เอเอฟพี/รอยเตอร์/เอเจนซีส์ - อดีตทีมงานของฮิลลารี คลินตัน คนที่ช่วยติดตั้งและจัดการเครื่องคอมพิวเตอร์เซิร์ฟเวอร์ส่วนตัว ซึ่งเธอใช้ทำงานรับส่งและเก็บอีเมลระหว่างดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศ จนกระทั่งกลายเป็นประเด็นโต้แย้งอื้อฉาวใหญ่โตขึ้นมาในปัจจุบัน ได้ไปทำความตกลงยอมรับความคุ้มกันไม่ถูกดำเนินคดีอาญา เพื่อแลกเปลี่ยนกับการให้ปากคำแก่การสอบสวนของเอฟบีไอแล้ว ทั้งนี้ตามหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์รายงานเมื่อวันพุธ (3 มี.ค.)
กระทรวงยติธรรมสหรัฐฯ ให้ความคุ้มกันแก่ ไบรอัน ปากลิอาโน ผู้ติดตั้งเซิร์ฟเวอร์ดังกล่าวในปี 2009 และเวลานี้กำลังให้ความร่วมมือกับการสอบสวนของสำนักงานสอบสวนกลางสหรัฐฯ (เอฟบีไอ) วอชิงตันโพสต์ระบุ โดยอ้างคำบอกเล่าของเจ้าหน้าที่รักษากฎหมายระดับอาวุโสผู้หนึ่ง
ปากลิอาโนนั้นเคยทำงานอยู่ในทีมรณรงค์หาเสียงเป็นประธานาธิบดีของคลินตันเมื่อปี 2008 ก่อนหน้านี้เมื่อตอนที่ถูกซักถามเกี่ยวกับระบบเซิร์ฟเวอร์นี้ ขณะให้ปากคำต่อคณะกรรมาธิการชุดหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ในเดือนกันยายนปีที่แล้ว เขาก็ไม่ตอบและอ้างสิทธิตามบทแก้ไขที่ 5 ของรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ ที่ระบุว่า ผู้ให้ปากคำมีสิทธิที่จะไม่พูด หากเห็นว่าพูดออกไปแล้วจะกลายเป็นหลักฐานทำให้ตนเองมีความผิดทางอาญา
คลินตันซึ่งเวลานี้กลายเป็นตัวเก็งที่จะได้เป็นตัวแทนของพรรคเดโมแครตในการลงเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีปลายปีนี้ สามารถคว้าชัยชนะอันงดงามในวันอังคาร (1) ที่ผ่านมา โดยคว้าชัยชนะมาได้ 7 รัฐในการเลือกตั้งขั้นต้นพร้อมกัน 11 มลรัฐในวัน “ซูเปอร์ทิวส์เดย์” ดังกล่าว
ถึงแม้มีอาการสะดุดอยู่บ้างในช่วงแรกๆ แต่หลังๆ มานี้กระแสความนิยมในตัวเธอกลับมาดีวันดีคืน ขณะที่กรณีอื้อฉาวเกี่ยวกับการใช้เซิร์ฟเวอร์ส่วนตัวเก็บอีเมลทำงาน ตลอดจนใช้ที่อยู่อีเมลแบบที่ไม่ได้เป็นของทางการ ระหว่างดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศ ยังคงเป็นเสมือนเงาทะมึนปกคลุมเหนือการรณรงค์หาเสียงของเธออยู่ก็ตาม
ทั้งนี้ นับแต่ที่เรื่องนี้กลายเป็นข่าวเกรียวกราวขึ้นในปีที่แล้ว พวกปรปักษ์ของเธอโดยเฉพาะพรรครีพับลิกันก็พยายามขุดคุ้ยเรื่องนี้ออกมาใช้โจมตีเธอโดยตลอด ทั้งในแง่มุมที่ว่าพฤติกรรมเช่นนี้เท่ากับนำเอาเรื่องความมั่นคงของชาติมาเสี่ยงภัย ตลอดจนบ่งชี้ว่าเธออาจตั้งใจปกปิดเรื่องบางอย่างไม่ให้ถูกตรวจสอบได้ ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย
อย่างไรก็ตาม คลินตันตอบโต้ว่าเธอไม่ได้ทำอะไรผิด และเธอเชื่อว่ารัฐบาลสหรัฐฯจะยอมรับการชี้แจงแสดงความบริสุทธิ์ของเธอ โดยที่เธอยังได้กล่าวขอโทษสำหรับสิ่งที่เธอบอกว่าเป็นการกระทำลงไปโดยขาดวิจารณญาณ
เธอยืนยันด้วยว่า อีเมลที่เธอส่งออกไปผ่านเซิร์ฟเวอร์ดังกล่าว ไม่มีฉบับใดเลยที่ประทับตรา “ลับ” ในตอนที่เธอทำการส่ง นอกจากนั้นเธอประกาศยินดีส่งอีเมลในช่วงที่เธอดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีเหล่านั้นกลับคืนให้กระทรวงการต่างประเทศ
ทั้งนี้หลังจากที่ทีมทนายความของเธอเองได้คัดกรองเอาอีเมลที่พวกเขาเห็นว่าเป็นเรื่องส่วนตัวแท้ๆ ออกไปแล้ว ปรากฏว่าเอกสารซึ่งเธอส่งให้กระทรวงในปี 2014นั้น เป็นอีเมลราว 30,000 ฉบับและคิดเป็นหน้ากระดาษได้ราว 52,000 หน้า นอกจากนั้นยังมีคณะทำงานของเธอออกมายอมรับว่า มีอีเมลเกี่ยวข้องกับงานอีกหลายฉบับซึ่งไม่ได้ส่งมอบให้กระทรวงการต่างประเทศ แต่ไม่ได้อธิบายเหตุผลว่าทำไมถึงไม่ส่ง
ต่อมากระทรวงการต่างประเทศได้คัดแยกและทยอยนำเอาอีเมลเหล่านี้ออกมาเผยแพร่ทีละเป็นชุดใหญ่ๆ ต่อสาธารณชน โดยชุดสุดท้ายเผยแพร่ในวันจันทร์ (29 ก.พ.) ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม กระทรวงบอกว่ามีอีเมลทำงานกว่า 2,000 ฉบับบรรจุข้อมูลข่าวสารที่ถูกจัดชั้นเป็นความลับซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อความมั่นคงหากเปิดเผยออกไป โดยในจำนวนนี้ 22 ฉบับถูกจัดชั้นเป็นระดับ “ลับสุดยอด”
ตามรายงานข่าวของวอชิงตันโพสต์ ซึ่งอ้างเจ้าหน้าที่สหรัฐฯทั้งในปัจจุบันและในอดีตระบุว่า ทางเจ้าหน้าที่รับผิดชอบน่าจะต้องการสัมภาษณ์ตัวคลินตันตลอดจนพวกผู้ช่วยอาวุโสของเธอเกี่ยวเซิร์ฟเวอร์เจ้าปัญหานี้ ก่อนที่เอฟบีไอจะทำการสรุปผลการสอบสวนของตนในอีกหลายๆ เดือนข้างหน้า
ทางด้าน ไบรอัน ฟอลลอน โฆษกผู้หนึ่งของคลินตัน ออกคำแถลงในวันพุธ (2) ระบุว่า ทีมรณรงค์หาเสียงของคลินตันรู้สึก “ยินดี” ที่ปากลิอาโนกำลังให้ความร่วมมือแก่การสอบสวน ขณะที่กระทรวงยุติธรรมและเอฟบีไอต่างไม่ขอให้ความเห็นว่าปากลิอาโนได้ยอมรับความคุ้มกันตามกฎหมายจริงหรือไม่ ส่วนทนายความของปากลิอาโนเองก็ไม่ออกมาแถลงใดๆ