xs
xsm
sm
md
lg

“ปานเทพ”แฉพิรุธ ประชุมกมธ.ปิโตรเลียม ลงมติก่อนพิจารณา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน360 - “ปานเทพ” แฉพิรุธประชุมกรรมาธิการร่าง พ.ร.บ. ปิโตรเลียม 2 ฉบับ เมื่อ 14 พ.ย. เรียงวาระแปลกประหลาด เชื่อมีการถกเถียงจนเลื่อนการลงมติ และนัดใหม่พุธนี้

วานนี้ (15 พ.ย.) นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงาน (คปพ.) โพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊กส่วนตัว เฟซบุ๊กแฟนเพจปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ ในหัวข้อ “เกิดอะไรขึ้น การลงมติ พ.ร.บ. ปิโตรเลียม 2 ฉบับ จึงได้สะดุดลงเมื่อวันจันทร์ที่ 14 พฤศจิกายน 2559?” โดยมีใจความส่วนหนึ่งระบุว่า

“จากจดหมายเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน ที่ได้เชิญกรรมาธิการ เข้าประชุมในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2559 อย่างพร้อมเพรียง เพื่อลงมติกฎหมายปิโตรเลียมทั้ง 2 ฉบับนั้น จะเห็นได้อย่างชัดเจนในวาระที่ 3 นั้น ได้บรรจุวาระการลงมติกฎหมายปิโตรเลียมทั้ง 2 ฉบับ เป็นวาระที่ 3.1 และที่น่าสนใจประการถัดมา คือ เมื่อลงมติไปแล้วกลับจะค่อยมาพิจารณาในวาระที่ 3.2 พิจารณาความคืบหน้าการดำเนินงานของอนุกรรมาธิการกลั่นกรองกฎหมายปิโตรเลียม 2 ฉบับ

เป็นการเรียงวาระการประชุมที่แปลกประหลาดอยู่มาก!!!?

เพราะเป็นการจัดการประชุมเพื่อให้คณะกรรมาธิการชุดใหญ่ลงมติในกฎหมาย ก่อนฟังผลการกลั่นกรองกฎหมายของอนุกรรมาธิการ

คำถามจึงมีอยู่ว่ากรรมาธิการมีเจตนาที่จะลงมติโดยมีธงในใจอยู่แล้ว โดยไม่ฟังเสียงของอนุกรรมาธิการฯ เลยใช่หรือไม่?

ซึ่งบาดแผลนี้ได้เกิดขึ้นมาแล้วครั้งหนึ่งเป็นมลทิน และตราบาปที่สร้างความเสื่อมเสียให้กับสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ชุดนี้ เพราะได้ลงมติเห็นชอบรับหลักการกฎหมายปิโตรเลียม 2 ฉบับ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2559 ซึ่งไม่สอดคล้องกับผลการศึกษาของ สนช. เอง

จนเป็นที่มาทำให้ศาสตราจารย์พิเศษ ชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม ประธานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ต้องทำหนังสือถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2559 ตั้งข้อสังเกตถึงความไม่ชอบมาพากลนี้

ซ้ำด้วยเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2559 นายวัส ติงสมิตร ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่ได้แถลงข่าวให้นำร่างกฎหมายของเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) มาประกอบการพิจารณาด้วย หากทำไม่ได้ก็ควรจะพิจารณาถอนร่างกฎหมายปิโตรเลียม 2 ฉบับ ออกจาก สภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อนำมาทบทวนใหม่

ผมจึงเชื่อว่า ในประเด็นเรื่องนี้น่าจะมีการถกเถียงกันพอสมควร โดยเฉพาะผู้ที่มาแถลงข่าวว่ายังไม่ลงมตินั้น ก็คือ พล.อ.อ.อดิศักดิ์ กลั่นเสนาะ ซึ่งนอกจะอยู่ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการคนที่ 1 แล้ว ยังอยู่ในฐานะ “ประธานคณะอนุกรรมาธิการกลั่นกรองกฎหมายปิโตรเลียมสองฉบับ” ที่คณะกรรมาธิการได้แต่งตั้งขึ้นอีกด้วย
และถ้าจะย้อนรำลึกไปการลงมติรับหลักการ พ.ร.บ. ปิโตรเลียม เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2559 นั้น ในขณะที่ สนช. เกือบทั้งหมดลงมติให้ความเห็นชอบกับกฎหมายปิโตรเลียมที่ขัดแย้งกับผลการศึกษาของตนเอง

ในเวลานั้นก็มี พล.อ.อ.อดิศักดิ์ กลั่นเสนาะ คนเดียวกันนี้แหละ ที่กล้าหาญเป็นเสียงส่วนน้อยในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพียง 1 ใน 5 คน ที่ลงมติไม่เห็นด้วยกับหลักการของกฎหมายปิโตรเลียมทั้งสองฉบับนี้มาแล้ว

เมื่อยังไม่มีการลงมติ ก็ย่อมเชื่อได้ว่าน่าจะมีการถกเถียงในเรื่องนี้จนมีการเรียงปรับวาระใหม่สำเร็จ
ถามใจกรรมาธิการทั้งหลายต่อไปว่าจะเดินหน้าลงมติวันพุธที่ 16 พฤศจิกายน 2559 นี้ โดยไม่ฟังเสียงใครเลยหรืออย่างไร? …”
กำลังโหลดความคิดเห็น