xs
xsm
sm
md
lg

ปัญหาใหญ่ที่สุดที่มนุษย์กำลังเผชิญคืออะไร?

เผยแพร่:   โดย: ประสาท มีแต้ม

ทั้งนักวิทยาศาสตร์สาขาฟิสิกส์นามก้องโลกคือ สตีเฟน ฮอว์คิง และ วารสารนักวิทยาศาสตร์ด้านอะตอม ผู้จัดทำสัญลักษณ์ “นาฬิกาวันสิ้นโลก” ได้วิเคราะห์ปัญหาของโลกไปในทำนองเดียวกันว่า ชาวโลกเราได้ทำลายอารยธรรมของเราด้วยเทคโนโลยีที่อันตรายที่เราสร้างขึ้นมาเอง เทคโนโลยีอันตรายที่กำลังทำลายโลกดังกล่าวประกอบด้วย 3 อย่าง คือ (1) เทคโนโลยีพลังงานฟอสซิลซึ่งเป็นเครื่องจักรไอน้ำที่เป็นต้นเหตุสำคัญของภัยพิบัติทางธรรมชาติหรือที่เรียกว่าปัญหาโลกร้อน (2) อาวุธนิวเคลียร์ และ (3) เทคโนโลยีพันธุวิศวกรรมโดยเฉพาะเรื่องจีเอ็มโอนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม ไม่มีใครฟันธงลงไปเลยว่า ในบรรดา 3 เทคโนโลยีนี้ อย่างไหนอันตรายหรือทำลายโลกมากที่สุด เพราะหากเราได้ทราบว่าสิ่งใดเป็นสิ่งสำคัญที่สุดจะทำให้เราสามารถแก้ปัญหาเชิงยุทธศาสตร์ได้อย่างถูกจุดและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ผมเองเป็นนักคณิตศาสตร์ประยุกต์ซึ่งถูกฝึกมาให้ตั้งคำถาม และมีกระบวนการเพื่อค้นหาคำตอบว่าอย่างไหนอันตรายที่สุด ภายใต้เงื่อนไขใด ในเชิงวิชาการเขาเรียกกระบวนการนี้ว่า “การวิเคราะห์มิติ (Dimensional Analysis)” แต่สำหรับปัญหาที่มีความซับซ้อนมากเช่นนี้ก็เป็นเรื่องยากมากที่ทำการวิเคราะห์ในเชิงปริมาณได้อย่างถูกต้อง ดังนั้น จำเป็นต้องใช้วิธีการเชิงคุณภาพซึ่งเกี่ยวข้องหลักปรัชญาและการให้คุณค่าของสิ่งต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

ผมโชคดีมากที่ได้มาเจอบทสัมภาษณ์ของศาสตราจารย์โนม ชอมสกี (Noam Chomsky) วัย 88 ปี แห่งสถาบันเอ็มไอที สหรัฐอเมริกา ท่านเป็นทั้งนักภาษาศาสตร์ นักปรัชญา และนักเคลื่อนไหวทางสังคมที่มีชื่อเสียงทั่วโลก รวมทั้งได้เขียนหนังสือกว่า 100 เล่ม ผมพบเรื่องนี้จากบทความของ Alexandra Rosenmann ซึ่งเพิ่งเผยแพร่เมื่อ 10 ก.พ.นี้เอง

ประเด็นหลักในการสัมภาษณ์ซึ่งมีความยาวประมาณ 10 นาที คือ การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาซึ่งกำลังมีการคัดเลือกตัวแทนพรรคกันอย่างดุเดือด แต่ประเด็นที่หลุดออกมาเข้าทางที่ผมรอคอยคำตอบมายาวนานก็คือ ปัจจัยอะไรที่อันตรายต่อชาวโลกมากที่สุด ระหว่างโลกร้อน อาวุธนิวเคลียร์ และจีเอ็มโอ ดังที่ผมได้ยกมาตั้งแต่ต้น

โนม ชอมสกี ได้ให้ความเห็นต่อสองพรรคการเมืองใหญ่ 2 พรรคในสหรัฐอเมริกาว่า “ผมไม่คิดว่าจะมีความแตกต่างที่ใหญ่ๆ ระหว่างพรรคการเมืองทั้งหลาย แต่ความแตกต่างเล็กๆ มีอยู่จริงในระบบของอำนาจอาจจะสามารถส่งผลเสียหายต่อเนื่องอย่างมหาศาล” (หมายเหตุ : ผมจะค่อยๆ อธิบายขยายความในภายหลัง)

“ผู้สมัครจากพรรครีพับลิกันทุกคนจะทิ้งระเบิดแบบปูพรหมในประเทศซีเรีย”

“ปัจจุบันนี้ ปัญหาใหญ่ที่สุดที่เราเผชิญอยู่ คือ การทำลายสิ่งแวดล้อม แต่ผู้ตัวสมัครเป็นตัวแทนของพรรครีพับลิกันทุกคนต่างปฏิเสธหรือตั้งสงสัยประเด็นนี้ พวกเขาต่างพูดว่าจะขอทำลายโลกต่อไป ข้อตกลงที่จะแก้ปัญหาโลกร้อนจากปารีสอาจจะไม่ผ่านสภาที่มีพรรครีพับลิกันครองอยู่”

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากประเด็นหลักของการให้สัมภาษณ์ คือการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา (ซึ่งท่านได้ประกาศว่าจะสนับสนุนนางฮิลลารี คลินตัน เพื่อต่อต้านพรรครีพับลิกันในสองประเด็นหลักคือสงครามซีเรีย และการทำลายสิ่งแวดล้อม) ดังนั้น ท่านจึงไม่ได้ลงรายละเอียดว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมเกิดจากอะไร แต่ผมมั่นใจว่าท่านคงละไว้ในฐานที่เข้าใจ คือปัญหาโลกร้อนที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์คือการใช้พลังงานฟอสซิลนั่นเอง

ก่อนที่ผมจะนำเสนอข้อมูลด้านผลกระทบจากปัญหาโลกร้อน (ที่แม้แต่นักวิทยาศาสตร์เองก็ยังคาดไม่ถึงว่ามันจะรุนแรงขึ้นขนาดนี้) รวมทั้งทางออกจากปัญหาดังกล่าว ผมขออนุญาตอธิบายขยายความที่ว่า “แต่ความแตกต่างเล็กๆ ที่มีอยู่จริงในระบบของอำนาจ อาจจะสามารถส่งผลเสียหายต่อเนื่องอย่างมหาศาล” รวมทั้งเรื่องการค้นหาปัจจัยสำคัญที่สุดของปัญหาในระบบ ซึ่งเป็นทั้งเรื่องเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณ

ถ้าเปรียบเทียบการวิเคราะห์ปัญหากับเกมฟุตบอล เราจะพบว่า บทบาทของนักกีฬาแต่ละคนจะมีความสำคัญมากน้อยต่างกันขึ้นอยู่กับตำแหน่งในสนาม และเวลาในเกมการแข่งขัน เช่น ผู้รักษาประตูอาจจะยืนตบยุงได้เมื่อลูกบอลอยู่หน้าประตูฝ่ายตรงข้าม แต่กลับมีความสำคัญมากๆ เมื่อลูกบอลอยู่ใกล้ประตูของตนเอง นักกีฬาคนไหนที่ฝีเท้าเด่นมากๆ อาจจะถูกตามประกบด้วยคู่ต่อสู้ถึง 2 คน ก็เพราะผลของการค้นหาปัจจัยที่สำคัญที่สุดของฝ่ายตรงกันข้ามนั่นเอง

นอกจากนี้ยังพบว่า ความผิดพลาดเพียงเล็กน้อยของนักฟุตบอลคนใดคนหนึ่งอาจจะส่งผลเสียหายต่อผลการแข่งขันก็เป็นได้ เพราะเกมฟุตบอลก็เป็น “โลกที่ซับซ้อน” ความผิดพลาดเพียงนิดเดียวคู่ต่อสู้อาจฉวยโอกาสยิงประตูได้อย่างง่ายดาย สิ่งที่นักกิจกรรมทางสังคมระดับศาสตราจารย์ของสถาบันที่มีชื่อเสียงของโลกได้กล่าวเพียงสั้นๆ นั้น หมายถึงอย่างที่ผมว่าครับ

ข้อตกลงจากที่ประชุมกรุงปารีสเมื่อปลายปี 2015 ที่ประกาศว่าจะไม่ให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม แต่ปีนี้อุณหภูมิได้สูงเกินไปแล้วถึง 1 องศาเซลเซียสแล้ว น้ำแข็งละลาย น้ำทะเลสูงขึ้น แต่เมื่อมาประกอบกับลมมรสุมก็ทำให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรง ถนนปากพนัง –หัวไทร นครศรีธรรมราช บ้านผมเองก็ถูกกัดเซาะรุนแรงมาก

อยากจะขอเรียนไว้ในที่นี้ว่า บ้านหลังที่ผมเกิดได้ค่อยๆ หายไปในทะเลมานานประมาณ 50 ปีแล้วครับ แต่นับจากนี้ไปมันจะรุนแรงมากขึ้นอย่างที่เราคิดไม่ถึงอย่างแน่นอน

ผมมีรายงานผลการวิจัย 2 ชิ้นล่าสุดสดๆ ร้อนๆ เพื่อยืนยันถึงสิ่งที่มนุษย์คาดไม่ถึง เพื่อตอกย้ำความเห็นรวบยอดของโนม ชอมสกี แล้วจะตบท้ายด้วยความเห็นต่อเรื่องโซลาร์เซลล์ที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาเพิ่งได้กล่าวถึงเมื่อคืนวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2559

งานวิจัยชิ้นแรก สนับสนุนการศึกษาโดยองค์การนาซา (กุมภาพันธ์ 2016) เป็นปัญหาการขาดแคลนน้ำจืดของชาวโลกซึ่งจะทำให้คน 2 ใน 3 ของโลกต้องขาดแคลนน้ำจืดอย่างน้อย 1 เดือน โดยที่ประมาณครึ่งหนึ่งอาศัยอยู่ในอินเดียและจีน และประมาณ 500 ล้านคนจะขาดแคลนตลอดทั้งปี

งานวิจัยครั้งล่าสุดนี้ได้ตีพิมพ์ใน The Journal Science Advances โดยอ้างว่า งานวิจัยก่อนหน้านี้ที่คาดการณ์ว่าจะมีผู้ขาดแคลนน้ำจืดจำนวน 1.3 ถึง 3.1 ล้านคนนั้น เป็นการศึกษาที่ไม่ได้คิดเป็นฤดูกาล (แต่คิดรวมทั้งปี) และการแบ่งพื้นที่ศึกษามีขนาดกว้างเกินไป ผลงานวิจัยใหม่นี้ได้เพิ่มผู้เดือดร้อนถึง 4 พันล้านคน ผมนำแผนที่มาให้ดูด้วยครับ

การขาดแคลนน้ำจืดจะส่งผลเสียหายต่อรายได้ของเกษตรกร รวมทั้งจะสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพและเพิ่มความเค็มของดินด้วย

งานวิจัยชิ้นที่สอง สนับสนุนโดย Norges Bank ผลการศึกษาได้เตือนนักลงทุนในพลังงานฟอสซิล คือถ่านหินและก๊าซธรรมชาติเหลวว่าจะสูญเสียเงิน เป็นการศึกษาที่ทันสมัยที่สุด (เผยแพร่มกราคม 2016) ของ Norges Bank ซึ่งเป็นธนาคารของกระทรวงการคลังประเทศนอร์เวย์ (อายุ 200 ปี)

ผมได้สรุปคำเตือนพร้อมข้อมูลสำคัญไว้ในแผ่นภาพแล้วครับ ชื่อเรื่องที่ศึกษาก็คือ “Stranded Assets and Thermal Coal” (แปลตรงๆ ว่า สินทรัพย์ที่ทิ้งค้าง (ไม่มีการนำมาผลิต) และความร้อนจากถ่านหิน) สิ่งที่งานวิจัยชิ้นนี้ออกมาเตือนนักลงทุนทั้งหลายก็คือ ผู้ลงทุนจะสูญเสียเงินจากการลงทุนในธุรกิจถ่านหินและก๊าซธรรมชาติเหลว ที่เป็นเช่นนี้เพราะพลังงานหมุนเวียนโดยเฉพาะอย่างยิ่งพลังงานลมและแสงแดดสามารถแข่งขันได้

แต่ประเทศไทยเรากำลังพยายามจะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินอีก 9 โรง ด้วยข้ออ้างที่เป็นเท็จมั่งจริงมั่งแต่ล้าหลังสุดๆ ที่กำลังเดือดๆ เพราะประชาชนคัดค้านก็ที่จังหวัดกระบี่ (800 เมกะวัตต์) และอำเภอเทพาจังหวัดสงขลาอีก 2,200 เมกะวัตต์

จากข้อมูลที่เปิดเผยโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เฉพาะที่จังหวัดกระบี่อย่างเดียวจะมีการนำเข้าถ่านหินวันละประมาณ 1 หมื่นตัน ทั้งๆ ที่พลังงานแสงแดดและลมเราไม่ต้องซื้อและสามารถแข่งขันกันได้แล้ว

ล่าสุด จากบทความเรื่อง “World’s Tallest Solar Tower to Supply 120,000 Homes With Renewable Energy” โดย Lorraine Chow พบว่า ประเทศอิสราเอลกำลังก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาด 121 เมกะวัตต์ ด้วยเงินลงทุน $773 ล้าน (เฉลี่ย $6.4 ล้านต่อเมกะวัตต์) โรงไฟฟ้าชนิดนี้ผลิตไฟฟ้าได้ตลอด 24 ชั่วโมง ไม่ต้องซื้อเชื้อเพลิง ไม่ปล่อยมลพิษ ไม่ทำลายการประมง ไม่ทำลายการท่องเที่ยว

เท่าที่ผมเปิดดูจากบางหน่วยงานของสหรัฐอเมริกาอย่างคร่าวๆ พบว่า ถ้าเป็นชนิด Coal-Gasification Integrated Comb Cycle (IGCC) ขนาด 1,200 เมกะวัตต์ ราคาเฉลี่ย $3.5 ล้านต่อเมกะวัตต์ โดยต้องซื้อเชื้อเพลิงทุกปี และทำลายสิ่งแวดล้อมมากที่สุด

อีกอย่างหนึ่งที่เราต้องไม่ลืมก็คือ ขณะนี้ประเทศไทยเรามีกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองมากเกินมาตรฐานโลก โดยมีสำรองถึง 40% แทนที่จะเป็น 15% ถ้าคอยได้ต้นทุนพลังงานหมุนเวียนก็จะลดลงอีก

เรื่องสุดท้าย จากรายการ “คืนความสุขให้คนในชาติ” 19 กุมภาพันธ์ 2559

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หลังจากไปเยือนสหรัฐอเมริกา พอสรุปได้ว่า

1. สองข้างทางในสหรัฐอเมริกามีการติดโซลาร์เซลล์เยอะมาก อยู่ตามโรงรถ (เรื่องนี้ ประธานาธิบดีโอบามา บอกว่า ในช่วง 7 ปี ในสมัยของเขา การติดโซลาร์เซลล์เพิ่มขึ้น 30 เท่าตัว ราคาลดลงปีละประมาณ 10%)

2. “สมัยก่อนๆ นี้เขาบอกว่าทุกคนใช้พลังงานทดแทนจะทำให้ดีขึ้นโลก แต่ไม่ได้ดูว่าข้อเท็จจริงคืออะไร ผมคิดว่าวันนี้เราต้องเร่งส่งเสริมการใช้โซลาร์เซลล์ในประเทศให้มากขึ้น โดยจะต้องมีบริษัทผลิตเอง เรามีความรู้ความสามารถอยู่แล้ว ให้มากขึ้น การที่จะเอาข้างนอกมาใช้ก็โอเค” (หมายเหตุ ท่านต้องวิเคราะห์เชิงคุณภาพ ค้นหาเรื่องสำคัญที่สุด ถ้าจะรอเพื่อผลิตเอง มันจะทันการหรือครับ)

3. “ระบบสายส่งปัญหาเยอะแยะ กฎหมายก็มีปัญหาอยู่ระบบสายส่งก็ยังไม่ได้ครบมันใช้เงินสูงมาก”

ผมขอวิจารณ์สั้นๆ ในประเด็นที่สาม ประเทศเยอรมนี เขาให้ผู้ผลิตจากพลังงานหมุนเวียนส่งไฟฟ้าได้ก่อน พลังงานสกปรกส่งได้ทีหลัง จึงไม่มีปัญหาเรื่องสายส่ง

ประเทศสหรัฐอเมริกากว่า 43 รัฐ เขาใช้ระบบ Net Metering คือฝากไฟฟ้าไว้ในสายส่งในเวลากลางวัน พอเวลากลางคืนผลิตโซลาร์เซลล์ไม่ได้ ก็ดึงไฟฟ้าในสายส่งกลับมาใช้ในบ้าน ในราคาที่ถือว่าเป็นการแลกไฟฟ้ากัน ไม่ต้องมีราคาอย่างที่การไฟฟ้าของไทยกำลังทำกับบริษัทใหญ่บางบริษัท คือรับซื้อในราคาที่แพงมาก

ท่านนายกฯ ประยุทธ์ ครับ ผมว่าท่านเริ่มมีดวงตาเห็นธรรม (ในเรื่องนี้) บ้างแล้ว แต่ถ้าท่านไม่รู้จักวิเคราะห์หาปัจจัยหลักปัจจัยรองอย่างที่ผมได้กล่าวมาตั้งแต่ต้น ท่านจะถูกพวกเขี้ยวลากดินหลอก เพราะมันเป็นเรื่องของผลประโยชน์มหาศาล ขอท่านโปรดใคร่ครวญอย่างมีสติครับ อย่าได้ตกเป็นเครื่องมือของกลุ่มพวกนี้เลย แล้วประวัติศาสตร์จะต้องจารึกท่านไว้อย่างแน่นอน จะให้เป็นอะไรขอท่านจงคิดเองครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น