พล.อ.ประยุทธ์เรียกประชุมด่วนบอร์ด นบข. หามาตรการช่วยเหลือข้าวเปลือกเจ้านาปี เด็ก ปชป.สับหมวดเจี๊ยบเบี่ยงประเด็น หมอวรงค์จี้รัฐบาลสอบขบวนการทุบราคาข้าว ขณะที่พิจิตร ทหารไล่สกัดทันควันม็อบชาวนา สะพัดม็อบอีกวันนี้ ด้านซูปเปอร์โพลแนะรัฐบาลให้หน่วยงานราชการซื้อข้าวโดยตรง ส่วนบอร์ด กสท.จ่อพักใบอนุญาตช่อง 24 TV เสนอข้อมูลจำนำข้าว
นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะเรียกประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว หรือ นบข. วาระเร่งด่วนในวันที่ 7 พ.ย.59 นี้ เพื่อหามาตรการช่วยเหลือผลผลิตข้าวเปลือกนาปี ฤดูการผลิต 2559/2560 ในส่วนของข้าวเปลือกเจ้า ที่จะออกสู่ตลาดช่วงกลางเดือนนี้ หลังราคาตกต่ำเหลือเพียงตันละ 7,200-7,500 บาท
ก่อนหน้านี้ นบข. ได้ช่วยเหลือชาวนาผู้ปลูกข้าวหอมมะลิด้วยการรับจำนำยุ้งฉางตันละ 1.3 หมื่นบาทไปแล้ว ขณะเดียวกัน พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานลงพื้นที่สำรวจปริมาณผลผลิตข้าวเปลือกนาปีรอบแรกทั่วประเทศ
** อัดหมวดเจี๊ยบตีสองหน้า เบนประเด็น
นางรัชฎาภรณ์ แก้วสนิท อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณี ร.ท.หญิง สุนิสา เลิศภควัต ทีมสำนักเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ออกมา ระบุไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.ว่า ใจแคบ ไร้มาตรการช่วยแก้ไขปัญหาให้ชาวนา และหากไม่ช่วยได้ ก็ลาออกไป ว่า เป็นการพยายามเบี่ยงเบนประเด็น จากปัญหาราคาข้าวตกต่ำ เพื่อเชื่อมโยงกับการเมือง โดยเฉพาะคดีที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เป็นการตีสองหน้า สร้างข่าวผ่านสื่อเพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของรัฐบาลนี้
ทางหนึ่งสร้างถาพให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ลงพื้นที่ไปซื้อข้าวจากชาวนาในราคาถูกกว่าที่ควรจะเป็น และจัดอีเว้นต์ ขายข้าว 20 ตัน หมดในเวลา 1 ชั่วโมง ส่วนอีกด้านก็ให้ ร.ท.หญิงสุนิสา ออกมาโจมตีรัฐบาลโดยกลบเกลื่อนความผิดพลาด และพฤติกรรมของพรรคเพื่อไทยที่ทุจริต คอร์รัปชัน ในโครงการรับจำนำข้าว ในช่วงน.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นนายกฯ จนประเทศชาติเสียหายร่วม 9 แสนล้านบาท ซึ่งสะท้อนผ่านคำให้สัมภาษณ์ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่พูดย้ำทุกครั้งว่า เป็นโครงการเพื่อช่วยเหลือชาวนาโดยไม่หวังผลกำไร ทั้งที่ข้อเท็จจริงโครงการรับจำนำข้าวยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ความเสียหายที่เกิดขึ้น ไม่ได้เกิดจากการขาดทุน แต่เกิดจากการทุจริตทุกขั้นตอน ดังนั้น อย่าคิดว่าสังคมไทยจะไม่รู้เท่าทัน
***หมอวรงค์จี้สอบขบวนการทุบราคาข้าว
นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต สส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการจัดอีเวนต์ขายข้าวสารราคาถูกของ นส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และอดีต ส.ส. พรรคเพื่อไทย เมื่อวันที่ 5 พ.ย.ที่ผ่านมาว่า เป็นซีรีย์ถล่มราคาข้าวหอมมะลิอย่างเลือดเย็น เพียงผลทางการเมือง เพื่อหวังสั่นคลอน ซึ่งมีข้อเท็จจริงที่ประชาชนควรรู้ และรัฐบาลยังต้องหาคำตอบมาชี้แจงประชาชน เพื่อให้ความเชื่อมั่นต่อตลาดข้าวหอมมะลิ กลับมาเป็นปกติ สิ่งที่ประชาชนควรรับรู้ คือ
1. การจัดฉากขายข้าวสารหอมมะลิราคาถูก ก.ก.ละ 20 บาทของชาวนาที่อุบลฯ ได้รับการยืนยันจากชาวอุบลฯว่า เป็นการจัดฉากจริง เพราะหลังจากฉากน.ส.ยิ่งลักษณ์ ลงไปซื้อข้าวราคาถูกจบลง วันถัดมาจนปัจจุบัน ก็ไม่มีการขายข้าวที่เดิมอีกเลย ที่สำคัญก่อนที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ มาถึง มีคนโพสต์เฟซบุ๊ก แจ้งว่า ไปขอซื้อข้าวสารจากกลุ่มคนที่เอามา ก็ไม่ขาย
2. น.ส.ยิ่งลักษณ์ บอกว่าซื้อข้าวสารหอมมะลิจากชาวนา 10 ตัน และ อดีต ส.ส.ซื้อจากชาวนาอีก 10 ตัน แต่รูปแบบการบรรจุนั้นไม่น่าใช่ข้าวสารจากชาวนาแน่นอน เพราะการบรรจุดังกล่าว ต้องเป็นโรงสีขนาดใหญ่ เพื่อส่งต่อลูกค้ารวมทั้งส่งต่างประเทศ
3. การนำข้าวสารหอมมะลิ มาขายเพียง กก. 20 บาท ในขณะที่ราคาทั่วไป กก.ละ 30-35 บาท เท่ากับเป็นการทุบราคาข้าวสารหอมมะลิ อย่างเลือดเย็นที่สุด แม้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะแจงในเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า เป็นข้าวไม่ได้คัดเกรด ยิ่งไปกันใหญ่ เพราะข้าวชาวนาที่ไหนเขาคัดเกรด ยิ่งขัดแย้งกับสิ่งที่เคยพูด
ดังนั้น สิ่งที่รัฐบาลต้องตรวจสอบ และชี้แจงต่อประชาชน คือ
1. ชาวนาที่มาจากหลายที่นั้น มีขบวนการจัดตั้งอย่างไร และต้องชี้แจงด้วยว่า ชาวนาที่ผิวพรรณดีๆ นั้นเป็นใคร เป็นทีมงานนักการเมือง แต่ทำตัวเป็นชาวนาเพื่อสร้างเหตุการณ์ป่วนตลาดข้าว ใช่หรือไม่ แต่ละคนชื่ออะไร บทบาทเป็นอย่างไร
2. ข้าวสารหอมมะลิ ที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ อ้างว่าซื้อมาจากชาวนา 10 ตัน รวมทั้งอดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย อีก 10 ตันนั้น ซื้อมาจากชาวนา หรือโรงสีกันแน่ แต่รูปแบบการบรรจุนั้นน่าจะมาจากโรงสี มาจากโรงสีเดียวกันทั้งหมดหรือไม่ โรงสีที่ส่งข้าวนั้น ชื่ออะไร
3. ข้าวที่นำมาขายที่กรุงเทพฯ ราคา กก.ละ20 บาท และคาดว่าซื้อมาจากโรงสีนั้น โรงสีขายมาราคาเท่าไร ต่ำกว่าราคาที่ควรจะขายต่อหรือไม่
4. การตรวจสอบว่าเป็นข้าวจากโรงสีนั้น สำคัญมาก เนื่องจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ โฆษณาว่ารับซื้อข้าวมาจากชาวนา ถ้ากลายเป็นข้าวจากโรงสี เท่ากับว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ โกหกประชาชน
"การที่ราคาข้าวตกต่ำ แต่กลับมาซ้ำเติมขายข้าวต่ำกว่าที่ชาวบ้านเขาขายกัน ยิ่งเป็นการซ้ำเติมตลาดข้าว ยิ่งผู้กระทำเป็นถึงอดีตนายกรัฐมนตรี ผลกระทบจึงยิ่งรุนแรง"
น.พ.วรงค์ กล่าวว่า ตนขอเรียกร้องไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และประธาน นบข. ขอให้รัฐบาลดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงและชี้แจงให้ประชาชนได้รับทราบโดยด่วน เพื่อเรียกความเชื่อมั่นของตลาดข้าวกับคืนมา อย่างน้อยพี่น้องชาวนาจะได้หูตาสว่าง ว่าใครกันแน่ที่ประสงค์ร้ายต่อชาวนา
**แนะรัฐบาลปฏิรูประบบข้าวครบวงจร
นายสุริยะใส กตะศิลา รองคณบดีฯ วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต และ ผอ.สถาบันปฏิรูปประเทศไทย (สปท.) กล่าวว่า ขณะนี้ปัญหาราคาข้าวตกต่ำกำลังไต่ระดับเป็นปัญหาชาวนา กับรัฐบาล เพราะเริ่มมีกลุ่มการเมืองเอาไปขยายผล จนอาจขยายวงกว้างบานปลายได้ ดังนั้นรัฐบาลต้องทำงานเชิงรุก ต้องจับตาขบวนการปล่อยข่าวบิดเบือนในหมู่ชาวนา ที่มีเครือข่ายการเมืองอยู่เบื้องหลัง เพราะพวกนี้เป็นกลุ่มคน ที่หาประโยชน์ทางการเมืองจากชาวนามาตลอด จึงเป็นหน้าที่ที่สังคมต้องช่วยกันเปิดโปง ตีแผ่ และประณาม
ที่สำคัญรัฐบาลควรแปรวิกฤติเป็นโอกาส ทำแผนปฏิรูประบบข้าว และภาคการเกษตรทั้งระบบครบวงจร ไม่เช่นนั้นเรื่องข้าวและปัญหาชาวนา จะถูกนำไปใช้ชิงความได้เปรียบทางการเมืองอีก ซึ่งไม่ได้แก้ปัญหาที่ต้นเหตุ และชาวนาก็ไม่ได้หลุดพ้นจากความยากจนเสียที
"เรากำลังจะเขียนแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เรื่องข้าว และอนาคตของชาวนา ภาคการเกษตรควรเป็นเรื่องสำคัญและเรื่องใหญ่ที่สุดของแผนยุทธศาสตร์ชาติ รัฐบาลต้องลงมือปฏิรูป วางแนวทางแก้ปัญหาระยะยาว ระดมความเห็นทุกภาคส่วน ยิ่งเป็นรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากพรรคการเมือง ไม่หวังคะแนนนิยมวูบวาบ ยิ่งเป็นโอกาสอันดีที่จะปฏิรูปกันได้ทั้งระบบ"
**แขวะ ม.รังสิตใช้ข้าวจ่ายค่าเทอม
มีรายงานว่า เว็บไซต์เฟซบุ๊ก Pavin Chachavalpongpun ของ นายปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักวิชาการ มหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น ผู้ต้องหาหลบหนีคดีฝ่าฝืนคำสั่งเรียกรายงานตัวของ คสช. ได้เขียนข้อความถึง กรณีที่มหาวิทยาลัยรังสิต ประกาศให้นักศึกษานำข้าวมาแลกเป็นค่าเทอมได้ ว่า "เอาข้าวไปจ่ายค่าเทอม อีกหน่อยไปเที่ยวซ่อง ก็เอาข้าวไปจ่ายกะหรี่แทนเงิน" นอกจากนี้ นายปวิน ยังเขียนข้อความเพิ่มเติมในช่องแสดงความเห็นด้วยว่า "นี่เรากลับไปยุค barter trade system หรือนี่ ? "
ขณะที่เฟซบุ๊ก Watana Muangsook ของนายวัฒนา เมืองสุข อดีตรมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ได้แสดงความเห็นในกระทู้ของ นายปวิน ด้วยว่า " โห...จารย์ เห็นภาพเลยครับ ว่าแต่แถวไหนรับ barterครับ "
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 2 พ.ย.ที่ผ่านมา ม.รังสิต ได้ประกาศช่วยเหลือชาวนา ในเวทีพูดคุยเพื่อร่วมกันฝ่าวิกฤติราคาข้าว ช่วยเหลือชาวนา โดยจะให้นักศึกษา มหาวิทยาลัยรังสิต ที่เป็นลูกชาวนา นำข้าวสารมาจ่ายเป็นค่าหน่วยกิตได้ และจัดให้มีทุนการศึกษาทุนลูกชาวนา โดยพิจารณาเป็นกรณีพิเศษ และจัดพื้นที่ให้บุคลากร นักศึกษา ที่ครอบครัวทำนา ได้นำข้าวสารมาร่วมจำหน่าย โดยเปิดโซนพื้นที่ในการจำหน่ายให้เป็นถนนข้าวสารลานแบร์ เพื่อเป็นอีกช่องทางในการช่วยจำหน่ายข้าวสาร ทั้งนี้ ทางมหาวิทยาลัยได้ตั้งคณะกรรมการพิจารณากำหนดระเบียบกฎเกณฑ์ และแนวทางปฏิบัติในการช่วยเหลือนักศึกษา โดยประสานงานไปยังคณะ / วิทยาลัย เพื่อให้นักศึกษาที่ได้รับผลกระทบเดือดร้อนจากวิกฤตราคาข้าว สามารถยื่นความประสงค์ เพื่อเข้ารับความช่วยเหลือได้ ภายในวันที่ 5 ธ.ค.59 ซึ่งจัดให้โครงการนี้ เป็นมาตรการช่วยเหลือเร่งด่วน ในภาคเรียนที่ 2 / 2559
***โพลหนุนราชการซื้อข้าวตรงชาวนา
นายนพดล กรรณิกา ประธานชมรมขับเคลื่อนวิชาการเพื่อวิจัยความสุขชุมชน สำนักวิจัยซูเปอร์โพล เปิดผลสำรวจเรื่อง โพลความเดือดร้อนของชาวนาในสายตาประชาชน กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพ จำนวน 1,341 คน ระหว่างวันที่ 1 - 5 ต.ค.ที่ผ่านมา เมื่อถามถึงข่าวความเดือดร้อนของชาวนา พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 91.7 ได้ยินข่าวความเดือดร้อนของชาวนา และเห็นเป็นเรื่องสำคัญต่อผลประโยชน์ของเกษตรกร และเป็นปัญหาสำคัญของประเทศในขณะนี้ มีเพียงร้อยละ 8.3 ที่ระบุ ไม่ได้ยินข่าวความเดือดร้อนของชาวนา
เมื่อถามถึงสาเหตุของปัญหาความเดือดร้อนของชาวนา พบว่า ร้อยละ 42.6 ระบุ ต้นเหตุมาจากกลไกตลาดไม่มีประสิทธิภาพ รองลงมาคือ ร้อยละ 27.9 ระบุ เกมการเมือง ร้อยละ 26.5 ระบุ กลุ่มนายทุนที่เสียประโยชน์ และเพียงร้อยละ 3.0 ระบุ จากตัวชาวนาเอง และส่วนใหญ่หรือร้อยละ 94.7 ระบุ เห็นด้วยที่รัฐบาลควรลงพื้นที่รับฟังข้อมูลและเข้าถึงปัญหาของชาวนาโดยตรงไม่ต้องผ่านตัวแทน มีเพียงละ 5.3 ระบุ ไม่เห็นด้วย ในขณะที่ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 97.7 ระบุ เห็นด้วยที่ทุกฝ่ายควรหยุดพูดใส่ร้ายต่อกันและหันมาสนใจแก้ปัญหาความเดือดร้อนของชาวนา มีเพียงร้อยละ 2.3 ระบุ ไม่เห็นด้วย
"ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 90.4 ระบุ เห็นด้วยที่รัฐบาลควรส่งเสริมให้หน่วยงานราชการในพื้นที่แต่ละจังหวัดสามารถซื้อข้าวจากชาวนาได้โดยตรง ในขณะที่ตัวอย่างส่วนใหญ่หรือ ร้อยละ 90.7 เห็นด้วยที่รัฐบาลควรลงทุนสนับสนุนอาชีพชาวนาโดยการลงทุน รถเกี่ยวข้าว มีลานตากข้าว มีโรงสีสีข้าว มีบรรจุหีบห่อ และช่องทางการจัดจำหน่าย ในแต่ละพื้นที่ของจังหวัด"
**ชาวนาพิจิตรขยับประท้วงราคาข้าวตก
วานนี้ (6 พ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามที่มีรายงานความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับกลุ่มชาวนาในจังหวัดพิจิตร นัดชุมนุมเพื่อปิดถนนบริเวณสี่แยกวังงิ้ว ทางหลวงหมายเลข 11 เขต อ.ดงเจริญ จ.พิจิตร ประท้วงราคาข้าวตกต่ำนั้น ปรากฏว่า หลังกลุ่มชาวนาแจ้งกำหนดนัดหมายแบบปากต่อปาก มารวมตัวกันที่วัดไทรย้อย ต.สำนักขุนเณร อ.ดงเจริญ ยังไม่ทันเคลื่อนพลไปยังที่หมาย ฝ่ายปกครอง ทหาร และตำรวจได้ลงพื้นที่ชี้แจงกลุ่มชาวบ้านว่า การชุมนุมสามารถทำได้โดยสงบ และเปิดเผย แต่ต้องอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.การชุมนุม ที่มีกฎกติกาให้ปฏิบัติ หากประท้วงด้วยการปิดถนนแล้วทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนจะมีโทษตามกฎหมาย
ดังนั้น ขอให้รวมตัวกันทำหนังสือ หรือข้อเรียกร้องแล้วร่วมกันลงชื่อแบบเปิดเผย เสนอผ่านทางอำเภอแทน ทำให้กลุ่มชาวนาสลายตัวไปเป็นการชั่วคราว แต่ก็มีรายงานว่า ทั้งหมดนี้จะนัดรวมตัวกันอีกครั้งในวันที่ 7 พ.ย.59 บริเวณทางแยกวัดไทรย้อย ต.สำนักขุณเณร
อย่างไรก็ตาม นางทอน เกตุแก้ว ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นแกนนำ ได้ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ต่อผู้สื่อข่าวว่า ไม่ได้มีเจตนาจะชุมนุมประท้วง หรือปิดถนนให้ใครเดือดร้อน แต่ต้องการจะไปยื่นหนังสือถึงนายอำเภอ ให้ส่งต่อไปยังรัฐบาล ให้รีบดำเนินการช่วยเหลือชาวนาที่กำลังจะเก็บเกี่ยวข้าว เพราะตอนนี้ราคาข้าวเหลือแค่ 5,000-6,000 บาทเท่านั้น ซึ่งเป็นราคาที่ทำให้ขาดทุนไม่พอใช้หนี้ จึงอยากเรียกร้องขอความช่วยเหลือ ไม่ใช่อยากประท้วงอย่างที่หลายคนเข้าใจ
***กสท.จ่อพักช่อง24TVปมจำนำข้าว
น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่าการประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ครั้งที่ 38/2559 ในวันนี้ (7 พ.ย.) ว่า มีวาระการประชุมเรื่องร้องเรียนกรณีการตรวจสอบพบการออกอากาศรายการ "คมข่าว" ทางช่อง 24 TV เมื่อวันที่ 25 ต.ค. 59เวลา 17.11 - 17.54 น. มีลักษณะการนำเสนอข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับผลของการมีคำสั่งให้เรียก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ชดใช้ความเสียหายโครงการรับจำนำข้าวว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย อนุกรรมการด้านเนื้อหาเสียงข้างมากมองว่าอาจเป็นการขัดต่อข้อกำหนดในบันทึกข้อตกลงที่ได้ทำร่วมกับสำนักงาน กสทช. และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง จึงได้เสนอให้ กสท. พิจารณามาตรการทางปกครองโดยการพักใช้ใบอนุญาตเป็นเวลา 15 วัน