xs
xsm
sm
md
lg

รายงานสั้นๆ จากบ้านนา

เผยแพร่:   โดย: ไสว บุญมา

ในระหว่างวันที่ 13-14 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา โรงเรียนวัดแหลมไม้ย้อยซึ่งตั้งอยู่กลางทุ่งนาในอำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก เป็นเจ้าภาพจัดงานประกวดนักอ่านบ้านนาครั้งที่ 10 และการประกวดนักเขียนบ้านนาครั้งที่ 2 (นำร่อง) เช่นเดียวกับในช่วง 9 ปีที่ผ่านมา งานนี้ได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายพร้อมทุนการศึกษาจากมูลนิธินักอ่านบ้านนาและกัลยาณมิตร แม้จะเป็นโรงเรียนขนาดเล็กที่มีครูเพียง 4 คนกับผู้บริหารหนึ่งคนและนักการ 2 คน แต่โรงเรียนนี้มีศักยภาพสูง จึงสามารถจัดงานสำเร็จได้เป็นอย่างดีเป็นปีที่ 4 ติดต่อกัน เป็นไปได้ว่ามูลนิธินักอ่านบ้านนาและกัลยาณมิตรจะสนับสนุนให้โรงเรียนวัดแหลมไม้ย้อยจัดงานในแนวเดียวกันต่อไปจนกว่าจะมีโรงเรียนอื่นอาสาเข้ามาทดลองจัดดูบ้าง
โรงเรียนวัดแหลมไม้ย้อย
โครงการประกวดนักอ่านบ้านนามีที่มาจากการปรึกษาหารือกันของอดีตชาวบ้านนาที่อพยพไปทำมาหากินในท้องถิ่นอื่นจนประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง พวกเขาเหล่านั้นมองว่าพวกตนควรตอบแทนคุณของถิ่นฐานบ้านเกิดด้วยการทำอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งจะมีผลดีต่อการพัฒนาเยาวชนอันจะส่งผลต่อไปให้เกิดการพัฒนาท้องถิ่นและการพัฒนาประเทศ การปรึกษาหารือกันนำไปสู่ฉันทามติที่ว่าการสนับสนุนการศึกษาของเยาวชนในอำเภอบ้านนาผ่านการส่งเสริมการอ่านจะเป็นการเริ่มต้นที่เหมาะสมที่สุด ฉันทามตินั้นนำไปสู่การทำนำร่องการประกวดการอ่านของนักเรียนชั้นประถมของรัฐบาลในอำเภอบ้านนาในปีการศึกษา 2549 หลังจากการทำนำร่อง 2 ปีมีผลเป็นที่พอใจจึงเกิดการก่อตั้งมูลนิธินักอ่านบ้านนาขึ้นมาสนับสนุนโครงการ ตอนนี้มูลนิธิมีเว็บไซต์ซึ่งมีข้อมูลต่างๆ ที่ผู้สนใจอาจเข้าไปอ่านหรือดาวน์โหลดได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ที่ www.bannareader.com

กระบวนการประกวดนักอ่านเริ่มด้วยการกำหนดหนังสือที่จะใช้อ่านในการประกวดก่อนเปิดภาคเรียนแรกของปีการศึกษา (การประกวดครั้งที่ 10 กำหนดให้ใช้หนังสือเรื่อง “คำใส”) มูลนิธินักอ่านบ้านนาจะจัดหาหนังสือไปให้จำนวน 150 เล่ม เมื่อเปิดภาคแรก โรงเรียนใดในจำนวนโรงเรียนชั้นประถมของรัฐบาลในอำเภอบ้านนา35 แห่งมีความประสงค์จะส่งนักเรียนเข้าประกวดนักอ่านจะได้รับหนังสือจำนวน 3-5 เล่มตามขนาดของโรงเรียน ซึ่งจะต้องให้คำมั่นสัญญาว่าจะคัดเลือกนักเรียนของตน 1 คนส่งเข้าประกวดนักอ่าน ตามปกติงานการประกวดนักอ่านจะจัดขึ้นในตอนต้นภาคสองของปีการศึกษาเดียวกันซึ่งปีนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 13-14 พฤศจิกายน โดยมีโรงเรียนวัดแหลมไม้ย้อยเป็นเจ้าภาพและโรงเรียนต่างๆ ส่งนักอ่านเข้าประกวดจำนวน 30 คน

กติกาของการประกวดกำหนดให้ผู้เข้าประกวดแต่ละคนนำเสนอผลการอ่านของตนในเวลา 10 นาทีต่อหน้าคณะกรรมการ การนำเสนอจะเสร็จสิ้นในวันแรกของงาน หลังจากนั้น คณะกรรมการจะคัดเลือกผู้ได้คะแนนสูงสุดไว้ 8-10 คนซึ่งแต่ละคนจะได้รับการสัมภาษณ์คนละ 20 นาทีโดยคณะกรรมการชุดที่ 2 ในวันที่ 2 ของงาน คณะกรรมการชุดนี้จะชี้ว่าใครควรจะได้รับรางวัลชนะเลิศ และรางวัลลดหลั่นกันลงมา นักเรียนที่ไม่ได้รับคัดเลือกให้เข้าสัมภาษณ์จะได้รับรางวัลชมเชยทุกคน รางวัลเป็นทุนการศึกษาจากจำนวน 10,000 บาท ลดหลั่นกันลงมาถึงทุนละ 1,000 บาท
ผู้ชนะเลิศ
การประกวดนักอ่านครั้งที่ 10 ปรากฏผลดังนี้

รางวัลชนะเลิศ ด.ญ.คาเปโร ปทาน โรงเรียนอนุบาลบ้านนา
รองชนะเลิศอันดับ 1 ด.ญ. โชติวรรณ ชูนุช โรงเรียนวัดบ้านพริก
รองชนะเลิศอันดับ 2 ด.ญ. พิมพ์ลัส ปิดตามาตา โรงเรียนบ้านเขาหัวนา
ผู้เข้ารอบสอง 8 คน กรรมการและประธานมูลนิธินักอ่านบ้านนา
หลังจากการประกวดนักอ่านบ้านนาผ่านพ้นไป 8 ปี โครงการได้ขยายออกไปในสองด้านหลักๆ ด้วยกัน นั่นคือ เริ่มทำนำร่องการประกวดนักเขียน และการเริ่มเข้าไปช่วยโรงเรียนพัฒนาเชิงลึก

ในด้านการประกวดนักเขียน กติกากำหนดว่าให้ทำพร้อมกันกับการประกวดนักอ่านโดยเปิดโอกาสให้โรงเรียนรัฐบาลในอำเภอบ้านนาที่มีการเรียนการสอนชั้นมัธยม 9 แห่งส่งนักเรียนชั้นมัธยม 1-3 โรงเรียนละ 1 คนเข้าประกวดนักเขียน ในตอนเช้าของวันเข้าประกวด กรรมการจะกำหนดหัวข้อให้เขียนเรียงความในเวลาไม่เกิน 3 ชั่วโมง (ปีนี้กรรมการกำหนดให้เขียนเรื่อง “หนังสือที่ฉันชอบ”) คณะกรรมการจะให้คะแนนเพื่อแสวงหาผู้ชนะเลิศ ปีนี้มีนักเรียนเข้าประกวด 5 คนและมีนักเรียนอีก 1 คนขอร่วมทดลองเขียนซึ่งทางผู้จัดอนุญาตเป็นกรณีพิเศษ ผลการประกวดปรากฏว่าไม่มีนักเรียนเขียนได้ดีถึงเกณฑ์ที่กรรมการตั้งไว้ จึงไม่มีใครได้รับรางวัลชนะเลิศ คงได้รับรางวัลรองชนะเลิศสองคน รางวัลชมเชยสามคนและรางวัลพิเศษหนึ่งคน
ผู้เข้าประกวดการเขียน
ในด้านการพัฒนาเชิงลึก โครงการได้แสวงหาเครือข่ายให้เข้าไปช่วยพัฒนาโรงเรียนเริ่มด้วยการช่วยพัฒนาโรงเรียนวัดแหลมไม้ย้อยในด้านต่างๆ รวมทั้งการซ่อมแซมและการทาสีอาคาร การสร้างห้องส้วมแบบชักโครก 4 ห้อง การปรับปรุงห้องสมุดโดยการติดตั้งชั้นหนังสือ ซื้อโต๊ะและเก้าอี้ คอมพิวเตอร์และหนังสือใหม่จำนวนมาก การเปลี่ยนเครื่องกรองน้ำให้เป็นแบบทันสมัย การปรับเปลี่ยนเนื้อที่ว่างเปล่าราว 2 ไร่หลังอาคารเรียนให้เป็นสวนครัวอินทรีย์ การปลูกต้นไม้ การติดตั้งเครื่องออกกำลังกายแทรมโปลีน และการเพิ่มกิจกรรมการเรียนรู้ของนักเรียนที่มีทั้งการเข้าค่ายภาษาอังกฤษและการฝึกจักรยานล้อเดียว




เด็กหญิงมยุรฉัตร ลี้กุล ชั้น ป. 6
นอกจากนั้น ยังมีการนำการแข่งขันเล่นลูกรูบิคเข้าไปให้นักเรียนในโครงการอีกด้วย กิจกรรมนี้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี และโรงเรียนชั้นประถมของรัฐบาลในอำเภอบ้านนาได้รวมการแข่งขันเล่นลูกรูบิคเข้าเป็นหนึ่งในกีฬาประจำอำเภอ

เนื่องจากปีนี้เป็นโอกาสครบรอบ 10 ปีของโครงการ ในวันที่ 21 พฤศจิกายนนี้จะมีการประชุมประเมินผลของโครงการระหว่างโรงเรียนในเครือข่าย กรรมการโรงเรียน สมาชิกในชุมชนมูลนิธินักอ่านบ้านนาและกัลยาณมิตร เป้าหมายสุดท้ายของการประเมินได้แก่การขอมติจากที่ประชุมว่าจะดำเนินโครงการต่อไปหรือไม่ ถ้าจะดำเนินต่อไปจะทำในรูปแบบไหน อย่างไร หากที่ประชุมลงมติยุติโครงการ มูลนิธินักอ่านบ้านนาจะสิ้นสุดลงและทรัพย์สินของมูลนิธิฯ ทั้งหมดจะถูกโอนไปเป็นของมูลนิธิเพื่อการศึกษาโรงเรียนบ้านนา “นายกพิทยากร” ตามข้อบังคับของมูลนิธินักอ่านบ้านนา

ในช่วงเวลา 10 ปีที่โครงการนี้เข้าไปสนับสนุนการศึกษาของเยาวชนในอำเภอบ้านนา เกิดความประทับใจว่า เยาวชนได้ประโยชน์จากโครงการอย่างมีนัยสำคัญ แต่ในขณะเดียวกันก็เกิดความประทับใจในทางลบด้วยว่าฝ่ายโรงเรียนและชุมชนยกเว้นบุคคลเป็นบางคนยังไม่พร้อมที่จะทำอะไรให้แตกต่างไปจากแนวเดิมๆ อีกทั้งยังไม่เข้ามาแสดงความ “เป็นเจ้าของ” ของโครงการตามอุดมการณ์ที่ผู้สนับสนุนหวังไว้ ประสบการณ์ในการพัฒนาบ่งชี้อย่างแจ้งชัดว่า การพัฒนาจะสำเร็จไม่ได้หากสมาชิกในชุมชนไม่พร้อมที่จะทำอะไรให้แตกต่างไปจากเดิมพร้อมกับเข้ามาร่วมกันขับเคลื่อนให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างจริงจัง ซ้ำร้ายยังมีผู้ต้องการใช้โครงการพัฒนาแสวงหาประโยชน์ส่วนตนอีกด้วย

จากการซาวเสียงเบื้องต้น ณ วันนี้ ผู้สนับสนุนโครงการส่วนใหญ่มีความตั้งใจที่จะสนับสนุนโครงการให้ดำเนินต่อไป อย่างไรก็ดี หากฝ่ายโรงเรียนและชุมชนยังไม่มีความสนใจที่เปลี่ยนแปลงและเข้ามาเป็นเจ้าของการพัฒนาการศึกษาซึ่งเป็นหัวใจของการพัฒนาในวงกว้างอย่างจริงจัง อีกไม่นานโครงการที่ไม่ต้องใช้เงินภาษี แต่มีผลดีต่อการช่วยพัฒนาเยาวชนและสังคมในวงกว้างออกไปก็จำเป็นที่จะต้องยุติลงด้วยความประทับใจที่ไม่น่ายินดีนัก โครงการเล็กๆ แบบนี้เป็นตัวชี้วัดอย่างดีว่าการพัฒนาเมืองไทยอันเป็นชุมชนหนึ่งซึ่งใหญ่กว่าอำเภอบ้านนาน่าจะเดินหน้าไปทางไหน

กำลังโหลดความคิดเห็น