xs
xsm
sm
md
lg

อิทธิบาทสี่ของพระราชา

เผยแพร่:   โดย: ศ. ดร. กุณฑลี รื่นรมย์


ศ.ดร.กุณฑลี รื่นรมย์
ภาควิชาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย



นับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล อดุลยเดช เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ ๑๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ เวลา ๑๕.๕๒ น. นำมาซึ่งความสุดวิปโยคโศกสลดของประชาชนไทยทั้งมวล รวมทั้งชาวต่างชาติที่อยู่ใต้ร่มพระบารมีในพื้นแผ่นดินไทย ทุกผู้คนที่ซาบซึ้งในพระจริยาวัตรและการทำงานหนักอย่างยิ่งของพระองค์มาตลอดระยะเวลาอันยาวนานภายใต้ “ทศพิธราชธรรม” เพื่อการอยู่ดีกินดีของประชาชนโดยเฉพาะผู้ด้อยโอกาสในท้องที่ห่างไกลทุรกันดาร ความรู้สึกสูญเสียยิ่งใหญ่ร่วมกันนี้ได้แปรเปลี่ยนเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ของความรักเพื่อจะได้มีโอกาสกระทำความดีที่ทุกคนต้องการแสดงออกถึงความรักที่ตนมีต่อพระเจ้าแผ่นดินในวาระอันเป็นที่สุดนี้

ในช่วงหลายวันที่สุดแสนวิปโยคนี้ ประชาชนคนไทยได้รับทราบผ่านสื่อทุกแขนงถึงพระราชจริยาวัตรและพระราชกรณียกิจมากมายเกินจะพรรณนา ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงบำเพ็ญมาตลอดระยะเวลาของการครองราชย์ ไม่ว่าจะเป็นช่วงเวลาปกติ หรือช่วงเวลาวิกฤติที่บ้านเมืองต้องเผชิญภัยพิบัติที่เกิดจากธรรมชาติ หรือที่เกิดจากการขัดแย้งกันเองของคนในชาติ ในทุกสภาวการณ์ ไม่ว่าประเทศไทยจะมีปัญหาเพียงใด พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเป็นศูนย์รวมจิตใจ พระราชทานคำสอน ข้อเสนอแนะ แนวทางการปฏิบัติ ฯลฯ และที่สำคัญทรงลงมือปฏิบัติด้วยพระองค์เองเป็นตัวอย่างเพื่อให้ประชาชนผู้เดือดร้อนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหลายได้เห็นวิธีการและสามารถนำมาปฏิบัติเองได้ อันเป็นพระราชประสงค์ที่ต้องการให้ทุกคนสามารถพึ่งพาตัวเองได้อย่างเข้มแข็ง

พระอัจฉริยภาพในทุกด้านๆ ของพระองค์ ไม่ว่าจะเป็นด้าน การพัฒนาสังคม เทคโนโลยีสารสนเทศ เศรษฐศาสตร์ การทำฝนเทียม ชลประทาน เกษตร ปศุสัตว์ กีฬา ดนตรี ถ่ายภาพ วาดรูป การเขียนร้อยแก้วและร้อยกรอง การแปลหนังสือ ศาสนา รวมทั้งการศึกษา ที่เคยทรงทำหน้าที่เป็น “วิทยากรพิเศษ” สอนนักเรียนที่โรงเรียนวังไกลกังวล ดังที่พสกนิกรไทยได้รับทราบถึงพระราชกรณียกิจพิเศษนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทำงานทุกอย่างได้อย่างดีเยี่ยม เมื่อนึกถึงงานในโครงการกว่า ๔,๐๐๐ โครงการเพื่อช่วยเหลือราษฎรให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ไม่มีใครอีกแล้วในประเทศไทยหรือในโลกนี้ที่จะทรงงานหนักทัดเทียมเท่าพระองค์ และที่สำคัญคือทรงมีพระปรีชาสามารถในทุกๆ ด้านอย่างน่าอัศจรรย์ใจ

ในฐานะข้าแผ่นดินเพียงฝุ่นธุลีใต้ฝ่าพระบาท ผู้เขียนพยายามคิดด้วยปัญญาน้อยนิดว่าพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอันเป็นที่ประจักษ์แจ้งและมีผลสัมฤทธิ์อย่างกว้างขวางนั้น ต้องเกิดจากธรรมะประเสริฐ ๔ ประการที่เรียกว่า “อิทธิบาทสี่” อันเป็นธรรมะที่นำไปสู่ความสำเร็จในการทำงานเป็นแน่แท้ ธรรมะสี่ประการได้แก่ “ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา” ฉันทะ คือความพึงพอใจในสิ่งที่ทำ วิริยะ คือความเพียรพยายาม จิตตะ คือความเอาใจใส่ในงานที่ทำนั้น และวิมังสา คือการวิเคราะห์ไตร่ตรองสิ่งที่ทำเพื่อหาทางปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชจริยาวัตรชัดเจนถึงอิทธิบาทสี่ประการนี้ในทุกเรื่องทุกงานที่ทรงบำเพ็ญ ถามว่าทั้งหมดนี้เกิดจากอะไร คำตอบเดียวเท่านั้นคือ “ความรัก” ที่พระองค์ทรงมีต่อพสกนิกรหรือ “ลูกๆ” ทั้ง ๗๐ ล้านคน ความรักที่ไม่มีเงื่อนไขนี้ทำให้พระองค์ต้องทรงงานไม่ว่าจะหนักเหนื่อยลำบากยากเย็นเพียงไรมาตลอดเวลา ๗๐ ปี ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงแบกพระราชภาระไว้ด้วยพระราชหฤทัยที่ตั้งมั่นดังพระราชปณิธานในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกว่า “เราจะปกครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขของมหาชนชาวสยาม”

ประชาชนไทยได้ตระหนักรู้แล้วถึงพระราชปณิธานอันแรงกล้านั้น สิ่งที่ทุกคนจะต้องทำต่อแต่นี้ไปคือ น้อมนำแนวทางของพระองค์ที่ทรงเป็นต้นแบบในทุกเรื่องมาใช้ในการดำรงชีวิต และดูแลบ้านเมืองไทยของเราให้เจริญก้าวหน้าต่อไป ให้สมกับที่ทรงมีพระเมตตาล้นเหลือ ทรงมอบมรดกอย่างยุติธรรมเท่าเทียมกันให้แก่ลูกๆ ของพระองค์ทั้ง ๗๐ ล้านคน นั่นคือ การกระทำความดีที่ไม่หวั่นไหวต่ออุปสรรคปัญหาใดๆ เพื่อความเจริญในชีวิตที่ต้องสามารถพึ่งพาตนเองของทุกคน

ขออัญเชิญบทกลอนที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงแปลจากบทกวีของ นักกวีมีชื่อ Wordsworth อย่างไพเราะยิ่ง จากหนังสือพระราชนิพนธ์แปลเรื่อง “นายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ” จาก “The Man Called Intrerprid” ของ William Stevenson หน้า 37 ดังนี้

“นักรบใดใจมั่นพลันเริงร่าถ้วนทหารปรารถนาเป็นเช่นเขา
สู้สุดฤทธิ์ในกิจทั้งหนักเบายอมรับเอาด้วยมโนอันโอฬาร์

เป็นเกลอกับทุกข์กล้าแสนสาหัสอันตรายสารพัดไม่หน่ายหน้า
ถึงขามจิตโลหิตขับกับพสุธาใจเย็นได้ไม่ว้าหวั่นพะวง

แลเห็นความลำเค็ญเป็นประโยชน์อันช่วงโชติชวลิตน่าพิศวง
ตั้งจิตไว้ไม่พรั่นด้วยมั่นคงและอาจองทะนงรักศักดิ์แห่งตน

ไม่ยอมลดกายใจให้ต่ำต้อยเพื่อจะคอยตวงตักแม้สักหน
ซึ่งยศศักดิ์อัครฐานศฤงคารตนหมายเทิดผลคือความดีที่ศรัทธา

กฎอันใดแม้วางไว้ในระบบน้อมเคารพชูเชิดให้เจิดจ้า
ดำเนินการที่เห็นชัดในหัทยาว่าเป็นภาระเลิศประเสริฐจริง”


ขอน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของ
สมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ แห่งราชวงศ์จักรี
เป็นล้นพ้นหาที่สุดมิได้

๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๙

กำลังโหลดความคิดเห็น