ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -“ความต้องการที่อยู่อาศัยแบบครบวงจรของผู้สูงอายุมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ขณะที่ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุที่กรมกิจการผู้สูงอายุ (ผส.) รับผิดชอบอยู่ 12 แห่ง ไม่เพียงพอต่อการรองรับ อย่างเช่นที่บ้านบางแค ทราบว่ามีผู้สูงอายุบางคนต้องรอคิวจองถึง 8 ปี” พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวตอนหนึ่งภายหลังเยี่ยมและเลี้ยงอาหารกลางวันผู้สูงอายุและให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ที่บ้านบางแค เมื่อปีที่แล้ว (2558)
“แนวคิดที่จัดทำบ้านเพื่อผู้สูงอายุ ลักษณะคล้ายกับโครงการที่พักผู้สูงอายุ อาคารสวางคนิเวศ สภากาชาดไทย”จึงเกิดขึ้น มีการไปดูโลเคชั่นพื้นที่ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา จ.พิษณุโลก หรือ จ.เชียงใหม่ เพื่อรองรับผู้สูงอายุที่มีศักยภาพในการจ่าย เช่น ข้าราชการบำนาญ นักธุรกิจ
คำสั่งนี้ตรงไปถึง อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ (ผส.) ดำเนินการศึกษาและวิจัยรูปแบบให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้สูงอายุ มีการตั้งชื่อคร่าวๆ ว่า “โครงการบ้านกตัญญู” โดยให้การเคหะแห่งชาติ (กคช.) ไปดูแลพิจารณานำบ้านที่มีอยู่ปรับรูปแบบและสภาพแวดล้อมให้เอื้อกับผู้สูงอายุ และให้ลูกหลานผู้สูงอายุเข้ามาช่วยในการผ่อนชำระแทนผู้สูงอายุ ซึ่งอาจจะมีสิทธิพิเศษจูงใจต่างๆ สำหรับผู้สูงอายุที่ด้อยโอกาสก็จะต้องประสานชุมชนเข้ามาร่วมบูรณาการดูแลเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ
สอดคล้องกับเมื่อต้นปี 2559 กรมธนารักษ์ เปิดโมเดล “โครงการการสร้าง “ศูนย์บริบาลผู้สูงอายุ (Retirement Home)” มีการเปิดให้เอกชนที่สนใจเข้าประมูลก่อสร้างโครงการ นำร่องบนที่ดินราชพัสดุ ที่ตำบลปากพลี อำเภอปากพลี จังหวัดนครนายก บนเนื้อที่ 14-1-59 ไร่ โดยให้เอกชนที่สนใจเข้ามาเป็นฝ่ายพัฒนาบนที่ดินราชพัสดุแทนภาครัฐ
ระบุว่า นครนายก เป็นจังหวัดแรกที่มีความพร้อม น่าจะสามารถทำเป็นที่อยู่อาศัยนำร่องเนื่องจากอยู่ใกล้กรุงเทพฯ ขณะที่ความต้องการที่อยู่อาศัยในแถบบริเวณนั้นก็ยังมีมาก แต่พอเปิดให้ยื่นซองจเมื่อต้นปี กลับไม่มีเอกชนแม้แต่รายเดียวที่สนใจเข้าประมูลโครงการ สร้างความผิดหวังให้กับกรม เป็นอย่างมาก
แต่ไม่จบง่ายๆ กรมธนารักษ์ นำไปศึกษาจุดอ่อน มีการไปดูที่ดินราชพัสดุอีกหลายจังหวัด โดยเฉพาะเชียงราย เชียงใหม่ และสงขลา
ตอนนั้นรัฐบาลเริ่มมี “โครงการบ้านประชารัฐ” เวอร์ชั่นรัฐบาล คสช.วงเงินสินเชื่อรวม 70,000 ล้านบาท มีธนาคารรัฐ 3 แห่งร่วมปล่อยกู้ คือ ธ.กรุงไทย 10,000 ล้านบาท ธ.ออมสินกับ ธ.อาคารสงเคราะห์ (ธอส.) รายละ 30,000 ล้านบาท กู้เงินไปซื้อคอนโดมีเนียม ซ้อมบ้าน ทั้งคนรัฐและชาวบ้านทั่วไป
กลับมาที่บ้านผู้สูงอายุ แผนสอง กรมธนารักษ์ จึงมองไปที่พื้นที่จังหวัดเชียงราย (ตำบลศรีค้ำ อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย) แปลงหมายเลขที่ อ.ชร 30 โฉนดที่ดินเลขที่ 359 ตำบลศรีค้ำ อำเภอแม่จัน จังหวัดชียงราย โดยใกล้กับโรงงานหลวงดอยคำ เนื้อที่ 64-3-98 ไร่ (64 ไร่ 3งาน 98 ตารางวา)
ทราบว่ามีเอกชนทั้งไทยและญี่ปุ่น จะเข้ามายื่นซองประกวดราคาในโครงการใน จ.เชียงใหม่ และ จ.เชียงราย แล้ว
“มีความเป็นไปได้สูงที่กลุ่มทุนญี่ปุ่นจะเข้ามาร่วมลงทุนกับนักธุรกิจไทยในการลงทุนพัฒนาสถานดูแลผู้สูงอายุ โดยทราบกันดีว่าญี่ปุ่นมีความเชี่ยวชาญในการให้บริการประเภทนี้อยู่แล้ว”
ตอนนั้น กรมธนารักษ์ ได้กำหนดสเปก “โครงการการสร้างศูนย์บริบาลผู้สูงอายุ”ประกอบด้วย
1.ระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน โดยเฉพาะลานจอดเฮลิคอปเตอร์หรือเครื่องบินเพื่อนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลกรณีฉุกเฉิน
2.ผลประโยชน์ที่จะต้องจ่ายคืนให้แก่รัฐ อาทิ ค่าทำเนียมแรกเข้าโครงการ ค่าเช่าพื้นที่ที่จะต้องจ่ายจากการเช่าที่ดินในการพัฒนาโครงการระยะยาว
3.ผลประโยชน์จากรายได้ที่เกิดขึ้นจากการบริหารจัดการโครงการ เป็นต้น และจะต้องดูว่าผู้พัฒนารายใดเสนอสิทธิประโยชน์ที่ให้แก่กรมธนารักษ์สูงสุด
แผนยังเดินหน้าต่อไปเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2559 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบ “มาตรการรองรับสังคมผู้สูงอายุ” ตามที่กระทรวงการคลังเสนอและ 1 ใน 4 มาตรการนี้ ก็คือ “การสร้างที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุ (Senior Complex)” กระทรวงการคลัง แจ้งที่ประชุม ครม.ว่า เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุให้มีที่พักอาศัยที่ปลอดภัย มีอุปกรณ์ใช้สอยที่เหมาะสม และอยู่ในความดูแลของแพทย์และพยาบาล โดยมีการพิจารณา ได้มอบหมาย พม. ดำเนินโครงการสร้างที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุในพื้นที่ราชพัสดุ จำนวน 4 แห่ง ในจังหวัดชลบุรี 50 ไร่ นครนายก 14 ไร่ เชียงราย 64 ไร่ และเชียงใหม่ 7 ไร่ รวมพื้นที่ทั้งสิ้นประมาณ 135 ไร่ โดยกำหนดอัตราค่าเช่าและค่าธรรมเนียมในอัตราเดียวกันกับโครงการบ้านธนารักษ์ประชารัฐ (อัตราค่าเช่า เท่ากับ 1 บาทต่อตารางวาต่อเดือน และค่าธรรมเนียมการจัดให้เช่าเท่ากับ 2 เท่าของค่าเช่า 1 ปี) ยกเว้นพื้นที่ในจังหวัดเชียงใหม่ซึ่งมีศักยภาพเชิงพาณิชย์สูง ให้กำหนดอัตราค่าเช่า และค่าธรรมเนียมตามระเบียบของกระทรวงการคลัง ทั้งนี้ ผู้เช่าจะได้รับสิทธิในการเช่าเป็นระยะเวลา 30 ปี โดยทางราชการอาจต่ออายุสัญญาเช่าออกไปอีกเป็นระยะเวลา 30 ปี
ตรงนี้จะให้ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เข้ามาสนับสนุนสินเชื่อผ่อนปรนให้ผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องการพัฒนาโครงการในวงเงินไม่เกิน 4,000 ล้านบาทและเห็นควรให้มีการจัดสรรวงเงินสินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ (Post-finance) เพื่อรองรับการดำเนินโครงการในระยะต่อไปด้วย
ทั้งนี้ ให้การเคหะแห่งชาติ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) จะต้องจัดหาสถานที่ที่เหมาะสมเพื่อสร้างที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุ โดยให้นำหลักการของโครงการบ้านมั่นคงและบ้านประชารัฐมาใช้กับการดำเนินการ
แถมยังให้ยกเว้นการนำกฎหมายผังเมืองมาบังคับใช้กับที่ราชพัสดุที่กรมธนารักษ์ให้ความเห็นชอบดำเนินโครงการที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุ (Senior Complex) เชื่อว่าคงไม่พ้นพื้นที่เดิมที่กรมธนารักษ์กำหนดโมเดลเดิมไว้
ล่าสุด พม. และกรมธนารักษ์ บอกว่า ไม่เกินปีนี้ 2559 กำลังเตรียมเปิดให้ภาคเอกชนเสนอการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย โดยต้องมีการบริการสาธารณสุข สถานที่พักผ่อน บริการทางการแพทย์ เพื่อรักษาคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัย และเสนอจำนวนยูนิตตามสัดส่วนโครงการ คาดว่าจะก่อสร้าง และเปิดให้ประชาชนจอง โดยใช้เวลาไม่นานมาก ถึงตอนนี้ ทั้ง 2 หน่วยงานคงมีรายชื่อผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ที่เคยยื่นแบบทั้งในโครงการที่นครนายกและเชียงราย ไว้บ้างแล้ว เป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการไปในตัว
นอกจาก“การสร้างที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุ” รัฐบาลยังออกอีก 3 มาตรการ ประกอบด้วย
1. การจ้างงานผู้สูงอายุ ตรงนี้จะมีพระราชกฤษฎีกายกเว้นภาษี เพื่อให้ธุรกิจหักรายจ่ายได้ 2 เท่าของรายจ่ายประเภทเงินเดือนและค่าจ้างผู้สูงอายุ (อายุ 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป) ซึ่งมีอัตราค่าจ้างไม่เกิน 15,000 บาทต่อคนต่อเดือน โดยนายจ้างสามารถขอใช้สิทธิได้ไม่เกินร้อยละ 10 ของจำนวนลูกจ้างทั้งหมด ทั้งนี้ ลูกจ้างจะต้องไม่เป็นผู้ถือหุ้นของกิจการ กรรมการ ผู้บริหาร หรือเคยเป็นผู้บริหารของกิจการ รัฐบาล บอกว่า จะช่วยลดภาระให้กับบริษัทที่จ้างงานผู้สูงอายุได้สูงสุด 3,000 บาทต่อคนต่อเดือน
2. การสร้างที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุ
3. สินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ ซึ่งสถาบันการเงินเฉพาะกิจ จะนำร่องเพื่อดำเนินการมาตรการสินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ เพื่อให้ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขี้นไป สามารถนำที่อยู่อาศัยที่ตนมีกรรมสิทธิ์และปลอดภาระหนี้มาเปลี่ยนเป็นรายได้ในการดำรงชีพเป็นรายเดือน
รัฐบาลบอกว่า ต้องการให้ผู้สูงอายุนำสินทรัพย์ที่มีกรรมสิทธิ์มาเปลี่ยนเป็นรายได้ในการดำรงชีพ ซึ่งมูลค่าเงินที่กู้ได้จะขึ้นอยู่กับอายุ ของผู้กู้ มูลค่าบ้าน และอัตราดอกเบี้ย ซึ่งสามารถเลือกวิธีรับเงินเป็นก้อนเดียวหรือทยอยรับเป็นงวด จนกว่าจะเสียชีวิตหรือจนกว่าจะหมดอายุสัญญาเงินกู้ โดยผู้กู้ไม่ต้องชำระเงินต้นหรือดอกเบี้ยคืน และหลังจากผู้กู้เสียชีวิต ที่อยู่อาศัยค่อยตกเป็นของธนาคาร โดยให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจเป็นผู้นำร่องผลิตภัณฑ์
4. การบูรณาการระบบบำเหน็จบำนาญ ในระยะยาว จะมี พระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ พ.ศ. .... ตั้ง คณะกรรมการนโยบายบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ นายกรัฐมนตรีเป็นประธานเข้ามากำหนดนโยบายในการพัฒนาและกำกับดูแลระบบบำเหน็จบำนาญให้มีความครอบคลุม เพียงพอ และยั่งยืน รวมทั้งจัดมีระบบฐานข้อมูลกลางด้านบำเหน็จบำนาญของประเทศ
ในหลักการ กองทุน กบข.สำหรับแรงงานใหม่ จะเป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคบังคับสำหรับแรงงานในระบบที่มีอายุตั้งแต่ 15 - 60 ปี ครอบคลุมลูกจ้างเอกชน ลูกจ้างชั่วคราวส่วนราชการ พนักงานราชการ และพนักงานรัฐวิสาหกิจ ซึ่งไม่ได้เป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โดยให้มีการจ่ายเงินเข้ากองทุนจาก 2 ฝ่าย คือ ลูกจ้าง และนายจ้าง ซึ่งลูกจ้างจะได้รับบำนาญหรือบำเหน็จเมื่ออายุครบ 60 ปี เพื่อให้แรงงานกลุ่มดังกล่าวมีรายได้ที่เพียงพอ ในการดำรงชีวิตหลังเกษียณ โดยกำหนดให้ กบช. เปิดรับสมาชิกตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นไป
ประเด็นนี้จะครอบคลุมลูกจ้างเอกชน ลูกจ้างชั่วคราวส่วนราชการ พนักงานราชการ และพนักงาน รัฐวิสาหกิจ ที่ไม่ได้เป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพทั้งสิ้น 11.37 ล้านคน เพื่อให้แรงงานในระบบมีรายได้หลังเกษียณเพียงพอหรือไม่น้อยกว่า 50% ของรายได้ก่อนเกษียณอายุ จากปัจจุบันอยู่ที่ 19% เท่านั้น
ส่วนการเข้าระบบ กบช.จะกำหนดให้กิจการขนาดใหญ่ที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 100 คนขึ้นไป กิจการที่ได้รับสัมปทานของรัฐ กิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน กิจการที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน หน่วยงานของรัฐที่ไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการและกิจการที่ประสงค์เข้าเป็นสมาชิก กบช. เข้าระบบในปีที่ 1 และกิจการที่มีลูกจ้าง 10 คนขึ้นไป เข้าระบบในปีที่ 4
ทั้งนี้ การจัดตั้ง กบช.จะช่วยเพิ่มระดับเงินออมของประเทศให้สูงขึ้นเฉลี่ยปีละ 68,000 ล้านบาท จะช่วยส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุนในระยะยาว
รัฐบาล เชื่อว่า มาตรการรองรับสังคมผู้สูงอายุดังกล่าวจะช่วยสนับสนุนให้ประชาชนมีรายได้หลังเกษียณที่เพียงพอ ผู้สูงอายุมีที่อยู่อาศัยที่เหมาะสม และมีโอกาสได้ทำงานต่อ ซึ่งจะมีส่วนช่วยเสริมสร้างหลักประกัน ในชีวิตให้แก่ประชาชน ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม และบรรเทาภาระงบประมาณภาครัฐด้านสวัสดิการชราภาพในระยะยาว เนื่องจากปัจจุบันภาครัฐใช้งบประมาณมากขึ้นทุกปีในการจัดสรรสวัสดิการกรณีชราภาพให้กับประชาชน
เนื่องจากพบว่า ปีงบประมาณ 2559 ต้องจัดสรรงบประมาณสำหรับบำเหน็จบำนาญข้าราชการ เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ และเงินสมทบเข้ากองทุนการออมเพื่อเกษียณ 287,000 ล้านบาท และคาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นอีก 8 ปี หรือ ยุคประเทศไทย 4.0 ถึง 698,000 ล้านบาท.