงใหม่นิวส์)
เครื่องสูบน้ำเป็นเครื่องจักรที่มีอานุภาพไม่สูงนัก แต่เมื่อนำไปใช้แบบไม่เหมาะสมสร้างความเสียหายได้ถึงขนาดมีส่วนผลักดันให้สังคมเป็นรัฐล้มเหลว ในปัจจุบัน โลกใบนี้มีเทคโนโลยีที่มีอานุภาพสูงกว่าเครื่องสูบน้ำนับล้านเท่า อะไรจะเกิดขึ้นจากคำสาปของมันหากการนำไปใช้ไม่เหมาะสม?

ในปัจจุบันนี้ เทคโนโลยีที่มีอานุภาพสูงสุดได้แก่เทคโนโลยีนิวเคลียร์มันถูกใช้ในด้านการผลิตทั้งกระแสไฟฟ้า และอาวุธที่สามารถทำลายล้างมวลมนุษย์บนผิวโลกทั้งหมดได้ภายในพริบตา ย้อนไปเมื่อครั้งค้นพบเทคโนโลยีนี้ใหม่ๆ ชาวโลกมองกันว่ามันจะผลิตกระแสไฟฟ้าราคาถูกได้ตามความต้องการ หลายประเทศจึงลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์กันอย่างกว้างขวาง แต่ตอนนี้มีหลายประเทศในกลุ่มนั้นประกาศนโยบายจะไม่สร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เพิ่มขึ้น แต่จะค่อยๆ รื้อโรงที่มีอยู่แล้วทิ้งไปในเวลาอันควร ทั้งนี้เพราะพวกเขาได้เห็นตัวอย่างความเสียหายร้ายแรงที่เกิดจากการระเบิดของโรงไฟฟ้าชนิดนี้แล้วไม่ว่าจะเป็นในอเมริกา ญี่ปุ่น หรือยูเครน การค้นหาที่มาของการระเบิดที่เกิดขึ้นบ่งว่าการก่อสร้างโรงไฟฟ้าเหล่านั้น มิได้ไร้มาตรฐานอันเกิดจากการรับสินบน หรือความฉ้อฉลของผู้เกี่ยวข้องแต่อย่างใด แต่มันเกิดขึ้นได้เพราะปัจจัยที่คาดไม่ถึง
(การระเบิดของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในยูเครนทำให้เชอร์โนบิลเป็นเมืองร้าง)
เรื่องความเสียหายจากการระเบิดของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศดังกล่าวเป็นข่าวใหญ่ที่รับรู้กันโดยทั่วไปแล้ว จึงน่าแปลกใจว่าเพราะอะไรกระทรวงพลังงานของไทยยังผลักดันให้สร้างโรงไฟฟ้าชนิดนี้ การขึ้นป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ดังในภาพเป็นการผลาญเงินภาษีโดยเปล่าประโยชน์โดยแท้ อะไรเป็นแรงจูงใจให้กระทรวงพลังงานทำเช่นนั้น มีใครได้แรงจูงใจจากพ่อค้าขายโรงไฟฟ้าซึ่งอาจมีส่วนทำให้การก่อสร้างไร้มาตรฐานหรือรัฐบาลได้ตัดสินใจสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แล้ว แต่ไม่บอกให้คนไทยทราบ? หวังว่าคงไม่ใช่

หากผู้ที่อยู่ในรัฐบาลนี้ซึ่งมีอำนาจเผด็จการดันทุรังสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ พวกเขาควรถูกประณามในระดับสูงสุดจากประชาชนคนไทยทั้งจากรุ่นปัจจุบันและรุ่นต่อๆ ไปในฐานะคนบาปที่จะทำให้คำสาปของเทคโนโลยีนิวเคลียร์มีผลเสียหายร้ายแรงต่อสังคมไทย อย่างน้อยในรูปของความหวาดผวาว่าโรงไฟฟ้าอาจจะระเบิดเมื่อไรก็ได้ หรือร้ายยิ่งกว่านั้นมันเกิดระเบิดขึ้นจริง
(เครดิต: ArchanMookyKorphak….ใน Facebook)
กำลังโหลดความคิดเห็น