“ปานเทพ” แฉพิรุธประชุมกรรมาธิการร่าง พ.ร.บ. ปิโตรเลียม 2 ฉบับ เมื่อ 14 พ.ย. เรียงวาระแปลกประหลาด ให้ลงมติก่อนฟังผลกลั่นกรองของอนุกรรมาธิการ น่าสงสัยมีธงในใจก่อนหรือไม่ เชื่อ มีการถกเถียงจนเลื่อนการลงมติ และนัดใหม่พรุ่งนี้
วันนี้ (15 พ.ย.) เวลา 8.05 น. นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงาน (คปพ.) โพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊กส่วนตัว นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงาน (คปพ.) โพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊กแฟนเพจปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ ในหัวข้อ “เกิดอะไรขึ้น การลงมติ พ.ร.บ. ปิโตรเลียม 2 ฉบับ จึงได้สะดุดลงเมื่อวันจันทร์ที่ 14 พฤศจิกายน 2559?” โดยระบุว่า จากจดหมายเมื่อวันที่ 4 พฤจิกายน ที่ได้เชิญกรรมาธิการ เข้าประชุมในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2559 อย่างพร้อมเพรียง เพื่อลงมติกฎหมายปิโตรเลียมทั้ง 2 ฉบับนั้น จะเห็นได้อย่างชัดเจนในวาระที่ 3 นั้น ได้บรรจุวาระการลงมติกฎหมายปิโตรเลียมทั้ง 2 ฉบับ เป็นวาระที่ 3.1 และที่น่าสนใจประการถัดมา คือ เมื่อลงมติไปแล้วกลับจะค่อยมาพิจารณาในวาระที่ 3.2 พิจารณาความคืบหน้าการดำเนินงานของอนุกรรมาธิการกลั่นกรองกฎหมายปิโตรเลียม 2 ฉบับ
เป็นการเรียงวาระการประชุมที่แปลกประหลาดอยู่มาก!!!?
เพราะเป็นการจัดการประชุมเพื่อให้คณะกรรมาธิการชุดใหญ่ลงมติในกฎหมาย ก่อนฟังผลการกลั่นกรองกฎหมายของอนุกรรมาธิการ
คำถามจึงมีอยู่ว่ากรรมาธิการมีเจตนาที่จะลงมติโดยมีธงในใจอยู่แล้ว โดยไม่ฟังเสียงของอนุกรรมาธิการฯ เลยใช่หรือไม่?
คำถามจึงมีอยู่ว่ากรรมาธิการมีเจตนาที่จะลงมติโดยมีธงในใจอยู่แล้ว โดยไม่ฟังเสียงของอนุกรรมาธิการเลยใช่หรือไม่?
ถ้าเป็นเช่นนั้นก็ถือว่าเป็นการลงมติที่น่าอัปลักษณ์ยิ่ง เพราะถ้าเรียงวาระเช่นนั้น ก็เท่ากับมีเจตนาไม่ฟังเสียงแม้กระทั่งอนุกรรมาธิการ ที่กรรมาธิการตั้งขึ้นมาเอง
ซึ่งบาดแผลนี้ได้เกิดขึ้นมาแล้วครั้งหนึ่งเป็นมลทิน และตราบาปที่สร้างความเสื่อมเสียให้กับสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ชุดนี้ เพราะได้ลงมติเห็นชอบรับหลักการกฎหมายปิโตรเลียม 2 ฉบับ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2559 ซึ่งไม่สอดคล้องกับผลการศึกษาของ สนช. เอง
จนเป็นที่มาทำให้ศาสตราจารย์พิเศษ ชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม ประธานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ต้องทำหนังสือถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2559 ตั้งข้อสังเกตถึงความไม่ชอบมาพากลนี้ และเห็นด้วยกับข้อเสนอของภาคประชาชน
ซ้ำด้วยเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2559 นายวัส ติงสมิตร ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่ได้แถลงข่าวให้นำร่างกฎหมายของเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) มาประกอบการพิจารณาด้วย หากทำไม่ได้ก็ควรจะพิจารณาถอนร่างกฎหมายปิโตรเลียม 2 ฉบับ ออกจาก สภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อนำมาทบทวนใหม่
ผมจึงเชื่อว่า ในประเด็นเรื่องนี้น่าจะมีการถกเถียงกันพอสมควร โดยเฉพาะผู้ที่มาแถลงข่าวว่ายังไม่ลงมตินั้น ก็คือ
พล.อ.อ.อดิศักดิ์ กลั่นเสนาะ !!!
พล.อ.อ.อดิศักดิ์ กลั่นเสนาะ ซึ่งนอกจะอยู่ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการคนที่ 1 แล้ว ยังอยู่ในฐานะ “ประธานคณะอนุกรรมาธิการกลั่นกรองกฎหมายปิโตรเลียมสองฉบับ” ที่คณะกรรมาธิการได้แต่งตั้งขึ้นอีกด้วย
และถ้าจะย้อนรำลึกไปการลงมติรับหลักการ พ.ร.บ. ปิโตรเลียม เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2559 นั้น ในขณะที่ สนช. เกือบทั้งหมดลงมติให้ความเห็นชอบกับกฎหมายปิโตรเลียมที่ขัดแย้งกับผลการศึกษาของตนเอง
ประวัติศาสตร์ฉากสำคัญนี้ก็ต้องรำลึกด้วยว่า ในเวลานั้นก็มี พล.อ.อ.อดิศักดิ์ กลั่นเสนาะ คนเดียวกันนี้แหละ ที่กล้าหาญเป็นเสียงส่วนน้อยในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพียง 1 ใน 5 คน ที่ลงมติไม่เห็นด้วยกับหลักการของกฎหมายปิโตรเลียมทั้งสองฉบับนี้มาแล้ว
เมื่อยังไม่มีการลงมติ ก็ย่อมเชื่อได้ว่าน่าจะมีการถกเถียงในเรื่องนี้จนมีการเรียงปรับวาระใหม่สำเร็จ
และนั่นทำให้ พล.อ.อ.อดิศักดิ์ ให้สัมภาษณ์ว่า : “ที่ประชุมได้พิจารณาในรายละเอียดตามรายมาตรา โดยได้นำประเด็นที่มีผู้เสนอขอแปรญัตติ รวมถึงข้อกังวลของภาคประชาชนมาร่วมพิจารณาด้วย ทั้งนี้อยากให้ได้ข้อสรุปที่เป็นความเห็นร่วมกันมากกว่าจะใช้วิธีการลงมติตัดสิน”
หลังจากนี้ ทุกถ้อยความ ทุกถ้อยคำ ทุกขั้นตอน และทุกการลงมติ จากกรรมาธิการ นอกจากจะถูกบันทึกในประวัติศาสตร์สำคัญต่ออนาคตคนรุ่นต่อไปแล้ว ยังจะต้องสนใจต่อไปว่าเมื่อเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ได้ท้วงติงปัญหาความสุ่มเสี่ยงในระดับองค์กรของรัฐก่ออาชญากรรม (Organized Crime) ที่อาจสร้างความเสียหายให้กับประเทศชาติและสุ่มเสี่ยงกันเข้าข่ายสมรู้ร่วมคิดกันฟอกเงินหรือไม่แล้ว ผู้ที่มีอำนาจทั้งหลายจะไม่ฟังเสียงท้วงติงจากองค์กรตรวจสอบอิสระตามรัฐธรรมนูญ ลุแก่อำนาจ จนต้องเดือดร้อน ล่มสลาย พังทลายในอนาคต เหมือนรัฐบาลยิ่งลักษณ์ในวันนี้ที่เคยไม่ฟังเสียงท้วงติงจากองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญหรือไม่?
ถามใจกรรมธิการทั้งหลายต่อไปว่าจะเดินหน้าลงมติวันพุธที่ 16 พฤศจิกายน 2559 นี้ โดยไม่ฟังเสียงใครเลยหรืออย่างไร?
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
15 พฤศจิกายน 2559