xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

เลื่อนคดี “ธัมมี่” (ครั้งแล้วครั้งเล่า) “อัยการสูงสุด” อย่าทำให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พระเทพญาณมหามุนี
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -วันนี้ คดีทุจริตสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ซึ่งมีจำเลย 2 คนสำคัญคือ “นายศุภชัย ศรีศุภอักษร” อดีตประธานผู้อื้อฉาว และ “พระเทพญาณมหามุนี(ไชยบูลย์ ธัมมชโย) อดีตเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายผู้ยิ่งใหญ่ ยังคงย่ำอยู่กับที่ และไม่มีความคืบหน้าให้เห็นเลยแม้แต่น้อย

ที่สำคัญคือถ้าจะว่าไปแล้ว ยังส่อเค้าที่จะมีเงื่อนงำที่ผิดสังเกต กระทั่งอาจใช้คำว่า “ผิดปกติ” ออกมาให้เห็นเป็นระยะๆ อีกด้วย เมื่อคณะทำงานอัยการสำนักงานคดีพิเศษ สำนักงานอัยการสูงสุด ได้มีคำสั่ง “เลื่อนการสั่งคดี” ถึง 4 ครั้งด้วยกัน โดยครั้งล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2559 ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ นับตั้งแต่พนักงานอัยการได้รับสำนวนการสอบสวนจากกรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอมาเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2559 หรือเมื่อกว่า 4 เดือนที่แล้ว ทุกอย่างก็ดูเหมือนหยุดนิ่งอยู่กับที่

นายศุภชัย อัครสาวกเบื้องขวาของเจ้าคุณธัมมชโย ผู้ต้องหาที่ 1 ยังคงถูกคุมขังในเรือนจำในคดียักยอกทรัพย์สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน คลองจั่น สำนวนแรก ซึ่งถูกศาลอาญาพิพากษาจำคุก 8 กระทง รวม 32 ปี

ขณะที่พระเทพญาณมหามุนี ผู้ต้องหาที่ 2 ที่ถูกออกหมายจับในความผิดฐานสมคบคิดกัน “ฟอกเงิน” และ “รับของโจร” ก็ยังคงไม่สมารถติดตามตัวมารับทราบข้อกล่าวหาได้ โดยหลังจากที่ดีเอสไอเดินทางไปที่วัดพระธรรมกายเพื่อแจ้งข้อกล่าวหาแก่พระเทพญาณมหามุนีเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2559 และคว้าน้ำเหลวกลับมาเนื่องจากทางวัดพระธรรมกายใช้โล่มนุษย์เป็นเกราะกำบัง เพื่อป้องกันเจ้าหน้าที่ไม่ให้เข้าถึงตัวพระเดชพระคุณหลวงพ่อ จนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้ ก็ยังไม่ได้มีความเคลื่อนไหวจากดีเอสไอที่จะกลับเข้าไปแจ้งข้อกล่าวหาพระเทพญาณมุนีอีกครั้ง พร้อมกับข่าวคราวของตัวพระเทพญาณมหานุนีเองที่เงียบหายจนไม่มีใครทราบได้ว่า ขณะนี้ยังคงเก็บตัวอยู่ที่เซฟเฮ้าส์ภายในวัดพระธรรมกาย หรือเดินทางออกนอกประเทศไปแล้ว

เฉกเช่นเดียวกับนางศศิธร โชคประสิทธิ์ ผู้ต้องหาที่ 5 ซึ่งถูกออกหมายจับและยังไม่สามารถติดตามตัวไม่ได้

จะมีก็เพียงนางศรัญญา มานหมัดและนางทองพิน กันล้อม ผู้ต้องหาที่ 3 และผู้ต้องหาที่ 4 เท่านั้นที่เดินทางมารายงานตัวตามนัด

เมื่อย้อนกลับไปเมื่อครั้งที่อัยการเลื่อนสั่งคดีในครั้งที่ 3 หรือครั้งก่อนหน้านี้ ก็จะพบคำอธิบายที่น่าสนใจไม่น้อย

6 ตุลาคม 2559 ร.ท.สมนึก เสียงก้อง โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุดได้แถลงผ่านเอกสารข่าวเอาไว้ว่า...“ขณะนี้พนักงานอัยการ คณะทำงานคดีนี้ยังได้รับผลการสอบสวนเพิ่มเติมจากพนักงานสอบสวน กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ไม่ครบถ้วน อีกทั้งเอกสารในสำนวนคดี และเอกสารเพิ่มเติมที่พนักงานสอบสวน ส่งให้อัยการพิจารณามีจำนวนมาก และเนื้อหามีความสลับซับซ้อน ประกอบกับคดีนี้ เป็นคดีที่อยู่ในความสนใจของประชาชน โดยมีผู้เสียหายที่ได้รับความเดือดร้อนจำนวนมาก และมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นจำนวนสูงมาก พนักงานอัยการ คณะทำงานต้องใช้ความละเอียดรอบคอบในการพิจารณาสำนวนและสั่งคดีเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย และเพื่อให้เกิดความกระจ่างแก่สังคม”

แปลไทยเป็นไทยคือสำนักงานอัยการสูงสุดอ้างว่า ผลการสอบสวนยังไม่ครบถ้วน และเอกสารมีเป็นจำนวนมาก จึงทำให้ต้องใช้ความละเอียดรอบคอบในการสั่งคดี

ผ่านมาอีก 1 เดือนเต็มๆ สำนักงานอัยการสูงสุดก็ให้เหตุผลที่เลื่อนการสั่งคดีเป็นครั้งที่ 4 ว่า เนื่องจากจะต้องรอผลการสอบสวนเพิ่มเติมที่ครบถ้วนจากพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) และนัดฟังคำสั่งครั้งต่อไปในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2559

คำถามที่เกิดขึ้นก็คือ ใครคือสาเหตุที่ทำให้ต้องมีการเลื่อนคดีออกไปครั้งแล้วครั้งเล่า

พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ

หรือสำนักงานอัยการสูงสุด

หรือว่าทั้งคู่ เพราะถ้าจะว่าไปแล้ว โดยปกติทั้งสองหน่วยงานก็ต้องทำงานประสานร่วมกันอยู่แล้ว

ที่สำคัญคือ ไม่ใช่เลื่อนสั่งคดีเพียงครั้งเดียว หากแต่เลื่อนถึง 4 ครั้งด้วยกัน เพราะถ้าสำนวนหรือข้อมูลมีข้อบกพร่องอย่างไร ทั้งสองหน่วยงานคือสำนักงานอัยการสูงสุดและกรมสอบสวนคดีพิเศษก็น่าจะปรึกษาหารือกันในรายละเอียดเพื่อแก้ไขให้ตรงกันได้อยู่แล้ว

นี่กระมังจึงเป็นเหตุของเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่ดังอึงมี่ไปทั้งแผ่นดินในทำนอง หรือว่าจะมีการ “เตะถ่วง” เกิดขึ้น

นอกจากนั้น ยังมีการนำเรื่องนี้ไปเชื่อมโยงกับการย้าย 2 รองอธิบดีและ 1 ผู้บัญชาการ ที่เพิ่งเกิดขึ้นในกรมสอบสวนคดีพิเศษ สดๆ ร้อนๆ ว่าจะเกี่ยวข้องกับเรื่องวัดพระธรรมกายหรือไม่

โดยเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน นายธวัชชัย ไทยเขียว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม รักษาราชการปลัดกระทรวงยุติธรรม ได้ลงนามคำสั่งที่ 536/2559 เรื่องให้โอนข้าราชการพลเรือนสามัญ ไปยังสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี จำนวน 3 ราย ทั้งนี้ในคำสั่งระบุว่า เนื่องด้วยสำนักนายกรัฐมนตรี ได้รับโอนข้าราชการพลเรือนสังกัดกระทรวงยุติธรรม ไปแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งตามกรอบอัตรากำลังชั่วคราวเป็นกรณีพิเศษ ในสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 16 / 2558 ลงวันที่ 15 พฤษภาคม 2558

สำหรับข้าราชการพลเรือน 3 ราย ประกอบ พ.ต.ท.พงศ์อินทร์ อินทรขาว พ.ต.ท.สมบูรณ์ สาระสิทธิ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และ พ.ต.ท.ชิณโชติ พุฒิวรรธาดา ผู้บัญชาการสำนักพัฒนาและสนับสนุนคดีพิเศษกรมสอบสวนคดีพิเศษ

อย่างไรก็ดี แม้แหล่งข่าวระดับสูงจะยืนยันว่า เป็นการโยกย้ายเพื่อความเหมาะสม ไม่ได้เกี่ยวข้องกับคดีวัดพระธรรมกาย แต่ก็น่ากังขา จนอดที่จะหยิบนำมาเชื่อมโยงกันไม่ได้
พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม
ขณะที่ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ตอบผู้สื่อข่าวเมื่อถูกถามว่าอาจเป็นการถ่วงเวลาเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า…“ไม่ทราบ จะให้ผมไปพูดได้อย่างไรว่าใครถ่วง”

พร้อมกับย้อนถามผู้สื่อข่าวว่า “ใครถ่วง พนักงานสอบสวนหรืออัยการถ่วง ผมเป็นรัฐมนตรี ก็มีหน้าที่คุมแค่นโยบาย ซึ่งก็ได้เรียก พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีดีเอสไอมาสอบถามแล้ว ก็ได้รับรายงานว่า ในส่วนของดีเอสไอเรียบร้อยแล้ว ประเด็นใหญ่ที่เป็นประเด็นหลักนั้นสามารถสั่งฟ้องได้แล้ว แต่ถ้าจะไปมองเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เพิ่มนิดเพิ่มหน่อย มันไม่ใช่ปัจจัยหลักของข้อมูลที่ต้องมี หรือไม่มีก็ได้ ซึ่งสามารถไปว่ากันในชั้นศาลได้”

“เชื่อว่า สังคมก็จะพูดแบบที่พวกคุณพูด ซึ่งมันมีอยู่สองคนที่จะถ่วงพนักงานสอบสวนหรืออัยการ ถ้าเข้าใจว่าเป็นการถ่วง ดังนั้น จะไปตอบได้อย่างไรว่าใครถ่วง เพราะมันเป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรม อย่างไรก็ตาม การที่อัยการสั่งเลื่อนนัดฟังคำสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องนั้น ไม่เกี่ยวกับการที่ดีเอสไอยังไม่ได้ตัวผู้ต้องหามาดำเนินคดี ซึ่งมันเป็นคนละประเด็นกัน ผมจะไม่ทำอะไรเพราะเป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรม คุณคิดว่า พล.อ.ไพบูลย์ เป็นรัฐมนตรีจะทำอะไร ในเมื่อเรื่องนี้เป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรม จึงต้องไปถามอัยการกับพนักงานสอบสวน คุณจะให้รัฐมนตรีไปนั่งเป็นพนักงานสอบสวนเองหรือ ซึ่งมันทำไม่ได้ มันเป็นการไปก้าวก่ายงานของเขา อีกทั้งทางอธิบดีเขาก็บอกผมแล้วว่าจุดแตกหักจุดใหญ่มันสอบสวนครบหมดแล้ว”

แน่นอน ถ้าเป็นไปตามที่ พล.อ.ไพบูลย์ อธิบาย เป้าหมายใหญ่ที่จะต้องถูกเพ่งเล็งเห็นทีจะหนีไม่พ้นสำนักงานอัยการสูงสุด

ความจริงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่สังคมจะตั้งคำถามเอากับสำนักงานอัยการสูงสุด เพราะนี่ไม่ใช่เหตุการณ์แรกที่เกิดขึ้นกับคดีของพระเทพญาณมหามุนี หากแต่มี “ตัวอย่าง” ให้เห็นในอดีตมาแล้วในยุคที่ นช.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อ “นายพชร ยุติธรรมดำรง” อัยการสูงสุดในขณะนั้นมีคำสั่งไม่ฟ้องพระเดชพระคุณหลวงพ่อธัมมชโยของชาวธรรมกาย

ย้อนหลังกลับไปเมื่อ 18 ปีที่แล้ว คือในปี 2541 พระเทพญาณมหามุนี ขณะที่ดำรงสมณศักดิ์ที่พระราชภาวนาวิสุทธิ์ ได้เกิดคดีความสะท้านสะเทือนอาณาจักรธรรมกายขึ้น เมื่อ พระอดิศักดิ์ วิริสโก อดีตพระลูกวัดพระธรรมกายได้ออกมากล่าวหาพระธัมมชโยว่า ยักยอกเงินและที่ดินที่บรรดาญาติโยมบริจาคให้วัด และมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม เช่น ใกล้ชิดสีกาและอวดอุตริมนุสธรรม เป็นต้น

ต่อมา กรมที่ดินได้สำรวจพบว่า พระธัมมชโยมีชื่อเป็นเจ้าของโฉนดที่ดินและบริษัทที่เกี่ยวกับวัดพระธรรมกายกว่า 400 แปลง เนื้อที่กว่า 2 พันไร่ ใน จ.พิจิตร และเชียงใหม่ จากนั้นกรมการศาสนาได้เข้าแจ้งความต่อกองปราบปราบกล่าวโทษพระธัมมชโยในคดีอาญา มาตรา 137,147 และ 157 ฐานเป็นเจ้าหนักงานเบียดบังยักยอกทรัพย์และปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
นายศุภชัย ศรีศุภอักษร
ทว่า ขณะที่คดีดำเนินไปตั้งแต่ปี 2542 ถึงเดือนสิงหาคม ปี 2549 หรือเกือบ 7 ปีเต็ม มีการสืบพยานไปแล้วกว่า 100 นัด เหลือเพียงการสืบพยานจำเลยอีก 2 นัดในวันที่ 23-24 สิงหาคม 2559 ปรากฏว่า ได้เกิดเหตุที่ไม่มีใครคาดคิด เมื่ออยู่ๆ พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 5 ได้ขอถอนฟ้องจำเลยคือพระธัมมชโยและนายถาวร พรหมถาวร ลูกศิษย์คนสนิท ที่ถูกฟ้องในคดีที่ร่วมกันยักยอกทรัพย์และเงินบริจาคของวัดพระธรรมกายจำนวน 6.8 ล้านบาทไปซื้อที่ดินเขาพนมพา ต.หนองพระ อ.วังทรายพูน จ.พิจิตร โดยโอนกรรมสิทธิ์ให้กับนายถาวร จำเลยที่ 2 และนำเงินอีกเกือบ 30 ล้านบาทไปซื้อที่ดินกว่า 900 ไร่ ใน ต.หนองพระ จ.พิจิตร และที่ ต.ท่าข้าม อ.ชนแดน จ.เพชรบูรณ์ โดยโอนกรรมสิทธิ์ให้นายถาวรเช่นกัน

ทั้งนี้ ผลจากการที่อัยการสูงสุดมีคำสั่งให้ถอนฟ้องพระธัมมชโยกับพวกในคดีดังกล่าว ยังส่งผลให้อีก 3 คดีที่เหลือซึ่งพระธัมมชโยกับพวกถูกฟ้องฐานยักยอกทรัพย์เช่นกัน และอัยการสูงสุดอยู่ระหว่างรอการสั่งคดี ต้องมีอันยุติและล้มเลิกไปด้วย โดยอ้างว่า เมื่ออัยการสูงสุดมีนโยบายให้ถอนฟ้อง พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 5 ก็ต้องมีความเห็นให้ยุติการสั่งคดีทั้ง 3 คดีที่เหลือ อันประกอบด้วย

1.คดีที่พระธัมมชโยและพวกตกเป็นผู้ต้องหาร่วมกันเบียดบังเงินวัดพระธรรมกายกว่า 95 ล้านบาทไปซื้อที่ดิน

2.คดีที่พระธัมมชโยกับพวกตกเป็นผู้ต้องหาเบียดยังเงินวัดพระธรรมกายกว่า 845 ล้านบาท

และ 3.คดีที่พระธัมมชโยกับพวกตกเป็นผู้ต้องหาร่วมกันปลอมแปลงเอกสารและสนับสนุนเจ้าพนักงานให้ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

สำนักงานอัยการสูงสุดในยุคที่มีผู้นำสูงสุดชื่อ พชร ยุติธรรมดำรง ให้เหตุผลประกอบการถอนฟ้องเอาไว้ว่า จำเลยได้ปฏิบัติตามพระลิขิตของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกแล้ว โดยเงินและที่ดินที่ทั้งสองเคยยักยอกไปก็ได้คืนให้วัดพระธรรมกายแล้ว
ร้อยตำรวจตรี พงษ์นิวัฒน์ ยุทธภัณฑ์บริภาร อัยการสูงสุด
ด้วยเหตุดังกล่าวที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วข้างต้น จึงทำให้เมื่ออัยการสูงสุดในยุคที่มี “ร.ต.ต.พงษ์นิวัฒน์ ยุทธภัณฑ์บริภาร” เป็นผู้นำ เลื่อนการสั่งคดีทุจริตสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นถึง 4 ครั้ง สังคมจึงมีสิทธิ์ที่จะตั้งคำถามอีกครั้งว่า เหตุการณ์จะซ้ำรอยอดีตหรือไม่

เพราะก็ไม่แน่นักว่า ท้ายแล้วพระธัมมชโยก็มีสิทธิ์ที่จะรอดคุกรอดตะรางได้ เนื่องจากต้องไม่ลืมว่า อัยการสูงสุดมีอำนาจเต็มและมีกฎหมายให้อำนาจที่จะถอนฟ้องได้.....และถ้าเป็นเช่นนั้นจริงๆ ก็ยิ่งต้องย้ำให้เห็นว่าอิทธิพล อำนาจและความยิ่งใหญ่ของพระเดชพระคุณหลวงพ่อธัมมชโยนั้น อยู่เหนือโลก อยู่เหนือศาสนจักรและอยู่เหนือฝ่ายอาณาจักรจริงๆ
..
....กราบ......



กำลังโหลดความคิดเห็น