xs
xsm
sm
md
lg

ปัญหาใหญ่ที่สุดที่มนุษย์กำลังเผชิญคืออะไร? / ประสาท มีแต้ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

 
คอลัมน์  :  โลกที่ซับซ้อน
โดย...ประสาท  มีแต้ม
 
ทั้งนักวิทยาศาสตร์สาขาฟิสิกส์นามก้องโลกคือ สตีเฟน ฮอว์คิง และ วารสารนักวิทยาศาสตร์ด้านอะตอม ผู้จัดทำสัญลักษณ์ “นาฬิกาวันสิ้นโลก” ได้วิเคราะห์ปัญหาของโลกไปในทำนองเดียวกันว่า ชาวโลกเราได้ทำลายอารยธรรมของเราด้วยเทคโนโลยีที่อันตรายที่เราสร้างขึ้นมาเอง เทคโนโลยีอันตรายที่กำลังทำลายโลกดังกล่าวประกอบด้วย 3 อย่าง คือ (1) เทคโนโลยีพลังงานฟอสซิลซึ่งเป็นเครื่องจักรไอน้ำที่เป็นต้นเหตุสำคัญของภัยพิบัติทางธรรมชาติ หรือที่เรียกว่าปัญหาโลกร้อน (2) อาวุธนิวเคลียร์ และ (3) เทคโนโลยีพันธุวิศวกรรมโดยเฉพาะเรื่องจีเอ็มโอนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม ไม่มีใครฟันธงลงไปเลยว่า ในบรรดา 3 เทคโนโลยีนี้อย่างไหนอันตราย หรือทำลายโลกมากที่สุด เพราะหากเราได้ทราบว่าสิ่งใดเป็นสิ่งสำคัญที่สุดจะทำให้เราสามารถแก้ปัญหาเชิงยุทธศาสตร์ได้อย่างถูกจุด และมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ผมเองเป็นนักคณิตศาสตร์ประยุกต์ซึ่งถูกฝึกมาให้ตั้งคำถาม และมีกระบวนการเพื่อค้นหาคำตอบว่าอย่างไหนอันตรายที่สุด ภายใต้เงื่อนไขใด ในเชิงวิชาการเขาเรียกกระบวนการนี้ว่า “การวิเคราะห์มิติ (Dimensional Analysis)” แต่สำหรับปัญหาที่มีความซับซ้อนมากเช่นนี้ก็เป็นเรื่องยากมากที่ทำการวิเคราะห์ในเชิงปริมาณได้อย่างถูกต้อง ดังนั้น จำเป็นต้องใช้วิธีการเชิงคุณภาพซึ่งเกี่ยวข้องหลักปรัชญา และการให้คุณค่าของสิ่งต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

ผมโชคดีมากที่ได้มาเจอบทสัมภาษณ์ของศาสตราจารย์โนม ชอมสกี (Noam Chomsky) วัย 88 ปี แห่งสถาบันเอ็มไอที สหรัฐอเมริกา ท่านเป็นทั้งนักภาษาศาสตร์ นักปรัชญา และนักเคลื่อนไหวทางสังคมที่มีชื่อเสียงทั่วโลก รวมทั้งได้เขียนหนังสือกว่า 100 เล่ม ผมพบเรื่องนี้จากบทความของ Alexandra Rosenmann ซึ่งเพิ่งเผยแพร่เมื่อ 10 ก.พ.นี้เอง

ประเด็นหลักในการสัมภาษณ์ซึ่งมีความยาวประมาณ 10 นาที คือ การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ซึ่งกำลังมีการคัดเลือกตัวแทนพรรคกันอย่างดุเดือด แต่ประเด็นที่หลุดออกมาเข้าทางที่ผมรอคอยคำตอบมายาวนานก็คือ ปัจจัยอะไรที่อันตรายต่อชาวโลกมากที่สุด ระหว่างโลกร้อน อาวุธนิวเคลียร์ และจีเอ็มโอ ดังที่ผมได้ยกมาตั้งแต่ต้น

โนม ชอมสกี ได้ให้ความเห็นต่อ 2 พรรคการเมืองใหญ่ 2 พรรคในสหรัฐอเมริกาว่า “ผมไม่คิดว่าจะมีความแตกต่างที่ใหญ่ๆ ระหว่างพรรคการเมืองทั้งหลาย แต่ความแตกต่างเล็กๆ มีอยู่จริงในระบบของอำนาจอาจจะสามารถส่งผลเสียหายต่อเนื่องอย่างมหาศาล”(หมายเหตุ : ผมจะค่อยๆ อธิบายขยายความในภายหลัง)

“ผู้สมัครจากพรรครีพับลิกันทุกคนจะทิ้งระเบิดแบบปูพรมในประเทศซีเรีย”

“ปัจจุบันนี้ ปัญหาใหญ่ที่สุดที่เราเผชิญอยู่ คือ การทำลายสิ่งแวดล้อม แต่ผู้ตัวสมัครเป็นตัวแทนของพรรครีพับลิกันทุกคนต่างปฏิเสธ หรือตั้งสงสัยประเด็นนี้ พวกเขาต่างพูดว่าจะขอทำลายโลกต่อไป ข้อตกลงที่จะแก้ปัญหาโลกร้อนจากปารีสอาจจะไม่ผ่านสภาที่มีพรรครีพับลิกันครองอยู่” 
 

 
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากประเด็นหลักของการให้สัมภาษณ์ คือ การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา (ซึ่งท่านได้ประกาศว่าจะสนับสนุนนางฮิลลารี คลินตัน เพื่อต่อต้านพรรครีพับลิกันใน 2 ประเด็นหลักคือ สงครามซีเรีย และการทำลายสิ่งแวดล้อม) ดังนั้น ท่านจึงไม่ได้ลงรายละเอียดว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมเกิดจากอะไร แต่ผมมั่นใจว่าท่านคงละไว้ในฐานที่เข้าใจ คือ ปัญหาโลกร้อนที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์คือ การใช้พลังงานฟอสซิลนั่นเอง

ก่อนที่ผมจะนำเสนอข้อมูลด้านผลกระทบจากปัญหาโลกร้อน (ที่แม้แต่นักวิทยาศาสตร์เองก็ยังคาดไม่ถึงว่ามันจะรุนแรงขึ้นขนาดนี้) รวมทั้งทางออกจากปัญหาดังกล่าว ผมขออนุญาตอธิบายขยายความที่ว่า “แต่ความแตกต่างเล็กๆ ที่มีอยู่จริงในระบบของอำนาจ อาจจะสามารถส่งผลเสียหายต่อเนื่องอย่างมหาศาล” รวมทั้งเรื่องการค้นหาปัจจัยสำคัญที่สุดของปัญหาในระบบ ซึ่งเป็นทั้งเรื่องเชิงคุณภาพ และเชิงปริมาณ

ถ้าเปรียบเทียบการวิเคราะห์ปัญหากับเกมฟุตบอล เราจะพบว่า บทบาทของนักกีฬาแต่ละคนจะมีความสำคัญมากน้อยต่างกัน ขึ้นอยู่กับตำแหน่งในสนาม และเวลาในเกมการแข่งขัน เช่น ผู้รักษาประตูอาจจะยืนตบยุงได้เมื่อลูกบอลอยู่หน้าประตูฝ่ายตรงข้าม แต่กลับมีความสำคัญมากๆ เมื่อลูกบอลอยู่ใกล้ประตูของตนเอง นักกีฬาคนไหนที่ฝีเท้าเด่นมากๆ อาจจะถูกตามประกบด้วยคู่ต่อสู้ถึง 2 คน ก็เพราะผลของการค้นหาปัจจัยที่สำคัญที่สุดของฝ่ายตรงกันข้ามนั่นเอง

นอกจากนี้ ยังพบว่าความผิดพลาดเพียงเล็กน้อยของนักฟุตบอลคนใดคนหนึ่งอาจจะส่งผลเสียหายต่อผลการแข่งขันก็เป็นได้ เพราะเกมฟุตบอลก็เป็น “โลกที่ซับซ้อน” ความผิดพลาดเพียงนิดเดียวคู่ต่อสู้อาจฉวยโอกาสยิงประตูได้อย่างง่ายดาย สิ่งที่นักกิจกรรมทางสังคมระดับศาสตราจารย์ของสถาบันที่มีชื่อเสียงของโลกได้กล่าวเพียงสั้นๆ นั้น หมายถึงอย่างที่ผมว่าครับ

ข้อตกลงจากที่ประชุมกรุงปารีสเมื่อปลายปี 2015 ที่ประกาศว่า จะไม่ให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม แต่ปีนี้อุณหภูมิได้สูงเกินไปแล้วถึง 1 องศาเซลเซียสแล้ว น้ำแข็งละลาย น้ำทะเลสูงขึ้น แต่เมื่อมาประกอบกับลมมรสุมก็ทำให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรง ถนนปากพนัง-หัวไทร นครศรีธรรมราช บ้านผมเองก็ถูกกัดเซาะรุนแรงมาก

อยากจะขอเรียนไว้ในที่นี้ว่า บ้านหลังที่ผมเกิดได้ค่อยๆ หายไปในทะเลมานานประมาณ 50 ปีแล้วครับ แต่นับจากนี้ไปมันจะรุนแรงมากขึ้นอย่างที่เราคิดไม่ถึงอย่างแน่นอน

ผมมีรายงานผลการวิจัย 2 ชิ้นล่าสุดสดๆ ร้อนๆ เพื่อยืนยันถึงสิ่งที่มนุษย์คาดไม่ถึง เพื่อตอกย้ำความเห็นรวบยอดของ โนม ชอมสกี แล้วจะตบท้ายด้วยความเห็นต่อเรื่องโซลาร์เซลล์ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพิ่งได้กล่าวถึงเมื่อคืนวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2559

งานวิจัยชิ้นแรก สนับสนุนการศึกษาโดยองค์การนาซา (กุมภาพันธ์ 2016) เป็นปัญหาการขาดแคลนน้ำจืดของชาวโลกซึ่งจะทำให้คน 2 ใน 3 ของโลกต้องขาดแคลนน้ำจืดอย่างน้อย 1 เดือน โดยที่ประมาณครึ่งหนึ่งอาศัยอยู่ในอินเดีย และจีน และประมาณ 500 ล้านคน จะขาดแคลนตลอดทั้งปี 
 

 
งานวิจัยครั้งล่าสุดนี้ได้ตีพิมพ์ใน The Journal Science Advances โดยอ้างว่า งานวิจัยก่อนหน้านี้ที่คาดการณ์ว่าจะมีผู้ขาดแคลนน้ำจืด จำนวน 1.3 ถึง 3.1 ล้านคนนั้น เป็นการศึกษาที่ไม่ได้คิดเป็นฤดูกาล (แต่คิดรวมทั้งปี) และการแบ่งพื้นที่ศึกษามีขนาดกว้างเกินไป ผลงานวิจัยใหม่นี้ได้เพิ่มผู้เดือดร้อนถึง 4 พันล้านคน ผมนำแผนที่มาให้ดูด้วยครับ
 

 
การขาดแคลนน้ำจืดจะส่งผลเสียหายต่อรายได้ของเกษตรกร รวมทั้งจะสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และเพิ่มความเค็มของดินด้วย

งานวิจัยชิ้นที่สอง สนับสนุนโดย Norges Bank ผลการศึกษาได้เตือนนักลงทุนในพลังงานฟอสซิล คือ ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติเหลวว่าจะสูญเสียเงิน เป็นการศึกษาที่ทันสมัยที่สุด (เผยแพร่มกราคม 2016) ของ Norges Bank ซึ่งเป็นธนาคารของกระทรวงการคลังประเทศนอร์เวย์ (อายุ 200 ปี)

ผมได้สรุปคำเตือนพร้อมข้อมูลสำคัญไว้ในแผ่นภาพแล้วครับ ชื่อเรื่องที่ศึกษาก็คือ “Stranded Assets and Thermal Coal” (แปลตรงๆ ว่า สินทรัพย์ที่ทิ้งค้าง (ไม่มีการนำมาผลิต) และความร้อนจากถ่านหิน) สิ่งที่งานวิจัยชิ้นนี้ออกมาเตือนนักลงทุนทั้งหลายก็คือ ผู้ลงทุนจะสูญเสียเงินจากการลงทุนในธุรกิจถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติเหลว ที่เป็นเช่นนี้เพราะพลังงานหมุนเวียนโดยเฉพาะอย่างยิ่งพลังงานลม และแสงแดดสามารถแข่งขันได้

แต่ประเทศไทยเรากำลังพยายามจะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินอีก 9 โรง ด้วยข้ออ้างที่เป็นเท็จมั่งจริงมั่งแต่ล้าหลังสุดๆ ที่กำลังเดือดๆ เพราะประชาชนคัดค้านก็ที่จังหวัดกระบี่ (800 เมกะวัตต์) และอำเภอเทพา จังหวัดสงขลาอีก 2,200 เมกะวัตต์

จากข้อมูลที่เปิดเผยโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เฉพาะที่จังหวัดกระบี่อย่างเดียวจะมีการนำเข้าถ่านหินวันละประมาณ 1 หมื่นตันทั้งๆ ที่พลังงานแสงแดด และลมเราไม่ต้องซื้อ และสามารถแข่งขันกันได้แล้ว

ล่าสุด จากบทความเรื่อง “World’s Tallest Solar Tower to Supply 120,000 Homes With Renewable Energy” โดย Lorraine Chow พบว่า ประเทศอิสราเอล กำลังก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาด 121 เมกะวัตต์ ด้วยเงินลงทุน $773 ล้าน (เฉลี่ย $6.4 ล้านต่อเมกะวัตต์) โรงไฟฟ้าชนิดนี้ผลิตไฟฟ้าได้ตลอด 24 ชั่วโมง ไม่ต้องซื้อเชื้อเพลิง ไม่ปล่อยมลพิษ ไม่ทำลายการประมง ไม่ทำลายการท่องเที่ยว

เท่าที่ผมเปิดดูจากบางหน่วยงานของสหรัฐอเมริกาอย่างคร่าวๆ พบว่า ถ้าเป็นชนิด Coal-Gasification Integrated Comb Cycle (IGCC) ขนาด 1,200 เมกะวัตต์ ราคาเฉลี่ย $3.5 ล้านต่อเมกะวัตต์ โดยต้องซื้อเชื้อเพลิงทุกปี และทำลายสิ่งแวดล้อมมากที่สุด

อีกอย่างหนึ่งที่เราต้องไม่ลืมก็คือ ขณะนี้ประเทศไทยเรามีกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองมากเกินมาตรฐานโลก โดยมีสำรองถึง 40% แทนที่จะเป็น 15% ถ้าคอยได้ต้นทุนพลังงานหมุนเวียนก็จะลดลงอีก 
 

 
เรื่องสุดท้าย จากรายการ “คืนความสุขให้คนในชาติ” 19 กุมภาพันธ์ 2559

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หลังจากไปเยือนสหรัฐอเมริกา พอสรุปได้ว่า

1.สองข้างทางในสหรัฐอเมริกามีการติดโซลาร์เซลล์เยอะมาก อยู่ตามโรงรถ (เรื่องนี้ ประธานาธิบดีโอบามา บอกว่า ในช่วง 7 ปี ในสมัยของเขา การติดโซลาร์เซลล์เพิ่มขึ้น 30 เท่าตัว ราคาลดลงปีละประมาณ 10%)

2.“สมัยก่อนๆ นี้เขาบอกว่าทุกคนใช้พลังงานทดแทนจะทำให้โลกดีขึ้น แต่ไม่ได้ดูว่าข้อเท็จจริงคืออะไร ผมคิดว่าวันนี้เราต้องเร่งส่งเสริมการใช้โซลาร์เซลล์ในประเทศให้มากขึ้น โดยจะต้องมีบริษัทผลิตเอง เรามีความรู้ความสามารถอยู่แล้วให้มากขึ้น การที่จะเอาข้างนอกมาใช้ก็โอเค”(หมายเหตุ ท่านต้องวิเคราะห์เชิงคุณภาพ ค้นหาเรื่องสำคัญที่สุด ถ้าจะรอเพื่อผลิตเองมันจะทันการหรือครับ) 

3.“ระบบสายส่งปัญหาเยอะแยะ กฎหมายก็มีปัญหาอยู่ระบบสายส่งก็ยังไม่ได้ครบมันใช้เงินสูงมาก”

ผมขอวิจารณ์สั้นๆ ในประเด็นที่สาม ประเทศเยอรมนี เขาให้ผู้ผลิตจากพลังงานหมุนเวียนส่งไฟฟ้าได้ก่อน พลังงานสกปรกส่งได้ทีหลัง จึงไม่มีปัญหาเรื่องสายส่ง

ประเทศสหรัฐอเมริกากว่า 43 รัฐ เขาใช้ระบบ Net Metering คือ ฝากไฟฟ้าไว้ในสายส่งในเวลากลางวัน พอเวลากลางคืนผลิตโซลาร์เซลล์ไม่ได้ ก็ดึงไฟฟ้าในสายส่งกลับมาใช้ในบ้าน ในราคาที่ถือว่าเป็นการแลกไฟฟ้ากัน ไม่ต้องมีราคาอย่างที่การไฟฟ้าของไทยกำลังทำกับบริษัทใหญ่บางบริษัท คือ รับซื้อในราคาที่แพงมาก

ท่านนายกฯ ประยุทธ์ ครับ ผมว่าท่านเริ่มมีดวงตาเห็นธรรม (ในเรื่องนี้) บ้างแล้ว แต่ถ้าท่านไม่รู้จักวิเคราะห์หาปัจจัยหลัก ปัจจัยรองอย่างที่ผมได้กล่าวมาตั้งแต่ต้น ท่านจะถูกพวกเขี้ยวลากดินหลอก เพราะมันเป็นเรื่องของผลประโยชน์มหาศาล ขอท่านโปรดใคร่ครวญอย่างมีสติครับ อย่าได้ตกเป็นเครื่องมือของกลุ่มพวกนี้เลย แล้วประวัติศาสตร์จะต้องจารึกท่านไว้อย่างแน่นอน จะให้เป็นอะไรขอท่านจงคิดเองครับ 
 
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น