xs
xsm
sm
md
lg

การศึกษากับการแก้ปัญหาพื้นฐาน

เผยแพร่:   โดย: ไสว บุญมา

หนึ่งในหลายๆ ภาคส่วนที่พูดถึงกันในปัจจุบันมากว่ามีปัญหาสูงถึงกับจะต้องปฏิรูปกันใหญ่โดยเร่งด่วนได้แก่ภาคการศึกษา เมื่อพูดถึงการศึกษา สายตาทุกคู่ดูจะพุ่งไปที่โรงเรียน การมองเช่นนั้นเป็นปัจจัยพื้นฐานที่ทำให้ปัญหาหนักหนาสาหัสเพิ่มขึ้น ถ้ายังมองการศึกษาว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับโรงเรียนเท่านั้น อันเป็นการมองแบบแยกส่วนและยังไม่ยอมรับกันว่าเรื่องการศึกษาต้องมองอย่างครอบคลุมทุกด้าน ตั้งแต่ทารกยังอยู่ในครรภ์ไปจนถึงสภาพของสังคมโดยรวมการแก้ปัญหาการศึกษาไม่มีโอกาสสำเร็จ

คงเป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า ฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมซึ่งมีความสำคัญต่อสุขภาพกายและอารมณ์ของแม่เด็กในช่วงตั้งครรภ์ เป็นปัจจัยพื้นฐานของการเจริญเติบโตและการเรียนรู้ต่อไปจากวัยเด็กไปถึงวัยผู้ใหญ่ ปัจจัยนั้นมีความสำคัญต่อสิ่งที่เรามักเรียกทับศัพท์กันว่าไอคิวและอีคิว ในบางสังคม หญิงตั้งครรภ์ถึงกับพยายามทำทุกอย่างให้เด็กเกิดใหม่พร้อมที่จะก้าวต่อไปด้วยไอคิวและอีคิวสูง โดยการเปิดดนตรีแนวของโมสาร์ทให้ทารกในครรภ์ฟังอย่างต่อเนื่อง เมืองไทยอาจไม่มีความจำเป็นต้องทำถึงขนาดนั้น แต่ในปัจจุบัน สตรีไทยในสัดส่วนสูงตั้งครรภ์ทั้งที่ไม่อยู่ในสภาวะพร้อมที่จะมีลูก ฉะนั้น ถ้าปัญหาเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมยังสูงอยู่เช่นในปัจจุบัน ปัญหาการศึกษาที่มาจากการมีเด็กและผู้ใหญ่ไอคิวและอีคิวต่ำย่อมตามมาแน่นอน

การมองการศึกษาว่าเป็นเรื่องของโรงเรียนมักทำให้มองข้ามไปว่าการศึกษาขั้นพื้นฐานต้องเริ่มจากในบ้านและในชุมชนรอบตัวผู้เรียน สภาพของบ้านเป็นอย่างไรและมีผู้ใหญ่ที่พร้อมจะให้การศึกษาแก่เด็กอยู่ด้วยหรือไม่เป็นปัจจัยสำคัญ ไม่นานหลังจากสัมผัสสภาพในบ้านเด็กเริ่มออกไปสัมผัสสภาพของชุมชุนรอบตัว และซึมซับสภาวะของบ้านและชุมชนอยู่หลายปีก่อนที่เด็กจะไปโรงเรียน เด็กเรียนรู้ด้วยการดูตัวอย่างรอบข้างและเลียนแบบสิ่งต่างๆ ที่เขาเห็น ประเด็นสำคัญยิ่งคือ เขาเห็นอะไร

ผมมองว่าสิ่งที่เป็นปัญหาใหญ่คือเด็กเห็นความมักง่าย และการไม่เคารพกฎเกณฑ์ของสังคมอย่างแพร่หลายและเข้มข้น อันเป็นต้นตอของความฉ้อฉลสารพัดตามภาษิตโบราณ “ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น” ฉันใด เด็กย่อมเติบใหญ่ด้วยลักษณะที่สะท้อนสภาวะในบ้านและในชุมชนรอบด้านฉันนั้น ด้วยเหตุนี้จึงมีภาษิตของชาวแอฟริกันที่ “ฮิลลารี คลินตัน” นำไปใช้ในอเมริกาจนเป็นที่พูดกันติดปากมาเป็นเวลา 20 ปี ภาษิตนั้นถอดความเป็นภาษาอังกฤษเป็นประโยคสั้นๆ ว่า It takes the village to raise a child. ซึ่งหมายความว่า “ต้องใช้ทั้งหมู่บ้านเพื่อการเลี้ยงดูเด็กหนึ่งคน” แนวคิดนี้เคยมีอยู่ในสังคมไทยในสมัยก่อน แต่ค่อยๆ เลือนหายไปกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม ฮิลลารี คลินตัน นำแนวคิดนั้นไปประยุกต์ใช้ในสังคมอเมริกันโดยการเขียนหนังสือชื่อ It takes a village:And Other Lessons Children Teach Us ซึ่งมีบทคัดย่อภาษาไทยอยู่ในเว็บไซต์ของมูลนิธินักอ่านบ้านนา www.bannareader.com

อนึ่ง เมื่อเอ่ยถึง ฮิลลารี คลินตัน ทุกคนคงรู้แล้วว่าขณะนี้เธอเข้ากระบวนการสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาแล้ว เป็นไปได้ว่าเธอจะชนะและเป็นประธานาธิบดีหญิงคนแรกของประเทศนั้น ฮิลลารี คลินตัน เป็นสตรีที่มีความสามารถสูงยิ่งซึ่งนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของไทยไม่มีทางเปรียบได้เลย (เรื่องคร่าวๆ ของฮิลลารี คลินตัน หาอ่านได้ในหนังสือชื่อ “เสือ สิงห์ กระทิง แรด” ซึ่งดาวน์โหลดได้ฟรีที่เว็บไซต์ของมูลนิธินักอ่านบ้านนา) อันที่จริง ฝรั่งส่วนใหญ่ที่ผมมีโอกาสได้สัมผัสทั้งโดยทางตรงและทางอ้อมมองกันว่า นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของไทยแทบไม่มีอะไรในสมอง ส่งผลให้เป็นได้แค่ตัวตลกบนเวทีโลกมากกว่าเป็นหัวหน้ารัฐบาลที่บริหารประเทศได้ด้วยตัวเอง เรื่องนี้จึงเป็นที่ขายหน้ามากกว่าน่าภาคภูมิใจ

เรื่องความมักง่ายและการไม่เคารพกฎเกณฑ์สารพัดซึ่งอาจเรียกรวมกันว่าเป็นความฉ้อฉลนั้นเป็นปรากฏการณ์รายวันจากในบ้าน ในชุมชนรอบด้านไปถึงในสังคมระดับประเทศ ตัวอย่างที่เห็นได้ง่ายและทั่วไปไม่ว่าจะเป็นในเมืองขนาดใหญ่หรือในชนบทได้แก่ถุงพลาสติกที่ใช้ในกิจสารพัดแล้วทิ้งไว้เกลื่อน เด็กที่เห็นสิ่งเหล่านี้อยู่ทั่วไปย่อมมองว่าเป็นของธรรมดาซึ่งเขาอาจทำได้นอกจากจะมีใครบอกว่าอย่าทำเพราะมีความผิดยิ่งกว่านั้น ความสำคัญของพัฒนาการ รวมทั้งการเรียนรู้ของเด็กเล็กก่อนเข้าโรงเรียนมีความสำคัญยิ่งและได้รับความใส่ใจอย่างกว้างขวางยิ่งขึ้นเมื่อ “มาซารุ อิบูกะ” ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทโซนี่เขียนหนังสือขายดีทั่วโลกออกมาเมื่อเกือบสิบปีที่แล้วชื่อ Kindergarten Is Too Late ซึ่งคงแปลว่า “รอให้เข้าอนุบาลก็สายไปแล้ว”

แน่ละ การศึกษาส่วนหนึ่งเกิดขึ้นในโรงเรียน นอกจากการเรียนตามหลักสูตรซึ่งหลายฝ่ายมองกันว่ามีปัญหาแล้ว เด็กยังเรียนรู้จากการดูตัวอย่างที่เห็นเป็นประจำอีกด้วย เนื่องจากคงเป็นไปไม่ได้ที่จะสาธยายให้ครอบคลุมทั้งหมดว่าเด็กควรเห็นและไม่ควรเห็นอะไร จึงขอยกตัวอย่างบางสิ่งซึ่งโดยทั่วไปอาจไม่คิดกันว่าไม่น่าทำเช่น การแสดงของวง “แจ๊ส สปุ๊กนิค ปาปิยอง กุ๊กกุ๊ก” ต่อหน้าเด็กอนุบาลเมื่อไม่นานมานี้ การแสดงหลายอย่างของกลุ่มมีลักษณะค่อนข้างไปทางหยาบโลนอยู่แล้ว แทนที่จะรู้และมีความรับผิดชอบต่อความอ่อนไหวของเด็ก กลับนำไปแสดงให้เด็กอนุบาลดูโดยตรง
(เครดิต socialnews.teenee.com)
ในยุคปัจจุบัน สถาบันการศึกษามักเน้นรูปแบบ หรือผักชีโรยหน้ามากกว่าเนื้อหาของประเด็น จะเห็นว่าโรงเรียนเน้นกิจกรรมจำพวกขึ้นป้ายถ่ายรูปแบบไฟไหม้ฟางวูบเดียวแล้วมอดไปการปลูกผักและสมุนไพรในกระถาง ก่อนผู้บังคับบัญชามาตรวจแล้วทิ้งไปและการขึ้นป้ายชื่อขนาดใหญ่เกินความจำเป็นนิยมทำกันอย่างแพร่หลายทั้งโดยโรงเรียนใหญ่และโรงเรียนเล็ก สิ่งเหล่านั้นทำให้ใช้งบประมาณไม่คุ้มค่า เมื่อพูดถึงการใช้งบประมาณไม่คุ้มค่า และความฉ้อฉลในระบบการศึกษามีตัวอย่างมากมายที่เด็กเล็กอาจยังไม่ค่อยรู้เรื่องนอกจากจะได้รับผลกระทบทางลบโดยตรงแต่เด็กโตย่อมรู้ เช่น ความไม่ชอบมาพากลเรื่องการซื้ออุปกรณ์ทางการศึกษาหลายอย่าง รวมทั้งแท็บเล็ตเมื่อเร็วๆ นี้ การสร้างสนามกีฬาที่ใช้การไม่ได้และการโกงข้อสอบครูผู้ช่วย

ในขณะเดียวกัน เด็กโตย่อมเห็นเป็นประจำเรื่องความฉ้อฉลในสังคมโดยรวม พฤติกรรมของผู้ใหญ่ ทั้งในด้านการทำความฉ้อฉลเองและในด้านการยกย่องคนฉ้อฉลว่าทำถูก หรือฉลาดย่อมเป็นบรรทัดฐานทางพฤติกรรมให้เด็กทำตามด้วย เรื่องที่น่าอดสูมานานคงได้แก่เหตุการณ์เกี่ยวกับคดีของนักการเมืองที่เคยดำรงตำแหน่งสำคัญๆ หนีการลงโทษไปอยู่ต่างประเทศเมื่อถูกศาลตัดสินจำคุกเพราะฉ้อฉล ทั้งที่คนเหล่านั้นได้ทำความชั่วต่อแผ่นดินไว้ให้เป็นที่ประจักษ์ แต่คนไทยนับล้านยังชื่นชมพวกเขา ภาวะสังคมแบบนี้ย่อมมีผลกระทบทางลบต่อการพัฒนาของเยาวชน นอกจากนั้น ณ วันนี้ยังมีเรื่องความไม่ชอบมาพากลในองค์กรตำรวจ และในวงการพระของพุทธศาสนาที่เป็นข่าวเกียวกราวจนถึงกับมีการเรียกร้องให้มีการปฏิรูปใหญ่ในสองภาคส่วนนั้นอีกด้วย

ทั้งหลายทั้งปวงที่เขียนมาคงมองได้ว่าเป็นอาการของความเจ็บป่วยทางศีลธรรมจรรยาในสังคมไทยที่มีผู้ใหญ่เป็นต้นเหตุ ถ้าไม่รักษาความเจ็บป่วยในผู้ใหญ่ให้หายขาด การศึกษาย่อมมีปัญหาไม่ว่าจะลงทุนสักเท่าไร

วิธีรักษาความเจ็บป่วยทางศีลธรรมจรรยามีทั้ง “การระเบิดจากข้างใน” ตามกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และการใช้แรงจูงใจจากภายนอก การระเบิดจากภายในอาศัยหิริโอตัปปะซึ่งใครสั่งให้เกิดไม่ได้นอกจากตัวของผู้ใหญ่ในสังคมเอง เรื่องนี้ยากปานเข็นครกขึ้นภูเขา หากเราเชื่อในคำพังเพยที่ว่า “ไม้แก่ดัดยาก” ด้วยเหตุนี้จึงจำเป็นที่จะต้องใช้แรงจูงใจจากภายนอกซึ่งอาจทำได้สองทางคือ การให้รางวัลกับการลงโทษ เนื่องจากการให้รางวัลคนทำชั่วให้ทำดีคงมีการต่อต้านอย่างเข้มข้น การลงโทษอย่างหนักจึงเป็นทางออกทางเดียว

นั่นหมายความว่า ถ้าจะปฏิรูปการศึกษา จะต้องลงโทษผู้ทำผิดกฎหมายและศีลธรรมจรรยาทุกคนอย่างหนักจนไม่มีใครกล้าทำ มิฉะนั้น การศึกษาย่อมจะล้มลุกคลุกคลานต่อไป ผู้กุมอำนาจรัฐจะกล้าลงโทษหนักๆ แก่ผู้ทำผิดไหม โดยจะต้องไม่ยกเว้นแม้กระทั่งญาติสนิทมิตรสหายของตนที่ทำผิดด้วย? คงตอบได้ง่ายๆ ว่า “ไม่”
กำลังโหลดความคิดเห็น